Tag: การควบคุมการแตกแขนงของพืช

การเจริญเติบโตของพืชทางกิ่งใบ


การเติบโตของลำต้นมีความสัมพันธ์กับระบบราก ถ้ารากเติบโตได้ดีก็จะส่งผลให้ ลำต้นเติบโตได้ดีเช่นกัน การเติบโตเหล่านี้มีพื้นฐานจากการแบ่งเซลล์ การยืดตัวของเซลล์ การขยายขนาดของเซลล์ และการสะสมอาหาร ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนถูกควบคุมโดยฮอร์โมน ภายในพืชทั้งสิ้น ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตและฮอร์โมนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากและยากที่จะเข้าใจหรือศึกษาได้หมด ฮอร์โมนในพืชแต่ละกลุ่มมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทั้งในด้านการส่งเสริมและยับยั้งการเจริญเติบโต สารที่มีผลกระตุ้นการเติบโตคือออกซิน จิบเบอเรลลิน และไซโตไคนิน สารทั้ง 3 กลุ่มนี้มีผลร่วมกันในการพัฒนาของเซลล์ จนกระทั่งพืชสามารถแตกกิ่งก้านสาขา ในกรณีที่ขาดสารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็จะมีผลให้พืชนั้นเติบโตไม่เป็นปกติ พืชแคระหลายชนิดเช่น ถั่ว ข้าวโพด มีปริมาณจิบเบอเรลลินภายในต้นตํ่ากว่าระดับปกติ เมื่อมีการเพิ่มจิบเบอเรลลินให้แก่พืชเหล่านี้จะทำให้การเติบโตเพิ่มมากขึ้นจนเทียบเท่ากับต้นปกติ เนื่องจากจิบเบอเรลลินมีผลต่อการยืดตัวของเซลล์ ในกรณีที่พืชมีการเติบโตอย่างปกติอยู่แล้ว ถ้ามีการให้จิบเบอเรลลินเพิ่มเข้าไปอีกก็จะมีผลให้เซลล์ยืดตัวเพิ่มมากขึ้นทำให้ความสูงของต้นโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีก แต่ลำต้นหรือกิ่งมักไม่แข็งแรงเนื่องจากมีการยืดตัวของเซลล์เพียงอย่างเดียวโดยไม่สัมพันธ์กับการแบ่งเซลล์และการขยายขนาดของเซลล์ เนื่องจากปริมาณออกซินและไซโตไคนิน ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย พืชที่ขาดธาตุสังกะสีก็เช่นกันมักจะมีกิ่งก้านสั้นกว่าปกติเนื่องจากธาตุสังกะสีมีส่วนสำคัญต่อการสร้างออกซินภายในพืชซึ่งจำเป็นต่อการแบ่งเซลล์และขยายขนาดของเซลล์

การแตกกิ่งก้านสาขาของพืช การขยายขนาดของใบ และการยืดกิ่งเพื่อรับแสง ถูกควบคุมโดยออกซินเช่นกัน ในกรณีที่พืชมีตายอดอยู่ มักจะไม่มีการแตกกิ่งแขนง เนื่องจากตายอดเป็นแหล่งสร้างออกซินที่สำคัญและส่งสารออกซินลงมาตามกิ่ง ซึ่งมีผลทำให้ตาข้างเกิดการสะสมออกซินมากเกินไปจนกระทั่งไม่สามารถเจริญออกมาเป็นกิ่งได้แต่เมื่อมีการตัดยอดทิ้งไป จะทำให้ความเข้มข้นของออกซินในตาข้างลดลงจนอยู่ในระดับเหมาะสมและเจริญออกมาเป็นกิ่ง … Read More