สมุนไพรจากไม้ดอก:ดาวเรือง

ดาวเรือง

จากโครงการพัฒนาเทคนิคการทำยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2521-2522)

ชื่ออื่น ดาวเรืองใหญ่(ไทย) คำปู้จู้ คำปู้จู้หลวง(พายัพ) บ่วงสิ่วเก็ก เฉาหู้ยัง กิมเก็ก(จีน)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L. วงศ์ Compositae

ลักษณะต้น เป็นพืชปีเดียวตาย ลำต้นแข็งแรงสูง 0.4-1 เมตรเป็นพืชพื้นเมืองของเม็กซิโก ทั้งต้นขยี้ดูจะมีกลิ่นฉุนแรง ใบออกตรงข้ามกัน ใบลักษณะคล้ายขนนก ตัวใบยาว 4-11 ซม. มีรอยเว้าลึก ๆ ถึงก้านใบ หลายรอยคล้ายแบ่งตัวใบออกเป็นใบย่อยหลายใบ ส่วนยอดนี้ยาว 1-2.5 ซม. ขอบมีรอยหยักช่อดอกออกเป็นกลุ่มเดียวที่ปลายก้าน ช่อดอกสีเหลือง หรือเหลืองส้มมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 ซม. ยาว 2.5-3.5 ซม.มีก้านช่อดอกยาวแข็งแรง  ส่วนปลายที่ติดกับช่อดอกจะใหญ่ขึ้น กลีบรอง ช่อดอกสีเขียวมีหลายกลีบ ดอกย่อยสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองเข้มมีดอกย่อยลักษณะคล้ายลิ้นจี่จำนวนมาก และบานแผ่ยาวออกมามากดูคล้ายกลีบดอกซ้อน ๆ กัน หลายชั้น แผ่ยื่นออกมา ปลายม้วนลง ดอกย่อยคล้ายลิ้นมีกลีบดอกยาว ๆ 1-4 กลีบ กับดอกย่อยที่เป็นหลอดมีกลีบดอกเป็นเกล็ดเล็ก ๆ 2-3 กลีบ ผลลักษณะเป็นเส้นตรงบาง ๆ ยาว 6-7 มม.  มักออกดอกในฤดูหนาว โดยทั่วไปปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นพืชที่ชอบแสงแดด

การเก็บมาใช้

ใบและช่อดอกเก็บตอนฤดูร้อน และฤดูหนาว ตากแห้งเก็บไว้ใช้หรืออาจใช้สด

สรรพคุณ

ช่อดอก รสขม ฉุนเล็กน้อยใช้กล่อมตับขับร้อน ขับลม ละลายเสมหะ แก้เวียนหัว ตาเจ็บ ไอหวัด ไอกรน เต้านมอักเสบ คางทูม และเรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น

ใบ  รสชุ่ม เย็น มีกลิ่นฉุน ใช้แก้ฝีฝักบัว ฝีพุพอง เด็กเป็นตานขโมย ตุ่มมีหนองบวมอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุ

วิธีและปริมาณที่ใช้

ช่อดอกแห้ง 3-10 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น

ใบแห้ง 5-10 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกตำพอก หรือต้ม เอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น

ตำรับยา

1.  แก้ไอกรน  ใช้ช่อดอกสด 15 ช่อ ต้มเอาน้ำมาผสมน้ำตาลแดงกิน

2.  แก้หลอดลมอักเสบ ใช้ช่อดอกสด 30 กรัม กับจุยเฉี่ยวเอื้อง (Inula Helianthus-aquatilis C.Y. Wuex Ling) สด 10 กรัม และจี๋อ้วง (Astertataricus L.F.) สด 7 กรัม ต้มน้ำกิน

3. แก้เต้านมอักเสบ  ใช้ช่อดอกแห้งเต่งเล้า (paris petiolata Bak. ex. Forb.) แห้งและดอกสายน้ำฝึ้ง (Lonicera japonica Thunb) แห้งอย่างละเท่า ๆ กัน บดเป็นผงผสมน้ำส้มสายชูทาบริเวณที่เป็น

4.  แก้ปวดฟัน ตาเจ็บ ใช้ช่อดอกแห้ง 10 กรัม ต้มน้ำกิน

ผลทางเภสัชวิทยา

1.  ในใบมี Kaempferitrin มีฤทธิ์แก้อักเสบให้หนูตะเภากินขนาด 50 มก./กก. ของน้ำหนักตัวจะทำให้หลอดเลือดฝอยตีบตันทำให้เลือดหยุด เนื้อหนังเจริญดีขึ้น มีฤทธิ์แรงกว่ารูติน (Rutin) และมีปริมาณวิตามินพี (Vitamin P) ค่อนข้างสูง นอกจากนี้สารนี้ยังสามารถลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก ที่แยกจากตัวของกระต่าย ทำให้จังหวะการบีบตัวลดลง

2.  ดอกมีกลิ่นหอมใช้แต่งกลิ่นได้ เคยใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค  และสงบประสาท เช่นเดียวกับต้น Tagetes minuta L. (T. glandif lora) ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์สงบประสาท ลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือด หลอดลม และแก้อักเสบ

สารเคมีที่พบ

ช่อดอกมี Flavonoid glycosides, tagetiin 0.1% และสารเรืองแสง Terthienyl 15-21 มก. / กก. ของดอกสด Helenien 74%, B-Carotene Flavoxanthin; Helenien มีคนกล่าวว่ามีผลทำให้เนื้อเยื่อตาดีขึ้น

ใบ มี Kaempferitrin

เมล็ด  มีน้ำมัน

หมายเหตุ

เภสัชตำรับของเม็กซิโก เคยใช้ช่อดอกและใบต้มน้ำกิน ขับลม และขับปัสสาวะ

ในอินเดียน้ำคั้นจากช่อดอก ใช้ฟอกเลือดและแก้ริดสีดวงทวาร

ในบราซิลใช้ช่อดอกชงน้ำแก้อาการปวดตามข้อ หลอดลมอักเสบ

ใบและช่อดอกชงน้ำกิน ใช้ขับพยาธิ ช่อดอกใช้ภายนอกในโรคตา และแผลเรื้อรังต่าง ๆ ไปใช้พอกฝี ฝีฝักบัว น้ำคั้นจากใบใช้แก้ปวดหู รากใช้เป็นยาระบาย

ในไทยใช้น้ำคั้นจากใบ ผสมน้ำมันมะพร้าวเคี่ยวจนส่วนน้ำระเหยหมดใช้ทาแผลเปื่อยเน่า ฝีต่าง ๆ