การทำงานของโรงสีเกี่ยวกับการสีข้าว

ขออธิบายอย่างง่าย ๆ ถ้าข้อมูลยังไม่ละเอียดพอก็ขอได้ไปดูของจริงจากโรงสี ซึ่งการทำงานของโรงสีทั้งหลายก็เหมือน ๆ กัน ก่อนอื่นเครื่องสีข้าวจะปฏิบัติงานได้นั้น  จำเป็นจะต้องมีเครื่องต้นกำลังทำการฉุด และเครื่องต้นกำลังที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีดังนี้.-

1)  เครื่องจักรไอน้ำ ประกอบด้วย หม้อน้ำ ปล่องไฟ  และตัวเครื่องจักรต้นกำลัง  หลักการทำงานคือ ใช้แกลบ  ซึ่งเป็นผลผลิตพลอยได้จากการสีข้าวเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำในหม้อน้ำให้เดือด  แล้วนำกำลังไอน้ำจากหม้อน้ำมาดันเครื่องจักรให้หมุน

2)  มอเตอร์ไฟฟ้า ใช้พลังงานจากมอเตอร์ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้า  มาทำการฉุดหมุนเครื่องสีข้าว

3)  เครื่องกล ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซล

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว  ข้าวเปลือกที่ได้รับจากชาวนา ยังไม่สะอาดพอที่จะส่งเข้าเครื่องสีเลย  จะต้องนำผ่านตะแกรงร่อนสิ่งเจือปนออก ได้แก่ ฟางข้าว เศษดิน เศษหิน และฝุ่นละออง แล้วจึงนำเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวเปลือก ซึ่งจะมีลูกยางกลม 2 ลูก  หมุนอยู่เมล็ดข้าวเปลือกที่ผ่านร่องระหว่างลูกกลมยาว 2 ลูกนี้ จะถูกแรงเสียดสีของลูกยาง  ทำให้เปลือกข้าวหลุดออก

จากเครื่องกะเทาะข้าวเปลือก  จะได้แกลบข้าวกล้อง  และข้าวเปลือกส่วนที่ยังไม่ถูกกะเทาะเปลือก  ผ่านต่อไปยังตะแกรงเหลี่ยม  ซึ่งมีแผ่นตะแกรงทำการร่อน แยกแกลบ ข้าวเปลือก  และข้าวกล้องออกจากกัน ข้าวเปลือกจะย้อนกลับไปเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกใหม่  ข้าวกล้องจะผ่านไปตะแกรงโยก  เพื่อทำการคัดข้าวเปลือกที่ยังมีผสมไปกับข้าวกล้องออกให้เหลือแต่ข้าวกล้องล้วน ๆ

แกลบ ที่ร่อนออกจากตะแกรงจะดูดพัดลมดูดไปไว้ต่างหาก  ขณะเดียวกันพัดลมจะดูดเศษข้าวกล้องละเอียด  หรือจมูกข้าวรวมทั้งแกลบละเอียดที่เกิดจากการกะเทาะเปลือกข้าวเปลือก ไปไว้ยังอีกทางหนึ่ง ส่วนนี้เรียกว่า รำหยาบ

ตะแกรงโยก มีหน้าที่คัดข้าวเปลือกออกจากข้าวกล้อง  ในตะแกรงโยก  มีแผ่นเหล็กบาง ๆ วางกั้นเป็นช่อง ๆ สลับฟันปลา  ตะแกรงโยกจะเดินหน้า ถอยหลังตลอดเวลา  ข้าวเปลือกและข้าวกล้องจะถูกคัดแยกไปคนละทาง  ข้าวเปลือกจะย้อนกลับไปเข้าเครื่องกะเทาะใหม่  ส่วนข้าวกล้องจะผ่านไปสู่หินขันข้าวเปลือก และหินขัดข้าวขาวต่อไป

หินขัดข้าวกล้องและหินขัดข้าวขาว มีลักษณะเป็นเหล็กทรงลูกข่าง  มีหินกากเพชรผสมปูนพอกไว้โดยรอบ  ตั้งบนแกนที่หมุนได้  ผนังที่หุ้มหินขัดข้าว  จะมียางเป็นท่อน ๆ เรียกยางขัดข้าว วางอยู่เป็นประจำ ข้าวกล้องจะผ่านช่องว่างระหว่างหินขัดข้าวและยางขัดข้าว  ในขณะที่หินขัดข้าวหมุนอยู่ตลอด ข้าวกล้องจะถูกขัดจนขาว โดยผ่านหินขัดข้าว 2 ครั้ง คือ หินขัดข้าวกล้อง และหินขัดข้าวขาว

ที่ผนังหุ้มหินขัดข้าวกล้อง  และหินขัดข้าวขาวจะมีช่องให้พัดลมดูดผิวของเมล็ดข้าวกล้องที่ถูกขัดออกไป ส่วนนี้เรียกว่า รำละเอียด

ข้าวขาวที่ออกจากหินขัดข้าว จะเป็น ต้นข้าว ข้าวหัก และ ปลายข้าว รวมกัน  จะต้องนำไปผ่านตะแกรงเหลี่ยม และตะแกรงกลม  เพื่อคัดออกมาเป็นชนิดข้าวตามต้องการต่อไป

ตะแกรงเหลี่ยม ที่จะคัดต้นข้าว และปลายข้าวนี้  ประกอบด้วยแผ่นตะแกรงซ้อนกัน  หลายแผ่น แต่ละแผ่นจะมีรูตะแกรงขนาดต่าง ๆ กัน  เพื่อให้ข้าวแต่ละชนิดผ่านได้และผ่านไม่ได้  ตัวตะแกรงเหลี่ยมจะเขย่าตลอดเวลาที่ทำงาน

ตะแกรงกลมที่ลักษณะเป็นแผ่นเหล็กม้วนกลม หมุนตลอดเวลาที่ทำงาน  ผิวแผ่นเหล็กด้านในมีรูลักษณะแบบเต้าขนมครกแต่เล็กกว่ามาก  เพื่อให้เมล็ดข้าวที่หักที่เล็กเกาะอยู่  ขณะที่ปล่อยให้เมล็ดใหญ่กว่าผ่านไปได้

ข้าวที่ผ่านการคัดของตะแกรงกลมแล้วจะได้ขนาดและชนิดตามต้องการ  ซึ่งแบ่งเป็นชนิดจากใหญ่ไปหาเล็ก  คือ ต้นข้าว ปลายข้าว เอ.วันเลิศพิเศษ ปลายข้าว เอ.วันเลิศ ปลายข้าวซี

ข้าวเปลือก 1 ตัน หรือ 1,000 กก. หรือ 100 ถัง สีเป็นข้าว 100%  ชั้น 2 จะได้รายละเอียดดังนี้

1.  ต้นข้าว                                             405  กก.

2.  ปลายข้าว เอ.วันเลิศพิเศษ                     20  กก.

3.  ปลายข้าว เอ.วันเลิศ                           160  กก.

4.  ปลายข้าว ซี                                        90  กก.

5.  รำละเอียด                                          81  กก.

6.  รำหยาบ                                              30  กก.

7.  แกลบ+ละออง                                  214  กก.

(ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขโดยประมาณของสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ)

ตัวเลขจากการสีข้าวข้างบนเป็นตัวเลขโดยประมาณ ต้นข้าวและปลายข้าวอาจจะได้มากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้  ซึ่งขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น  ชนิดของข้าวเปลือก  ประสิทธิภาพในการสี  และคุณภาพของข้าวสาร  และปลายข้าวที่ต้องการ

การสีข้าวจะสีตามกรรมวิธีที่อธิบาย ครั้งเดียว(หนเดียว) เท่านั้น