ไร:ศัตรูสำคัญของไม้ผล

เทวินทร์  กุลปิยะวัฒน์,  มานิดา  คงชื่นสิน,  ฉัตรชัย  ศฤงฆไพบูลย์,  วัฒนา  จารณศรี กองกีฏและสัตววิทยา

ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลในการดูแลรักษาสวนเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพนั้น  มิใช่มีเพียงแต่ปัญหาอันเนื่องมาจากแมลงศัตรูพืช  ขณะนี้พบว่า ไร(mite)ร่วมมีบทบาทสร้างปัญหาและนับวันยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเป็นลำดับ  จากการศึกษาไรศัตรูในไม้ผลที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ส้ม ทุเรียน และมะม่วง พบไรศัตรูพืช หลายชนิดด้วยกันทำความเสียหายให้กับไม้ผลดังกล่าว

ส้ม:  จากการสำรวจไรศัตรูส้มพบไรศัตรูพืชรวม 10 ชนิด แต่ชนิดที่มีความสำคัญ และทำความเสียหายให้แก่ส้มเขียวหวาน และส้มโอ มีอยู่ 4 ชนิดคือ

1.  ไรแดงแอฟริกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eutetranychus africanus (Tucker) จัดอยู่ในวงศ์ Tetranychidae จะพบทำลายใบผลส้ม

2.  ไรเหลืองส้ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eotetranychus cendanai Rimando อยู่ในวงศ์ Tetranychidae ซึ่งจะพบทำลายใบและผลส้มเช่นเดียวกับไรแดงแอฟริกัน

3.  ไรขาวพริก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyphagotarsonemus latus (Banks) อยู่ในวงศ์ Tarsonemidae พบทำลายใบอ่อนและผลอ่อน มักพบทำลายค่อนข้างรุนแรงกับส้มโอ

ทุเรียน : ในปี พ.ศ.2534 ได้สำรวจพบไรศัตรูพืชทำลายใบทุเรียนรวม 3 ชนิด ได้แก่ ไรแดงแอฟริกัน(Eutetranychus africanus (Tucker)) และไรอีก 2 ชนิดคือ Oligonychus biharensis (Hirst) และ Tetranychus fijiensis (Hirst) ไรทั้ง 3 ชนิดนี้จัดอยู่วงศ์ Tetranychidae แต่ชนิดที่สำคัญและเป็นศัตรูก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทุเรียนอย่างรุนแรงในปัจจุบันคือ ไรแดงแอฟริกัน

มะม่วง :  จากการสำรวจศัตรูพืชในสวนมะม่วงตามท้องที่ต่าง ๆ ได้พบไรศัตรูพืชเข้าทำลายมะม่วงถึง 3 ชนิดด้วยกันคือ

1.    ไรขาวพริก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyphagotarsonemus latus (Banks) จัดอยู่ในวงศ์ Tarsonemidae พบทำลายใบอ่อน (ใบที่ยังมีสีน้ำตาล) ของต้นกล้ามะม่วงขณะที่กำลังทำการเพาะในโรงเรือน

2.  ไรสี่ขา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Aceria mangiferae (Sayed) จัดอยู่ในวงศ์ Eriophyidae โดยจะเข้าทำลายตาดอก ตาใบของมะม่วง จึงมีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า “บัดไม้ท์” (Bud mite)

3.  ไรแดงมะม่วง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Oligonychus mangiferus Rahman and Supra ไรชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์ Tetranychidae โดยจะเข้าทำลายใบของมะม่วงพบการทำลายอย่างรุนแรงในบางท้องที่ และกำลังสร้างปัญหาให้แก่เกษตรกรอยู่ในขณะนี้ ไรแดงชนิดนี้จึงเป็นศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมะม่วง

เนื่องจากไรเป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กมาก การเพิ่มปริมาณประชากรเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกษตรกรมักจะไม่ทันสังเกตเห็น การป้องกันกำจัดจึงมักจะไม่ทันการณ์ ทำให้พืชผลได้รับความเสียหายจากการทำลายของไรศัตรูพืชเสมอมา นอกจากนี้เกษตรกรบางท่านยังมีความเข้าใจสับสนระหว่างเพลี้ยไฟและไร ในด้านรูปร่างและลักษณะการทำลายโดยเฉพาะไรศัตรูส้ม  ดังนั้นจึงได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับลักษณะการทำลาย ชีววิทยา นิเวศวิทยา ศัตรูธรรมชาติ รวมไปถึงแนวทางป้องกันกำจัดไรศัตรูที่สำคัญ ๆ 5 ชนิด ได้แก่ ไรแดงแอฟริกัน ไรเหลืองส้ม ไรสนิมส้ม ไรขาวพริก และไรแดงมะม่วง

ไรแดงแอฟริกัน

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ไรแดงแอฟริกันทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณด้านบนใบพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งใบแก่ ทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีเขียวจางและเหลืองซีด  เนื่องจากใบพืชได้สูญเสียคลอโรฟิล  ในไม้ผลตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน และส้มโอ ไรชนิดนี้ลงทำลายผลด้วย  ทำให้สีของผลเปลี่ยนเป็นสีเขียวจาง  หากการทำลายเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะที่ผลส้มยังเล็ก มีผลทำให้ผลร่วงในที่สุด

การทำลายของไรแดงแอฟริกันบนทุเรียน

นอกจากทำลายใบแก่แล้ว บางครั้งพบไรตัวเต็มวัยดูดกินอยู่บนใบเพสลาด ใบทุเรียนที่ถูกทำลายมีอาการเหลืองซีด ไม่เขียว และไม่เป็นมันวาวเหมือนใบปกติ  บนใบดูคล้ายมีฝุ่นผงสีขาวจับอยู่ ฝุ่นผงนั่นก็คือ คราบของตัวอ่อนไรที่ทิ้งไว้หลังจากลอกคราบเพื่อการเจริญเติบโตในช่วงที่ไรระบาดรุนแรงจะพบว่าใบทุเรียนแต่ละใบมีไรจำนวนหลายร้อยตัวลงทำลาย  ซึ่งทำให้ใบหลุดร่วงอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบต่อการออกดอกและติดผล  จากการสังเกตพบว่าทุเรียนเป็นพืชที่อ่อนแอต่อการทำลายของไร่ชนิดนี้  ผิดกับไม้ผลบางชนิดที่เป็นพืชอาหารเช่นกัน แต่มีความทนทานสูงกว่า

ชีวประวัติและอุปนิสัย

ไรแดงชนิดนี้มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า African red mite และมีชื่อสามัญภาษาไทยที่ใช้เรียกกันทั่วไปว่า ไรแดงแอฟริกัน มีรูปร่างดังนี้

  • เพศเมีย ลำตัวกลมแบนมีสีแดงเข้มหรือน้ำตาลเกือบดำ ขนบนลำตัวด้านหลังสั้นคล้ายกระบอง ขาทั้ง 4 คู่ มีสีเหลืองอ่อน จะอยู่นิ่งกับที่ ความยาวของลำตัวประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 0.3 มิลลิเมตร
  • เพศผู้ ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน ขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ด้านหน้าของลำตัวกว้างและค่อยๆ เรียวแคบเล็กลงทางด้านท้าย ก้นแหลมและขายาวจะเคลื่อนที่ตลอดเวลา ความยาวของลำตัวเฉลี่ย 0.25 มิลลิเมตร และกว้าง 0.17 มิลลิเมตร

การผสมพันธุ์เริ่มเมื่อเพศผู้ได้ลอกคราบแล้วจะเดินไปเรื่อย ๆ เมื่อพบตัวอ่อนระยะที่ 3 พักตัวก็จะหยุดนิ่งและคอยเฝ้า เมื่อตัวอ่อนลอกคราบเพศผู้จะช่วยดึงคราบจนกระทั่งออกเป็นตัวเต็มวัยเพศเมีย เพศผู้จะเข้าผสมพันธุ์ทันที หลังจากนั้น 1-2 วัน เพศเมียจะวางไข่

  • วงจรชีวิตของไรแดงแอฟริกันที่เจริญเติบโตบนส้มเขียวหวาน จากระยะไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลานานเฉลี่ย 9.4 วัน เพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ตลอดชั่วอายุขัยเฉลี่ย 12.7 ฟอง และมีชีวิตอยู่ได้นาน 9.8 วัน

สำหรับไรแดงแอฟริกันที่เจริญเติบโตบนทุเรียน  จากระยะไข่เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลานาน 9.1-9.3 วัน โดยมีระยะไข่เฉลี่ย 4.5 วัน ตัวอ่อนมี 3 ระยะ ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ประมาณ 7-14 ฟอง โดยลูกที่ฟักออกมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะเจริญเป็นไรเพศผู้ทั้งหมด ขณะที่ลูกที่ฟักออกมาจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จะมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย

การแพร่กระจาย และฤดูกาลระบาด

ในแหล่งปลูกส้มทั่วไปพบไรแดงแอฟริกันระบาดปริมาณสูงในฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคม-พฤษภาคมและในฤดูฝนที่ฝนไม่ตกติดต่อกันเป็นเวลานาน

จากการสำรวจและติดตามการผันแปรประชากรของไรแดงแอฟริกันในสวนทุเรียนที่ จ.จันทบุรี  พบว่าประชากรไรแดงจะเริ่มมีปริมาณสูงในเดือนกันยายน-ตุลาคม  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ  เมื่อผ่านพ้นฤดูฝนในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมไปแล้ว ความชื้นในอากาศจะเริ่มแห้งลง และมีลมหนาวซึ่งพัดกรรโชกมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือพบว่า  ทันทีที่ฝนหยุดตกและอากาศแห้งลงเมื่อใด ไรแดงแอฟริกันจะเพิ่มประชากรขึ้นทันทีอย่างรวดเร็ว  จะพบไรแดงสูงที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จากนั้นไรแดงจะค่อย ๆ ลดลง ปริมาณอาจสูงขึ้นอีกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน  ซึ่งแล้งจัด และมีน้อยมาก ในช่วงฤดูฝน  ซึ่งเป็นลักษณะของไรแดงทั่วๆ ไป ที่จะถูกควบคุมประชากรโดยปริมาณน้ำฝน  ดังนั้นการพยากรณ์การระบาดของไรแดงในสวนทุเรียนจึงสามารถดูได้จากปริมาณน้ำฝนช่วงปลายฤดูเป็นหลัก เมื่อใดที่ฝนเริ่มทิ้งช่วง อากาศแห้งแล้งและมีลมพัดแรง  ให้รีบทำการสำรวจไรแดงดังได้กล่าวมาแล้ว และป้องกันกำจัดทันที  ไรชนิดนี้นอกจากพบระบาดในแหล่งปลูกทุเรียน จ.จันทบุรี ยังพบแพร่กระจายในสวนทุเรียน จ.ระยอง ตราด ปราจีนบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี แพร่ และอุตรดิตถ์

พืชอาศัย

พืชอาศัยของไรแดงแอฟริกันมีดังนี้

ไม้ผล เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว มะกรูด ส้มจีน มะละกอ ขนุน สาเก ท้อ มะกอกฝรั่ง เป็นต้น

พืชผัก เช่น ขี้เหล็ก มะรุม ถั่วพู ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา แตงโม ตำลึง ผักบุ้ง เป็นต้น

พืชไร่ เช่น ฝ้าย ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ละหุ่ง เป็นต้น

ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ฝ้ายดำ ลั่นทม กุหลาบ บานชื่น ชะบา แคฝรั่ง เป็นต้น

ศัตรูธรรมชาติ

จากการสำรวจศัตรูธรรมชาติของไรแดงแอฟริกัน พบศัตรูธรรมชาติที่สำคัญ 3 จำพวก คือ ไรตัวห้ำ (predaceous mite) แมงมุมและเชื้อรา (Hirsutella thompsoni Fisher) สำหรับไรตัวห้ำที่มีอยู่ในธรรมชาติ  ส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ Phytoseiidae ในต่างประเทศมีรายงานถึงบทบาทและความสำเร็จในการนำไรตัวห้ำชนิดนี้มาใช้ในการควบคุมไรศัตรูพืชที่สำคัญอย่างกว้างขวาง  ในประเทศไทยได้มีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพขั้นพื้นฐานของไรตัวห้ำในวงศ์นี้เช่นกันพบว่ามีแนวโน้มสามารถนำไปใช้ในการควบคุมไรแดงแอฟริกันได้ คือ ไรตัวห้ำมีชื่อว่า Amblyseius longispinosus (Evans) เนื่องจากมีการเจริญเติบโตรวดเร็วมาก อายุขัยยืนยาวและเพิ่มประชากรได้รวดเร็ว

การป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดไรแดงแอฟริกันในสวนส้ม ควรปฏิบัติดังนี้

1.  หมั่นสำรวจแปลงส้มอยู่เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์  ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมและในช่วงฤดูฝนที่ฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

2.  เมื่อพบไรแดงเริ่มลงทำลายส้ม  ให้ทำการป้องกันกำจัดโดยวิธีกลด้วยการให้น้ำติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง

3.  เมื่อพบไรแดงระบาดมาก จากการสังเกตเห็นใบเริ่มมีสีเขียวจางลง และเมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายขนาด 10 เท่า จะพบไรแดงดูดกินอยู่ทั่วไปบนใบ ให้ทำการป้องกันกำจัดโดยวิธีการใช้สารเคมี  ด้วยการเลือกพ่นสารเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นสารกำจัดไรชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้

1)  โปรพาร์ไจท์ (โอไม้ท์ 30℅ ดับบลิว พี) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

2)  เฮ็กซีไธอะซอคซ์ (นิสโซรัน 20℅ เอสซี) อัตรา 40 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร

3)  อะมีแทรซ (ไมแทค 20℅ อีซี) อัตรา 30 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร

4)   โบรโมโพรพีเลท (นีโอรอน 250 25℅ อีซี) อัตรา 30 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร สารกำจัดไรเหล่านี้ค่อยข้างปลอดภัยต่อตัวห้ำ ตัวเบียน ผึ้ง และผู้ใช้ควรพ่นสารกำจัดไรดังกล่าว สลับกันเพื่อป้องกันไรแดงสร้างความต้านทาน  ถ้าพบว่ายังมีไรแดงระบาดอยู่ ให้พ่นสารกำจัดไรซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยเว้นระยะห่าง 5 วัน

การป้องกันกำจัดไรแดงแอฟริกันในสวนทุเรียน มีแนวทางดังนี้

1.  กำจัดวัชพืชในสวนทุเรียน ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งหลบซ่อนของไรแดงแอฟริกัน

2.  หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของไรแดงแอฟริกันในสวนทุเรียนหรือบริเวณใกล้เคียง  ถ้าเกษตรกรมีรายได้จากพืชเหล่านั้น เช่น ส้ม มะละกอ หรือพืชตระกูลถั่ว ก็ควรป้องกันกำจัดไรแดงชนิดนี้บนพืชอาศัยนั้นด้วย

3.  หมั่นสำรวจดูไรแดงบนใบทุเรียนเป็นประจำ และควรเน้นหนักในช่วงปลายฤดูฝน(เดือนกันยายน-ตุลาคม)และฤดูแล้ง

4.  สารไรที่มีประสิทธิภาพในการใช้ควบคุมปริมาณไรแดงแอฟริกันในสวนทุเรียน ได้แก่ โปรพาร์ไจท์ (โอไม้ท์ 30℅ ดับบลิว พี) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฮกซี่ไธอะซอคซ์ (นิสโซรัน 20℅ เอสซี) อัตรา 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะมีแทรซ (ไมแทค 20℅ อีซี) อัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร การพ่อนสารไรไม่ควรใช้สารชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรมีการสลับชนิดเพื่อป้องกันไรเกิดความต้านทาน เช่นเดียวกับวิธีการใช้สารกำจัดไรป้องกันกำจัดไรแดงแอฟริกันในสวนส้ม

ไรเหลืองส้ม

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่  โดยปกติแล้วชอบดูดทำลายอยู่บริเวณด้านบนใบ(หน้าใบ) ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรง จะพบอยู่บริเวณด้านใต้ใบ(หลังใบ) และผลด้วย ใบและผลที่ถูกทำลายเช่นเดียวกับไรแดงแอฟริกัน คือ ในระยะแรกที่ถูกทำลายจะเกิดเป็นจุดสีขาวเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป จุดสีขาวเล็ก ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ใบส้มเปลี่ยนเป็นสีเขียวจางลง  หากการทำลายรุนแรงต่อไป จะทำให้ใบและผลอ่อนร่วง

ชีวประวัติและอุปนิสัย

ไรเหลืองส้มจัดอยู่ในพวกไรแดงชนิดหนึ่ง  ไรแดงชนิดนี้มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า  Citrus brown mite มีชื่อสามัญภาษาไทยว่าไรเหลืองส้ม มีรูปร่างดังนี้

  • เพศเมีย ลำตัวเป็นรูปไข่มีสีเหลืองอมเขียว ขาทั้ง 4 คู่มีสีอ่อนกว่าสีของลำตัว จะอยู่นิ่งกับที่ตลอดเวลา ความยาวลำตัวเฉลี่ย 0.37 มิลลิเมตร และกว้าง 0.27 มิลลิเมตร
  • เพศผู้ มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ลำตัวกว้างทางส่วนหน้าและเรียวแคบเล็กลงทางส่วนท้าย ก้น ลำตัวสีเขียวอมเหลือง

ไรเหลืองส้มมีวงจรชีวิตจากระยะไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลานานเฉลี่ย 8.48 วัน อุปนิสัยคล้ายกับไรแดงแอฟริกันเพศเมียวางไข่ได้เฉลี่ย 22.14 ฟองต่อเพศเมีย 1 ตัว และมีชีวิตอยู่ได้นาน 11.79 วัน

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

ในประเทสไทยพบไรเหลืองส้มเขียวหวานที่ปลูกอยู่ในท้องที่หลายจังหวัด เช่น เขตราษฎร์บูรณะ และบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร แหล่งปลูกส้มแถบคลองรังสิต จ.ปทุมธานี จันทบุรี เพชรบุรี และเชียงใหม่ โดยจะพบระบาดรุนแรงมากในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคม-พฤษภาคม และระยะที่เกษตรกรงดการปล่อยน้ำเข้าร่องสวนเพื่อกระตุ้นให้ส้มออกดอกและยอดอ่อนอย่างสม่ำเสมอในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

พืชอาศัย

พืชอาศัยที่สำคัญของไรเหลืองส้มที่พบอยู่ในขณะนี้คือ ส้มเขียวหวานและส้มโอ

ศัตรูธรรมชาติ

ศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของไรเหลืองส้ม ได้แก่ ไรตัวห้ำในวงศ์ Phytoseiidae และ Stigmaeidae เช่นเดียวกับไรแดงแอฟริกัน

การป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดไรเหลืองส้มมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

1.  หมั่นสำรวจแปลงส้มอยู่เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม และในช่วงฤดูฝนที่ฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

2.  เมื่อพบไรเหลืองส้มเริ่มลงทำลายส้ม  ให้ทำการป้องกันกำจัด โดยวิธีกลด้วยการให้น้ำติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยชะไรได้

3.  เมื่อพบไรเหลืองระบาดมาก  โดยวิธีการสังเกตเช่นเดียวกับไรแดงแอฟริกันให้ทำการป้องกันกำจัดโดยวิธีการใช้สารเคมี ด้วยการเลือกพ่นสารกำจัดไรเช่นเดียวกับไรแดงแอฟริกันดังที่กล่าวมาแล้ว

ไรสนิมส้ม

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ไรสนิมส้มทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ผลและกิ่งก้านของต้นส้ม ที่ใบพบไรดูดทำลายทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทำให้ใบร่วง ส่วนผลส้มที่ถูกดูดน้ำเลี้ยงเป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ สีของผลจะเปลี่ยนจากเขียวเป็นสีน้ำตาลคล้ายสนิม ทำให้ผลส้มสกปรกไม่สวยงาม  จึงไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ  หากไรสนิมส้มระบาดรุนแรง อาจทำให้ต้นส้มหยุดชะงักการเจริญเติบโตได้

ชีวประวัติและอุปนิสัย

ไรสนิมส้มเป็นไรสี่ขามีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า  Citrus rust mite และชื่อสามัญภาษาไทยว่าไรสนิมส้ม ตามลักษณะอาการที่ปรากฎบนพืชที่ถูกทำลาย

ไรชนิดนี้ทั้งเพศผู้และเพศเมียมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลำตัวเรียวยาวคล้ายหนอน ตัวเต็มวัยเมื่อลอกคราบออกมาใหม่ๆ มีสีเหลืองอ่อน  และสีจะเข้มขึ้นจนเป็นสีเหลืองเข้ม หรือสีเหลืองปนน้ำตาลมีขา 2 คู่ อยู่ทางด้านหน้าของลำตัว ลำตัวยาวประมาณ 0.13-0.16 มิลลิเมตร

ไรสนิมส้มมีวงจรชีวิตจากระยะไข่ จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลานานเฉลี่ย 7.91 วัน ตัวเต็มวันเพศเมียมีชีวติอยู่ได้นาน 11.6 วัน และวางไข่ได้เฉลี่ย 5.6 ฟอง ต่อเพศเมีย 1 ตัว

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

ไรสนิมส้มพบระบาดในทุกบริเวณที่มีการปลูกส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มฟรีมองต์ ส้มจี๊ด และมะนาว และพบระบาดปริมาณสูงในฤดูฝนและฤดูหนาว  ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม

ศัตรูธรรมชาติ

ในสภาพธรรมชาติพบไรตัวห้ำและเชื้อราเป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของไรสนิมส้ม

การป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดไรสนิมส้มในสวมส้ม ควรปฏิบัติดังนี้

1.  หมั่นสำรวจแปลงส้มอยู่เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ ในฤดูฝนและฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม  และตลอดทั้งปีในสวนที่อากาศมีความชุ่มชื้นสูง

2.  เมื่อพบไรสนิมส้มระบาดมาก ซึ่งจะสังเกตเห็นง่าย ๆ โดยเฉพาะที่ผลของส้มจะปรากฎเป็นจุดสีขาวเล็ก ๆ มองดูคล้ายฝุ่นเต็มไปหมด เมื่อใช้แว่นขยายขนาด 10 เท่าส่องดูจะพบตัวไรสนิมส้มเต็มไปหมด ให้ทำการพ่นสารสารไรดังนี้คือ กำมะถัน (ซัลเฟอร์ 80℅ ดับบลิว พี) อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือโปรพาร์ไจท์ (โอไมท์ 30℅ ดับบลิว พี) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สารกำจัดไรทั้ง 2 ชนิดนี้ ค่อนข้างปลอดภัยต่อตัวห้ำ ตัวเบียน และผู้ใช้ด้วย ถ้าหากว่ายังพบไรสนิมส้มระบาดอยู่ให้ทำการพ่นสารกำจัดไรชนิดใด ชนิดหนึ่งที่กล่าวมาแล้วซ้ำอีกครั้ง โดยเว้นระยะห่าง 5 วัน