ไพล

ปูเลย (ไพล) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า เคอร์คิวม่า คัสซูมูน่า (Curcuma Cassumunar) อยู่ในตระกูล ซิงจิเบอเรซี่ ( Zingiberaceae ) เป็นไม้ลงหัวจำพวกว่านหรือขิง ใบเล็กยาวคล้ายใบขิง หัวมีสีเหลืองอมเขียว กลิ่นหอมร้อนๆ ต้นงอกงามในฤดูฝน แห้งตายในฤดหนาว โดยมากปลูกไว้ประกอบยาหรือปลูกเป็นไม้ใบประดับ

จากสรรพคุณต่างๆ ที่ว่าปูเลยมีสรรพคุณต่างๆ นานานั้น เราสามารถนำมาอธิบายได้อย่างมีเหตุผลได้มากน้อยเพียงใด ดังเช่นแพทย์ตามชนบทเชื่อว่าใช้หัวปูเลยฝนทาแก้ฟก บวมเคล็ดยอกนั้น จากการทดลองในสุนัขโดยใช้น้ำสกัดไพล (ปูเลย) มีผลทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และทดลองกับเส้นประสาทที่ขากับพบว่า

ปูเลยออกฤทธิ์เหมือนยาชา คือช่วยลดอาการเจ็บปวดลงได้ ดังนั้นพอสรุปได้ว่า น้ำสกัดจากปูเลยสามารถแก้ฟกบวมเคล็ดยอกได้

อีกอย่างหนึ่งคือ ใช้หัวไพลโขลกพอกบาดแผลช่วยเป็นยาสมานแผลได้ดีนั้น เนื่องจากภายในหัวปูเลยประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยที่พบว่ามีสารมีฤทธิ์ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ และสารเมือกเคลือบบาดแผลป้องกันการติดเชื้อ ทำให้แผลหายเร็ว

ในกรณีที่เป็นเหน็บชา ตามตำราโบราณใช้หัวปูเลยผสมการบูรและเบนซินจากส่วนผสมเบนซินเป็นตัวทำละลายสกัดสารภายในหัวปูเลย การบูรเบนตัวทำให้เย็น ส่วนสารภายในหัวไพลนั้นจะไปกระตุ้นทำให้เลือดบริเวณนั้นเดินสะดวก

ในปัจจุบันนี้สารเคมีที่พ่นกำจัดแมลงทำให้มีปัญหากับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยง ได้มีผู้ทดลองพบว่า น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากสารสกัดจากหัวปูเลยทาผิวหนังป้องกันยุงลายและยุงรำคาญได้อย่างคุ้มค่ามาก และสามารถทำได้ในราคาถูก เพราะหัวไพลเป็นพืชพื้นเมืองของบ้านเรา ปลูกง่ายขยายพันธุ์ได้เร็ว และยังทดลองพบอีกว่า ไม่เป็นพิษต่อผิวหนัง โดยทดลองในกระต่ายไม่มีการอักเสบแต่อย่างใด

ที่ว่าไพลทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากอาศัยหลักที่ว่า ยาที่ใซ้ทำให้มดลูกเข้าอู่นั้นมีฤทธิ์เป็นยากระตุ้นให้มดลูกบีบตัวแรงขึ้น แต่น้ำปูเลยที่ทดลองในหนูขาวทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ซึ่งเป็นปฏิกริยาตรงข้ามกัน ฉะนั้นคำว่าน้ำปูเลยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นนั้นจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

มาทดลองผลน้ำปูเลยต่อหัวใจในเต่าและกบ พบว่าน้ำปูเลยไปลดการบีบตัวและจังหวะการเต้นของหัวใจ จากผลการทดลองนี้ทำให้สามารถอธิบายได้ว่า น้ำปูเลยสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ โดยทดลองในหนูขาวพบว่าทำให้ความดันโลหิตตํ่าลงและหัวใจเต้นช้า แต่ถ้าดื่มนํ้าปูเลยมากเกินไปอาจไปทำให้ลดการเต้นของหัวใจและอาจหยุดเต้นและตายได้

ในกรณีที่ดื่มน้ำปูเลยมากเกินไปมีผลทำใหหัวใจเต้นช้าลงนั้น เราสามารถแก้ด้วยยากระตุ้นหัวใจ เช่น พวกอะดรินาลิน หรืออะ โทรปิน ได้หรือไม่นั้น

จากเหตุผลดังกล่าว เรานำมาทดลองในหนูขาวและเต่า พบว่าในกรณีที่ได้น้ำปูเลยมากเกินไปนั้น เราให้ยากระตุ้นหัวใจพวกอะดรินาลินหรืออะโทรปิน ไม่สามารถแก้ฤทธิ์กันได้ ดังนั้นผู้ดื่มนํ้าปูเลยจึงควรระวังผลร้ายจะเกิดขึ้นภายหลัง

นอกจากนี้ ได้ทำการทดลองฤทธิ์ของนํ้าสกัดจากปูเลยเทียบกับฤทธิ์ของยาควินิดีน ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นช้า โดยทดลองในหนูขาวพบว่าได้ผลทั้งสองอย่างคล้ายคลึงกัน แต่จากการทดลองเทียบกันระหว่างฤทธิ์ของน้ำปูเลยและฤทธิ์ของควินิดีนในการแก้ฤทธิ์ของคลอโรฟอร์มนั้น ผู้ที่ดื่มคลอโรฟอร์มจะทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ถ้าเราให้ควินิดีนซึ่งเป็นยาช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจลงได้ จะทำให้สัตว์ทดลองรอดชีวิตได้ แต่เราให้น้ำปูเลยแทน สัตว์ทดลองจะไม่รอดชีวิตจากการดื่มคลอโรฟอร์ม

จะเห็นได้ว่ายาที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับปูเลย แต่น้ำปูเลยไม่สามารถแก้ฤทธิ์บางอย่างได้ในบางกรณี อาจเนื่องมาจากที่เรายังไม่ทราบว่ามีสารอะไรบ้างภายในหัวไพลหรือปูเลย เป็นที่แน่นอน เพราะสารบางอย่างภายในหัวปูเลยอาจไปขัดขวางฤทธิ์กันเองได้ และอีกประการหนึ่งอาจมีสารที่มีฤทธิ์แรงแฝงอยู่ภายในหัวไพลหรือปูเลยได้ ดังเช่นได้มีการทดลองในหนูขาว ที่ให้น้ำปูเลยประมาณ ๔ กรัมต่อหนึ่งกิโลกรัมของน้ำหนักตัว พบว่าสัตว์ทดลองตายโดยมีอาการตัวเย็นซีด ชัก หายใจขัด และหยุดการหายใจและตายในที่สุด

ในรายคนที่เป็นบิดและท้องเดินนั้น กล้ามเนื้อเรียบลำไส้บีบตัวแรง ถ้าดื่มนํ้าปูเลย จะช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ช่วยลดอาการเป็นบิดและท้องเดินได้ ส่วนในรายที่ท้องอืดเฟ้อ เนื่องจากมีแก๊สในกระเพาะลำไส้มากและไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ ฉะนั้นการดื่มนํ้าปูเลยจึงไม่ช่วยแก้ในรายที่ท้องอืดเฟ้อได้เลย

สรุปสรรพคุณ

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า หัวปูเลยมีประโยชน์ทางยาที่ได้ผ่านการพิสูจน์ทางด้านวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ ถึงแม้จะไม่ใช่ผลที่สุด แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เรายังมีข้อที่จะต้องพิสูจน์อีกมาก หัวปูเลยที่มีประโยชน์ทางยาที่สามารฎอธิบายได้อย่างมีเหตุผลตามความเชื่อ คือ

-ลดความเจ็บปวดเฉพาะที่ได้

-ลดอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน

-แก้ท้องเดิน เป็นบิดได้

-ลดอาการเต้นเร็วกว่าปกติของหัวใจได้

-รักษาบาดแผลทำให้แผลหายเร็ว

-ใช้ทาป้องกันยุงและแมลงรบกวนได้