ไผ่:ความรู้ทั่วไปของไม้ไผ่

ที่มา:เฉลียว วัชรพุกก

ถ้าท่านท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ ในชนบท ท่านมักจะพบเห็นไม้ไผ่ขึ้นเป็นกอบางเป็นลำเดี่ยว ๆ บ้าง อยู่ทั่วไปตามป่าเขาลำเนาไพร ริมฝั่งแม่น้ำ ลำธาร หนอง คลอง บึง และบริเวณหัวไร่ปลายนา บางแห่งก็หนาแน่น เป็นป่าไผ่ บางแห่งก็ขึ้นประปราย แซมไม้ชนิดอื่นอยู่ดาษดื่น ไม้ไผ่ที่เห็นนี้มีคุณค่ามหาศาล มีประโยชน์มากมายจนไม่อาจจะพรรณนาได้ และอาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีพืชชนิดใดในโลกจะรับใช้มนุษย์ได้มากกรณีเท่าไม้ไผ่ เมื่อเทียบกับไม้ชนิดอื่น ๆ แล้วจะเห็นได้ว่าไม้ไผ่เหมาะที่จะนำไปใช้ก่อให้เกิดประโยชน์กว้างขวาง ซึ่งถ้าหากจะใช้วัตถุอื่น แทนแล้วจะต้องใช้จ่ายสูงกว่า และไม้ไผ่นี้เจริญงอกงามได้ทั่วไปสะดวกในการตัดฟัน การขยายพันธุ์ทำได้ในเวลาอันสั้น เติบโตรวดเร็วมาก บางชนิดโตถึง 120 ซม.ใน 24 ชม. ไม้ไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้าที่รับใช้มนุษย์ชาติมาแต่โบราณกาล ให้ประโยชน์กับมนุษย์หลายประการทั้งในด้านอุปโภคและบริโภค ใช้สร้างที่พักอาศัย ทำเครื่องมือเครื่องใช้ ทำยารักษาโรค และใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมอีกนานัปการ สามารถเรียกได้ว่าเป็นไม้อเนกประสงค์ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง

ในสมัยโบราณประมาณ พ.ศ.2442-พ.ศ.2443 รัฐหนึ่งในประเทศอินเดียเกิดทุพภิกขภัยประจวบพอดีที่ไม้ไผ่ออกดอกผลทั่วไปในป่า ประชาชนได้เก็บเอาเมล็ด (ขุย) ซึ่งเป็นอาหารจำพวกแป้งมาหุงต้มแทนข้าว มีประชาชน ถึง 15,000 คนที่รอดตายในภาวะที่แสนเข็ญเช่นนี้ ในประเทศจีนเป็นเวลานานนับเป็นศตวรรษที่ประเทศจีนได้นำไม้ไผ่มาเป็นวัตถุดิบในการทำเยื่อกระดาษก่อนประเทศอื่น ๆ และใช้เป็นท่อส่งนํ้าในทางเกษตรและบริโภค นอกจากนั้นชาวจีนยังใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ในการดำรงชีพอีกหลายประการ จนถึงกับมีผู้เขียนหนังสือเปรียบเปรยไว้ เช่น What would a poor Chinaman do without the bamboo ในประเทศสหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง Edison ก็ใช่ไม้ไผ่ทำไส้หลอดไฟฟ้า ตอนเริ่มแรกจนกระทั่งเป็นบุคคลสำคัญไป สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เห็นคุณค่าของไม้ไผ่มานานแสนนานแล้ว

ในปัจจุบันหลายประเทศอาศัยวิทยาการและเทคโนโลยี่สมัยใหม่ ๆ และมีการค้นคว้าวิจัยกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ในต้นไผ่อีกมากมายหลายชนิดที่สามารถทำประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและการแพทย์ เช่น การทำไหมเทียม Hard board ชนิดต่างๆ วัคซีนบางชนิด ผลิตฮอร์โมนบางอย่าง อุตสาหกรรมทำแบตเตอรี่ สกัดเป็นนํ้ามันเชื้อเพลิง และสกัดเป็นสารเคมีอีกนานัปการ ส่วนใหญ่เป็นการค้นคว้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกระทำกัน อย่างกว้างขวางและรีบเร่ง เพราะประเทศญี่ปุ่นถือว่าไม้ไผ่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษชนิดหนึ่งในบรรดาทรัพยากรป่าไม้และเกษตร ดังนั้นวัตถุประดิษฐ์จากไม้ไผ่ไม่เพียงแต่ใช้ในประเทศเท่านั้น ยังสามารถส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศได้เงินเป็นจำนวนมาก สินค้าที่สำคัญของญี่ปุ่น คือ พวกเครื่องกีฬา พัด ม่าน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดประเภทของขวัญ ซึ่งประดิษฐ์ได้อย่างสวยงาม มีคุณภาพเป็นที่นิยมกันทั่วไป

สำหรับในประเทศไทยประชาชนก็ใช้ไม้ไผ่ในชีวิตประจำวันมาช้านานแล้ว และนับวันจะใช้มากขึ้นทุกที โดยเฉพาะงานหัตถกรรมจักสานซึ่งเป็นอาชีพรองของคนไทยมาช้านาน แม้กระทั่งทุกวันนี้ชาวบ้านตามชนบทยังนิยมทำงานจักสานกันอยู่ทั่วไป แต่ก็ยังไม่ทำให้งานจักสานไม้ไผ่ของไทยได้ทัดเทียมกับของต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นเพราะงานจักสานของไทยประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อความจำเป็นในครอบครัวเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยจะเรียบร้อยและสวยงามและคุณภาพยังไม่คงทนถาวรพอ ถ้าหากผู้ประกอบการได้เรียนรู้ถึงวิธีการใหม่ ๆ เช่น การออกแบบที่สวยงาม การดัดแปลงให้สะดวกในการใช้ และรู้จักประดิษฐ์เครื่องมือที่จะทำตอกให้เรียบร้อยยิ่งขึ้นแล้ว รวมทั้งศึกษาถึงกรรมวิธีต่าง ๆ ทั้งทางเคมี ฟิสิกส์ เพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพของผลิตกัณฑ์จากไม้ไผ่ดังกล่าวให้มีคุณภาพดีขึ้นแล้ว ก็เชื่อได้แน่ว่าสินค้าผลิตกัณฑ์ไม่ไผ่ของไทยจะสามารถแข่งขันกับของต่างประเทศได้

อนึ่งในปัจจุบันนี้ป่าไผ่ธรรมชาติถูกทำลายลงอย่างมหาศาลแทบทุกปี และเพื่อให้มีปริมาณไม่ไผ่อย่างเพียงพอ เพื่อสนองความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงสมควรอย่างยิ่งที่ทั้งส่วนราชการและเอกชนจะได้มีการปรับปรุงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกสร้างเสริมป่าไผ่ขึ้นทดแทนป่าไผ่ที่ถูกโค่นทำลายไป

ความรู้ทั่วไปของไม้ไผ่

ถิ่นกำเนิด ไม้ไผ่ถือเป็นพืชเมืองร้อน (tropics) แต่ก็สามารถเจริญเติบโตได้ทุกทวีป ไม้ไผ่หลายสกุลพบมากที่สุดในเขตร้อนทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของเอเซีย จากอินเดีย ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มีน้อยสกุลพบในเขตอบอุ่น (temperates) ของโลกบางส่วนของทวีปอเมริกาก็พบมาก ในบางประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น เปอโตริโก ชิลี อาเยนติน่า และก็มี 2-3 ชนิดที่พบในออสเตรเลีย

ชนิดของไม้ไผ่

เท่าที่รู้จักกันในปัจจุบันทั้งโลกมีอยู่เป็นจำนวน 47 สกุล (Genera) แยกเป็น 1250 ชนิด (Species) สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อน ไผ่เจริญงอกงามได้ดี เท่าที่ทราบ โดยอาศัยหลักฐานต่าง ๆ ที่ค้นได้มีไผ่ชนิดต่าง ๆ อยู่จำนวน 12 สกุลประมาณ 44 ชนิด และมีอีกประมาณ 35 ชนิด ที่มีผู้บันทึกว่าได้พบแต่ยังไม่มีการสำรวจอย่างแท้จริง หากมีผู้สนใจอย่างจริงจังแล้วและได้มีการสำรวจกันอย่างกว้างขวางแล้วเข้าใจว่าจะมีจำนวนมากกว่านี้แน่นอน เพราะสภาพภูมิประเทศบางแห่งทุรกันดารเป็นเขตที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากมีผู้ก่อการร้ายปรากฏอยู่เนือง ๆ และบางแห่งก็ยังมีการสำรวจไม่ละเอียดพอ เช่น ตามเทือกเขาตะนาวศรี เขากาลาคีรี ฉะนั้นการพบพันธุ์ไผ่ชนิดใหม่หรือสกุลไผ่ชนิดใหม่จึงไม่เป็นของเหลือวิสัยถ้าหากได้สำรวจในท้องที่ดังกล่าว

ลักษณะทั่วไปของไม้ไผ่

ประเภทของไม่ไผ่ (Types of bamboo) ไม่ไผ่นี้ นักพฤกษศาสตร์ส่วนใหญ่ได้จัดรวมให้อยู่ในวงศ์เดียวกันกับหญ้าชนิดต่าง ๆ คือวงศ์ GRAMINEAE แต่ไม่ไผ่เป็นพวกหญ้าที่มีลำต้นเป็นไม้ (ลำ) เจริญเติบโตมาจากเหง้า ไม้ไผ่เป็นพืชกอ ส่วนมากมีลำต้นกลวง เป็นปล้อง ผิวแข็ง การแตกกอจะหนาแน่นมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์เป็นหลัก บางพวกอาจจะขึ้นเป็นลำเดี่ยว ๆ ไม่เป็นกอ มีระยะห่างแน่นอนก็มีศาสตราจารย์ ดร.อูเอดะ (UEDA) ผู้เชี่ยวชาญไม้ไผ่ชาวญี่ปุ่นได้จำแนกไว้เป็น 3 ประเภท โดยอาศัยระบบการเจริญเติบโตของเหง้าเป็นหลัก คือ

1. พวกที่ขึ้นเป็นกอ การเจริญของพวกนี้จะสังเกตได้จากตาของเหง้าซึ่งมีอยู่หลายข้อจะพุ่งตัวแทงหน่อโผล่เหนือพื้นดิน เจริญเติบโตกลายเป็นลำก่อน และในปีต่อ ๆ มาตาตอนส่วนล่างของเหง้าลำดังกล่าวซึ่งมีขนาดสั้นจะพุ่งตัว แทงหน่อโผล่เหนือพื้นดินกลายเป็นลำที่สอง ลำที่สาม เป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ ไปจนกระทั่งหนาแน่นเป็นกอในที่สุด ตัวอย่างได้แก่ ไผ่ป่า ไผ่สีสุก ไผ่บง ไผ่ซาง หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ไผ่ทุกชนิดในประเทศไทยจัดอยู่ในประเภทนี้ และไผ่ส่วนใหญ่ในเขตร้อนก็จัดอยู่ในพวกที่ขึ้นเป็นกอแทบทั้งสิ้น

2. พวกที่ขึ้นเป็นลำเดี่ยว การเจริญของไผ่พวกนี้ อาศัยเหง้าในการขยายพันธุ์เป็นหลัก โดยที่ตาตรงข้อของเหง้าจะเจริญเติบโตแทงหน่อโผล่เหนือพื้นดินกลายเป็นลำใหม่ และขณะเดียวกันตาที่เป็นส่วนปลายของข้อเหง้าก็จะเจริญกลายเป็นเหง้าใหม่ และมีระยะเกือบเท่ากับความยาวของเหง้าเดิม ส่วนในปีต่อ ๆ มาตาที่ข้อของเหง้าเติบโตกลายเป็นลำใหม่และเหง้าใหม่เช่นนี้เรื่อย ๆ ไป ส่วนระยะห่างระหว่างลำก็จะมีระยะค่อนข้างคงที่แน่นอน เจริญเติบโตในรูปของลำเดี่ยว ๆ ตลอดไปทุกปี ตัวอย่างได้แก่ พันธุ์ไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่ในเขตอบอุ่น เช่น พวกมาดาเกะ หรือ โมโชชิกุ ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย จะมีไผ่ประเภทนี้หรือไม่ก็ไม่อาจจะทราบได้ เพราะยังไม่มีการสำรวจอย่างละเอียดมาก่อนและถ้าจะเป็นไปได้ก็เข้าใจว่า ไผ่เลี้ยงหรือไผ่คลานอาจจะอยู่ในประเภทนี้ก็ได้

3. พวกผสม (เป็นทั้งแบบลำเดี่ยวและกอ) การเจริญเติบโตของไผ่พวกนี้มีทั้งสองแบบคือ บางปีก็เจริญเติบโต แบบลำเดี่ยว บางปีก็เจริญเติบโตแบบกอ หรือบางปีก็อาจเจริญเติบโตทั้งแบบลำเดี่ยวและแบบกอสลับกันไป ส่วนใหญ่ เป็นพวกไม้ไผ่ในเขตอบอุ่น สำหรับในประเทศไทยยังไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามการเจริญเติบโตของไผ่ทั้งสามพวกดังกล่าวแล้วนั้น ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงจากอีกพวกหนึ่ง ไปเป็นอีกพวกหนึ่งได้ทุกขณะ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพความผันแปรของสิ่งแวดล้อมเป็นหลักด้วย

อนึ่งเกี่ยวกับประเภทของไม้ไผ่นี้ บางประเทศ เช่น เปอโตริโกได้จำแนกไม้ไผ่ไว้เพียง 2 ประเภทเท่านั้นคือ ประเภทเป็นกอและลำเดี่ยวเท่านั้น

 

ตารางที่ 1

จำนวนสกุล และพันธุ์ไผ่ในโลก, ญี่ปุ่น และในกลุ่มตะวันออกเฉียงใต้

สถานที่ สกุล(GENERA) พันธุ์ (SPECIES)
ทั่วโลก 47* 1250*
ญี่ปุ่น 13 662
ไทย

 

12 44
อินเดีย 13 136
ไต้หวัน 11 28
พม่า 42*
    *
มาเลเซีย 52*
ฟิลิปปินส์ 8 30*
อินโดนีเซีย 9 31*

*จำนวนโดยประมาณ