ไรลำไย:ศัตรูตัวเล็กที่ควรระวัง

มานิตา  คงชื่นสิน

ถ้าไรทำลายในขณะที่ลำไยกำลังแทงช่อดอก จะพบว่าช่อดอกลำไยแตกเป็นพุ่มแจ้  ดอกจะติดกันเป็นกระจุก มีขนขึ้นปกคลุม ดอกอาจจะบานได้ แต่ก็จะหลุดร่วง ไม่ติดผล

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ไรลำไยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aceria sp. ซึ่งเป็นไรสี่ขา จัดอยู่ในวงศ์ Eriophyidae ดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบอ่อนของลำไย ใบอ่อนที่ถูกดูดกินจะสร้างเส้นขนสีเขียวอ่อน ใบจะบิดม้วนงอ ถ้าการทำลายรุนแรง ใบจะลีบเรียว ไม่เจริญเติบโต และแห้งหลุดร่วงไปในเวลาต่อมา อีกลักษณะหนึ่งที่คาดว่าจะเป็นการทำลายของไร Aceria sp. ก็คือ อาการที่ลำไยแตกยอดอ่อนอย่างผิดปกติคือ ในตายอดเพียงตาเดียว จะแตกเป็นยอดอ่อนมากมายประมาณ 10-20 ยอด แต่ละยอดจะสั้นประมาณ 4-6 นิ้ว ทำให้มีลักษณะคล้ายพุ่มไม้กวาด ใบอ่อนของยอดแต่ละยอดจะหงิกงอ มีขนอ่อนปกคลุม กิ่งไม่ยืดยาว ในที่สุดก็จะแห้งและหลุดร่วง เหลือแต่เพียงก้านใบเป็นกระจุกคล้ายพุ่มไม้กวาดติดอยู่บนลำต้นลำไย อาการดังกล่าวสันนิษฐานว่าเกิดจากไร Aceria sp. ดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ในตาใบบนส่วนยอดหรือตาข้าง ทำให้เกิดความผิดปกติในการแตกยอด  ซึ่งพบเห็นลักษณะเช่นนี้ในมะม่วงเช่นกัน  ถ้าไรทำลายในขณะที่ลำไยกำลังแทงช่อดอก จะพบว่าช่อดอกลำไยแตกเป็นพุ่มแจ้ ดอกจะติดกันเป็นกระจุก มีขนขึ้นปกคลุม ดอกอาจจะบานได้ แต่ก็จะหลุดร่วง ไม่ติดผล

รูปร่างลักษณะ

เป็นไร 4 ขา ขนาดลำตัวเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลักษณะคล้ายหนอน ลำตัวเป็นปล้อง ๆ สีขาวนวล มีขา 4 ขาอยู่ด้านหน้าของลำตัว เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาในซอกขนที่ใบสร้างขึ้น

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด

ไรลำไยพบระบาดในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่และเชียงราย โดยจะพบระบาดรุนแรงมากในบางปี ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่ปลูกลำไย เช่น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี พบไรลำไยบ้าง แต่ไม่ระบาดรุนแรง ฤดูการระบาดของลำไย พบระบาดมากในช่วงการแตกใบอ่อนหลังการเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

การแพร่กระจายเป็นไปได้โดยการพัดพาของลมและที่สำคัญก็คือการเคลื่อนย้ายกิ่งพันธุ์และกิ่งที่ถูกตัดแต่งออก

พืชอาหาร

เท่าที่สำรวจพบในลำไยเพียงชนิดเดียว

ศัตรูธรรมชาติ

พบไรตัวห้ำในวงศ์ Phytoseiidae และ Stigmaeidae เป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของไรลำไย โดยพบมากในช่วงฤดูฝน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน)

แนวทางการป้องกันกำจัด

1.  ใช้พันธุ์ต้านทาน จากการสำรวจพบว่าไรลำไยระบาดมากในลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว  โดยเฉพาะต้นที่มีอายุมาก ส่วนพันธุ์อีดอและพันธุ์อื่น ๆ พบน้อยกว่า  ดังนั้นจึงควรแก้ไขด้วยการปลูกลำไยพันธุ์ต้านทานแทน

2.  ใช้วิธีตัดแต่งกิ่ง ให้ตัดแต่งกิ่งและยอดที่ถูกไรทำลายแล้วนำไปเผาทิ้ง จะช่วยลดการระบาดของไรลำไยได้มาก

3.  ใช้สารกำจัดไร ถ้ามีการระบาดมาก และไม่สามารถตัดแต่งกิ่งที่ถูกทำลายลงได้หมด ให้ใช้สารกำจัดไรพ่นหลังการเก็บเกี่ยวและตกแต่งทรงพุ่ม  ในการวิจัยเบื้องต้นพบว่าสารโปรพาไจต์ (propargite 30℅WP) โดยพ่นในอัตรา 30 กรัมต่อน้ำ  20 ลิตร พ่นซ้ำเมื่อลำไยแทงยอดใหม่จะลดการระบาดลงได้ ไม่ควรพ่นสารกำจัดไรเมื่อมีแดดจัด เพราะอาจทำให้ใบอ่อนไหม้ได้