ดอกหน้าวัว:สวนหน้าวัวกล้วยไม้ส่งนอก


เรื่อง:”ปลายเมฆ”

เจ้าของ:คุณพีระศักดิ์  ฉันท์อุดมโชค

สถานที่:30/3 ม.4 โชคชัย 4 ลาดพร้าว กทม. 10230 โทร. 542-3741

อาจจะดูแปลกอยู่สักหน่อย หากเคหการเกษตรจะพาไปเยี่ยมสวนกล้วยไม้ที่หนองจอก เพราะหลายคนคงคุ้นเคยกับรังกล้วยไม้ชานกรุงแถบหนองแขม ศาลาแดงหรือไม่ก็แถบ จ.นครปฐม จ.ราชบุรี เสียมากกว่า แต่ความจริงแล้วแหล่งกล้วยไม้มีอยู่แทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพราะไม้ดอกส่งออกที่เชิดหน้าชูตาของประเทศไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันคงหนีไม่พ้นกล้วยไม้อยู่นั่นเอง  ปริมาณและมูลค่าส่งออกกล้วยไม้บ้านเราเพิ่มขึ้นทุกปีจนทำให้พันธุ์กล้วยไม้ของไทยแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก  ขณะเดียวกันพันธุ์กล้วยไม้จากต่างประเทศก็ถูกนำเข้ามาปลูกเลี้ยงในเมืองไทยเช่นกัน

คุณพีระศักดิ์  ฉันท์อุดมโชค คร่ำหวอดอยู่ในวงการกล้วยไม้มานานกว่า 20 ปี เป็นทั้งผู้ปลูกเลี้ยงและผู้ค้าส่งกล้วยไม้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ เริ่มเข้าสู่วงการกล้วยไม้ จากการซื้อกล้วยไม้สกุลหวายมาทดลองปลูกเลี้ยง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จล้มลุกคลุกคลานอยู่นานพอสมควร  แต่ไม่เคยย่อท้อพยายามศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ประกอบกับมีเพื่อนเป็นผู้ค้าส่งกล้วยไม้รายใหญ่ออกสู่ต่างประเทศคอยเป็นพี่เลี้ยงให้จึงมีกำลังใจมากขึ้นเวลาต่อมาก็พลิกผันตัวเองเป็นผู้รับซื้อกล้วยไม้ส่งออกอย่างเต็มตัวและพบว่าการเลี้ยงกล้วยไม้ไม่ใช่เรื่องยากอีกแล้ว คุณพีระศักดิ์ เดินทางไปดูความก้าวหน้าของวงการเกษตรของประเทศลูกค้าอยู่บ่อย ๆ และมักจะนำพันธุ์กล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับจากต่างประเทศเข้ามาทดลองปลูกเลี้ยงเสมอ  ปัจจุบันจึงกลายเป็นผู้ปลูกเลี้ยงและจำหน่ายหน้าวัวพันธุ์ต่างประเทศรายใหญ่รายหนึ่งของบ้านเราอีกด้วย  บนเนื้อที่สวนกว่า 9 ไร่ ที่เขต อ.หนองจอก จึงหลากหลายไปด้วยกล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับใหม่ ๆ จากต่างประเทศที่นำเข้ามาปลูกเลี้ยงด้วยใจรัก

ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้…สำคัญที่การจัดการ

การดูแลรักษากล้วยไม้ในรังของคุณพีระศักดิ์เน้นเรื่องความสะอาดภายในสวนเป็นสำคัญเพื่อป้องกันแหล่งสะสมเชื้อโรค  กล้วยไม้จะอยู่ภายใต้โรงเรือนพรางแสง 70℅ ถ้าเป็นกล้วยไม้ตัดดอกพรางแสงเพียง 60℅ ช่วงหน้าร้อนก็เพิ่มการพรางแสงให้มากขึ้น  ถ้าเป็นช่วงฝนต้องมีหลังคาพลาสติกกันฝนสำหรับกล้วยไม้ต้นเล็ก เพราะถ้ากล้วยไม้โดนฝนความชื้นที่สูงเกินไปอาจทำให้ต้นเน่าได้ อีกทั้งกล้วยไม้ต้นเล็กความแข็งแรงยังมีน้อย จึงง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรคที่สวนวางโปรแกรมการดูแลรักษาค่อนข้างสม่ำเสมอ เป็นต้นว่าการให้ปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยเกร็ดละลายน้ำรดสัปดาห์ละครั้ง ถ้าเป็นไม้เล็กให้สูตร 20-20-20 ผสมแบบเจือจางเพื่อบำรุงต้น หรืออาจใช้ปุ๋ยสูตรตัวกลางสูงบ้างเพื่อช่วยให้รากแข็งแรงขึ้น  เมื่อต้นเริ่มโตขึ้นและช่วงที่มีดอกจะเพิ่มปุ๋ยสูตรที่มีโปแตสเซียมสูงเพื่อบำรุงต้นและดอก คุณพีระศักดิ์กล่าวว่าการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สำคัญต้อมีแหล่งน้ำดี ชาวสวนกล้วยไม้หลายคนประสบปัญหาเรื่องแหล่งน้ำมาก  บางรายต้องย้ายรังกล้วยไม้เพื่อหาแหล่งน้ำที่ดี เมื่อก่อนที่สวนก็เคยมีปัญหาน้ำเค็มจากน้ำใต้ดินเข้ามาเสมอทำให้ต้นกล้วยไม้เสียหายหลายครั้งหลายคราวเป็นจำนวนไม่น้อย  ขณะนี้ปัญหาเรื่องน้ำไม่มีแล้วเพราะได้เจาะบ่อบาดาลสูบน้ำขึ้นมาพักในบ่อพักขนาดใหญ่  จากนั้นสูบน้ำจากบ่อพักมายังบ่อผสมสารส้มเพื่อให้ตะกอนของน้ำตกตะกอน  แล้วผ่านน้ำที่สะอาดมาปรับพีเอช (pH)ในบ่อถัดมาจากนั้นน้ำสะอาดจะถูกส่งไปยังท่อสปริงเกลอร์สู่ต้นกล้วยไม้ต่อไป  นับเป็นระบบการให้น้ำที่สมบูรณ์แบบทีเดียว แต่ถ้าเป็นช่วงฝนความชื้นสูงมาก ๆ จะใช้วิธีลากสายยางรดแทนการให้น้ำต้นกล้วยไม้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ  ถ้าช่วงร้อนหรือช่วงหนาวจะให้น้ำ วันละ 2 ครั้ง ต้องคอยสังเกตดูเครื่องปลูกด้วยไม่ให้แฉะจนเกินไป ช่วงไหนถ้าฝนตกก็งดให้น้ำ พยายามเดินสังเกตกล้วยไม้ในสวนทุก ๆ วัน ถ้าพบโรค-แมลงก็พ่นสารเคมีป้องกันกำจัด ที่สวนพยายามจะไม่ใช้สารเคมีให้มากเกินไป

ตลาดกล้วยไม้ขายต้นยังสดใส…กล้วยไม้ขายดอกต้องพัฒนาคุณภาพ

คุณพีระศักดิ์ให้ทัศนะว่า ตลาดกล้วยไม้ไทยในต่างประเทศยังสดใสอยู่มาก  โดยเฉพาะกล้วยไม้ขายต้นคุณภาพเราดีกว่าต่างประเทศจึงสามารถส่งออกไปแข่งขันกับต่างประเทศได้ตลอด  และตลาดยังต้องการอีกมาก  แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ตัดดอกแล้วล่ะก็คุณภาพเราด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์มาก  ตลาดดอกกล้วยไม้เกรดเอของเราจึงถูกแย่งไปบางส่วนแล้ว ทั้งนี้เพราะชาวสวนกล้วยไม้บ้านเรามักตัดดอกเมื่อบานได้เพียง 4-5 ดอก/ช่อ  ขณะที่ทางมาเลเซียและสิงคโปร์จะตัดเมื่อดอกบาน 8-10 ดอก/ช่อ เสียเวลารอหน่อย แต่ได้ช่อดอกยาวและคุณภาพดีกว่าจึงไปเสนอได้ราคาที่สูงกว่าเราและลูกค้าก็นิยมมากกว่า แต่ถ้าจะให้เราผลิตดอกให้เหมือนมาเลเซียและสิงคโปร์ก็ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะถ้าเราตัดดอกเร็วจะทำให้ดอกแทงช่อใหม่เร็วไปด้วย ทำให้ได้ปริมาณมากกว่า  ในขณะที่ไว้ให้ดอกบาน 8-10 ดอกต่อช่อจะยืดเวลาออกดอกใหม่ไปอีกเป็นสัปดาห์  บางครั้งดอกที่บานอยู่ก่อนจะหลุดร่วงเกิดความเสียหายและเสียราคาไปอีก  เพราะกล้วยไม้บ้านเราให้ปุ๋ยค่อนข้างเยอะจึงไม่ค่อยแข็งแรง ถ้าจะให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดีก็ต้องเปลี่ยนวิธีการปลูกเลี้ยงกันใหม่หมด  ซึ่งทำได้ค่อนข้างยาก ตลาดดอกกล้วยไม้จึงกลายเป็นเรื่องที่น่าหนักใจของชาวสวนกล้วยไม้ตัดดอกในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย สำหรับกล้วยไม้ตัดดอกคุณพีระศักดิ์จะปลูกเฉพาะสกุลออนซิเดียมเท่านั้น โดยตัดดอกส่งบริษัทส่งออกต่างประเทศอีกที  เพราะกล้วยไม้ตัดดอกมีปัญหาดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งเป็นงานที่ค่อนข้างหนักและพิถีพิถันพอสมควร  จึงทำให้คุณพีระศักดิ์ผลักภาระการส่งออกให้แก่บริษัทส่งออกรายอื่นที่เป็นรายใหญ่อยู่แล้ว “ถ้าเป็นกล้วยไม้ส่งต้น ผมก็เป็นรายใหญ่รายหนึ่งของบ้านเรา แต่กล้วยไม้ตัดดอกผมคิดว่าคงสู้บริษัทใหญ่ ๆ ที่ทำอยู่ก่อนไม่ได้ อีกทั้งปัญหาเยอะมากผมจึงไม่ทำ” ประเทศลูกค้ากล้วยไม้ต้นที่สำคัญได้แก่ อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศแถบยุโรป ฯลฯ

ข่าวดีสำหรับผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ขายต้น

ต้นกล้วยไม้ที่ส่งออกสามารถส่งได้ทุกขนาดตั้งแต่ลูกกล้วยไม้ในขวด ในกระถางหิ้วไปจนถึงกล้วยไม้ออกดอก  ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศต้องการกล้วยไม้ขนาดไหน ประเทศลูกค้าส่วนใหญ่จะสั่งซื้อกล้วยไม้ระยะออกดอก มีบางประเทศ เช่น มลรัฐฮาวายในอเมริกาซึ่งไม่สามารถนำต้นเข้าประเทศได้ จะสั่งซื้อลูกกล้วยไม้ในขวดแทน  คุณพีระศักดิ์กล่าวว่า “ปกติจะส่งกล้วยไม้ทุกขนาดและทุกสกุลตามที่สั่งไม่ว่าจะเป็นสกุลหวาย แวนด้า ฟาเลนอปซิล รองเท้านารี ม็อคคารา อาแรนด้า ฯลฯ โดยส่งออกกล้วยไม้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง มีกล้วยไม้จากสวนผมไม่ถึง 50℅ ที่เหลือต้องรับซื้อจากผู้ปลูกเลี้ยงรายอื่น เพราะลูกกล้วยไม้จากขวดกว่าจะโตจนกระทั่งออกดอกใช้เวลานานถึง 2-3 ปี  คงต้องมีพื้นที่เป็นร้อยไร่จึงจะพอ” คุณพีระศักดิ์จึงต้องซื้อต้นกล้วยไม้จากผู้ปลูกเลี้ยงแทบทุกจังหวัดเป็นต้นว่า ชลบุรี ราชบุรี ปากช่อง นครสวรรค์ เชียงใหม่ เชียงราย ฯลฯ สวนจึงเสมือนเป็นที่พักไม้เท่านั้น  สำหรับผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่มีต้นกล้วยไม้คุณภาพดีและมองหาตลาดอยู่ก็ลองโทรไปสอบถามรายละเอียดจากคุณพีระศักดิ์ได้

ปลูกเลี้ยงหน้าวัวพันธุ์ต่างประเทศหลายพันธุ์

นอกจากปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นธุรกิจแล้ว ยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับปลูกเลี้ยงหน้าวัวอีกด้วย  โดยนำหน้าวัวจากการเพาะเนื้อเยื่อจากอเมริกาเข้ามาทดลองปลูกเลี้ยง  และพยายามคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้นในประเทศไทย  ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากนักเพราะหน้าวัวมีถิ่นกำเนิดและเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้นของทวีปอเมริกาเหนือจึงมีหลายพันธุ์ที่สามารถปลูกตัดดอกในเมืองไทยได้และเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น Kalapana, Anuenue, Big red, Miami beauty, Spot orange ฯลฯ บางพันธุ์สามารถปลูกเป็นไม้กระถางได้ เช่น Mistypink, Lady ruth, Tropic mist, Red and Green, Midori, Rudolph ฯลฯ  พันธุ์เหล่านี้เป็นที่ต้องการของตลาดในอเมริกาและยุโรปมาก  ในอเมริกาจะมีการพัฒนาพันธุ์อยู่ตลอดเวลาทำการค้นคว้าและวิจัยโดย University of Hawai มีการทดสอบพันธุ์อย่างน้อย 5-6 ปีในเรื่องของขนาดดอก สีสัน การปรับตัวและความคงทน จากนั้นจะทำการปั่นตาและแจกจ่ายให้แก่ชาวสวนของประเทศ เพื่อนำไปปลูกเลี้ยงต่อไป ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมด้านการตลาดควบคู่ไปด้วย มีหลายประเทศนำพันธุ์หน้าวัวจากฮาวายไปปลูกเลี้ยง ขณะที่การทดลองในเรื่องพันธุ์ของไทยกลับถูกมองข้าม  ทำให้หน้าวัวของไทยมีอยู่เพียงไม่กี่พันธุ์และเป็นพันธุ์เก่าแก่ทั้งสิ้น การส่งเสริมด้านการปลูกเลี้ยงและการตลาดก็ยังไม่จริงจัง อุตสาหกรรมการผลิตหน้าวัวในเมืองไทยจึงยังไปไม่ถึงไหน

ปลูกเลี้ยงหน้าวัว…ไม่ใช่เรื่องยาก

ธรรมชาติของหน้าวัวต้องการสภาพที่มีความชื้นสูงและมีแสงแดดรำไร  แต่ต้องมีการถ่ายเทอากาศได้ดี หน้าวัวสามารถปลูกได้ทั้งในกระถางและปลูกลงแปลง  “ผมปลูกในกระถางเพราะสะดวกในการจำหน่ายต้นพันธุ์ความจริงแล้วผมต้องการปลูกลงแปลงเพื่อตัดดอกมากกว่าและบางส่วนจะทำเป็นไม้กระถาง บางคนก็นำหน้าวัวที่เป็นไม้กระถาง (potted plant) เช่น เลดี้เจน (Lady jane) เป็นไม้ตัดดอกใช้ในร้านดอกไม้กันบ้างแล้ว พันธุ์ต่างประเทศเขาจะบอกมาเลยว่าพันธุ์นี้สำหรับตัดดอก  พันธุ์นี้สำหรับเป็นไม้กระถาง ขณะนี้ผมกำลังมองหาพื้นที่สำหรับขยายสวนอยู่ จะปลูกเลี้ยงหน้าวัวอย่างเดียว”

สภาพโรงเรือน  โรงเรือนหน้าวัวควรพลางแสง 70-80℅ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ด้วย ต้องคอยสังเกตเสมอถ้าหน้าวัวได้รับแสงมากเกินไปต้นจะแคระแกร็น ดอกมีขนาดเล็ก พื้นโรงเรือนควรเก็บความชื้นได้ดีขณะเดียวกันต้องระบายน้ำได้ดีด้วย อาจจะใช้อิฐมอญหรือพื้นคอนกรีตก็ได้

เครื่องปลูก

สำหรับเครื่องปลูกควรให้มีพีเอช (pH) ประมาณ 6.5 กาบมะพร้าวสับมีพีเอช (pH) เหมาะสมมาก  แต่ต้องควบคุมเรื่องความชื้นของเครื่องปลูก  ถ้าให้น้ำมากเกินไปจะทำให้ต้นเน่าตายได้  ผู้ปลูกเลี้ยงหน้าวัวส่วนใหญ่จะนิยมใช้อิฐมอญทุบเป็นเครื่องปลูกซึ่งไม่มีธาตุอาหารสะสมอยู่  ควรเติมกาบมะพร้าวสับลงไปเล็กน้อยเพื่อช่วยเก็บความชื้นและเพิ่มธาตุอาหารจะเป็นเครื่องปลูกที่ดีทีเดียว

การให้น้ำ

คุณพีระศักดิ์ แนะนำว่าการให้น้ำควรใช้ระบบสปริงเกลอร์ เพราะจะช่วยเพิ่มความชื้นในโรงเรือนได้  การให้น้ำต้องดูสภาพอากาศด้วยปกติจะให้วันละ 2 ครั้ง ช่วงหน้าร้อนอาจให้น้ำถึงวันละ 3 ครั้งช่วงหน้าฝนก็ลดการให้น้ำลง

การให้ปุ๋ย

หน้าวัวเป็นไม้ที่ไม่ค่อยชอบปุ๋ยมากนัก  ถ้าให้ปุ๋ยเข้มข้นมากเกินไปจะทำให้ใบไหม้และหงิกงอที่ส่วนจะให้ปุ๋ยออสโมโค้ททุก 3 เดือน และเสริมด้วยปูนโดโลไมต์ ซึ่งมีธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมอยู่ ในต่างประเทศจะให้ปุนโดโลไมต์ทุก 6 เดือน แต่ในบ้านเราปูนโดโลไมต์ของเราละเอียดมาก  เมื่อรดน้ำปูนจะไหลลงสู่ก้นกระถางหมด จึงต้องให้ทุก 3 เดือน จะช่วยให้ต้นเจริญเติบโตดีและออกดอกดก

การตัดแต่ง

หน้าวัวเมื่อปลูกนานแล้วควรมีการตัดแต่งใบออกบ้าง เพื่อให้บริเวณโคนต้นมีการระบายอากาศได้ดีขึ้นในช่วงฤดูฝนและยังช่วยให้โรคและแมลงลดลงด้วย  โดยตัดให้เหลือเพียงยอดละ 3-4 ใบก็พอ

การขยายพันธุ์

หน้าวัวขยายพันธุ์ง่ายทำได้ทั้งวิธีตัดยอดขณะที่เป็นต้นกล้าหรือต้นขนาดใหญ่ก็ได้ หากมีรากติดยอดที่ตัดมาด้วยจะทำให้ต้นตั้งตัวและเจริญเติบโตเร็ว หรืออาจจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีตัดหน่อก็ได้ โดยตัดหน่อที่มีราก 2-3 ราก ไม่ควรตัดหน่อในขณะที่ยังมีขนาดเล็ก เพราะจะทำให้ต้นตั้งตัวช้า  หากต้องการได้ต้นพันธุ์จำนวนมากก็ใช้วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  โดยจะใช้ใบอ่อนที่ยังม้วนอยู่หรือใบอ่อนที่คลี่แล้วก็ได้ แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน วิธีตัดยอดจะได้ต้นพันธุ์ที่ให้ดอกเร็วที่สุดแต่ได้จำนวนต้นน้อย  วิธีตัดหน่อจะได้ต้นขนาดเล็กลง  ถ้าเป็นต้นจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ต้นจำนวนมาก  แต่ใช้เวลานานกว่าจะออกดอกประมาณ 6-8 เดือนจึงจะเริ่มออกดอกตัดดอกได้ก็ประมาณ 1 ปี

คุณพีระศักดิ์กล่าวว่าการปลูกเลี้ยงหน้าวัวไม่ยากไปกว่าการปลูกเลี้ยงต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ผู้ปลูกเลี้ยงบางคนปลูกเลี้ยงหน้าวัสใต้รังกล้วยไม้ ผมไม่เห็นด้วยเพราะความชื้นสูงเกินไปแสงไม่เพียงพอ  น้ำจากการรดกล้วยไม้จะลงมากระแทกดอก  ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ต้นหน้าวัวอ่อนแอ  เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่ายอาจตายทั้งสวนได้เหมือนกัน

หน้าวัวไม่จำเป็นต้องปลูกบนที่สูง

หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าหน้าวัวต้องปลูกบนดอยสูงในภาคเหนือจึงจะมีคุณภาพดี  แต่ความจริงแล้วหน้าวัวชอบอุณหภูมิประมาณ 17-27°c หน้าวัวที่ปลูกทางภาคเหนืออากาศเย็นกว่าดอกย่อมใหญ่กว่าเป็นธรรมดา ดอกไม้ชนิดอื่นก็เช่นเดียวกัน  แต่ปริมาณผลผลิตที่ได้จะน้อยกว่าหน้าวัวที่ปลูกพื้นราบ  แต่ก็มีข้อเสียเปรียบตรงที่ในเขตอากาศหนาวหรือช่วงหนาวหน้าวัวจะไม่ให้ดอก  จะมีเพียงไม่กี่พันธุ์เท่านั้นที่สามารถปลูกได้ พื้นราบถ้าปลูกหน้าวัวลงแปลงพรางแสงให้ดีและให้มีความชื้นสูงดอกจะใหญ่และมีคุณภาพดีไม่แพ้หน้าวัวที่ปลูกทางภาคเหนือเช่นกัน

ตลาดหน้าวัวยังไปได้อีกไกล..ถ้าปลูกเลี้ยงอย่างจริงจัง

หน้าวัวมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นจึงสามารถปลูกเลี้ยงให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีในสภาพอากาศของเมืองไทยได้  ไม้ประดับสกุลนี้นำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านการตัดดอก  จัดสวนและใช้เป็นไม้กระถาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าวัวตัดดอกกำลังเป็นที่ต้องการ่ของตลาดโลก  หรือแม้แต่ตลาดภายในประเทศในขณะนี้ก็ยังมีไม่เพียงพอสำหรับป้อนตลาดเลย “ผมเชื่อว่าตลาดหน้าวัวยังไปได้อีกไกล ถ้าเรามีปริมาณมากพอสำหรับป้อนตลาด ผมเช็คสถิติการส่งออกกล้วยไม้ของไทยมีประมาณ 700-800 ล้านบาท/ปี  ขณะที่อเมริกาส่งหน้าวัวออก 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี หน้าวัวได้เปรียบดอกไม้อื่นที่มีสีสันหลากหลาย มีความคงทนและสามารถทำรายได้ต่อหน่วยพื้นที่สูงเมื่อเทียบกับดอกไม้ชนิดอื่น  จึงเป็นไม้ดอกที่น่าสนใจและส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปลูกเลี้ยงเป็นไม้ตัดดอกส่งตลาดต่างประเทศมาก” แต่ละประเทศก็นิยมสีสันแตกต่างกันไป ประเทศแถบยุโรปจะนิยมสีแดง ชมพูและขาว ประเทศอเมริกานิยมสีแดงและชมพูเป็นหลัก ขณะนี้ก็เริ่มนิยมหน้าวัวที่มี 2 สีเป็นต้นว่าโอบากิมากขึ้น  สำหรับประเทศญี่ปุ่นจะนิยมโทนสีหวาน ๆ โดยเฉพาะสีเขียว สีชมพูอ่อน สีขาว เป็นต้น ข้อมูลเรื่องสีสันทำให้เราสามารถเลือกปลูกเลี้ยงตามความต้องการของตลาดได้

ภายในสวนนอกจากกล้วยไม้และหน้าวัวแล้ว ยังมีมุมสำหรับพันธุ์ไม้ใหม่ ๆ ที่คุณพีระศักดิ์นำเข้ามาจากประเทศอเมริกาโดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแล้วย้ายปลูกลงถุงไว้จำนวนมากเช่น ขิงคิมิดอกสีชมพูเข้มจากฮาวาย มะเดหวีดอกสีขาวบริสุทธิ์ ซึ่งออกดอกปีละ 2-3 ครั้งทีเดียว บอนสีและไม้สกุล Alocasia ใบด้านบนเป็นกำมะหยี่สวยงามมาก ก้านใบแข็งจึงสามารถเป็นได้ทั้งไม้กระถางและไม้ตัดใบ คุณพีระศักดิ์ตั้งใจปลูกขยายไว้สำหรับขายเป็นต้นพันธุ์มากกว่าและจะจับเฉพาะกล้วยไม้และหน้าวัวอย่างจริงจัง

บนเส้นทางไม้ดอกไม้ประดับ ผู้ที่คิดจะพลิกผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจด้านนี้ต้องมีความอดทนและพยายามศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ  เพราะกว่าจะพบหนทางเดินที่ราบเรียบก็ต้องล้มลุกคลุกคลานบาดเจ็บด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าใครจะเจ็บมากหรือน้อยเท่านั้นเอง คุณพีระศักดิ์พร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้สนใจเสมอ