ไผ่ตง:ไผ่ตงที่นิยมปลูกเป็นการค้า

การปลูกไผ่ตง

สุภาวดี  ภัทรโกศล(นักวิชาการเกษตรฝ่ายไม้ผล กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทิพวัลย์  สีจันทร์(นักวิชาการเกษตร ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ไผ่ในบ้านเรามีอยู่มากมายหลายชนิด แต่พันธุ์ที่สำคัญ และเป็นที่นิยมในการบริโภคหน่อทั้งภายในประเทศ และยังสามารถส่งเป็นสินค้าออก ทำเงินตราเข้าประเทศได้ปีละนับร้อยล้านบาท ได้แก่ “ไผ่ตง” ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น และเริ่มมีความสำคัญยิ่งขึ้นตามลำดับ  เนื่องจากคุณค่าและประโยชน์ซึ่งมีหลายประการด้วยกัน ดังนี้คือ

หน่อใช้รับประทานสด นำมาแปรรูปเป็นหน่อไม้ปี๊บ(ต้มบรรจุปี๊บ) หรือนำมาตากแดดเป็นหน่อไม้แห้ง  ซึ่งส่วนของหน่อนั้น นอกจากรับประทานภายในประเทศแล้วสามารถส่งขายในรูปของหน่อไม้ปี๊บ หน่อไม้แห้งและหน่อไม้สด(แช่แข็ง) ไปยังต่างประเทศเกือบทั่วโลก  ประเทศที่นำเข้ามากที่สุด คือ ญี่ปุ่น รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ซาอุดิอาระเบีย ปีละมากกว่าร้อยล้านบาท

คุณค่าทางอาหารของหน่อ

(ให้พลังงาน 27 แคลอรี่)

คาร์โบไฮเดรท  5.20  กรัม

ไขมัน  0.30  กรัม

โปรตีน  2.60  กรัม

แคลเซี่ยม  0.013  กรัม

ฟอสฟอรัส  0.491  กรัม

เหล็ก  0.0005  กรัม

ไวตามินเอ  20  ยูนิต

ไวตามินบีหนึ่ง  0.15  มิลลิกรัม

ไวตามินบีสอง  0.07  มิลลิกรัม

ไนอาซิน  0.06  มิลลิกรัม

ไวตามินซี  4.1  มิลลิกรัม

ลำต้น ใช้เป็นไม้ค้ำยันไม้ผลต่าง ๆ ทำเครื่องจักรสาน เครื่องใช้ในครัวเรือน ทำเครื่องดนตรี เช่น ระนาด (ในวงพิณพาทย์) ใช้ก่อสร้างที่พักทำเยื่อกระดาษ ทำรั้วบ้าน นั่งร้าน เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

ใบ ใช้ห่อขนม ทำหลังคา ทำเชื้อเพลิงและสานทำหมวกกุยเล้ย

กิ่งและแขนง กิ่งแขนงของไผ่สามารถใช้ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี  ซึ่งชาวสวนสามารถเพาะชำกิ่งแขนงเป็นการค้าได้ กิ่งที่ตัดเหลือสามารถนำมาเป็นค้างผักได้ ฯลฯ

ดิน ดินที่ปลูกไผ่ตงเรียกว่า “ดินขุยไผ่” เป็นดินที่นิยมนำไปปลูกไม้ในกระถาง เนื่องจากเป็นดินที่ร่วนซุย  อุดมสมบูรณ์ดี เนื่องจากชาวสวนที่ปลูกไผ่ตง นิยมใช้ปุ๋ยคอกทุกปี ไม่นิยมใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และใบไผ่ที่ร่วงทับถมกันเป็นปุ๋ยอย่างดีของพืชทุกชนิด

ดังนั้นไผ่ตงจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่ควรจะส่งเสริมให้มีการปลูกกันมากขึ้น  เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด  รวมทั้งการพัฒนาวิธีการปลูก การแปรรูปให้ได้หน่อไม้ไผ่ตงที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น  ได้ผลตอบแทนต่อพื้นที่มากยิ่งขึ้น

สภาพพื้นที่ปลูกไผ่ตง

ไผ่ตง สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทั่ว ๆ ไป แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปลูกเป็นการค้า คือดินร่วนปนทราย ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ดี ไผ่ตงไม่ชอบสภาพดินปลูกที่มีน้ำท่วมขัง  ถ้าโดนน้ำท่วมจะทำให้รากเหง้าหรือหน่อเน่าตายได้โดยง่าย  ดังนั้นถ้าจะปลูกในบริเวณที่ลุ่มหรือที่น้ำท่วมถึง จึงควรยอร่องปลูกให้สูง ให้พ้นน้ำ และถ้าเป็นดินเหนียวจัดหรือค่อนข้างเหนียว ก็ควรปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพที่ร่วนซุยดีเสียก่อน จึงปลูกไผ่ตง

ปกติไผ่ตงเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีพอสมควร  พื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ 1,000 มิลลิเมตรขึ้นไป ก็สามารถปลูกไผ่ตงได้ดี  แต่สำหรับการปลูกเป็นการค้าหรือการปลูกเพื่อหวังผลอย่างเต็มที่แล้ว ควรมีแหล่งน้ำธรรมชาติไว้สำหรับให้แก่ไผ่ตงในเวลาที่ต้องการด้วย ยิ่งถ้ามีระบบชลประทานเข้าช่วย จะเป็นการเพิ่มผลผลิตของหน่อได้เป็นอย่างดี

พันธุ์

พันธุ์ไผ่ตง ที่นิยมปลูกกันเป็นการค้ามีอยู่ 2 พันธุ์คือ

1.  ตงดำ ตงจีน หรือตงกลาง

ลำต้น มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9-12 ซม. หรือมีเส้นรอบวงประมาณ 30-40 ซม. ลำต้นมีสีเขียวเข้มอมดำ เมื่อจับดูจะรู้สึกสากมือ สำหรับกิ่งแขนงที่ใช้ทำพันธุ์ของตงดำจะเป็นสีเขียวเข้มมีนวลแป้งสีขาวจับอยู่บริเวณปล้อง บริเวณข้อจะค่อนข้างเรียบ

ใบ จะมีขนาดใหญ่ และเห็นร่องใบได้ชัดเจนกว่าไผ่ตงพันธุ์อื่น ๆ  มีสีเขียวและใบหนา

หน่อ หน่อตงดำได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพดีมาก ซึ่งได้ชื่อว่า “ไผ่ตงหวาน” เนื่องจากมีรสหวาน กรอบ เนื้อเป็นสีขาว ละเอียด ไม่มีเสี้ยน และนิยมใช้เป็นพันธุ์ที่ทำตงหมก  ซึ่งจะเพิ่มคุณภาพของรสชาติได้ดียิ่งขึ้นด้วย หน่อจะมีน้ำหนักประมาณ 3-6 กก. สีของกาบหน่อจะเป็นสีน้ำตาลปนดำ หรือดำอมนวล ขนละเอียดกว่าตงเขียว การออกหน่อจะออกตั้งแต่ต้นฝน แต่จะดกมากในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่วนต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนจะมีหน่อลดลงไป

ตงดำเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดปราจีนบุรี และกำลังแพร่ขยายไปในจังหวัดอื่นเกือบทั่วทุกภาคของประเทศ เนื่องจากมีรสชาติดีและให้ผลผลิตสูง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและตลาดเป็นอย่างมาก เป็นพันธุ์ที่ชาวสวนใช้ทำตงหมก(ไผ่ตงหวาน) ซึ่งจะขายได้ราคาสูงกว่าตงดำธรรมดาที่ไม่ได้หมกถึง 1-2 เท่าตัว เนื่องจากตงดำมีขนาดของลำต้นและทรงพุ่มปานกลาง

ระยะปลูกที่เกษตรกรนิยมในพื้นที่ที่มีสภาพดินดี มีธาตุอาหารพืชสมบูรณ์คือ 8x 8 เมตร ซึ่งไร่หนึ่งปลูกได้ 25 ต้น

ในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางหรือต่ำ อาจใช้ระยะปลูก 6×6 เมตร เป็นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่

ขณะนี้ทางจังหวัดปราจีนบุรีกำลังทดลองปลูกระยะชิด 4 x 6 เมตร เป็นการเพิ่มจำนวนกอต่อไร่ เป็นการใช้พื้นที่อย่างเต็มที่เพื่อให้ลำต้นตรง ป้องกันการหักล้มของลำต้นให้น้อยลง เนื่องจากลม แต่ระยะปลูกที่ใช้ 4 x 6 เมตรนี้ ต้องมีการปฏิบัติดูแลรักษาเป็นอย่างดี  โดยต้องมีการตัดแต่งกอและให้ปุ๋ยที่ถูกวิธี

2.  ตงเขียว

ลำต้น ขนาดของลำต้นจะเล็กกว่าตงดำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-12 ซม. หรือมีเส้นรอบวง 15-20 ซม. ลำต้นเตี้ยกว่าตงดำ สีของลำจะเป็สีเขียวเข้มจัด ผิวเรียบมันลื่นไม่สาก ทรงพุ่มหนาทึบเนื่องจากมีใบและแขนงมาก โดยมีตั้งแต่โคนจนถึงปลายยอด เนื้อไม้บางไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อมีลมแรงทำให้หักพับลงมา ตงเขียวมีกิ่งแขนงมากสามารถนำมาปักชำขยายพันธุ์ได้ดี ลักษณะแขนงตงเขียวจะมีสีเขียวสดกว่าตงดำ ผิวเรียบเป็นมันลื่นมือ

ใบ ใบของตงเขียวจะมีสีเขียวเข้มจัดกว่าพันธุ์ไผ่ตงอื่น ๆ แต่ใบมีขนาดเล็กใบบางและไม่สากมือเหมือนตงดำ

หน่อ น้ำหนักของหน่อตงเขียวประมาณ 1-4 กก. สีของกาบหน่อจะดำสนิท ขนหยาบ ถ้าลอกกาบล่าง ๆ จะพบว่าบริเวณโคนหน่อเหนือรอยกาบมีสีเขียวอมเหลือง ซึ่งทำให้แตกต่างจากไผ่ตงพันธุ์อื่น ๆ อย่างเด่นชัด สีของเนื้อตงเขียว จะเป็นสีขาวอมเหลืองหยาบ และมีเสี้ยนมากกว่าตงดำ มีรสหวานอมขื่นเล็กน้อย  ใบยอดกาบ(หูกาบ) ของหน่อจะตั้ง ไม่พับเหมือนตงดำ

ข้อดีของตงเขียวที่ทำให้ไผ่ตงเขียวยังเป็นที่นิยมปลูกไม่แพ้ตงดำ  เนื่องจากสามารถทนความแห้งแล้งได้ดีกว่าตงดำ และให้ผลผลิตสูง ซึ่งช่วงการออกหน่อของตงเขียวกว้างกว่าพันธุ์อื่น ๆ คือจะออกหน่อถึงสองช่วง ในต้นฤดูฝน(พฤษภาคม-มิถุนายน) ถึงปลายฤดูฝน(ตุลาคม-พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นช่วงที่มีไผ่ตงออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ได้ราคาสูงแม้จะด้อยคุณภาพกว่าตงดำ  เนื่องจากคุณภาพของหน่อตงเขียวเป็นรองตงดำหลายอย่าง ดังนั้นชาวสวนที่ปลูกตงเขียวจึงเริ่มหันมาใช้ตงเขียวทำตงหมกเพื่อให้มีรสหวาน และขายได้ในราคาสูงในช่วงที่หน่อไม้ออกสู่ตลาดใหม่ ๆ ในต้นฤดู ตงเขียวเป็นไผ่ที่มีขนาดกลาง สามารถย่นระยะปลูกให้แคบลงได้ โดยใช้ระยะ 6 x 6 เมตร สามารถปลูก 35-45 ต้นต่อไร่

การขยายพันธุ์

ไผ่ตง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ การขยายพันธุ์แบบใช้เพศ ก็คือขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด แต่เมล็ดส่วนใหญ่ของไผ่ตงจะไม่สมบูรณ์ ทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ และช่วงการออกดอกก็ไม่แน่นอน เช่น บางครั้งอาจพบว่าออกดอกหลังจากที่ปลูกได้เพียง 2-3 ปี แต่บางครั้งอาจต้องรอนานมาก กว่าจะออกดอกเช่น ประมาณ 30-40 ปี เป็นต้น จึงไม่นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ การปลูกไผ่ตงทั่ว ๆ ไปนิยมใช้การขยายพันธุ์วิธีอื่น ๆ เช่น การใช้กิ่งแขนง ลำหรือเหง้าซึ่งได้ผลดี รวดเร็วและสะดวกกว่าและวิธีที่ได้ผลดีและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวสวนมากที่สุดคือ การปักชำกิ่งแขนง บางแห่งมีอาชีพในการปักชำกิ่งแขนงจำหน่ายโดยเฉพาะ โดยทำเป็นการค้าขนาดใหญ่

การขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งแขนง

กิ่งแขนง คือกิ่งที่แตกมาจากบริเวณตาที่ข้อของลำต้น กิ่งแขนงนี้สามารถนำมาขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันการขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งแขนง เป็นวิธีที่นิยมกันมากที่สุด เพราะทำได้ง่าย ได้ผลดี รวดเร็ว และประหยัด

วิธีการขยายพันธุ์ด้วยกิ่งแขนง มีดังนี้ คือ

ก.  การเลือกกิ่งแขนง

1.  เลือกกิ่งแขนงที่มีเส้นผ้าศูนย์กลางประมาณ 1 ½ นิ้ว

2.  รากของกิ่งแขนงนั้นมีจำนวนมากและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือสีเหลืองอมน้ำตาลแล้ว

3.  ใบที่ยอดของกิ่งแขนง หรือที่เรียกว่า “ใบขิง” นั้นคลี่แล้ว

4.  กาบหุ้มตาหลุดหมด

5. อายุของกิ่งแขนงอย่างน้อย 3-5 เดือน ยิ่งเป็นกิ่งแขนงค้างปีจะยิ่งดี

เมื่อเลือกกิ่งแขนงได้ตามต้องการแล้ว ตัดกิ่งแขนงนั้นออกจากต้นเดิมตัดปลายกิ่งออก ให้ส่วนที่เหลือยาวประมาณ 80-100 ซม. หรือมีข้อเหลืออยู่ 3-4 ข้อ

ข.  การปักชำกิ่งแขนง

1.  เตรียมแปลงเพาะชำประมาณเดือนสิงหาคม  โดยทำการไถพรวน ตากดินไว้ประมาณ 2 สัปดาห์  หรือมากกว่านั้น ทำการย่อยดินและปรับพื้นที่ดินให้สม่ำเสมอ แต่ถ้าพื้นที่ลุ่มควรยกร่องเพื่อให้มีการระบายน้ำที่ดี เพราะถ้ากิ่งแขนงแช่น้ำจะตายได้ง่าย

2.  ฤดูที่เหมาะสมต่อการปักชำกิ่งแขนง คือ ปลายฤดูฝน (กันยายน-ตุลาคม) เป็นช่วงที่มีกิ่งแขนงมากและเกษตรกรว่างจากทำนา จึงหันมารับจ้างตัดกิ่งแขนงขายให้ชาวสวนที่เพาะชำกิ่งแขนงขาย

3.  นำกิ่งแขนงที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว นำมาปักในแปลงเพาะชำ  โดยการขุดร่องให้ลึกประมาณ 15 ซม.(ประมาณ 1 หน้าจอบ) ไปตามแนวยาวของแปลงเพาะ แต่ละร่องห่างกันประมาณ 30 ซม. แล้วนำกิ่งแขนงปักลงไปในร่อง ให้แต่ละกิ่งห่างกันประมาณ 15-20 ซม.กลบดินแล้วใช้เท้าเหยียบให้แน่น

4.  รดน้ำให้ชุ่มทันทีหลังปักชำ

5.  ทำหลังคาทางมะพร้าวเพื่อบังแดด เพราะกิ่งแขนงเหล่านี้จะต้องผ่านช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมีแดดจัด

6.  หมั่นดูแลรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน จนกระทั่งกิ่งแขนงที่ชำไว้แตกใบและราก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน ประมาณเดือน พฤษภาคม(ต้นฝน) ก็สามารถทำการขุดย้ายไปปลูกลงแปลงได้

7.  ในกรณีที่ต้องขนย้ายกิ่งแขนงไปปลูกที่อื่น ควรขุดย้ายจากแปลงเพาะชำ ลงปลูกในถุงพลาสติกหรือกระชุ (ขนาด 8×10 นิ้ว) และชำไว้ประมาณ 1 เดือน จนตั้งตัวได้จึงขนย้ายไปปลูกที่อื่น

ฤดูปลูก

ฤดูปลูกไผ่ตงที่เหมาะสมคือ ต้นฝน(พฤษภาคม-มิถุนายน) เนื่องจากเป็นช่วยที่มีฝนตก ดินมีความชื้นสม่ำเสมอ ไผ่ตงจะตั้งตัวได้เร็ว ก่อนที่จะเข้าฤดูแล้ง และเป็นการ ประหยัดแรงงานในการรดน้ำด้วย แต่ถ้าปลูกแล้วฝนทิ้งช่วงนาน ๆ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรดน้ำช่วย เพราะต้นไผ่ยังอ่อนแออยู่ในช่วง 1 ปีแรก

ระยะปลูก

ระยะปลูกของไผ่ตงนั้น ควรคำนึงถึง

1.  พันธุ์

สภาพพื้นที่ดิน

กล่าวคือ ถ้าสภาพพื้นที่ดินดี ฝนตกสม่ำเสมอ สามารถจะขยายระยะปลูกได้กว้างขึ้น คือถ้าปลูกไผ่ตงดำ ระยะปลูกควรเป็น 8×8 เมตร หรือ 8×10 เมตร หรือปลูกไผ่ตงเขียวระยะปลูกควรเป็น 8×8 หรือ 6×8 เมตร แต่ถ้าสภาพพื้นที่ดินไม่ดีนัก ฝนตกไม่สม่ำเสมอควรปลูกเฉพาะไผ่ตงเขียว เพราะเป็นพันธุ์ที่ทนแล้งได้ดีกว่าตงดำ ระยะปลูกของตงเขียว 6×6 เมตร

การเตรียมดิน

การเตรียมดิน ควรทำในช่วงก่อนฝนจะมา คือประมาณเดือน เมษายน-พฤษภาคม โดยการกำจัดวัชพืชออกจากแปลงปลูกให้หมดและไถพรวนดิน 2 ครั้ง ครั้งแรกไถให้ได้ดินก้อนโต ๆ หรือไถดะ ตากดินไว้สัก 2 สัปดาห์  จึงไถพรวนอีกครั้งให้ดินย่อยละเอียดขึ้น หรือไถแปรถ้าพื้นที่ปลูกไม่ค่อยสม่ำเสมอ ให้ปรับระดับดินหรือเตรียมทำทางระบายน้ำไว้ด้วย ป้องกันน้ำท่วมขังแฉะเป็นหย่อม ๆ

ในช่วงการเตรียมดินนี้ ถ้าดินปลูกไม่ค่อยดีนัก ก็ควรปรับปรุงดินด้วย โดยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี ซึ่งเป็นลักษณะดินที่ไผ่ตงชอบ

การขุดหลุมปลูก

หลังจากเตรียมดินเสร็จแล้ว ให้กะระยะปลูก คือระยะระหว่างต้น และระหว่างแถวการปลูกให้ปลูกตามที่กำหนดไว้ให้เป็นแถวเป็นแนวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ใช้ไม้ปักไว้เป็นเครื่องหมายตรงจุดที่จะขุดหลุมปลูก  เมื่อวางระยะปลูกเรียบร้อยหมดทั้งแปลง จึงลงมือขุดหลุมปลูก

หลุมปลูกไผ่ตง ควรขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง-ยาว-ลึก ประมาณ 50 ซม.(ประมาณ 1 ศอก)  ดินที่ขุดขึ้นมาจากหลุมนั้นให้แยกเป็น 2 กอง คือ ดินชั้นบนกองหนึ่งและดินชั้นล่างอีกกองหนึ่ง สำหรับดินชั้นบนของแต่ละหลุม ให้ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 1 ปี๊บ หินฟอสเฟต 1 กระป๋องนม(ประมาณ 300 กรัม) และยาฆ่าแมลง ฟูราดาน ½ – 1 ช้อนแกง(ประมาณ 5-10 กรัม) ผสมคลุกเคล้าเข้าด้วยกันแล้วใส่กลับลงไปในหลุมจนพูนถ้าไม่พอให้ใช้ดินชั้นล่างผสมลงไปด้วยก็ได้ เมื่อดินยุบตัวดีแล้ว จะเสมอกับระดับดินในแปลงปลูกพอดี

สำหรับปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักผสมลงไปนั้นก็เพื่อทำให้ดินร่วนซุยขึ้น การระบายน้ำของดินดี ส่วนหินฟอสเฟส เพื่อช่วยให้รากเจริญเติบโตเร็ว ส่วนยาฟูราดานนั้น สำหรับป้องกันพวกปลวกและแมลงในดินที่คอยกัดกิน ทำลายต้นไผ่

วิธีปลูก

นำกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกในหลุม โดยให้กิ่งพันธุ์เอียง 45 องศากับพื้นดิน วิธีนี้จะทำให้กิ่งพันธุ์เดิมนั้นจะแทงหน่อได้เร็วกว่าการปลูกแบบกิ่งตั้งตรง เป็นการกระตุ้นให้กิ่งพันธุ์ไผ่แทงหน่อเร็วขึ้นวิธีหนึ่ง หลังจากปลูกแล้วกลบดินโดยใช้เท้าเหยียบดินให้แน่น ใช้ไม้ปักค้ำยึดกิ่งพันธุ์ไม่ให้โดนลมโยก อาจใช้ฟ่างข้าวหรือหญ้าแห้งคลุมดินรอบ ๆ โคนต้น เพื่อรักษาความชื้นของดินบริเวณโคนต้นไว้

การดูแลรักษา

1.  การให้น้ำ ปกติจะปลูกไผ่ตงให้หน้าฝน จะประหยัดการให้น้ำได้มาก อาจจะไม่ต้องให้น้ำเลยก็ได้ นอกจากฝนเกิดทิ้งช่วงนาน ๆ จึงให้น้ำช่วย แต่หลังจากหมดฝนแล้ว ผู้ปลูกต้องคอยรดน้ำให้เสมอ อย่าปล่อยให้ขาดน้ำนาน ๆ เพราะไผ่ตงปีแรกนี้ ยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก  อาจตายได้โดยง่าย หลังจากอายุเกิน 1 ปีไปแล้ว ต้นไผ่ตงจะแข็งแรงและทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีขึ้น

2.  การให้ปุ๋ย ในช่วงปีแรก ไผ่ตงสามารถใช้ปุ๋ยที่คลุกเคล้าไปกับดินปลูกได้ พอในระยะปีต่อ ๆ ไป จำเป็นต้องมีการไถพรวนและใส่ปุ๋ย หลังจากเก็บหน่อขายแล้วจะทำการตัดแต่งกอและไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืช ปกตินิยมไถพรวนในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ก่อนที่ดินจะแห้ง เพราะถ้าดินแห้งจะไถพรวนได้ยาก

การใส่ปุ๋ย จะใส่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปุ๋ยที่นิยมคือ ปุ๋ยคอกเป็นหลัก ในอัตรา 1-1.5 ตันต่อไร่ (40-50 กก.หรือ 4-5 บุ้งกี๋ต่อกอ)  หรืออาจใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 อัตรา 2-4 กก.ต่อกอ ร่วมกับปุ๋ยคอก

ในกรณีที่ต้องการเร่งการออกหน่อ นอกเหนือจากใส่ปุ๋ยปกติแล้ว จะมีการใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ในอัตรา 1-2 กก. รอบ ๆ กอ ระวังอย่าให้โดนหน่อ จะทำให้เน่าได้  และถ้าต้องการให้หน่อมีคุณภาพดียิ่งขึ้น ควรใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพิ่มไปในอัตรา 1 กก.ต่อกอ ไปพร้อมกับยูเรียด้วย

การปลูกไผ่ตงจะเน้นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเป็นหลัก ไม่ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว จะทำให้ไผ่ทรุดโทรมเร็ว

3.  การไว้ลำและการตัดแต่งกอ

ไผ่ตงปีที่ 1 เมื่อปลูกได้ประมาณ 1 ปี จะเริ่มแทงหน่อได้ประมาณ 3-4 ลำในระยะแรกนี้จะไม่มีการตัดหน่อเลย ปล่อยให้เป็นลำต่อไป การดูแลกอในช่วงนี้จะทำการตัดกิ่งแขนงเล็ก ๆ บริเวณโคนต้นที่ขึ้น เกะกะทิ้งไปเท่านั้น

ไผ่ตงปีที่ 2 ไผ่ตงเมื่ออายุ 2 ปี ก็จะมีหน่อแทงขึ้นมาอีก 5-6 หน่อ เช่นกัน ในปีที่ไม่มีการตัดหน่อ คงปล่อยให้เป็นลำต่อไป การดูแลกอในช่วงนี้ควรตัดหน่อที่เน่าออก ลำที่คดเอียง แคระแกรน และตัดแต่งกิ่งแขนงทิ้ง เพราะฉะนั้นเมื่อขึ้นปีที่ 3 จะมีลำประมาณ 8-10 ลำ

ไผ่ตงปีที่ 3 ไผ่ตงเมื่ออายุครบ 3 ปี ก็มีหน่อพอที่จะตัดขายได้ ในการตัดหน่อนี้ควรจะตัดจากกลางกอก่อน  แล้วขยายออกมารอบนอกกอ  ซึ่งหน่อที่อยู่นอก ๆ นี้ต้องเก็บหน่อไว้บ้างเพื่อให้เป็นลำแม่โดยจะเลือกหน่อที่อวบใหญ่ และอยู่ในลักษณะทีจะขยายออกเป็นวงกลม  จะทำให้กอใหญ่ขึ้น มีหน่อมากขึ้นในปีต่อไป และการเข้าไปปฏิบัติดูแลทำได้ง่ายและตัดหน่อได้สะดวก

การตัดแต่งกอ

การตัดแต่งกอนั้น ควรทำติดต่อกันทุกปี หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝน หรือประมาณเดือน พฤศจิกายน-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ไผ่ชะงักการเจริญเติบโตชั่วคราว การตัดแต่งกอหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “การล้างกอไผ่” นั้นจะตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและมีแมลง ลำที่ไม่ค่อยสมบูรณ์และลำที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปออก (คือบริเวณโคนลำเป็นแข้งตุ๊กแก) ให้เหลือลำแม่ดี ๆ ไว้ประมาณ 10-20 ลำต่อกอ  ลำที่เหลือไว้นี้จะเป็นลำแม่ที่ค้ำจุนและบังลมให้ลำที่ที่เพิ่งแตกใหม่ ลำที่ตัดออกนี้ให้ตัดติดดิน หรือเหลืออยู่เหนือพื้นดินประมาณ 5 ซม. ไม่ให้เปลืองอาหารที่จะต้องส่งไปเลี้ยงลำพวกนี้อีก เพราะลำแก่ที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจนแก่และแตกหน่อให้น้อย และยังเป็นการเร่งให้หน่อไม้ใหม่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ด้วย

การตัดหน่อ

ไผ่ตงจะเริ่มแทงหน่อตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ช่วงที่มีหน่อมากจะประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ไผ่ตงที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป สามารถตัดหน่อได้ทุก 4-5 วันแต่ถ้ามีการบำรุงรักษาดี ๆ จะสามารถตัดได้วันเว้นวัน การตัดหน่อควรทำในตอนเช้ามืดเพื่อที่จะได้หน่อไม้ที่สดส่งตลาด ไผ่ตงที่ตัดไว้นาน ๆ จะทำให้เปอร์เซ็นต์ความหวานลดลงเครื่องมือที่ใช้ตัดหน่อคือ เสียมตัดหน่อไม้(เสียมหางปลา) มีหน้ากว้างประมาณ 3-4 นิ้ว ในการตัดหน่อนั้นต้องมีความชำนาญพอสมควร  โดยจะตัดหน่อบริเวณที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ให้มีตาเหลืออยู่ประมาณ 2-3 ตา นับจากกาบใบที่ 1-2 -3 แล้วตัดบริเวณกาบที่ 3 ซึ่งจะเหลือตาอยู่และจะให้หน่อในปีถัดไป ส่วนหน่อที่ไม่แข็งแรง มีขนาดเล็ก (หน่อตีนเต่า) ให้ตัดออก ถ้าปล่อยไว้จะไม่มีประโยชน์ ทำให้กอไผ่สูงชลูดไม่แพร่ขยายออกไปในแนวกว้างเป็นวงกลม เพราะเป็นลำแม่ที่ไม่ดี ทำให้กอมีหน่อน้อยในปีถัดไป

การทำหน่อไม้หมก

หน่อไม้หมก หรือตงหมก หรือตงหวาน เป็นหน่อไม้ที่ตลาดต้องการมาก ราคาสูงกว่าหน่อไผ่ตงธรรมดา  เนื่องจากรสชาติและคุณภาพของหน่อจะดีกว่าลักษณะของหน่อไม้หมกจะเป็นหน่อที่อวบ เนื้อขาว อ่อนนิ่มและหวานกรอบ สามารถสังเกตความแตกต่างได้คือสีของหน่อจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนหน่อตงดำธรรมดา หรือหน่อที่ไม่ได้หมกนั้นสีจะออกน้ำตาลดำ มีนวล

ฤดูที่เหมาะในการทำตงหมกคือ ช่วงต้นฝนประมาณเดือน เมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่หน่อไม้เริ่มแทงหน่อ พันธุ์ที่นิยมทำตงหมกคือ ตงจีนหรือตงดำ แต่ปัจจุบันพวกที่ ปลูกตงเขียวก็เริ่มหันมาทำตงหมกมากขึ้น เพื่อปรับปรุงคุณภาพของหน่อตงเขียวให้ดีขึ้น ให้ทัดเทียมกับตงดำด้วย

การทำหน่อไม้หมก คือ การป้องกันไม่ให้หน่อไม้ถูกแสงแดด ซึ่งมีวิธีทำได้หลายวิธี เช่น

1.  การใช้ดินพอก เป็นวิธีที่คุณภาพของหน่อดีที่สุด โดยใช้ดินบริเวณรอบ ๆ กอไผ่มาพอกรอบ ๆโคนกอให้สูงประมาณ 1 ศอก พอหน่อพ้นดินที่หมกไว้สักเล็กน้อยก็ทำการตัดหน่อได้ วิธีการตัดหน่อต้องขุดดินซึ่งหมกไว้บริเวณหน่อออกเสียก่อน  จึงลงมือตัดด้วยเสียมตัดหน่อไม้ตรงบริเวณกาบที่ 3 นั่นเอง

ในการทำหน่อไม้ไผ่ตงหมก หรือหน่อไม้หวานโดยวิธีใช้ดินพอกนี้ มีข้อคำนึงถึงถือ จะทำให้เราไม่สามารถเลี้ยงลำแม่ที่แข็งแรง สมบูรณ์ที่สุดได้ เนื่องจากเราขุดหน่อไปขายจนลืมนึกถึงการเลี้ยงลำแม่ หรือบางทีนึกถึงได้ แต่ไม่ทราบตำแหน่งของหน่อที่ควรจะเป็นลำแม่ เพราะถูกดินกลบไว้ ทำให้ไม่เห็นหน่อนั้นได้ ฉะนั้นลำที่ปล่อยให้เป็นลำแม่อาจะเป็นลำที่ไม่ดีพอ รวมทั้งการกะระยะห่าง(หรือการเดินกอ) ก็ทำได้ยาก และเมื่อมีการพูนดินขึ้นทุกปีแล้วไม่มีการเอาดินที่พูนออก หรือเอาออกไม่หมด จะทำให้กอไผ่ลอย เป็นผลให้กอไผ่ทรุดโทรมได้เร็ว และออกหน่อน้อยในปีต่อ ๆ ไป การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจทำได้ดังนี้คือ

1.  ทำการหมกปีเว้นปี หรือหมกสองปี แล้วปล่อยตามปกติ 1 ปี หรือไม่ก็แบ่งพื้นที่หมกเป็นแปลง ๆ แยกกัน ทั้งนี้เพื่อให้ไผ่ตงผ่านการหมกมีลำแม่ที่สมบูรณ์เต็มที่ ผลผลิตจะได้ไม่ลดลงในปีต่อไป

2.  มีการหมกกอเว้นกอ เพื่อที่จะเลี้ยงลำแม่ที่สมบูรณ์ได้

3.  หมกเพียงครึ่งกอ (สลับซ้ายขวา)

4.  ต้องเอาดินที่พูนโคนออกทุกปีหลังตัดหน่อแล้ว

2.  การใช้ขี้เถ้าแกลบ ทำในลักษณะเดียวกับการหมกด้วยดินคือใช้ขี้เถ้าแกลบมาพอกรอบ ๆ โคนกอ การหมกด้วยวิธีนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น ตัดหน่อได้ง่ายหน่อไม่สกปรกและยังเชื่อว่าทำให้หน่อหวานขึ้น