ไม้ผล:การจัดการทรงต้นไม้ผลเขตร้อน

ผศ.ดร.กวิศร์  วานิชกุล

ภาควิชาชีพสวน

ม.เกษตรศาสตร์

ทรงพุ่มไม้ผลที่ดีนั้นควรจะมีลักษณะ โดยทั่วไปดังนี้คือ ตำแหน่งของกิ่งก้านสาขาจัดไว้อย่างมีระเบียบ และมีเฉพาะกิ่งก้านที่มีมุมกว้าง มีตำแหน่งของกิ่งที่แผ่กระจายไปทุกทิศได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง มีการถ่ายเทของอากาศ

ไม้ผลที่ปลูกกันเป็นการค้าส่วนใหญ่จะเป็นไม้ยืนต้นที่มีระยะเวลาให้ผลผลิตเป็นเวลานานหลายปี การที่ไม้ผลเป็นไม้ยืนต้น จึงทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปในทางด้านสูงและด้านกว้าง มีการขยายขนาดมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในและนอกทรงพุ่ม การขยายขนาดของต้นไม้ผลนี้หากปล่อยให้เป็นไปโดยธรรมชาติ จะได้รูปทรงตามชนิดและพันธุ์ ซึ่งมาจากการควบคุมโดยยีน (gene) รูปทรงเหล่านี้จะคงอยู่ต่อเมื่อส่วนต่างๆ ของต้นไม้ยังมีสภาพดี หากถูกเบียดเบียนด้วยโรค-แมลง ความชราภาพ หรือเกิดการฉีกหักแล้วรูปทรงก็จะเปลี่ยนไปได้

กรณีที่มีการปลูกไม้ผลเป็นการค้า หากผู้ปลูกหวังจะให้ได้ผลตอบแทนจากต้นไม้ผลนั้นให้ได้ผลดีกว่าที่เป็นไปตามธรรมชาติ นอกจากผู้ปลูกจะต้องดูแลรักษาโรคแมลง ดูแลการให้ปุ๋ยและน้ำอย่างถูกวิธีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการจัดการทรงต้นของต้นไม้นั้นให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และให้ผลผลิตได้เต็มที่ด้วย การจัดการทรงต้นไม้ผลนั้น โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยการจัดทรงพุ่ม(training)และการตัดแต่ง(pruning)ซึ่งผลที่ได้จากการจัดทรงพุ่มและตัดแต่งกิ่งอย่างถูกต้องมีดังนี้คือ

1.  มีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสม ต้นไม้ผลควรจะได้รับแสงแดดและมีการถ่ายเทอากาศอย่างทั่วถึงทั้งในและนอกทรงพุ่ม การจัดทรงพุ่มที่ดีและตัดแต่งกิ่งที่ทำให้ทรงพุ่มแน่นเกินไปออก จะทำให้แสงแดดส่องเข้าไปในทรงพุ่มอย่างทั่วถึง การหมุนเวียนของอากาศเป็นไปอย่างสะดวก รวมทั้งจะไม่ทำให้เกิดการต้านลมในกรณีที่มีลมแรง นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งแห้งจะช่วยลดการลุกลามของไฟได้ ในกรณีเกิดไฟไหม้

2.  ช่วยแก้ไขหรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หากลมพายุพัดกิ่งของไม้ผลหักลง จำเป็นจะต้องตัดกิ่งนั้นออกไม่ให้เกะกะ หากไม่ตัดออกจะเป็นทางเข้าทำลายของโรคและแมลงหรือทำให้กิ่งอื่นฉีกขาดมากขึ้นได้ กิ่งที่แห้งหรือเน่าตายโดยไม่ทราบสาเหตุก็จำเป็นต้องตัดออกโดยเร็ว เพราะอาจมีสาเหตุมาจากโรค เมื่อตัดออกแล้วจะเป็นการป้องกันการลุกลามสู่กิ่งอื่นได้

3.  ช่วยให้ออกดอกติดผลดีขึ้น  ปกติปริมาณและคุณภาพของดอกและผลไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นในวงจรชีวิตของพืช แต่จำเป็นสำหรับผู้ที่นำไม้ผลนั้นมาปลูก การตัดแต่งเป็นวิธีการหึ่งที่จะช่วยให้พืชออกดอกติดผลดีขึ้น

4.  ช่วยให้มีรูปทรงต้นตามต้องการ  ในด้านไม้ผล ทรงต้นที่ต้องการคือ ทรงต้นที่มีความสมดุลกิ่งก้านแข็งแรงรับน้ำหนักผลได้ดีและเหมาะกับวิธีการดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวที่เลือกใช้ในการจัดทรงต้น ไม่เพียงแต่จะใช้วิธีตัดแต่งหรือจัดแนวทิศทางการเจริญของกิ่งเท่านั้น การบังคับโดยการใช้ลวด เชือก หรือโน้มกิ้งก็เป็นวิธีการที่จะนำมาช่วยในการจัดรูปทรงของกิ่งได้

5.  ช่วยให้ต้นไม้ผลตั้งตัวได้เร็วในกรณีย้ายปลูก โดยทั่วไปต้นไม้ที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์จะมีปริมาณส่วนของราก และลำต้น กิ่ง ใบ ในสัดส่วนที่สมดุลกัน คือต้องมีใบเพียงพอต่อการสร้างอาหารมาเลี้ยงส่วนอื่นๆ และมีรากเพียงพอที่จะดูดน้ำและแร่ธาตุมายังส่วนของต้น หากมีการขุดย้ายต้นไม้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นที่มีขนาดใหญ่ รากของต้นไม้ผลจะถูกตัดออกอย่างมาก ทำให้ต้นไม้ผลนั้นได้รับน้ำและธาตุอาหารไม่เพียงพอ อาจเกิดการเสื่อมโทรมหรือตายได้เนื่องจากการขาดน้ำและธาตุอาหาร จึงจำเป็นต้องตัดกิ่งใบออกบ้างเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการดูดรับและการคายน้ำ และสามารถตั้งตัวได้เร็ว

6.  ช่วยแก้ไขการวางแผนที่ผิดพลาด บางครั้งการวางแผนการปลูกและดูแลรักษาเกิดความผิดพลาด เช่น ใช้ระยะปลูกชิดเกินไป ไม่สามารถหาไม้ค้ำกิ่งได้เนื่องจากมีราคาแพง การตัดแต่งจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ไม่เกิดความเสียหายมาก

การจัดทรงพุ่มและตัดแต่งกิ่งไม้ผลเขตร้อน

วิชาการด้านการจัดการทรงต้นไม้ผล ได้เริ่มพัฒนาจากแหล่งปลูกไม้ผลในเขตอบอุ่น เนื่องจากมีลักษณะการเจริญของต้นไม้ผลที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละฤดูของรอบปีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงการพักตัวในฤดูหนาวซึ่งต้นไม้ผลจะผลัดใบ ทำให้เห็นโครงร่างของกิ่งก้านอย่างชัดเจน สะดวกแก่การจัดทรงพุ่มและตัดแต่งการพัฒนาการจัดการทรงต้นของไม้ผลในเขตอบอุ่นเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ตามระบบปลูกแบบใหม่ เครื่องมือเครื่องจักรที่ค้นคิดประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งความรู้และแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ที่ค้นคิดมาได้ ส่วนในไม้ผลเขตร้อนนั้นวิทยาการด้านนี้ยังไม่พัฒนามากนัก ส่วนใหญ่จะอาศัยหลักการและแนวทางการปฏิบัติในไม้ผลที่ปลูกในเขตอบอุ่นเป็นแม่แบบ แต่เนื่องจากโดยทั่วไปไม้ผลเขตร้อน จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ผลัดใบ คือมีการเจริญเติบโตตลอดปี ไม่มีช่วงพักตัวระยะยาวเหมือนกับไม้ผลประเภทผลัดใบ ทำให้การกำหนดช่วงเวลาการตัดแต่งและการจัดทรงพุ่มประจำปี ไม่สามารถกระทำได้เด่นชัดเหมือนไม้ผลในเขตอบอุ่น แต่อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษาการเจริญเติบโตของไม้ผลเขตร้อนโดยละเอียดพบว่าการเจริญเติบโตของไม้ผลเขตร้อนมีลักษณะเป็นช่วงจังหวะ(rhythmic) เช่นกัน คือมีการแตกยอดใหม่และพักตัวเป็นช่วงๆ ดังนั้นการเลือกช่วงจังหวะการตัดแต่งกิ่งในขณะที่ต้นไม้อยู่ในช่วงพักตัว จึงอาจเป็นไปได้

โดยทั่วไปเราอาจแบ่งไม้ผลเขตร้อนออกตามขนาดของทรงพุ่มได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.  พวกที่มีขนาดทรงพุ่มคงตัว เช่น กล้วย มะละกอ สับปะรด มะพร้าว เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มขนาดเล็ก (ยกเว้น มะพร้าว) ทำให้จำนวนต้นที่ปลูกต่อไร่สูง เช่น มะละกอ หากปลูกที่ระยะ 3×3 เมตร จะได้จำนวนต้นถึง 177 ต้นต่อไร่ เป็นต้น ไม้ผลพวกที่มีขนาดทรงพุ่มคงตัวนี้จะไม่มีการแตกกิ่งก้านสาขา ดังนั้นจึงมีรูปแบบของทรงพุ่มเพียงแบบเดียวไม่ต้องจัดทรงพุ่มและตัดแต่งกิ่ง อาจมีการตัดใบที่หมดอายุออกบ้างเพื่อมิให้เป็นที่สะสมของโรคหรือแมลง และเพื่อความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น

2.  พวกที่มีขนาดทรงพุ่มปานกลาง เช่น ส้ม พุทรา น้อยหน่า ละมุด มะยม ฯลฯ มักเป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มขนาดปานกลางมีการขยายทรงพุ่มช้า โดยทั่วไปมีจำนวนต้นที่ปลูกต่อไร่ปานกลาง เช่น ส้ม หรือละมุด จะมีระยะปลูก 5×5 เมตร หรือ 6×6 เมตร เป็นต้น ซึ่งจะได้จำนวนต้นต่อไร่ 64 หรือ 44 ต้นต่อไร่ ไม้ผลในกลุ่มนี้หลายชนิดหากปล่อยให้มีการเจริญเติบโตไปเรื่อยๆก็จะมีทรงพุ่มขนาดใหญ่ได้ แต่จะให้ผลผลิตไม่ดี ดังนั้นในการปลูกเป็นการค้าจึงมีการตัดแต่งกิ่งเป็นครั้งคราว ทำให้ทรงพุ่มจัดอยู่ในขนาดปานกลาง บางชนิดจำเป็นจะต้องตัดแต่งทุกปีเพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณมากและมีคุณภาพดี เช่น พุทรา และน้อยหน่า เป็นต้น

3.  พวกที่มีขนาดทรงพุ่มใหญ่ เช่น ทุเรียน เงาะ มะม่วง กระท้อน มังคุด เป็นต้น เป็นไม้ผลขนาดใหญ่ที่มีการขยายทรงพุ่มค่อนข้างเร็วทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยทั่วไปมีจำนวนต้นที่ปลูกต่อไร่น้อย (ปลูกระยะห่าง) ระยะปลูกมักจะเป็น 10×10 เมตร หรือมากกว่า ซึ่งจะทำให้จำนวนต้นต่อไร่ 16 ต้นต่อไร่ หรือน้อยกว่า ไม้ผลที่ปลูกห่างกันโดยทั่วไปจะมีการเจริญเติบโตของทรงพุ่มเป็นไปตามธรรมชาติ การตัดแต่งมักจะทำเพียงการตัดกิ่งแห้งหรือกิ่งในทรงพุ่มออกบ้างเท่านั้น ไม้ผลบางชนิดที่ออกดอกผลภายในทรงพุ่ม เช่น ทุเรียน ลางสาด มักจะไม่มีการตัดแต่งปลายยอดหรือปลายกิ่ง ในปัจจุบันนี้เนื่องจากการปลูกห่างใช้ระยะเวลาการคืนทุนนาน และไม่สะดวกแก่การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวเนื่องจากต้นสูง ต้องใช้แรงงานมาก จึงมีแนวโน้มว่าในสวนใหม่ๆ พยายามลดขนาดทรงพุ่มของต้นลง ให้เป็นขนาดทรงพุ่มปานกลาง หรือขนาดเล็ก โดยการตัดแต่งกิ่งหรือจัดทรงพุ่มใหม่ ทั้งนี้จะเป็นผลสำเร็จได้จะต้องมีการพัฒนาต้นตอแคระร่วมไปด้วย

การวางแผนการจัดทรงพุ่มและการตัดแต่งกิ่ง

การจัดทรงพุ่มและการตัดแต่งกิ่งคือการกระตุ้นกลไกการทำงานในระบบต่างๆ ของพืชให้ผลิตกิ่ง ก้าน ใบ ดอก และผลได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีหลักการคือ การจัดตำแหน่งของกิ่งและตัดบางส่วนของพืชออกเพื่อปรับปรุงรูปทรงของพืชเพิ่มการออกดอก ติดผล และปรับปรุงคุณภาพของผล

ข้อแตกต่างอย่างกว้างๆระหว่างการจัดทรงพุ่มและการตัดแต่งกิ่งคือ การจัดทรงพุ่ม “เพื่อจัดรูปโครงสร้างของพืช” ส่วนการตัดแต่งกิ่ง “เพื่อควบคุมขนาดและการออกดอกติดผล” อย่างไรก็ดีข้อแตกต่างปลีกย่อยในวิธีปฏิบัติทั้งสองปราการมีดังนี้

การจัดทรงพุ่ม กระทำเพื่อจัดโครงสร้างพืชให้แข็งแรงและสอดคล้องกับวิธีการปฏิบัติดูแลรักษาควบคุมทิศทางการเจริญเติบโตของกิ่ง ให้มีขนาดและโครงสร้างที่เหมาะกับระบบปลูกและงานส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะก่อนให้ผล

การตัดแต่งกิ่ง กระทำเพื่อควบคุมขนาดของต้นไม่ให้ทรงพุ่มแผ่ขยายเร็วเกินไป และตัดส่วนที่ไม่มีประโยชน์ออก เพื่อรักษาต้นไม้ผลให้มีทรงต้นที่ถูกต้องตลอดไป ช่วยคงสภาพความแข็งแรงของพืช ซึ่งจะเป็นผลให้ต้นไม้ผลิตผลให้สม่ำเสมอและติดต่อกันเป็นเวลายาวนานเพื่อเร่งเร้าการผลิตดอกและผล รักษาความสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตของส่วนกิ่งกับการผลิตดอกและผลเพื่อความสะดวกในด้านการดูแลรักษา เช่น การป้องกันกำจัดโรค แมลง และวัชพืช การเก็บเกี่ยว เป็นต้น และทำให้ต้นไม้ผลได้รับแสงแดดสม่ำเสมอมีการหมุนเวียนของอากาศในทรงพุ่มดี

ในการวางแผนการจัดทรงพุ่มควรคำนึงถึงหลักการจัดทรงพุ่ม ดังนี้คือ

1.  เตรียมโครงสร้างของต้นไม้ผลให้แข็งแรง ให้มีกิ่งที่จะให้ดอกผลกระจายอยู่ทั่วต้นอย่างสม่ำเสมอและกิ่งด้านในอยู่ในสภาพที่จะรับน้ำหนักได้ไม่ฉีกหักง่าย

2.  เพื่อพัฒนาให้กิ่งหลักเป็นโครงสร้างของต้นตั้งแต่ 3 กิ่งขึ้นไปกิ่งที่เป็นโครงสร้างหลักนี้ควรจะมีกิ่งสาขาแตกครอบคลุมไปทุกทิศทุกทาง

3.  กำจัดกิ่งน้ำค้างหรือกิ่งที่ไม่จำเป็นออก กิ่งใหญ่ที่มีขนาดยาวและไม่มีกิ่งแขนงซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดที่ว่างที่ไม่มีประโยชน์ในทรงพุ่ม ควรตัดทิ้งและเลี้ยงกิ่งใหม่ขึ้นทดแทน

4.  ส่วนลำต้น ควรจัดอยู่ในแนวตั้ง(leader type) และกิ่งที่แตกจากลำต้นควรเป็นกิ่งที่มีง่ามมุมกว้าง

5.  กิ่งสาขาแต่ละด้านควรมีเพียงกิ่งเดียว ไม่มีกิ่งอื่นซ้อน และไม่ควรให้กิ่งไขว้กัน

6.  การจัดทรงพุ่ม ควรเริ่มจัดทำตั้งแต่ต้นไม้ผลอยู่ในเรือนเพาะชำหรือหลังจากปลูกแล้วเล็กน้อย และเมื่อได้โครงสร้างที่ดีแล้วไม่ควรเปลี่ยนแปลงต่อไป

ทรงพุ่มไม้ผลที่ดีนั้นควรจะมีลักษณะโดยทั่วไปดังนี้คือ ตำแหน่งของกิ่งก้านสาขาจัดไว้อย่างมีระเบียบและมีเฉพาะกิ่งก้านที่มีมุมกว้าง มีตำแหน่งของกิ่งที่แผ่ขยายไปทุกทิศได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง มีการถ่ายเทของอากาศ

จะเห็นได้ว่าการจัดทรงพุ่มของต้นไม้ผลนั้น ในทางปฏิบัติจะคาบเกี่ยวไปกับการตัดแต่งกิ่ง เนื่องจากบางส่วนของวิธีการปฏิบัติในการจัดทรงพุ่มจำเป็นต้องตัดกิ่งออกด้วย หากจะแยกออกจากกันให้ชัดเจนควรเน้นที่วัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้วข้างต้น