ไทรลูกใหญ่

(Sai Look Yai)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus annulata Blume
ชื่อวงศ์ MORACEAE
ชื่ออื่น ไทร ไทรใบมะม่วง ไฮ
ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 12-15 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม ลำต้นเป็นลักษณะรากรัดพันกัน ระบบรากแผ่กว้าง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ค่อนข้างเรียบ


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับใบรูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 7-12 ซม. ยาว 15-30 ซม. ปลายใบแหลมโคนสอบเรียว ขอบใบเรียบเป็นคลื่น เล็กน้อย แผ่นใบหนาและเหนียว สีเขียวสดเรียบเป็นมัน ผิวใบด้านล่าง มีขนละเอียดประปราย ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ก้านใบยาว 2-4 ซม.
ดอก สีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อรูปร่างคล้ายผล คือ มีแกนกลาง ช่อดอกเจริญแผ่ขยายใหญ่เป็นกระเปาะมีรูเปิดที่ปลาย โอบดอกไว้ ดอกมีขนาดเล็กแยกเพศในกระเปาะ ดอกทั้งสองเพศ มีกลีบรวม 3 กลีบ รูปไข่ ดอกเพศผู้มีจำนวนน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 1-1.2ซม. ก้านช่อดอกยาว 1.8-3 ซม.


ผล ผลสดแบบมะเดื่อ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 -1.2ซม. ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สีอ่อนกว่า มีจุดสีครีมและขนละเอียดทั่วผล ก้านผลยาว 1-1.5 ซม. ที่ขั้วผลมีกาบเล็กๆ 3 กาบ รองรับ เมื่อสุกสีชมพูหรือชมพูอมม่วง ด้านบนมีวงแหวนนูนมีรอยบุ๋ม และมีขนประปราย เมล็ดทรงกลม สีดำ ขนาดเล็กจำนวนมาก ออกดอก ติดผลตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบชื้นทั่วไป
การใช้ประโยชน์ มีทรงพุ่มแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาได้ดี ผลเป็นลูกกลม เมื่อสุกจะมีสีแดงปนเหลือง เป็นอาหารของสัตว์บางชนิด
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบและราก รักษาแผล น้ำเลี้ยงของกิ่งใช้ในการรักษาโรคตับ กิ่งและใบ ใช้แก้ปวดศีรษะ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย