EM กับเกษตรกรรมธรรมชาติ

EM ประกอบด้วยคำว่า Effective ซึ่งมีความว่ามีประสิทธิภาพและ Micro-organisms ซึ่งมีความหมายว่า “กลุ่มจุลินทรีย์” รวมกันเป็น “กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ” เป็นการรวบรวมเฉพาะกลุ่มจุลินทรีย์ที่อยู่ในหมวดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์นั่นเอง ชนิดของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ใน EM ก็คือ แบคทีเรียสังเคราะห์แสง (photosynthetic bacteria) แลกโตบาซิลลัส (lactobacillus) ยีสต์ (yeast) และแอสเปอร์จิลลัส (aspergillus) เป็นต้น เมื่อ EM เพิ่มจำนวนแลกโตบาซิลลัสในดินทำให้อัตราส่วนของสารแอนติออกซิเดชั่น (antioxydation) มากขึ้น การรวมพลังงานในดินก็จะสูงขึ้น กล่าวคือจะทำให้กลายเป็นดินที่มีโครงสร้างในการสร้างสรรค์ทั้งอากาศและน้ำในดินก็จะถูกชำระให้บริสุทธิ์ พืชก็จะมีชีวิตชีวามากขึ้น

นอกจากนี้แล้ว สารต่าง ๆ ที่ผลิตโดยจุลินทรีย์ในหมวดสร้างสรรค์เหล่านี้ เช่น กรดอะมิโน กรดอินทรีย์ กลูโคสชนิดต่าง ๆ และวิตามิน ฯลฯ นับเป็นธาตุอาหารที่ดีของพืชอีกด้วย ดังนั้นเมื่อนำ EM มาใช้ในการเกษตรแล้ว เราจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าการที่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีฆ่าแมลงหลายเท่าทีเดียว

ข้อความข้างต้นมาจากหนังสือ”การปฏิวัติอันยิ่งใหญ่เพื่อช่วยเหลือโลก” เขียนโดย ดร.เทรูโอะ ฮิหงะ ศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นที่เป็นผู้คิดค้นเทคนิคการใช้ EM ในการเกษตรและการรักษาสภาพแวดล้อมโดยใช้จุลินทรีย์ จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และเทคนิคการใช้ EM ก็แพร่หลายไปทั่วโลก เช่นเดียวกัน รวมทั้งในประเทศไทยก็มีการนำเทคนิค EM มาทำการเกษตรปลอดสารเคมีกันอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานานนับสิบปีแล้ว

สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ EM หรือกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพต้องติดต่อขอหรือซื้อจากมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ด้วยกิจกรรมทางศาสนาหรือที่รู้จักกันในนาม “คิวเซ” เมื่อได้หัวเชื้อ EM ไปแล้ว ก็สามารถนำไปขยายหัวเชื้อ สามารถนำไปทำปุ๋ย ฮอร์โมน สารกำจัดแมลง หรือสารทำความสะอาดได้นานาชนิด

อย่างไรก็ตามการใช้ EM ในการเกษตรนี้ก็มีผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยคิดว่า การนำจุลินทรีย์จากที่อื่นมาใช้ในไร่นา น่าจะมีผลเสียต่อความสมดุลย์ของจุลินทรีย์ในท้องถิ่น จึงน่าจะสนับสนุนให้เกษตรกรเก็บและเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ในท้องถิ่นจะดีกว่า ซึ่งดูเหมือนว่าทาง ดร.ฮิหงะ และคิวเซ จะตระหนักในข้อนี้ดี จึงได้กล่าวไว้ในหนังสือว่า “แม้ปัจจุบันจะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเทคนิคการใช้ EM อยู่มากก็จริง แต่ผมเชื่อว่าอีกไม่นานผู้คนทุกคนจะสามารถเข้าใจและยอมรับประสิทธิภาพของ EM ได้อย่างไม่ยากเลย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถนำสูตรต่าง ๆ ในที่นี้ไปทดลองทำ และสามารถติดต่อซื้อ  EM หรือขอความรู้เพิ่มเติมได้จาก มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา 20/1 ซ.สีฟ้า ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 0-2271-4961 หรือที่บริษัท อีเอ็ม คิวเซ จำกัด จ.สระบุรี โทรศัพท์ 036-329-896-7

การขยายจุลินทรีย์ EM

1.  จุลินทรีย์ EM 2 ช้อนโต๊ะ

2.  กากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ

3.  น้ำสะอาด 1 ลิตร

วิธีทำ ผสมจุลินทรีย์ EM กากน้ำตาลและน้ำเข้าด้วยกัน ใส่ขวดพลาสติกชนิดฝาเกลี่ยวปิดฝาให้แน่น เก็บไว้ 3-5 วัน จะเป็นหัวเชื้อขยาย เป็นการนำจุลินทรีย์มาขยายให้ได้จำนวนมาก ลดต้นทุน นำไปใช้หรือขยายต่อได้อีก (เก็บไว้ได้นาน 3 เดือน)

วิธีใช้ ใช้ทำปุ๋ยน้ำ ฮอร์โมน สารไล่แมลง และปุ๋ยแห้ง ฯลฯ

หมายเหตุ 1 แก้ว ประมาณ 250 ซีซี, 1 ช้อนโต๊ะ ประมาณ 10 ซีซี

การทำฮอร์โมนผลไม้

1.  มะละกอสุก 2 กก.

2.  ฟักทองแก่จัด 2 กก.

3.  กล้วยน้ำว้าสุก 2 กก.

4.  จุลินทรีย์ EM 1 แก้ว

5.  กากน้ำตาล 1 แก้ว

6.  น้ำสะอาด 1 ถัง หรือ 10 ลิตร

วิธีทำ สับมะละกอ ฟักทอง กล้วยทั้งเปลือกและเมล็ดให้เข้ากันผสม EM และกากน้ำตาลอย่างละ 1 แก้วใส่น้ำ 10 ลิตร หรือ 1 ถัง คนให้เข้ากันปิดฝาให้แน่นหมักไว้ 7-8 วัน เปิดก๊อกแล้วกรองใส่ขวดเก็บได้นาน 3 เดือน

วิธีใช้ 4-5 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 10 ลิตรหรือ 1 ถัง ฉีดพ่น ราด จะทำให้ดอกติด ผลดก ขนาดโต น้ำหนักดี รสชาติอร่อย

การทำฮอร์โมนยอดพืช

1.  ยอด/ใบยูคาลิปตัส 1 กก.

2.  ยอดสะเดา 1 กก.(ยอดและเมล็ด)

3.  น้ำสะอาด 1 ถัง

4.  จุลินทรีย์ EM 1 แก้ว

5.  กากน้ำตาล 1 แก้ว

วิธีทำ นำใบยูคาลิปตัส ยอดสะเดา และน้ำ 1 ถัง ต้มรวมกัน จนเหลือน้ำ ½ ถัง ทิ้งให้เย็น ผสมจุลินทรีย์ EM 1 แก้ว กากน้ำตาล 1 แก้ว ทิ้งไว้ 7-10 วัน

วิธีใช้ เหมือนฮอร์โมนผลไม้

การทำปุ๋ยน้ำ (ใช้ทันที)

1.  จุลินทรีย์ EM 1 ช้อนโต๊ะ

2.  กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ

3.  น้ำสะอาด 10 ลิตร หรือ 1 ถัง

วิธีทำ นำจุลินทรีย์ EM และกากน้ำตาล ผสมในน้ำให้เข้ากัน

วิธีใช้ พืช ผัก ใช้ฉีดพ่น รด ราด ทุก 3 วัน ไม้ดอก ไม้ผล พืชสวน ฉีดพ่น ทุก 7 วัน เดือนละ 1-2 ครั้ง ใช้ให้หมดภายใน 1 วัน หากไม่หมดให้นำไปราดห้องน้ำ ล้างพื้นซีเมนต์ หรือเทลงท่อระบายน้ำ

สูตรไล่แมลง

1.  จุลินทรีย์ EM 1 แก้ว

2.  กากน้ำตาล 1แก้ว

3.  น้ำส้มสายชู 5% 1 แก้ว

4.  เหล้าขาว 28-40 ดีกรี 2 แก้ว

5.  น้ำสะอาด 10 ลิตร

วิธีทำ นำส่วนผสมมาผสมให้เข้ากัน ใส่ภาชนะปิดฝาให้สนิท หมักไว้ 7-10 วัน เขย่าถังเบา ๆ ทุกวันและเปิดฝานิด ๆ ให้ก๊าซระบายออกครบกำหนดเก็บใส่ขวดพลาสติกเก็บไว้ใช้ได้นาน 3 เดือน

วิธีใช้ 4-5 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่น รด ราด พืชผัก ไม้ใบ ไม้ดอก พืชสวนทุกสัปดาห์

สูตรไล่หอย เพลี้ยไฟ

1.  ยอดยูคาลิปตัส 2 กก.

2.  ยอดสะเดา 20 ยอด หรือ 2 กก.

3.  ข่าแก่ 2 กก.

4.  บอระเพ็ด 2 กก.

5.  จุลินทรีย์ EM 1 แก้ว

6.  กากน้ำตาล 1 แก้ว

วิธีทำ นำยอดยูคาลิปตัส ยอดสะเดา ข่าแก่และบอระเพ็ด แต่ละอย่างแยกกันใส่ปี๊บ ใส่น้ำให้เต็มต้มให้เหลือน้ำอย่างละครึ่งปี๊บทิ้งไว้ ให้เย็นนำมาเทรวมกันในถังใหญ่หรือโอ่งใส่จุลินทรีย์ EM 1 แก้ว กากน้ำตาล 1 แก้ว ปิดฝาให้สนิททิ้งไว้ 3-5 วัน

วิธีใช้ ใช้ ½ แก้วผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีด พ่น รด ในแปลงผัก พืชในนาข้าว ป้องกันใบข้าวไหม้ด้วย

การทำปุ๋ยแห้ง (โบกาฉิ)

1.  มูลสัตว์ 1 ส่วน(กระสอบ)

2.  แกลบดิบ 1 ส่วน(กระสอบ)

3.  รำละเอียด 1 ส่วน(กระสอบ)

4.  จุลินทรีย์ EM 20 ซีซี (2 ช้อนโต๊ะ)

5.  กากน้ำตาล 20 ซีซี (2 ช้อนโต๊ะ)

6.  น้ำสะอาด 10 ลิตร หรือ 1 ถัง

วิธีทำ

ขั้นที่ 1 เตรียมจุลินทรีย์ EM กากน้ำตาล น้ำสะอาด ผสมไว้ในถังน้ำ

ขั้นที่ 2 นำมูลสัตว์+รำละเอียดผสม คลุกเคล้าให้เข้ากัน

ขั้นที่ 3 นำแกลบดิบใส่ลงในน้ำที่ขยายจุลินทรีย์ EM ในขั้นที่ 1 จุ่มให้เปียก แล้วบีบพอหมาด ๆ นำมาคลุกกับส่วนผสมขั้นที่ 2 ให้เข้ากันจะได้ความชื้น 40-50 % (กำแล้วไม่มีน้ำหยดจากง่ามมือ)

การหมัก เอาส่วนผสมทั้งหมดบรรจุลงในกระสอบป่านถุงปุ๋ย ที่อากาศถ่ายเทได้ โดยบรรจุลงไป ¾ ของกระสอบไม่ต้องกดให้แน่นนำไปวางลงในที่มีฟางรองเพื่อการระบายอากาศในส่วนล่างพลิกกลับกระสอบในวันที่ 2,3,4 ทุก ๆวัน ในวันที่ 2-3 อุณหภูมิจะสูงถึง 50-60 องศาเซลเซียส วันที่ 4 และวันที่ 5 อุณหภูมิเย็นลงจนปกติตรวจดูไม่ให้อุณหภูมิเกิน 36 องศาเซลเซียส ปุ๋ยแห้งสนิทสามารถนำไปใช้ได้

การเก็บรักษา เก็บรักษาเมื่อโบกาฉิ แห้งสนิทควรเก็บรักษาในที่ร่มไม่โดนฝนและไม่โดนแดด สามารถเก็บรักษาได้นานประมาณ 1 ปี

วิธีใช้

1.  ใช้ปุ๋ยแห้งในแปลงปลูกต้นไม้ทุกชนิดในอัตราส่วน ปุ๋ยแห้ง 1 กำมือ/พื้นที่ 1 ตรม. แล้วทำการเพาะปลูกได้

2.  พืชผักที่มีอายุเกิน 2 เดือน เช่น ฟักทอง แตงกวา ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ใช้ปุ๋ยแห้งรองก้นหลุมก่อนปลูกใช้ประมาณ 1 กำมือ

3.  ไม้ยืนต้น ไม้ผลควรรองก้นหลุมด้วยเศษหญ้าใบไม้ ฟางแห้ง และปุ๋ยแห้ง ประมาณ 1-2 บุ้งกี๋ ส่วนไม้ยืนต้นไม้ผลที่ปลูกแล้ว ให้ใส่ปุ๋ยแห้ง ให้รองทรงพุ่มแล้วคลุมด้วยเศษหญ้าใบไม้แห้ง ฟางแห้ง

4.  ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้กระถาง ควรใส่ปุ๋ยแห้งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ รอบ ๆ โคนต้น

ข้อควรจำ

เมื่อใช้ปุ๋ย(โบกาฉิ) ต้องใช้ปุ๋ยน้ำฉีดพ่นด้วยเสมอ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่พักตัว ทำงานได้ดี

สูตรน้ำซาวข้าว

1.  น้ำซาวข้าว(ประมาณ) 2 ลิตร

2.  จุลินทรีย์ EM 1 ½ ช้อนโต๊ะ

3.  กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ

4.  น้ำสะอาด ½ แก้ว

วิธีทำ

–         น้ำซาวข้าว (น้ำเพื่อล้างฝุ่นข้าว และสิ่งสกปรกออกก่อนนำไปหุง) ประมาณ 2 ลิตร หากไม่ถึงให้เติมน้ำสะอาดลงไปกรองด้วยผ้าขาวบางให้ใส

–         ผสมกากน้ำตาลที่ละลายน้ำเจือจางแล้ว 3 ช้อนโต๊ะ ลงในน้ำซาวข้าว ใส่จุลินทรีย์ EM  1 ½ ช้อนโต๊ะ แล้วบรรจุในขวดพลาสติกชนิดฝาเกลียวปิดฝาให้สนิท

–         เก็บไว้ประมาณ 3-5 วัน น้ำที่ได้มีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมจึงนำไปใช้

วิธีใช้

1.  ใช้แทนผงซักฟอก โดยใช้สูตรน้ำซาวข้าว ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:20 แช่ผ้าทิ้งไว้ 1 คืน กรณีใช้เครื่องซักผ้าประมาณ 500 ซีซี วันรุ่งขึ้นซักน้ำสะอาดและนำผ้าตากให้แห้ง ผ้าจะสะอาด ไม่มีกลิ่นไม่กระด้างรีดง่าย

2.  ใช้เป็นสเปรย์ดับกลิ่น โดยนำสูตรน้ำซาวข้าวใส่ขวดที่มีหัวฉีดเป็นละออง ดับกลิ่นเหม็นติดเสื้อผ้า กลิ่นอับในรถยนต์

3.  ใช้ผสมน้ำถูพื้นบ้าน พื้นครัว (อัตราส่วนตามความสกปรก)

4.  กรณีมีตะกอนที่ก้นขวด ให้ใช้เฉพาะน้ำใสเท่านั้น

5.  ใช้ให้หมดภายในเวลาประมาณ 3-5 วัน

หมายเหตุ

หากดมดูมีกลิ่นเหม็น ใส่กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกันนำไปราดท่อระบายน้ำ หรือเทลงในส้วม

สูตรสารไล่แมลง

1.  ลูกยอ 1 กก.

2.  จุลินทรีย์ EM 1 แก้ว

3.  กากน้ำตาล 1 แก้ว

วิธีทำ นำลูกยอสุกมาสับให้ละเอียด ใส่น้ำพอท่วมผสมจุลินทรีย์ EM กากน้ำตาลคนให้เข้ากัน หมักไว้ 10 วัน พอได้ที่คั้นเอาแต่น้ำมาใช้

วิธีใช้ สารไล่แมลง 1แก้ว ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีด พ่น รด ราด

วัตถุที่ใช้แทนกากน้ำตาล

–         น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายแดง นมสด

–         น้ำผลไม้สดทุกชนิด เช่น น้ำมะพร้าว น้ำส้ม น้ำสับปะรด น้ำอ้อย ฯลฯ

–         น้ำซาวข้าว

–         น้ำปัสสาวะ ฯลฯ