ไผ่

ไผ่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แบมบิวซ่า ( Bambusa spp.) อยู่ในตระกูล แกรมมินี่ (Graminae) ไผ่มีหลายชนิด เช่น ไผ่เหลือง ไผ่ข้อน้ำเต้า ไผ่สีสุก ไผ่ตง ไผ่ลาย ไผ่ไม้รวก ไผ่เป็นไม้แตกกอ ลำต้นมีหนามใบคาย หน่ออ่อนๆ ที่แทงออกมาใช้รับประทานเป็นอาหารได้ ไผ่มีขึ้นตามที่ราบและบนเขาสูงๆ ตามชนบทมักปลูกเป็นรั้วบ้านกั้น เขตแดน ไผ่มีอายุยาวประมาณ ๓๐-๑๐๐ ปี ก็มีดอก เมื่อออกดอกแล้วต้นไผ่จะแห้งตาย เรียกว่าตายขุยชาวชนบทถือกันว่าถ้าไผ่บ้านใครออกดอก แสดงว่าจะต้องมีการทำบุญบ้านแก้โชคร้าย ลำต้นไผ่ใช้ทำเครื่องจักสานเผาข้าวหลาม ทำตอหม้อ ทำกระบอกรองนํ้าตาลสด ใบไผ่เรียวแหลม ชาวชนบทเชื่อว่าใบไผ่นำมาปรุงเป็นยาขับฟอกล้างโลหิตระดู ตาไผ่เกิดตามข้อเชื่อว่าตาไผ่สุมไฟเป็นถ่านรับประทานแก้ร้อนในกระหายนํ้าได้ ดอกไผ่ออกเป็นช่อ ลูกไผ่มีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสารนำมาหุงรับประทานแทนข้าวได้ และรากไผ่รสกร่อยเอียนเล็กน้อยเชื่อว่าใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ และเชื่อว่ารากไผ่ปรุงรวมกับยาอื่นใช้เป็นยาขับโลหิตระดู แก้หนองใน ในปัจจุบันพบว่ายอดไผ่มีสารที่ช่วยเป็นยาขับปัสสาวะ

ในกรณีที่เป็นไผ่เหลือง ลำต้นจะมีสีเหลืองทั้งต้น มีหนามน้อย แพทย์แผนโบราณเชื่อกันว่าใช้ตาไผ่เหลือง ๗ ตา ฝนหรือต้มรับประทานแก้เลือดตกมากๆ

สรุปสรรพคุณ

แพทย์แผนโบราณเชื่อว่า ใบไผ่ปรุงเป็นยาขับฟอกล้างโลหิตระดู

ตาไผ่ สุมไฟเป็นถ่านดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำ

ผลไผ่ หุงรับประทานแทนข้าวได้

รากไผ่ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ และปรุงเข้ายาขับโลหิตระดู แก้หนองใน

ปัจจุบันพบว่า ยอดไผ่มีสารช่วยเป็นยาขับปัสสาวะ

ลำต้นไผ่ ใช้ทำเครื่องจักสาน เผาข้าวหลาม ทำตอหม้อ ทำกระบอกรองนํ้าตาลสด