ไรศัตรูกระท้อนและแนวทางในการจัดการ

เทวินทร์  กุลปิยะวัฒน์

ปกติในธรรมชาติมีสิ่งต่างๆ คอยควบคุมไรกำมะหยี่กระท้อนไม่ให้มีปริมาณมากนัก นอกจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไรจึงจะทำให้ไรมีปริมาณมาก เพราะฉะนั้นเกษตรกรไม่ต้องกังวลมากนัก

กระท้อนเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่เริ่มมีผู้ปลูกเป็นการค้าอย่างจริงจัง ในอดีตเกษตรกรมักปลูกตามหัวไร่ปลายนา มีพันธุ์ใหม่หลายพันธุ์ที่มีรสชาติดี ผลใหญ่ เช่น พันธุ์ปุยฝ้าย ทับทิม เทพรสและนิ่มนวล สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ ภาคอีสานที่จ. ชัยภูมิ ภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ภาคใต้ที่ จ.สงขลาและนครศรีธรรมราช ภาคกลางที่ จ.นนทบุรี กรุงเทพฯและสมุทรปราการ บริเวณที่มีน้ำเค็มขึ้นถึง หรือที่น้ำท่วมขังเสมอไม่ควรปลูก เพราะว่ากระท้อนอ่อนแอมากเมื่อน้ำเค็มและน้ำท่วม น้ำเค็มจะทำให้ใบไหม้และร่วงในที่สุด ทำให้ชะงักการเจริญเติบโตหรือตายได้ ส่วนน้ำท่วมจะทำให้ใบร่วง ทำให้ชะงักการเจริญเติบโตหรือตาย ถึงแม้ว่าเป็นพืชที่มีศัตรูน้อย แต่ไม่สามารถขยายพื้นที่ปลูกได้มากๆ เพราะว่าต้องห่อผลซึ่งต้องใช้แรงงานมาก

ไรศัตรูกระท้อน

มีชื่อสามัญว่าไรกำมะหยี่กระท้อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eriophyes sandorici Nelepa ไรชนิดนี้มีลำตัวสีขาวหรือสีครีม ขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ลำตัวแคบยาวเป็นปล้องคล้ายหนอน ยาวประมาณ 0.18 มม. มีขาเพียง 2 คู่ ไรชนิดนี้เป็นไรศัตรูพืชชนิดหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในพวกไรสี่ขา เนื่องจากมี 4 ขาเช่นเดียวกับไรสนิมส้ม (Phyllocoptruta oleivora (Ashmead)) จะแตกต่างกับไรศัตรูพืชอีก 3 พวก ซึ่งเป็นไรที่มี 8 ขาคือ พวกไรแดง ศัตรูสำคัญของพืชตระกูลส้มและทุเรียน พวกไรแดงเทียมศัตรูของกล้วยไม้และไรขาวศัตรูสำคัญของพริก

ความเสียหายที่เกิดขึ้น

ไรกำมะหยี่กระท้อนชอบดูดทำลายทั้งด้านบนใบและใต้ใบตั้งแต่ใบอ่อนจนกระทั่งใบแก่ ในขณะที่ดูดกิน จะปล่อยสารพิษ (toxin) ออกมายังเซลล์ของใบ ทำให้กระตุ้นให้เซลล์ของใบสร้างขนสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไปบริเวณผิวใบที่ดูดกินมีลักษณะคล้ายผ้ากำมะหยี่ ซึ่งจะเว้าลึกลง ผิวใบอีกด้านจะพองออก ทำให้ใบหงิกงอเป็นปุ่มปม ในระยะแรกที่ไรลงทำลายขนจะมีสีเขียวอ่อน ต่อมาจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เมื่อส่องดูใต้กล้องจุลทรรศน์จะเห็นไรตัวเล็กๆ สีขาวดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผิวใบและซ่อนตัวอยู่ภายใต้เส้นใบนี้ หากมีการทำลายอย่างรุนแรงจะทำให้ใบร่วงในที่สุด ทำให้ต้นที่ยังเล็กอยู่ชะงักการเจริญเติบโต ส่วนต้นที่ให้ผลแล้วอาจมีผลทำให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นไม้มีใบเป็นเสมือนกับโรงงานผลิตอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้น หากขาดใบเสียแล้วย่อมมีผลกระทบต่อกระท้อน

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

ไรกำมะหยี่กระท้อนพบระบาดในบริเวณที่มีการปลูกกระท้อนทั่วทุกภาค เคยสำรวจพบที่ จ.ชัยภูมิ เชียงใหม่ สงขลา สมุทรปราการและกรุงเทพฯ ส่วนฤดูกาลระบาดนั้น พบว่าเกิดระบาดขึ้นในเดือนมิถุนายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับฤดูฝนและฤดูแล้ง

แนวทางในการจัดการ

ปกติแล้วศัตรูพืชทุกชนิดมีปัจจัยต่างๆเป็นตัวคอยควบคุมอยู่แล้ว เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียนและสภาพแวดล้อมตามหลักการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกือบทุกชนิดนั้นไม่ต้องกำจัดให้หมดต้องหลงเหลือไว้บ้างเพื่อเป็นอาหารของตัวห้ำและตัวเบียน เพื่อดำรงสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาวะสมดุลตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลพื้นฐานต่างๆ พอจะกำหนดแนวทางในการจัดการดังนี้

1.  หมั่นกำจัดวัชพืชรอบๆ โคนต้นกระท้อนและในแปลงปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน เพื่อมิให้สภาพอากาศมีความชื้นสูงและเหมาะต่อการระบาดของไร

2.  ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจนมากเกินไป เพราะจะทำให้กระท้อนแตกใบอ่อนมาก ใบงามมากและทำให้ไรระบาดมากขึ้น

3.  ไม่ควรปลูกกระท้อนระบบชิดกันมาก เพราะว่าเมื่อทรงพุ่มด้านที่ติดกันจะชนกัน แล้วจะทำให้ไรแพร่กระจายจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งได้รวดเร็วขึ้น

4.  หมั่นตรวจแปลงกระท้อนอย่างสม่ำเสมอทุก 7 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดมาก ระยะแรกของการทำลายมีปริมาณไรไม่มาก โดยสังเกตเห็นขนเป็นสีเขียวเป็นแอ่งอยู่ตามใบอ่อนเพียงเล็กน้อย ให้ตัดแต่งกิ่งนั้นทิ้งและนำไปเผา ถ้าหากสำรวจแล้วยังพบว่าการทำลายรุนแรงขึ้นหลังตัดแต่งกิ่งให้พ่นสารกำจัดไรเช่น อะมีทราส (20℅ ชนิดน้ำ) อัตรา 40 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้กำมะถันผง (80℅ชนิดผง) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบให้ทั่วทั้งต้นและควรพ่นซ้ำอีกครั้งเมื่อพบว่ามีอาการทำลายเกิดขึ้นอีก

ปกติในธรรมชาติมีสิ่งต่างๆคอยควบคุมไรกำมะหยี่กระท้อนไม่ให้มีปริมาณมากนัก นอกจากจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไรจึงจะทำให้ไรมีปริมาณมาก เพราะฉะนั้นเกษตรกรไม่ต้องกังวลมากนัก ไม่จำเป็นต้องพ่นสารกำจัดไรหลายครั้ง ให้พ่นเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ย่อมทำให้ลดต้นทุน ทำให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกร เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมหากเกษตรกรมีการจัดการปัญหาเกี่ยวกับไรศัตรูชนิดนี้เป็นอย่างดีแล้วย่อมทำให้ประสพผลสำเร็จในการปลูกกระท้อนได้ไม่ยากเลย

เอกสารอ้างอิง

กองกีฎและสัตววิทยา 2535 คำแนะนำการใช้สารฆ่าแมลงและสัตว์ศัตรูพืช เอกสารวิชาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ 240 น.

วัฒนา  จารณศรี  2537 ไรกำมะหยี่กระท้อน วารสารกีฎและสัตววิทยา ปีที่ 16 ฉบับที่ 1