IMO จุลินทรีย์ท้องถิ่น เกษตรกรรมธรรมชาติฉบับชาวบ้าน

เมื่อพูดถึง “จุลินทรีย์” เกษตรกรส่วนใหญ่อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “อีเอ็ม (EM)” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปุ๋ยน้ำชีวภาพ” เนื่องจากปัจจุบันมีความนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางเนื่องจากประสิทธิภาพในการใช้ให้ผลดี แต่สำหรับเกษตรกรที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว สิ่งที่กำลังมาแรงกว่า EM ก็คือ IMO

นายวัลลภ  สุวรรณอาภา หัวหน้าโครงการวิจัย “การใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น (IMO-Indigenous Micro Organism) กับการยอมรับของเกษตรกร อำเภอขุนยวน จังหวัดแม่ฮ่องสอน” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค(สกว ภาค) อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง “อีเอ็ม-ปุ๋ยน้ำชีวภาพ” กับ “ไอเอ็มโอ-จุลินทรีย์พันธุ์พื้นเมือง” ว่าต่างกันที่ชนิดของจุลินทรีย์ที่ใช้ โดย อีเอ็ม คือจุลินทรีย์ชนิดที่ได้รับการคัดสรรมาโดยเฉพาะ ส่วน ไอเอ็มโอ เป็นจุลินทรีย์ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในพื้นที่นั้น ๆ เพราะฉะนั้นการผลิตน้ำหัวเชื้ออีเอ็มจึงต้องใช้ความรู้เชิงวิชาการ และเทคนิคทางวิทยาศาสตร์มาก ขณะที่น้ำหัวเชื้อไอเอ็มโอ มีกระบวนการง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน แต่ทั้งสองตัวนี้ก็มีวัตถุประสงค์ในการใช้แทบไม่แตกต่างกัน

จากความสำเร็จของศูนย์ส่งเสริมการพัฒนา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่นำหลักการของไอเอ็มโอมาศึกษาทดลองการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ด้วยวัสดุในท้องถิ่น ได้เป็น “น้ำหวานหมัก” หรือ “หัวเชื้อไอเอ็มโอ” ที่มีประสิทธิภาพในการบำรุงการเจริญเติบโตของลำต้น ใบ และดอก ผล สามารถใช้เป็นหัวเชื้อในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือใช้เป็นฮอร์โมนฉีดพ่นบำรุงพืชผักต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนา น้ำหวานหมักสะเดา หัวเชื้อไอเอ็มโอสำหรับป้องกันแมลงศัตรูพืชได้อีกชนิดหนึ่ง

การทำเกษตรธรรมชาติด้วยเทคนิคจุลินทรีย์นี้เป็นภูมิปัญญาที่พัฒนาขึ้น โดยประเทศเกาหลี เทคนิคแรกที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันดีก็คือ เทคนิคจุลินทรีย์ EM หรือ Effective Micro-organisms หรือเรียกว่า “กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ” ซึ่ง ศ.ดร.เทรูโอะ ฮิหงะ เป็นผู้คิดค้นขึ้น และเผยแพร่ออกไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยผ่านทางมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา (โยเร)

ต่อมาสมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลีก็ได้พัฒนาเทคนิคจุลินทรีย์ท้องถิ่น หรือจุลินทรีย์ในพื้นที่หรือ IMO (Indigenous Micro Organism) ขึ้น ด้วยการใช้วิธีการหมักดองพืช ผัก ผลไม้ที่หาได้ในท้องถิ่นมาหมักดองกับน้ำตาล เพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งและเพิ่มปริมาณของจุลินทรีย์ จุลินทรีย์ก็จะไปย่อยสลายพืชผักผลไม้ให้เอนไซม์ฮอร์โมน และธาตุอาหารต่าง ๆ เช่น กรดอะมิโน และวิตามิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพืชทั้งทางตรงและทางอ้อม น้ำหวานหมักจากพืชสด (Fermented Plant Juice) หรือที่รู้จักกันดีในปัจจุบันในชื่อ “น้ำสกัดชีวภาพ” (Bioextract : B.E)

สูตรน้ำหวานหมัก ต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูง

น้ำหวานหมักที่มีคุณสมบัติในการบำรุงการเจริญเติบโต ประกอบด้วย

1.  น้ำหวานหมักผักสีเขียว หมักจากพืชตระกูลหญ้า ตระกูลถั่ว และตระกูลผัก อย่างน้อย 3 ชนิด ซึ่งจากการทดลองพบว่าพืชที่นำมาหมักและให้ผลดีได้แก่ ผักบุ้ง ต้นกล้วย และหน่อไม้หมักกับน้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล น้ำหวานหมักชนิดนี้เหมาะสำหรับการบำรุงลำต้น และใบ

2.  น้ำหวานหมักผลไม้ หมักจากผลไม้ที่มีความหวานอย่างน้อย 3 ชนิดจากการทดลองพลว่า กล้วยน้ำว้าสุก มะละกอสุก ฟักทองแก่ หมักกับน้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล จะให้ผลใน การบำรุงดี น้ำหวานหมักชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้ในช่วงที่พืชออกดอก ออกผล

3.  น้ำหวานหมักสะเดา ใช้ดอกสะเดา บอระเพ็ด ข่า ตะไคร้หอม โล่ติ๊น ผลไม้สุก 3 ชนิด ยาฉุน น้ำสะอาด น้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล ใช้พ่นป้องกันแมลงศัตรูพืช หรือใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือฮอร์โมนบำรุงพืชให้ติดดอก ออกผล

ความรู้-การเผยแพร่-ความสำเร็จ

เมื่อสามารถทดลองและพิสูจน์ผลได้แล้วทางศูนย์ฯ จึงได้มีการเผยแพร่สู่ชาวบ้านที่สนใจจะลด ละเลิก การใช้สารเคมีในการผลิต โดยการอบรมให้กับชาวบ้าน และหน่วยงานต่าง ๆ แต่ปัญหาของเกษตรกร ในการปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรกรรมกระแสหลัก มาสู่การทำเกษตรกรรมธรรมชาติคือ ไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับปริมาณ และคุณภาพผลผลิต

ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร ทางโครงการวิจัยจึงได้ร่วมกับเกษตรกรในโครงการ จำนวน 35 รายจึงได้จัดทำแปลงสาธิตพืช ได้แก่ ข้าวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง และผัก โดยในพืชแต่ละประเภท จะทดลองใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพชนิดต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยดินหมัก ปุ๋ยคอกหมัก ปุ๋ยใบไม้หมัก ปุ๋ยมูลสัตว์ เป็นต้น

ผลจากการทดลอง พบว่า แปลงสาธิต การปลูกข้าวเจริญเติบโตให้ผลผลิตดีเท่ากับแปลงที่ใช้สารเคมี โดยเฉพาะแปลงสาธิตที่ใช้ปุ๋ยคอกหมัก ทำให้ชาวบ้านประจักษ์ว่า เขาสามารถปลูกข้าวได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี แปลงสาธิตกระเทียมก็เช่นเดียวกัน กระเทียมมีขนาดหัวใหญ่แน่น และสิ่งที่ค้นพบระหว่างการวิจัยคือ การฉีดหัวเชื้อไอเอ็มโอพ่นใบทำให้กระเทียมไม่เป็นโรคใบสอด ในขณะที่แปลงของชาวบ้านที่ใช้ยากำจัดศัตรูพืช ขวดละ 400 กว่าบาท ไม่สามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้ แปลงสาธิตผัก เช่น กะหล่ำ และแครอท มีขนาดหัวสมบูรณ์ดีเช่นกัน

การมีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลของเกษตรกรภายในกลุ่ม ทั้งโดยการอบรมเทคนิค วิธีการ ทำน้ำหวานหมัก การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือ การติดตามวิเคราะห์ผลการทดลองของแปลงสาธิต ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในประสิทธิภาพของไอเอ็มโอ และเกษตรธรรมชาติมากขึ้น ดังเช่นกรณีของ บุญสุข เดือนชวัลล์ เกษตรกรบ้านหนองก่อ ตำบลขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ผู้เข้าร่วมโครงการ ให้ข้อมูลว่าแต่เดิมเขาปลูกกระเทียมเป็นหลัก เพราะให้ผลผลิตดี แต่ต่อมาผลผลิตเริ่มมีปัญหา เพราะดินเสื่อมคุณภาพ เนื่องจากใช้ปุ๋ยเคมีมาโดยตลอด ที่สำคัญคือสุขภาพแย่ลง จึงหันมาสนใจแนวทางเกษตรธรรมชาติและได้ทดลองใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพไอเอ็มโอ ในการปลูกกระเทียม ซึ่งปรากฎว่าผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ คุณภาพดินดีขึ้น จึงได้เลิกใช้สารเคมี พร้อมกับปรับระบบการเพาะปลูกในพื้นที่ของตัวเองจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นการปลูกพืชผสมผสานมากขึ้น ให้ครอบครัวมีรายได้ตลอดทั้งปีทั้งยังลดรายจ่ายลงอีกด้วย

หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ไอเอ็มโอ เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก จะช่วยทำให้การลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ของเกษตรกรมีโอกาสเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น เพราะชาวบ้านสามารถเพาะเลี้ยง หรือทำน้ำหัวเชื้อได้เองโดยใช้พืชผัก ผลไม้ในท้องถิ่นมาทำการหมักที่สำคัญคือทำให้เกษตรกร ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการใช้อีเอ็ม ซึ่งราคาลิตรละประมาณ 80 บาท แต่ ไอเอ็มโอราคาลิตรละประมาณ 40 กว่าบาท หรือหากเกษตรกรทำน้ำหวานหมักเอง ก็จะประหยัดลงอีก นอกจากนั้นการทำปุ๋ย หมักชีวภาพในทางหนึ่งเป็นการช่วยกำจัดวัชพืชหรือวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย เพราะเศษไม้ ใบหญ้าต่าง ๆ สามารถนำมาทำปุ๋ยหมักได้ทั้งสิ้น

สำหรับตลาดเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกอำเภอขุนยวม ได้เปิดตลาดสินค้าปลอดสารพิษในบริเวณ สถานที่ขนส่งอำเภอขุนยวมทุกวันศุกร์ สมาชิกจะนำผลผลิตมาจำหน่ายในรูปของกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้ผลผลิตปลอดสารพิษได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยราคาจำหน่ายจะสูงกว่าพืชผักจากระบบการผลิตปกติ ดังนั้นเกษตรกรจึงไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ลดลง ตรงกันข้ามเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีรายได้มากขึ้น เพราะมีผลผลิตจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี

ความปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้นทุนการผลิตลดลง ปริมาณผลผลิตอยู่ในระดับที่น่าพอใจและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ในขณะที่แนวโน้มตลาดขยายตัวขึ้น ที่สำคัญเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้เกษตรกร ที่ต้องการปฏิเสธสารเคมีนำจุลินทรีย์ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรมแพร่หลายมากขึ้น..ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวิถีการผลิตภาคเกษตรของประเทศก็เป็นได้

การทำน้ำหวานหมักจากพืช (Fermented Plant Juice)

น้ำหวานหมักจากพืช เป็นการสกัดน้ำหวานจากพืชสด แล้วถูกหมักกับน้ำตาล ซึ่งจะได้น้ำหวานหมักชีวภาพ หรือน้ำสกัดชีวภาพที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ แล้วยังมีเอนไซม์ฮอร์โมน และธาตุอาหาร ที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อพืช และประโยชน์ต่อการเสริมประสิทธิภาพในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เป็นปุ๋ยและปรับปรุงบำรุงดิน

พืชที่ใช้ในการทำน้ำหวานหมักใช้พืชสดทุกชนิด น้ำหวานจากพืชคือ น้ำเลี้ยงจากพืชที่อยู่ในท่อส่งอาหารของพืช ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ โดยหลักการน้ำหวานของพืชใดก็จะเหมาะที่สุดที่จะใช้กับพืชนั้นเอง แต่มีพืชบางชนิดที่สามารถใช้ได้กับพืชอื่น ๆ ได้ดีด้วย เช่น ผักบุ้ง หยวกกล้วย หน่อไม้ เป็นต้น

การทำน้ำหวานหมักจากพืช ก็ทำได้โดยการสับพืชให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ คลุกเคล้ากับน้ำตาลทรายแดงหมักไว้ในไหจะได้น้ำหวานหมัก นำไปใช้อย่างเจือจาง รดให้แก่ต้นไม้โดยตรง รดลงบนอินทรีย์วัตถุหรือวัสดุคลุมดิน เพื่อกระตุ้นการทำงานของจุลินทรีย์หรือนำไปเป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

วิธีการ

1.  เก็บพืชที่จะนำมาทำน้ำหวานหมัก โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเก็บเกี่ยว คือก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อเก็บมาแล้วไม่ต้องล้างตัดพืชเป็นชิ้นเล็ก ๆ 3-5 ซม.

2.  ใช้น้ำตาลทรายแดง น้ำหนัก 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ของน้ำหนักพืช ผสมกับพืชสดที่เตรียมไว้ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วบรรจุลงในไหหรือโอ่งดินเผา แล้วใช้ก้อนอิฐวางทับด้านบนของส่วนผสม ปิดปากไหด้วยกระดาใช้เชือกรัด ทิ้งไว้ 1 คืน น้ำหนักของอิฐจะทำให้ส่วนผสมยุบตัวลงเหลือประมาณ 2 ใน 3 ของไห เอาก้อนอิฐออก แล้วปิดปากไหด้วยกระดารัดด้วยเชือกเก็บไหไว้ในที่ร่มเย็น ทิ้งไว้ 5-10 วัน จะได้น้ำหวานหมักจากพืชเก็บไว้ใช้ได้นาน การเก็บรักษาควรเติมน้ำตาลทรายแดงลงไป

3.  การนำไปใช้ต้องใช้ในสัดส่วนที่เจือจางประมาณ 0.1% หรือ 0.2%

การทำน้ำหวานหมักจากผลไม้ Fermented Fruit Juice

การทำน้ำหวานหมักจากผลไม้มีวิธีการเหมือนกับการทำน้ำหวานหมักจากพืช แต่แทนที่จะใช้พืชสด ก็ให้ใช้ผลไม้ ผลไม้ที่ใช้หมักได้ดีได้แก่ มะม่วง มะละกอ กล้วย รวมทั้งสตรอเบอรี่ มัลเบอรี่ นอกจากนั้น ยังอาจใช้พืชหัวอย่างเช่น หัวผักกาด มันฝรั่ง แครอท รากของผักขม หมักรวมกับผลไม้ ถ้าปริมาณผลไม้ที่ใช้หมักมีไม่เพียงพอ ผลไม้ที่ไม่แนะนำให้นำมาหมักคือ ส้ม ลูกพลัม การหมักผลไม้นั้นไม่ต้องปอกเปลือกหรือหั่นผลไม้ ให้หมักทั้งผล น้ำหวานหมักจากผลไม้ นำไปผสมน้ำให้เจือจางใช้รดให้แก่พืชโดยตรง ฉีดพ่น ลงบนอินทรีย์วัตถุและวัสดุคลุมดิน ใช้ทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์ และใช้เป็นน้ำหวานล่อแมลงศัตรูพืช

วิธีการ

1.  ใช้ผลไม้สุกทั้งผล ไม่ต้องล้าง ไม่ต้องปอกเปลือก เรียงเป็นชั้น ๆ สลับกับน้ำตาลทรายแดงลงในไหหรือโอ่งดินเผาใช้อัตราส่วนผลไม้ 1 ส่วน น้ำตาล 1 ส่วน โดยให้ผลไม้ที่มีความหวานมากกว่าอยู่ใกล้กับก้นไห เรียงผลไม้จนมีความสูง 2 ใน 3 ของไห แล้วใช้น้ำตาลทรายแดงปิดหน้าผลไม้ให้หนาแล้วใช้กระดาปิดปากไหใช้เชือกผูกให้แน่น

2.  ตั้งทิ้งไว้ในที่ร่มเย็น เมื่อการหมักสมบูรณ์ ผลไม้จะลอยขึ้นมา น้ำหวานหมักที่ได้จะมีกลิ่นหอมหวาน จึงนำไปใช้หรือเก็บไว้ในภาชนะทึบแสง การนำไปใช้ให้ผสมน้ำให้มีความเข้มข้น 0.2% หรือน้ำหวานหมัก 1 ส่วนต่อน้ำ 500 ส่วน

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย(สกว.) โทรศัพท์ 0-2298-0455-72 โทรสาร 0-2298-0454