ไหมพันธุ์ไทย:ข้อมูลบางประการของไหมพันธุ์ไทย

ไชยยงค์  สำราญถิ่น  สถานีทดลองหม่อนไหมขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ด้วยเอกลักษณ์ของไหมไทย คือ ความเลื่อมมัน ปุ่มปม และคงทนต่อการใช้งาน ทำให้ไหมไทยได้รับความสนใจ และเป็นที่นิยมของผู้ใช้ผ้าไหมทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าผลผลิตเส้นไหมของเกษตรกรในประเทศถึงแม้จะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอใช้ผลิตผ้าไหมออกจำหน่ายจนทำให้ประเทศต้องนำเส้นไหมจากต่างประเทศมาใช้ปีละเป็นจำนวนมากเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าไหมออกจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้รัฐเพิ่มความสนใจในการพัฒนางานหม่อนไหม โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบพัฒนาความสามารถของเกษตรกรในการผลิตไหมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ดังจะเห็นได้ชัดจากผลการดำเนินงานของสถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร ทำให้เกษตรกรได้รับหม่อนและไหมพันธุ์ดีไปใช้ทำพันธุ์หลายพันธุ์ในปัจจุบัน

เพื่อให้ท่านที่มีความสนใจได้รับทราบข้อมูลและรายละเอียดบางประการของไหมพันธุ์ไทย จึงขอเสนอข้อมูลที่น่าสนใจพอสังเขปดังต่อไปนี้

ลักษณะพันธุ์ไหมไทย

(ก)  ไหมพันธุ์ไทยเป็นไหมที่ฟักตัวเองได้ตลอดปีมีวงจรชีวิตประมาณ ๔๐-๔๕ วัน

(ข)  รังไหมมีรูปร่างกลมรี หัวท้ายแหลม มีสีเหลืองแก่ เหลืองอ่อน จนถึงเหลืองตุ่นแล้วแต่ชนิดของพันธุ์

ชื่อพันธุ์ไหม

ชื่อไหมพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่จะมีคำว่า “นาง” นำหน้า เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงจะเรียกชื่อตามผู้ที่เลี้ยงคนก่อนที่เลี้ยงมาอย่างต่อเนื่องจนได้ผลดี และมีคุณสมบัติดีเด่นเฉพาะตัว เกษตรกรจึงให้เกียรติแก่เจ้าของพันธุ์ โดยการเรียกชื่อเจ้าของซึ่งส่วนใหญ่จึงใช้คำว่า “นาง” นำหน้าและต่อด้วยผู้เลี้ยงมาตั้งเป็นชื่อพันธุ์ไหมเช่น นางเหลือง นางเขียว นางลิ่ว นางน้อย นางน้ำ ฯลฯ

ยุคต่อมาก็ใช้เรียกชื่อตามสถานที่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดที่นำมา เช่น โนนฤษี หนองแก้ว เขียวสกล เป็นต้น

ไหมพันธุ์พื้นเมืองซึ่งสถานีทดลองหม่อนไหมต่าง ๆ ได้นำมาปรับปรุงพันธุ์ทางราชการจะเรียกว่าพันธุ์ไทย ปรับปรุงโดยการนำพันธุ์พื้นเมืองมาผสมและทำการคัดพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์จนให้ผลผลิตสูงและมีคุณสมบัติดีเด่น ผลิตจำหน่ายจ่ายแจกให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ มีหลายพันธุ์ด้วยกัน โดยจะทราบได้จากการดูชื่อพันธุ์ ชื่อย่อตัวหน้าจะเป็นจังหวัด อำเภอ หรือสถานที่สถานีฯตั้งอยู่ เลขตัวหลังจะเป็นเลขของชุดพันธุ์เช่น ปช.๒๑ รอ.๓ นค.๔ ๑๗ แอลดับเบิลยู ๑๗ แอลวาย ๑๕ เควาย เหล่านี้เป็นต้น

ข้อแตกต่างของพันธุ์

(ก)  พันธุ์พื้นเมืองที่ยังไม่ได้ทำการปรับปรุงจะมีเปอร์เซ็นต์เส้นใยหรือเปอร์เซ็นต์เปลือกรัง ระหว่าง ๘-๙ เปอร์เซ็นต์

(ข)  พันธุ์พื้นเมืองซึ่งสถานีทดลองหม่อนไหมต่าง ๆ ปรับปรุงแล้วมีเปอร์เซ็นต์เส้นใยหรือเปอร์เซ็นต์เปลือกรังระหว่าง ๑๒-๑๕ เปอร์เซ็นต์

ขณะนี้สถานีทดลองหม่อนไหมได้ทำการปรับปรุงพันธุ์พื้นเมืองตระกูล “นาง” ต่าง ๆ จนเปอร์เซ็นต์เส้นใยหรือเปอร์เซ็นต์เปลือกรังเพิ่มขึ้นถึงระหว่าง ๑๑-๑๔ เปอร์เซ็นต์ทั้งนี้จะต้องต้องเป็น “นาง” ที่เกษตรกรขอรับพันธุ์จากสถานีทดลองหม่อนไหมโดยตรงเท่านั้น

ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวไหม

๑.  ไข่ไหมพันธุ์ไทย  ไข่ไหมพันธุ์ไทยทุกพันธุ์โดยเฉลี่ย ๑ แม่ มีจำนวนในฤดูฝน ๔๓๒ ฟอง ฤดูร้อน ๒๐๗ ฟอง เฉลี่ยทั้งปี ๓๑๙ ฟอง

๒.  น้ำหนักหนอนไหม  หนอนไหมจะมีน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่เฉลี่ย ๑ ตัว ๑.๗ กรัม

๓.  อายุหนอนไหม  ฤดูร้อนและฤดูฝน ๑๙-๒๐ วัน ฤดูหนาว ๒๒-๒๔ วัน

๔.  อาหารของไหมไทย  อาหารที่ดีที่สุดของไหมไทย คือ ใบหม่อน ใบแกแล(Broussonetia papyrifera Vent)เป็นใบพืชอีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้เลี้ยงไหมไทยวัย ๔-๕ ได้ หากขาดแคลนใบหม่อน

๕.  จำนวนใบหม่อนที่ใช้เลี้ยง ไหมไทย ๑ แม่ ใช้ใบหม่อนเลี้ยงโดยเฉลี่ยในฤดูร้อนและฤดูฝน ๓.๗ กิโลกรัม ในฤดูหนาว ๔.๒ กิโลกรัม

ตารางที่ ๑

สถิติการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๘

ปี พ.ศ. จังหวัด จำนวนครัวเรือนเลี้ยงไหม(ครัวเรือน) เนื้อที่ปลูกหม่อน(ไร่) ผลผลิตเส้นไหม(ก.ก.)
๒๕๒๓ ๓๓ ๔๕๑,๗๘๑ ๒๕๗,๘๒๕ ๖๑๑,๘๔๘
๒๕๒๔ ๓๓ ๔๑๙,๒๔๓ ๒๔๔,๑๘๑ ๗๑๘,๑๘๘
๒๕๒๕ ๓๓ ๔๑๙,๕๘๑ ๒๘๒,๔๕๒ ๗๙๖,๗๙๐
๒๕๒๖ ๓๓ ๔๐๓,๖๓๔ ๒๒๘,๕๗๖ ๗๙๖,๐๓๑
๒๕๒๗ ๓๓ ๓๙๐,๖๔๒ ๒๓๑,๙๖๘ ๘๐๑,๑๓๗
๒๕๒๘ ๓๓ ๓๘๓,๔๒๕ ๒๒๗,๖๗๙ ๙๒๙,๗๖๖

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร

ผลผลิตที่ได้

๑.  รังไหมพันธุ์ไทยรังสดเฉลี่ย ๙๘๙ รัง ต่อ ๑ กิโลกรัม

๒.  รังไหมพันธุ์ไทย ๑ รัง เส้นใยยาวเฉลี่ย ๓๐๙ เมตร

๓.  เส้นไหมพันธุ์ไทย ๑ กิโลกรัมต้องใช้รังสดเฉลี่ย ๑๒ กิโลกรัม

๔.  เส้นไหมพันธุ์ไทย ๑ กิโลกรัมต้องใช้เวลาสาวด้วยมือเฉลี่ย ๗๐ ชั่วโมง

สรุป

ข้อเขียนดังกล่าวมานี้เป็นข้อมูลเพียงเล็กน้อยของไหมไทยเท่านั้น แต่อาจทำให้เกิดประโยชน์เป็นแนวทางในการวิจัยและพัฒนาไหมไทย สำหรับท่านที่มีความสนใจที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมพันธุ์ไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจนและมีจำนวนมากที่สุดของจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมของประเทสไทยเราในปัจจุบัน

บรรณานุกรม

๑.  สวัสดิ์  พิลาชัย และคณะ ๒๕๒๓ การสำรวจปริมาณใบหม่อนที่ใช้ในการเลี้ยงไหมพันธุ์ไทย ต่อแม่ต่อพันธุ์ รายงานผลการทดลองประจำปี ๒๕๒๓ สถานีทดลองหม่อนไหมศรีสะเกษ กองการไหม ๗ หน้า

๒.  สวัสดิ์  พิลาชัย และคณะ ๒๕๒๗ การศึกษาการใช้แรงงานในการเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยและสาวไหมด้วยมือ ของเกษตรกร รายงานผลการทดลอง ประจำปี ๒๕๒๗ สถานีทดลองหม่อนไหมศรีสะเกษ สถาบันวิจัยหม่อนไหม ๖ หน้า

๓.  อุดม  ครามลายออ  และคณะ ๒๕๒๓ ความเป็นไปได้หรือไม่ได้ ในการใช้ใบแกแลเลี้ยงไหมวัยแก่ รายงานผลการทดลองประจำปี ๒๕๒๓ สถานีทดลองไหมศรีสะเกษ กองการไหม ๔ หน้า