นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล ,สุมาตรา และสีคล้ำ

นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล
ชื่อสามัญ Forest Eagle Owl

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bubo nipalensis

นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาลมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย จีน พม่า เทือกเขาตะนาวศรี ไทย เขมร เวียดนาม ตังเกี๋ย และลาว ในประเทศไทยมีทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้

ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน นกเค้าชนิดนี้มีขนาดใหญ่ ตัวยาวประมาณ 60 ซม. ปากมีสีเหลือง เหนือตาทั้งสองข้างมีขนยาวเป็นกระจุกพุ่งขึ้นไปคล้ายเขา ขนบนด้านหลังมีสีน้ำตาลแก่และมีจุดเลอะๆ สีขาวและสีเนื้อคละกันทั่วไป

ขนที่ปีกมีทางขาวๆ อยู่ 5-6 ทาง ทางด้านท้องมีสีขาว และมีลายขวางสีนํ้าตาลเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวตลอดคอ อก และท้อง นกเค้าชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบตามภูเขา และตามป่าใกล้ลำธารใหญ่ๆ ชอบอยู่ตัวเดียว หากินตั้งแต่ตอนพลบค่ำและตลอดคืน อาหารได้แก่หนู ค้างคาว และนกต่างๆ

 

นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา
ชื่อสามัญ Barred Eagle Owl
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bubo sumatranus

นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา 2

นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรามีถิ่นกำเนิดในเกาะซุนดาส์ เทือกเขาตะนาวศรี ไทย และ มาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยมีเฉพาะทางภาคใต้ นกเค้าตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน มีลักษณะคล้ายกับนกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล แต่ตัวเล็กกว่า และขนด้านบนของตัวมีลายขวางเล็กๆ สีเหลืองซีด ส่วนด้านล่างของตัวก็มีลายขวางเล็กๆ สีนํ้าตาลบนพื้นขาว ชอบอยู่ตามป่าดงดิบ ซึ่งอยู่ไม่สูงนัก ชอบอยู่ตัวเดียวในขณะที่บินมักส่งเสียงร้องไปด้วย อาหารได้แก่สัตว์เล็กๆ เช่น หนู กระรอก เป็นต้น

 

นกเค้าใหญ่สีคล้ำ
ชื่อสามัญ Dusky Eagle Owl
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bubo coromandus

นกเค้าใหญ่สีคล้ำมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย จีน พม่า เทือกเขาตะนาวศรี ไทย และมาเลเซีย ในประเทศไทยมีเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน นกเค้าชนิดนี้ตัวค่อนข้างใหญ่ตัวยาวประมาณ 52 ซม. เหนือตามีขนเป็นกระจุกขาวเลยหัวออกไป คล้ายมีเขาทั้งสองข้าง ขนด้านบนของตัวมีสีน้ำตาลปนเทา บนปีกมีแถบสีขาวอยู่ 6 แถว ทางด้านล่างของตัวมีสีเทาอมสีเนื้อ และมีลายเป็นขีดเล็กๆ สีดำอยู่ทั่วไป

ชอบอาศัยอยู่ตามป่าที่ราบซึ่งอยู่ใกล้นํ้า นกนี้หากินในเวลากลางวัน ค่อนข้างปราดเปรียวมากเมื่อเวลาใกล้ค่ำ ในตอนกลางวันถ้าวันใดมีแดดจัดหรืออากาศร้อนมากมักจะเกาะอยู่เฉยๆ ไม่ชอบอยู่ในบริเวณที่แห้งแล้ง

เป็นนกแข็งแรงและค่อนข้างดุ อาหารได้แก่นกต่างๆ แต่ที่ชอบมากได้แก่อีกา นอกจากนกกินสัตว์เล็กอื่นๆ และสัตว์เลื้อยคลานด้วย ฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนพฤศจิกายน -กุมภาพันธ์ เมื่อจะวางไข่มักใช้รังของนกใหญ่อื่นๆ ซึ่งทิ้งรังไปแล้ว บางครั้งก็จะสร้างรัง เองหรือไม่ก็จะอาศัยวางไข่ตามโพรงไม้ของดต้นไม้ใหญ่ๆ ปกติวางไข่ครั้งละ 1 ฟอง แต่บางครั้งอาจมี 2 ฟอง

ที่มา:พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503