การจำแนกไส้เดือนฝอยศัตรูพืช

ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นไส้เดือนฝอยอยู่ในพืชที่ส่วนของพืชเหนือระดับผิวดิน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นไส้เดือนฝอยอยู่ในหรือบนส่วนของพืชที่อยู่ใต้ระดับผิวดิน
หากจะพิจารณาถึงปกติวิสัยของไส้เดือนฝอยในการปรสิตกับพืช อาจแบ่งออกแบ่งออกเป็นปรสิตอยู่ภายนอกพืช (ectoparasites) โดยไส้เดือนฝอยกินอาหารบนเซลหรือใกล้ผิวราก ไส้เดือนฝอยพวกนี้ปกติจะไม่เข้าไปในเนื้อเยื่อราก และปรสิตภายในพืช (endoparasites) โดยไส้เดือนฝอยจะเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อและกินอาหารภายในของพืชอาศัยนั้น ดังรายละเอียด พร้อมทั้งชนิดของไส้เดือนฝอยที่เกี่ยวข้อง
การเป็นปรสิตของไส้เดือนฝอยศัตรูพืช
A. การเป็นปรสิตอยู่ภายนอกพืช ไส้เดือนฝอยอยู่นอกพืช โดยมีบางส่วนของไส้เดือนฝอยเท่านั้นที่แทงผ่านเข้าไปอยู่ในพืช
ก. บริเวณผิวของเนื้อเยื่อ ได้แก่ไส้เดือนฝอย Trichodorus, Paratylenchus และ Tylenchorhynchus ไส้เดือนฝอยดูดกินอาหารที่ epidermal cell ของรากขนอ่อน และที่รากขนอ่อนไม่ถึง cortex ไส้เดือนฝอยที่ทำความเสียหายมากที่สุดได้แก่ Trichodorus พบดูดกินบริเวณปลายรากจำนวนมากมายทำให้รากกุด เพราะไม่มีการแบ่งเซลเกิดขึ้น
ข. บริเวณใต้ผิวเนื้อเยื่อ ได้แก่ไส้เดือนฝอย Belonolaimus, Hoplolaimus, Macroposthonia และไส้เดือนฝอยที่ปกติทำให้เกิดอาการปุ่มปม ได้แก่ Longidorus, Xiphinema และ Hemicycliophora
ไส้เดือนฝอยดูดกินถึงเซลของ cortex หรือใกล้กับ stele ของพืช โดยส่งหลอดดูดอาหารหรือบางส่วนของหัวเข้าไป ไส้เดือนฝอยทำลายเซลด้วยการดูดกินส่วนประกอบภายในเซล พวก Belonolaimus ดูดกินทำให้เซลตายเป็นแผลขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเน่าเนื่องจากมีบักเตรีและเชื้อราเข้าซ้ำเติมในภายหลัง
B. การเป็นปรสิตอยู่ภายในพืช ไส้เดือนฝอยเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อพืชทั้งตัว หรือเกือบทั้งตัว
ค. ไส้เดือนฝอยเคลื่อนย้ายกินอาหาร (migratory) พบในพืชผัก หญ้าต่างๆ


ภาพการทำลายรากพืชของไส้เดือนฝอยต่างๆ A ไส้เดือนฝอยรากปม (Meloidogyne) ภายในรากที่เป็นปมและเน่าเปื่อย B Heterodera เพศเมียที่เจริญเป็น cyst มีไข่อยู่เต็มยื่นออกมานอกราก C  Pratylenchus ดูดกินและขยายพันธุ์ในราก D Trichodorus ดูดกินที่ปลายราก ทำให้รากดูด และ E Hoplolaimus เจริญอุดทางเดินอาหารและน้ำ ทำให้การเจริญของรากลดดง (ที่มา Endo.1975)
-ในราก : Radopholus และ Pratylenchus
-ในลำต้นและใบ : Ditylenchus
-ในตาและใบ : Aphelenchoides และ Anguina (มักเกิดเป็นปม)
ไส้เดือนฝอยดูดกินอาหารและเคลื่อนที่ไปยังเซลข้างเคียงตามความยาวของพืช บางชนิดเมื่อเข้าไปในพืชแล้วสามารถเคลื่อนที่ได้ดี ไส้เดือนฝอยเพศเมียวางไข่ใน cortex เมื่อโตเต็มวัย แล้วฟักเป็นตัวอ่อนและกินอาหารในรากทำให้รากตายได้ ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ของไส้เดือนฝอยสามารถเคลื่อนที่ย้ายเข้าออกระหว่างรากพืชกับดินได้อย่างอิสระ
ง. ไส้เดือนฝอยเคลื่อนย้ายกินอาหารในต้นไม้ต่างๆ ได้แก่ Rhadinaphelenchus และ Bursaphelenchus
ไส้เดือนฝอยทำลายไม้ มี 2 ชนิด อยู่ใน suborder Aphelenchina คือ Rhadinaphelenchus cocophilus สาเหตุโรค red ring disease เข้าไปในเนื้อเยื่อพาเรนไคม่า ทำลายมะพร้าวและปาล์มต่างๆ ตลอดลำต้นและราก โดยมีด้วง (palm weevil) ช่วยเคลื่อนย้ายไส้เดือนฝอยให้ระบาดไปยังบริเวณยอดของต้น ไส้เดือนฝอยทำให้เซลตายเป็นบริเวณรอบลำต้น ทำให้ต้นตาย และ Bursaphelenchus lignicolus ทำลายเซลเปลือกของต้นสน โดยมีด้วงเจาะเป็นพาหะช่วยแพร่จากเซลที่ตายไปยังส่วนปกติอื่นๆ ทำให้ต้นตาย
จ. ไส้เดือนฝอยเกาะกินอาหารอยู่กับที่ (sessile)
ไส้เดือนฝอยดำรงชีวิตด้วยการเกาะอยู่กับที่ดูดกินอาหารภายในพืชอาศัย โดยเซลที่ไส้เดือนฝอยเกาะดูดกินนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ เพียงแต่ไส้เดือนฝอยดูดกินเฉพาะส่วนประกอบภายในบางส่วน ไส้เดือนฝอยตัว
เต็มวัยเพศเมียพองโป่งเกาะอยู่กับที่ ส่วนเพศผู้มีลำตัวยาว
ไส้เดือนฝอยบางส่วนอยู่ในรากพืช : Tylenchulus และ Rotylenchulus
Tylenchulus semipenetrans ไส้เดือนฝอยศัตรูส้ม ตัวเต็มวัยของไส้เดือนฝอยเพศเมียเข้าไปในราก โดยเหลือส่วนท้ายพองโป่งคล้ายถุงไว้ภายนอก กลุ่มเซลที่ไส้เดือนฝอยเกาะดูดกินนั้นจะมีขนาดของเซลเหมือนปกติ แต่มี nuclei ที่ใหญ่ ไม่มี central vacuole และ cytoplasm รวมกันเห็นเด่นชัด กลุ่มเซลปกติเหล่านี้ เรียกว่า nurse cells
Rotylenchulus reniformis เป็นไส้เดือนฝอยศัตรูฝ้ายที่เข้าไปในรากเฉพาะส่วนหัวบางส่วนถึง endodermis ส่วนที่เหลือโป่งมีรูปคล้ายไต (kidney-shaged) อยู่ภายนอกราก
ไส้เดือนฝอยอยู่ในรากพืชทั้งตัว : Nacobbus (ปกติทำให้เกิดปม), Meloidogyne และ Heterodera (ปกติทำให้เกิดปม)
Nacobbus เป็นไส้เดือนฝอยเข้าทำลาย stele และกระตุ้นให้มีการแบ่งเซลและการรวม protoplast ของเซลหลังจากผนังเซลบางส่วนละลายเกาะดูดกินอาหารอยู่ที่ด้านใดด้านหนื่งของกลุ่มตรงกลางปมที่เกิดขึ้นจากการแบ่งเซลใน cortex และเนื้อเยื่อของท่อน้ำท่ออาหาร
Heterdera ตัวอ่อนระยะที่ 2 เคลื่อนย้ายเข้าไปใน cortex ทำให้เซลขยายใหญ่ขึ้นผนังเซลแตกออกเป็นส่วนๆ เกิดเป็นเซลขนาดใหญ่ (syncytium or giant cell) ใน stele โดยมีผนังเซลอยู่ติดกับท่อไซเลมCentral vacuole หายไป มี nuclei ขนาดใหญ่ขึ้นโดยไม่มีการแบ่ง nuclei แต่อย่างไร
Meloidogyne ทำให้เกิดเซลขนาดใหญ่มี nuclei มากมาย (multinucleate syncytia) โดยท่อ xylem ต่างๆ ที่อยู่บริเวณหัวของไส้เดือนฝอยขยายใหญ่ขึ้น มีการแบ่ง nuclei และการเจริญของผนังเซล แต่วิธีการเกิดเซลขนาดใหญ่นี้ไม่มีการละลายออกของผนังเซลเพื่อรวมกันเหมือนการเกิดเซลขนาดใหญ่โดยมี Heterodera เป็นสาเหตุ


ภาพไดอาแกรมแสดงการแทงผ่านและดูดกินรากส้ม ของไส้เดือนฝอยศัตรูส้ม (tylenchulus semipenetrans) ซึ่งประกอบด้วย 3 ระยะ คือ (1) การดูดกินระยะตัวอ่อน (2) การแทงผ่านเนื้อเยื่อของตัวอ่อนเพศเมีย และ (3) การดูดกินและการวางไข่ของไส้เดือนฝอยเพศเมีย A = ระยะที่ 2 ของเพศเมีย B = ระยะที่ 4 ของเพศเมีย C = ตัวเต็มวัยของเพศเมีย และ D = ระยะที่ 3 ของเพศเมีย (ที่มา : Endo, 1975)
การเกิด syncytia ในพืชที่เป็นโรคเกิดจากไส้เดือนฝอย Heterodera และ Meloidogyne เป็นสาเหตุนี้ มีลักษณะเดียวกับการเกิด transfer cell ในพืชปกติทั่วไป เมื่อพืชนั้นมีการเคลื่อนย้ายอาหารปริมาณมากๆ ในระยะทางสั้นๆ เพื่อส่งอาหารไปยังบางส่วนชั่วคราว เช่นตามใบเล็กๆ ของลำต้นและตาดอก การเกิด transfer cell นี้ อาจเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสารละลายอาหารต่างๆ เช่นกรดอะมิโนต่างๆ จากท่อไปยังเนื้อเยื่อเจริญ ดังนั้นการเกิด syncytia อาจเป็น transfer cell ที่มีลักษณะเฉพาะเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้อาหารพืชของไส้เดือนฝอย
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช