ไร:ไรศัตรูสำคัญของไม้ผล

เทวินทร์  กุลปิยะวัฒน์, มานิตา  คงชื่นสิน, ฉัตรชัย  ศฤงฆไพบูลย์, วัฒนา  จารณศรี (กองกีฏและสัตววิทยา)

ไรพริกขาว

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ไรขาวชนิดนี้อวัยวะส่วนปากไม่แข็งแรง  จึงไม่สามารถดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืชที่มีลักษณะหนาแข็งได้ มักจะดูดกินยอดและใบอ่อนของพืชที่เพิ่งแตกใหม่  ขณะนี้พบว่าไรขาวพริกลงทำลายส้มโอในหลายแหล่งปลูก  โดยที่ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงใบอ่อนและผลอ่อนเท่านั้น ส่วนมากมันจะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ด้านใต้ใบ  หากการทำลายรุนแรงทำให้ขอบใบส้มโอม้วนลง ใบเรียวเล็ก ใบมีสีเหลืองเข้ม ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ส่วนการทำลายที่ผลนั้นเริ่มตั้งแต่ส้มโอติดผลเรียบร้อยแล้วจนกระทั่งผลมีอายุประมาณ 2 เดือน มันจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผล หากการทำลายรุนแรงทำให้ผลได้รับความเสียหายทั้งผล โดยอาการที่เกิดขึ้นหลังการดูดกินนั้น  ผิวเปลือกเป็นแผลสีเทา เมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายขนาด 10 เท่าจะพบเป็นร่างแหเต็มไปหมดทั้งผล  ทำให้ต้องปลิดทิ้ง เพราะว่าไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ส่วนผลที่ถูกดูดกินเป็นบางส่วนสามารถเจริญเติบโตได้  แต่ผลส้มโอจะมีน้ำหนักเบา เปลือกหนา เนื้อน้อยมากต้องปลิดทิ้ง

ชีวประวัติและอุปนิสัย

ไรขาวพริกมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า broad mite  หรือ yellow tea mite มีชื่อสามัญภาษาไทยว่าไรขาวพริก

เพศเมีย มีรูปร่างเป็นรูปไข่ ผิวของลำตัวใสเป็นมันคล้ายหยดน้ำมัน ด้านหลังจะมีแถบสีขาวคล้ายโบว์พาดอยู่กลางลำตัวจนถึงส่วนปลาย  เมื่อโตเต็มที่จะมีสีเหลืองอำพัน กว้างเฉลี่ย 0.111 มิลลิเมตร ยาวเฉลี่ย 0.195 มิลลิเมตร

เพศผู้ มีรูปร่างเล็กเรียวและแคบกว่าเพศเมีย  ส่วนท้ายลำตัวทำหน้าที่แบกดักแด้ตัวเมียจะเคลื่อนที่ตลอดเวลา ขาคู่ที่ 4 ใหญ่และแข็งแรงกว่าขาคู่อื่น ๆ ใช้จับช้อนดักแด้ไว้ส่วนท้าย ลำตัวกว้างเฉลี่ย 0.078 มิลลิเมตร ยาวเฉลี่ย 0.174 มิลลิเมตร

ไรขาวพริกมีวงจรชีวิตสั้นจากระยะไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยกินเวลานาน 4-5 วัน  การผสมพันธุ์เริ่มเมื่อตัวผู้หลังจากลอกคราบแล้ว  จะเดินไปเรื่อย ๆ เมื่อพบดักแด้ตัวเมียจะรีบใช้ขาคู่หลังสุดช้อนดักแด้ขึ้นไว้ส่วนท้ายของลำตัว  แล้วจะพาเดินไปยังบริเวณใหม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะยอดอ่อน เมื่อดักแด้ลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัยจะเข้าผสมพันธุ์ทันที หลังจากผสมพันธุ์ 1-2 วัน เพศเมียจะวางไข่ทีละฟอง ไข่ที่วางได้เฉลี่ย 32 ฟองต่อตัวเมีย 1 ตัว และตัวเมียมีชีวิตอยู่ได้นานเฉลี่ย 12 วัน

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพศเมียของไรขาวพริกมีนิสัยชอบอยู่กับที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว เพศผู้จะทำหน้าที่พาดักแด้เพศเมีย และตัวอ่อนเคลื่อนย้ายจากใบแก่ไปยังยอดและใบอ่อน เพื่อหาที่ดูดกินใหม่ต่อไป ไรขาวพริกนี้ขยายพันธุ์และระบาดทำความเสียหายให้กับพืชผลในช่วงฝนตกชุก สำหรับส้มพบไรขาวชนิดนี้มีปริมาณสูงในฤดูฝนและฤดูหนาวเป็นระยะที่ส้มปีและส้มทะวายออกดอกและติดผลประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเดือนกันยายน-ตุลาคม

พืชอาศัย

ในประเทศไทยพบว่าไรขาวพริก นอกจากเป็นศัตรูของพริกแล้ว  ยังมีพืชอาศัยที่สำคัญอีกหลายชนิด ได้แก่ ส้ม มะม่วง มะคาเดเมีย ถั่วฝักยาว มันฝรั่ง โหระพา ปอกระเจา ฝ้าย ชา หม่อน งา และไม้ดอกไม้ประดับบางชนิด เช่น เยอบีร่า เบญจมาศ และดาวเรือง

ศัตรูธรรมชาติ

ไรตัวห้ำเป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของไรขาวพริก

การป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดไรขาวพริกในแหล่งที่มีการระบาด ควรปฏิบัติดังนี้

1.  หมั่นแต่งกิ่งให้โปร่ง เนื่องจากพบการระบาดของไรขาวพริก ในต้นส้มโอที่มีทรงพุ่มแน่นทึบ

2.  หมั่นตรวจดูผลอ่อนเฉพาะภายในทรงพุ่ม โดยใช้แว่นขยายขนาด 10 เท่า  เมื่อพบไรขาวพริกดูดกินน้ำเลี้ยงหรือปลิดผลอ่อนส่องดูกับแดด หากพบว่ามีจุดขาวคล้ายหยดน้ำมันเคลื่อนที่ไปมา ให้เตรียมวางแผ่นการป้องกันกำจัด

3.  ให้พ่นด้วยสารกำจัดไรชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อไรขาวพริกเริ่มลงทำลายผลอ่อน เช่น

– อะมีแทรซ(ไมแทค 20℅อีซี) อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

– อะบาเมคติน(เวอร์ทิเม็ค 1.8℅อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

– กำมะถันผง(ซับเฟอร์ 80℅ดับบลิว พี) อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร สารนี้ไม่ควรพ่นในเวลากลางวันที่มีแดดจัด โดยพ่นให้ทั่วทั้งต้น เมื่อสำรวจพบว่ายังมีไรขาวพริกระบาดอยู่ให้พ่นสารกำจัดไรอีกครั้งหนึ่ง  โดยทิ้งระยะห่าง 5 วัน

ไรแดงมะม่วง

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ไรแดงสามารถเข้าทำลายมะม่วงทุกระยะของการเจริญเติบโต โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบมะม่วงที่มีลักษณะไม่แก่และไม่อ่อนนัก  มักพบไรชนิดนี้ดูดกินน้ำเลี้ยงด้านบนใบและจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และสร้างใยแต่ไม่มากนัก ซึ่งจะทำให้ใบมะม่วงสูญเสียคลอโรฟิลจนใบไม่สามารถทำการสังเคราะห์แสงต่อไปได้ โดยใบมะม่วงจะมีลักษณะอาการสีซีดขาว ถ้ามีไรระบาดมากจะพบคราบสีขาวคล้ายฝุ่นผงอยู่ตามเส้นใบเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ โดยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนเต็มไปหมด  ทำให้มะม่วงชะงักการเจริญเติบโต จึงมีผลทำให้ผลผลิตลดลง สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก

ชีวประวัติและอุปนิสัย

ไรแดงชนิดนี้มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Mango red mite และมีชื่อสามัญภาษาไทยว่า ไรแดงมะม่วง

วงจรชีวิตประกอบขึ้นด้วย 5 ระยะด้วยกันคือ ไข่ ตัวอ่อนระยะที่ 1 ตัวอ่อนระยะที่ 2 ตัวอ่อนระยะที่ 3 และตัวเต็มวัย ซึ่งจะวางไข่เพิ่มปริมาณลูกหลายต่อไป

ไข่ของไรแดงชนิดนี้  จะมีลักษณะกึ่งกลมแบน ผิวด้านบนจะโค้งนูน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยประมาณ 0.14 มิลลิเมตร ไข่ที่วางใหม่ ๆ จะมีสีน้ำตาลแดงใส ระยะไข่จะใช้เวลาเจริญเติบโตเฉลี่ยนานประมาณ 4.73 วัน ตัวอ่อนมี 3 ระยะ เจริญเติบโตโดยการลอกคราบ ตัวอ่อนระยะที่ 1 มี 6 ขา ใช้เวลาเจริญเติบโตเฉลี่ยนานประมาณ 2 วัน ตัวอ่อนระยะที่ 2 และ 3 มี 8 ขา ใช้เวลาเจริญเติบโตเฉลี่ยนานประมาณ 1.67 และ 1.83 วัน ตามลำดับ รวมระยะตัวอ่อนจะใช้เวลานานประมาณ 5.5 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียมี 8 ขา สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเฉลี่ยประมาณ 20.67 วัน มีขนาดกว้าง 0.19 มิลลิเมตร ยาว 0.31 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลแดงอ่อนตรงบริเวณลำตัวที่เป็นที่ตั้งของขา 2 คู่แรก และจะมีสีน้ำตาลแดงดำตรงบริเวณลำตัวที่เป็นที่ตั้งของขา 2 คู่หลัง ตัวเต็มวัยเพศเมียนั้นลำตัวจะเป็นรูปรี หัวท้ายมน ส่วนด้านหน้าจะกว้างและจะเรียวเล็กลงไป ตอนท้ายลำตัวเล็กน้อย ส่วนตัวเต็มวัยเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ลำตัวส่วนหน้าจะขยายกว้างและจะเรียวแหลมลงไปทางด้านท้ายลำตัวอย่างเด่นชัด ตัวเต็มวัยเพศผู้สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเฉลี่ยประมาณ 8.41 วัน มีขนาดกว้าง 0.17 มิลลิเมตรยาว 0.25 มิลลิเมตร

ตัวเต็มวัยเพศเมียทั้งที่ได้รับการผสมและไม่ได้รับการผสมสามารถวางไข่ และไข่สามารถฟักออกเป็นตัวได้ ไรตัวเต็มวัยเพศเมียที่ได้รับการผสม 1 ตัว สามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 31.7 ฟอง โดยตัวที่วางไข่ได้สูงสุดคือ 61 ฟอง และไข่สามารถฟักออกเป็นตัวได้ถึง 97.47℅ ไข่ที่ได้รับการผสมจะฟักออกเป็นตัวได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ในอัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมียมีค่าเท่ากับ 1:2 สำหรับไรตัวเต็มวัยเพศเมียที่ไม่ได้รับการผสม 1 ตัว สามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 28.17 ฟอง และตัวที่วางไข่ได้สูงสุดคือ 41ฟอง  ไข่สามารถฟักออกเป็นตัวได้ถึง 92.41℅ โดยไข่จะฟักออกเป็นเพศผู้ทั้งหมด

การแพร่กระจาย

การแพร่กระจายของไรแดงมะม่วง  จะเป็นไปในลักษณะของการเคลื่อนย้ายโดยการเดินไต่จากใบหนึ่งสู่อีกใบหนึ่งขยายออกเป็นวงกว้างมากขึ้น และจากต้นหนึ่งไปสู่อีกต้นหนึ่งที่ปลูกใกล้ชิดกัน หรืออาจแพร่กระจายโดยไรจะติดไปกับเสื้อผ้า และเครื่องมือการเกษตรของเกษตรกรเอง ลมก็มีส่วนช่วยในการแพร่กระจายของไรเหมือนกัน แต่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ไรติดไปกับกิ่งตอนที่จะนำไปปลูกในแหล่งใหม่ที่อยู่ห่างไกลออกไป ขณะนี้พบว่าไรแดงได้แพร่กระจายไปเกือบทุกแหล่งปลูกมะม่วง

พืชอาศัย

ไรแดงศัตรูมะม่วงสามารถทำลายพืชได้อีกหลายชนิด เช่น

  • จำพวกไม้ดอกไม้ประดับ ได้แก่ กุหลาบ หูกวาง เข็ม ฝ้ายคำ ตะแบกนา อินทนิลบกและยูคาลิปตัส
  • จำพวกไม้ผล ได้แก่ มะม่วง องุ่น
  • จำพวกพืชไร ได้แก่ มันสำปะหลัง

ศัตรูธรรมชาติ

จากการสำรวจได้พบว่ามีศัตรูธรรมชาติของไรแดงมะม่วงอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ไรตัวห้ำ ซึ่งอยู่ในวงศ์ phytoseiidae ในสกุล Amblyseius และด้วยตัวห้ำ ซึ่งอยู่ในวงศ์ Coccinellidae ในสกุล Stethorus ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stethorus pauperculus (Weise) และจากการศึกษาพบว่าทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของไรตัวห้ำและด้วงตัวห้ำสามารถกินไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของไรแดงศัตรูมะม่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การป้องกันกำจัด

จากข้อมูลการศึกษาทางด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับไรแดงศัตรูมะม่วงชนิดนี้ ก็พอที่จะประมวลกันเข้าเป็นขั้นตอนในการป้องกันกำจัดไรแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพดังนี้ คือ

1.  จะต้องหมั่นทำการสำรวจดูการระบาดของไรแดงโดยสม่ำเสมอทุก ๆ สัปดาห์  ถ้าพบอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากไรเข้าทำลายจะต้องทำการกำจัดโดยทันที

2.  การปลูกมะม่วงควรเว้นระยะระหว่างต้น ระหว่างแถวให้ห่างกันพอสมควร อย่าให้ทรงพุ่มของใบมะม่วงชิดติดกัน

3.  กิ่งตอนที่จะนำมาปลูก ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่มีไรแดงชนิดนี้ระบาด

4.  การปลูกพืชเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มในแปลงที่มะม่วงยังมีขนาดเล็กอยู่นั้น พืชที่จะนำเข้ามาปลูกไม่ควรเป็นพืชอาศัยของไรแดงชนิดนี้  แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องปลูก  เมื่อเกิดการระบาดของไรเกษตรกรจะต้องคำนึงถึงพืชอาศัยที่ปลูกเสริมเหล่านี้ด้วย

5.  ควรหลีกเลี่ยงการทำลายไรตัวห้ำและด้วยตัวห้ำ ซึ่งศัตรูธรรมชาติเหล่านี้มีวงจรชีวิตสั้น  จึงสามารถขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว และตัวเต็มวัยของศัตรูธรรมชาติทั้ง 2 ชนิดนี้มีชีวิตอยู่ได้นาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเต็มวัยของด้วงตัวห้ำมีชีวิตอยู่ได้นานสูงสุดถึง 239 วัน และสามารถวางไข่ได้มากที่สุดถึง 370 ฟองต่อ 1 ตัว โดยที่ตัวเต็มวัยของด้วงตัวห้ำสามารถกินไข่ของไรแดงเฉลี่ยได้สูงถึงประมาณ 90 ฟอง ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

6.  การใช้สารกำจัดไร ถ้าเกษตรกรทำการสำรวจโดยสม่ำเสมอแล้ว จะทำให้เกษตรกรทราบถึงการระบาดของไรและจะสามารถทำการแก้ไขได้ทันท่วงที ส่วนการระบาดที่เกิดขึ้นนั้นก็จะเป็นเพียงการระบาดของไรในระยะแรกเริ่มเท่านั้น จึงมักจะไม่พบศัตรูธรรมชาติ ดังนั้นเกษตรกรก็สามารถที่จะใช้สารกำจัดไรได้อย่างเต็มที่ โดยทำการพ่นเฉพาะต้นมะม่วงที่มีไรระบาดและต้นที่อยู่ข้างเคียงเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องพ่นสารกำจัดไรทั่งทั้งหมดทุกแปลง สำหรับสารกำจัดไรที่จะแนะนำให้ใช้เพิ่งจะได้ทำการทดลองเพียงในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ยังไม่ได้ทำการทดสอบในสภาพไร่ แต่ถ้าเกิดการระบาดของไรขึ้นในขณะนี้ จำเป็นต้องใช้สารกำจัดไรพ่น  เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สารกำจัดไรที่จะแนะนำให้ใช้ต่อไปนี้ได้พิจารณาจากผลการทดลองในห้องปฏิบัติการแล้วว่า เป็นสารกำจัดไรที่มีประสิทธิภาพกำจัดไรสูง ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น ไดโคฟอล(เคลเทน 18.5℅อีซี) โบรโมโพรพีเลท (นีโอรอน 250 25℅ อีซี) อะมีแทรซ (ไมแทค 20℅ อีซี) ฟอร์มีทาเนท (ไดคาร์โซล 50 25℅ เอสพี) โปรฟีโนฟอส (ซีลีครอน 50℅ อีซี) อะบาเมคติน (เวอร์ทิเม็ค 1.8℅ อีซี)และสารระงับการลอกคราบของตัวอ่อนไรที่ได้ผลดี 100 เปอร์เซ็นต์ คือเฮกซีไธอะซอคซ์ (นิสโซรัน 2℅อีซี) สำหรับอัตราความเข้มข้นให้ใช้ตามที่บอกมาในฉลาก และสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่งคือเรื่องใบไหม้ (Phyto-toxic) ซึ่งเกิดจากการใช้สารกำจัดไรบางชนิด เพราะฉะนั้นก่อนที่จะใช้สารกำจัดไรที่ได้แนะนำ ควรทำการทดสอบความเป็นพิษของสารกำจัดไรเหล่านี้ต่อใบมะม่วงเสียก่อน ถ้าพบว่าสารกำจัดไรชนิดใดทำให้เกิดใบไหม้ก็ไม่ควรใช้ แม้ว่าสารกำจัดไรชนิดนั้นจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดไรได้ผลดีสูงสุดก็ตาม

เอกสารอ้างอิง

เทวินทร์  กุลปิยะวัฒน์ 2534 ไรศัตรูส้ม น.77-86 ในไรศัตรูพืช เอกสารวิชาการประกอบการอบรมหลักสูตรแมลง-สัตว์, ศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด ครั้งที่ 6 วันที่ 17-28 มิถุนายน 2534 ณ กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ

เทวินทร์  กุลปิยะวัฒน์ 2537 ไรขาวศัตรูสำคัญของส้มโอ วารสารเคหการเกษตร 18(10): 142-146

วัฒนา  จารณศรี  และมานิตา  คงชื่นสิน 2534 ไรแดงอาฟริกัน Eutetranychus africanus (Tucker) ศัตรูสำคัญของทุเรียนในประเทศไทย ว.กีฏ. สัตว. 13(1):62-68.