การขยายพันธุ์พืช

การขยายพันธุ์ของพืชมี 2 แบบคือ

1. การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ( Sexual Reproduction)

2. การขยายพันธุ์โดยใช้สวนต่าง ๆ ของพืช (Asexual Reproduction)

การขยายพันธุ์โดยเมล็ด เป็นวิธีขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของพืชที่มีดอก โดยที่การผสมพันธุ์จะเกิดบนต้นเดียวกันหรือคนละต้นก็ได้ การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดมีข้อดีและข้อเสีย ดังนี้

ข้อดี                                                                       ข้อเสีย

-แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว                                              -ให้ผลิตผลช้า

-มีระบบรากแข็งแรงดีอายุยืน                                  -เมล็ดเน่าเสียการงอกต่ำ

-การกลายพันธุ์ทำให้เกิดพันธุ์ใหม่                          -อาจมีการกลายพันธุ์

-มีรากแก้ว ใช้รากเก็บอาหาร (ผักกาดหัว มันเทศ)  -เก็บรักษายาก อาจถูกโรค

และแมลงรบกวน

เปอร์เซ็นต์การงอกต่ำ

-ได้พืชที่สมบูรณ์ ขนาดมาตรฐานเท่ากัน (อายุ การออกดอก…)

-สะดวก ขนส่งเมล็ดไปได้ไกลเพราะขนาดเล็ก

-เมล็ดจากพันธุ์ใหม่จะค่อยปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมดีกว่าใช้กิ่งก้าน

-ลงทุนถูก เพราะเมล็ดถูกกว่ากิ่งตา กิ่งตอน ฯลฯ

-ให้ผลดกกว่า เช่นมะม่วงจากเมล็ดให้ลูกดก กว่าจากกิ่งตอน

มีพืชหลายชนิดที่จะต้องขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เช่น ผักต่าง ๆ ไม้ดอก ถั่ว ข้าว ข้าวโพด มะเขือ พริก แตงต่าง ๆ ยาง มะพร้าว ขนุน มะขาม ฯลฯ การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เราอาจจะเพาะเมล็ดเสียก่อน หรือนำเมล็ดไปปลูกเลยก็ได้การเพาะเมล็ดไม้ผลและปาล์มอย่างง่ายที่สุดคือ การเพาะในขี้เถ้าแถลบสีดำ เมื่อเมล็ดงอกจึงย้ายไปเพาะชำในกระถางหรือถุงพลาสติคต่อไป

การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่นการใช้หน่อ หัว ราก เหง้า กิ่งก้าน ลำต้น ใบ และตา เช่น

1. การตัดชำหรือปักชำ (cutting) ควรมีมีด กรรไกรตัดแต่งกิ่ง กะบะเพาะชำ ทรายหยาบ ขี้เถ้าแกลบสีดำ ดินร่วน ฮอร์โมน (เช่น Seradix) และถุงพลาสติก กิ่งหรือรากที่จะตัคชำต้องไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ใช้มีดหรือกรรไกรตัดกิ่งออกเป็นท่อนๆ ยาว 4-8 นิ้ว ตัดให้เป็นปากฉลามใต้ตาและมีตาอยู่ 3-4 ตา ตัดใบออกให้หมด แล้วนำไปชำในกะบะ การชำควรปักเอียง 60-70 องศา ให้ลึก 1 ใน 3 ของกิ่ง วางกะบะชำไว้ในที่ร่มหรือเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มตลอดเวลาจนกว่าจะออกรากและใบใหม่ จากนั้นจึงย้ายไปปลูกในภาชนะหรือหลุมที่เตรียมไว้

การตัดชำราก คือ การตัดรากไปชำให้ได้ต้นใหม่ อาจทำได้กับพืชพวก แคแสด สายรุ้ง สาเก เนียง สน ฯลฯ

การตัดชำต้นและกิ่ง ใช้กับเฟื่องฟ้า กุหลาบ โกสน ชะบา ภู่เรือหงษ์ สน ใบเงินใบทอง ส้ม ชมพู่ ว่าน เบญจมาศ มะลิ อ้อย ฯลฯ

การตัดชำใบ เช่น ลิ้นมังกร ดาดตะกั่ว คว่ำตายหงายเป็น ยางอินเดีย โคมญี่ปุ่น อัฟริกันไวโอเล็ต

การเร่งรากสำหรับพืชที่ออกรากช้า

1. ทำให้ส่วนของกิ่งพันธุ์อยู่ในความมืด โดยห่อกิ่งและยอดด้วยวัตถุทึบแสง สักระยะหนึ่ง แล้วเปิดให้ส่วนกิ่งและยอดถูกแสง แต่ให้บริเวณที่จะตัดอยู่ในความมืดต่อ เมื่อกิ่งโตพอควรก็ตัดไปชำ จะออกรากเร็วขึ้น

2. ทำการควั่นและรัดกิ่ง เพื่อช่วยสะสมแป้งและน้ำตาล แล้วตัดรอยควั่นไปชำ จะเกิดรากได้ง่ายขึ้น เช่น ยาง สม ชะบา ฯลฯ

3. แช่กิ่งพันธุ์ในฮอร์โมน เช่น อินโดลอาซีติก แอซิด (IAA) อินโดลบิวทีริก แอซิด (iba) หรือ แนพทาลีนอาซีติก แอซิด (naa) โดยใช้ฮอร์โมน 5-10 มิลลิกรัมต่อนํ้า 1 ลิตร แช่หรือจุ่มนาน 24 ชั่วโมง

4. จุ่มหรือทาด้วยฮอร์โมนเร่งราก เช่น เซราดิกช์ (seradix) หรือฮอร์โมนอื่นๆ ขนาด 5-20 มิลลิกรัม ในแอลกอฮอลล์ 1 ซี.ซี.

หมายเหตุ

1.) การตัดใบออกอาจทำให้รากออกช้าไปบ้าง แต่ช่วยป้องกันไม่ให้กิ่งแห้งเร็ว ถ้ามีวิธีการให้น้ำแบบพ่นหมอก ไม่ควรเด็ดหรือตัดใบ

2.) ใบบางครั้ง โดยเฉพาะในหน้าร้อนจัด ๆ เราอาจใช้ผ้าหรือถุงพลาสติก คลุมกะบะชำ หรือถ้าชำในกระถาง ก็อาจใช่ถุงพลาสติกคลุมทั้งกระถาง เพื่อช่วยรักษาความชื้นภายใน

2. การตอนกิ่งและการทับกิ่ง (Marcotting and Layering)

2.1 การตอนไม้ประดับและไม้ผลต่าง ๆ ควรตอนในหน้าฝน อุปกรณ์ที่ใช้ได้แก่ มีด ดินค่อนข้างเหนียว กาบมะพร้าวที่แช่น้ำจนอิ่ม ขุยมะพร้าวหรือมอส ใบตองแห้ง หรือถุงพลาสติค ตอกหรือเชือก ฮอร์โมนเร่งราก กิ่งที่จะตอนไม่ควรจะแก่หรืออ่อนเกินไป ควรเลือกกิ่งที่เอนขึ้น เป็นกิ่งกระโดง ใช้มีดควั่นกิ่งใต้ตาหรือข้อ เอาเปลือกออก ใช้มีดขูดเยื่อเจริญให้หมด (ไม้ที่มียางเช่น ละมุดควรขูดทิ้งไว้ 5-7 วัน) ถ้ามีฮอร์โมนเร่งราก ให้ทารอบ ๆ รอยควั่นด้านบน เอาดินเหนียวเปียกมาหุ้มโตขนาดหัวแม่มือ แล้วเอากาบมะพร้าว หรือขุยมะพร้าว หรือมอสที่ชุ่มน้ำมาหุ้ม ใช้เชือกป่านมัดให้แน่น ใช้ใบตองหรือพลาสติกหุ้มทับ อีกชั้น มัดให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ ถ้าหุ้มด้วยถุงพลาสติคจะไม่ค่อยแห้ง ถ้าแห้งอาจใช้เข็มฉีดยาดูดน้ำ แล้วฉีดผ่านถุงเข้าไปเป็นครั้งคราว ประมาณ 1-1 ½ เดือน รากก็จะงอก เมื่อรากยาวมีลักษณะอวบสีเหลืองหรือนํ้าตาล ก็ใช้กรรไกรตัดกิ่งตอนไปแช่น้ำ 4-5 ชั่วโมง แล้วจึงชำหรือนำไปปลูก ถ้าปลูกเลยต้องตัดใบทิ้งบ้าง และควรทำกระโจมกันแดดไว้ด้วยสัก 2-3 อาทิตย์

2.2 การทับกิ่ง การโน้มกิ่ง ใช้กับมะลิ พริกไทย ละมุด องุ่น พลู ไผ่ ฯลฯ

3. การทาบกิ่ง (inarching) และการเสียบกิ่ง (Grafting)

พืชที่จะทาบกิ่ง เสียบกิ่ง หรือขยายพันธุ์โดยการติดตาจะต้องเป็นพืชชนิดเดียวกัน คือ อยู่ในสกุลเดียวกัน หรือมีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่นมะม่วงก็ต้องเป็นมะม่วงด้วยกัน จะเป็นมะม่วงพันธุ์อะไรก็ได้ พวกที่ใกล้เคียงกับมะม่วงคือมะมุด ซึ่งอาจใช้ทำต้นตอได้ แต่ถ้าใช้มะม่วงพื้นเมือง เช่น มะม่วงขี้ชัน (ขี้ใต้ ) เป็นต้นตอแล้วเอามะม่วงพันธุ์ดีเช่นอกร่องมาติดตา พบว่ากลิ่นของมะม่วงขี้ชันจะแสดงออกในผลของมะม่วงอกร่องด้วย

พืชพวกสกุลส้ม มีหลายชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะกรูด มะนาว ฯลฯ พวกเหล่านี้เรานำมาต่อกันได้ ดังนั้นถ้าเราปลูกส้มโอ 1 ต้น เราสามารถจะทำให้แต่ละกิ่งเป็นมะนาวบ้าง ส้มเขียวหวานบ้าง มะกรูดบ้าง ส้มโอบ้าง ก็ย่อมทำได้

พืชบางอย่างไม่น่าจะเป็นพวกเดียวกัน แต่ในทางพฤกษศาสตร์จัดอยู่ในพวกเดียวกัน เราจึงสามารถนำมาต่อกันได้ เช่น ยาสูบ มะเขือเทศ และมันฝรั่ง เป็นต้น

พืชบางอย่างเรียกภาษาไทยคล้ายกัน แต่อยู่ต่างสกุลกันเช่น ทุเรียนเทศ หาได้เป็นพวกเดียวกับทุเรียนไม่ จึงต่อกันไม่ได้ แต่ทุเรียนเทศสามารถต่อกับน้อยหน่าและน้อยโหน่งได้

อุปกรณ์ได้แก่ มีดติดตา (มีดพับ ฯลฯ) หินลับมีด ผ้าพลาสติคใสหรือเชือกเหนียว ๆ กรรไกรตัดต้นไม้ หรือมีดใหม่คม ๆ

3.1  การทาบกิ่ง ใช้กับไม้ผล ไม้ประดับและไม้ดอกต่าง ๆ

3.2  การเสียบกิ่ง ใช้กับไม้ผล ไม้ประดับและไม้ดอกต่าง ๆ

4.  การติดตา (Budding) ใช้กับไม้ผลหลายชนิด ยางพาราและกุหลาบ ฯลฯ

5.  สรุปวิธีการขยายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ

ชื่อพืช ควรขยายพันธุ์โดย
กระท้อน ติดตา ทาบกิ่ง
กล้วย แยกหน่อ ชำเหง้า
ขนุน ติดตา ทาบกิ่ง เพาะเมล็ด
เงาะ ติดตา ทาบกิ่ง
ชมพู่ ติดตา ตอนกิ่ง
ทุเรียน ติดตา เสียบยอด ทาบกิ่ง
ทับทิม ตอน เพาะเมล็ด
น้อยหน่า ติดตา เพาะเมล็ด
ฝรั่ง ตอน ติดตา เพาะเมล็ด
พุดทรา ทาบกิ่ง เสียงกิ่ง
มะนาว ตอนกิ่ง
มะกรูด เพาะเมล็ด
มะม่วง ติดตา ทาบกิ่ง
มะม่วงหิมพานต์ เพาะเมล็ด ติดตา
มะขาม ทาบกิ่ง เสียบกิ่ง เพาะเมล็ด
มะเขือ เพาะเมล็ด
มังคุด เพาะเมล็ด
ยางพารา ติดตา เพาะเมล็ด
ละมุด ตอน ติดตา เพาะเมล็ด
ลองกอง ตอน ติดตา ทาบกิ่ง
ลางสาด ติดตา ทาบกิ่ง ตอน
ส้มโอ ตอน
ส้ม ตอน ติดตา
อ้อย ชำต้น ปักชำ