การปลูกบอนสี

บอนสี

Common name : Caladium

Scientific name : Caladium bicolor Vent

Family : A raceae

บอนสีในประเทศไทย นิยมเลี้ยงกันเป็นครั้งแรกในปลายรัชกาลที่ 5 หลังจากพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงรวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิดของต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งบอนสีด้วย ในครั้งนั้นเรียกกันว่า “บอนฝรั่ง” บอนสีมีสีสันมากมายสวยสดและแปลกตา จึงมีผู้นิยมปลูกด้วยความตื่นเต้น สมัยนั้นเลี้ยงยาก ถึงฤดูแล้วก็ทรุดโทรมแห้งตาย แต่หัวยังอยู่ทำให้มีราคาสูง แต่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคนิคในการปลูกมากขึ้น จึงสามารถเลี้ยงได้เจริญเติบโตดี ต้นใหญ่ กอใหญ่ มีใบมาก มีความสมบูรณ์ และมีสีสันสวยสดอยู่ได้ตลอดปี

นอกจากนี้ ยังมีการผสมพันธุ์จนได้ลูกผสมที่มีลักษณะต่างๆ กันออกไป รวมทั้งสี ก็มีความวิจิตรพิสดารมากขึ้น ทำให้เป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง และทำให้ราคาบอนสูงขึ้นอีกด้วย

กล่าวกันว่า บอนสีนี้มาจากอินเดีย หรือ อินเดียตะวันตก เป็นพืชหัวที่มีแหล่งกำเนิดในเขตร้อนในอเมริกาใต้ ส่วนใหญ่จากบราซิล มีใบเป็นแบบลูกศรขนาดใหญ่ ลำต้นสูง 6-18 นิ้ว มีสีแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่เขียวจนถึงครีม บ้างก็มีสีแดงแต้ม บ้างก็มีสีแดงสดใส พวกนี้เจริญได้ดีในที่อบอุ่น ในเรือนเพาะชำที่มีความชื้นพอเหมาะและมีแสงแดดเพียงพอ หรือปลูกกลางแจ้งก็ได้ แต่ต้องให้ความชื้นสูง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

1. ราก รากของบอนเป็นพวกรากฝอย จะออกจากหัวด้านบนตรงระหว่างรอยต่อของหัว (tuber) กับลำต้น (stem)

2. หัว บอนสีมีหัวเป็นทิวเบอร์เหมือนหัวมันฝรั่งหรือไรโซม จัดเป็นพวกไม้เนื้ออ่อน บนหัวจะมีตา หรือบางทีเรียกว่า “เขี้ยว” (sprout) ซึ่งจะแตกปลีเป็นลำต้นใหม่ต่อไปได้ นอกจากนี้หัวบอนก็ยังสามารถแตกหน่อได้ด้วย เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์

3. ลำต้น ลำต้นของบอนอยู่ตรงบริเวณเหนือ หัว (tuber) ขึ้นไปเป็นส่วนระหว่างทิวเบอร์กับกาบใบซึ่งสั้นมาก กาบใบที่แก่และร่วงหลุด จะช่วยให้ลำต้นสูงขึ้น

4. ใบ ใบของบอนสีมีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปหัวใจ รูปคล้ายธนู เช่นพันธุ์ดาบฟ้าฟื้น รูปแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือสามเหลี่ยมรูปไข่ เช่นพันธุ์อิเหนา และรูปเรือ เป็นต้น

ลักษณะใบโดยทั่วไป บอบบาง มีก้านใบยาว อาจมีสีเดียวกันล้วนหรือมีเส้นตามความยาวหรือมีสีประหลาย ๆ สีปนกัน ใบมีสีสวย เช่น ชมพู เขียวอ่อน เขียวขาว นอกจากนี้ยังมีจุดประบนใบและเส้นใบมีสีต่าง ๆ กัน เช่น แดง ม่วง ขาว เหลือง และเขียว บางชนิดมีสีขาวทั้งใบ และเส้นใบสีเขียว แต่ส่วนใหญ่มักจะมี ใบสีแดง หรือชมพูมากกว่าฐานของใบมักมีรูปร่างแบบหัวใจ และมีสีแตกต่างกันตามลักษณะพันธุ์

เส้นกลางใบ จะเห็นเด่นชัดมาก และมีเส้นใบแตกออกมาจากเส้นกลางใบแบบทะแยงขอบ ใบเรียบ ขนาดของใบส่วนมากมีความยาว 6-24 นิ้ว

ศัพท์ที่ใช้เรียกส่วนต่าง ๆ ของใบ มีดังนี้

-แผ่นใบ (leaf blade) เรียก ใบ

-ก้านใบ (petiole) เรียก สาแหรกหรือทาง

-เส้นก้านใบ เรียก สะพานหน้า

-จุดที่เส้นใบจรดกัน เรียก สะดือ

-ปลายสุดของก้านใบ เรียก สะดือใน

-เส้นกลางใบ (midrib) เรียก กระดูก

– เส้นใบเล็ก (vein) เรียก เส้น

-จุดด่างที่เกิดบนใบ เรียก เม็ด

-จุดด่างที่เกิดบนภายใน เรียก เสี้ยน

5. ช่อดอก ดอกของบอนเป็นช่อดอกแบบหน้าวัว (spadix) คือจะมีการเจริญเติบโตที่ปลายช่อเรื่อยไป ดอกที่เกิดก่อนจะอยู่ที่โคนของช่อดอก หรือด้านนอก ดอกที่เกิดทีหลังจะอยู่ที่ปลายช่อเรื่อยไป ดอกที่เกิดก่อนจะอยู่ที่โคนของช่อดอก หรือด้านนอก ดอกที่เกิดทีหลังจะอยู่ที่ปลายช่อ หรือตอนในของช่อดอก ดอกย่อยเกิดจากก้านกลางนี้ และช่อดอกจะมีจานรองดอก (spash) ด้วยเสมอ ตรงบริเวณฐาน (base) ของจานรองดอกจะโค้งหรือม้วนเข้าหากันเป็นหลอด ช่อดอกจะตั้งตรงและสั้นกว่าจานรองดอกเล็กน้อย ดอกของบอนไม่มีอะไรปกคลุม ดอกตัวผู้จะอยู่บริเวณส่วนบนของช่อดอกอย่างหนาแน่น ประมาณครึ่งหนึ่งถึงสองในสามของความยาวของช่อดอก และแต่ละดอกของช่อดอก และแต่ละดอกย่อยจะมีเกสรตัวผู้ 3-5 อัน ติดอยู่ที่ส่วนปลายของดอก

บริเวณตรงกลางของช่อดอกเป็นดอกที่ผสมไม่ได้ และบริเวณโคนของช่อดอกเป็นดอกตัวเมีย ดอกตัวเมียจะมีรังไข่แบบ 2 ห้อง แต่ละห้องจะมีรังไข่ 2-4 ฟอง พบว่าส่วนที่เป็นดอกตัวผู้มักจะยาวกว่าส่วนที่เป็นดอกตัวเมียเป็นส่วนใหญ่ และดอกตัวเมียมักจะเจริญเต็มที่ก่อนดอกตัวผู้

6. ผลและเมล็ด หลังจากดอกตัวเมียได้รับการผสมแล้วประมาณ 1 เดือน ถ้าหากผสมติดก็จะได้ผลเป็นแบบเบอรี่ที่มี 1-2 ห้อง ผลมีสีขาวครีม ภายในผลจะมีเมล็ดเพียงเล็กน้อย เมล็ดมีสีขาวขนาดเล็กกว่าเมล็ดยาสูบ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะในการเจริญเติบโต

เนื่องจากบอนสีเป็นไม้เมืองร้อน จึงต้องการอุณหภูมิค่อนข้างสูง มีหลายท่านแนะนำให้ปลูกในที่ซึ่งมีอุณหภูมิ 21.1°-29.9° ซ. นอกจากนี้ยังชอบแสงรำไร อาจขึ้นได้กลางแดด แต่ทั้งนี้ดินที่ปลูกต้องได้รับการบำรุงอย่างดี และมี ความชื้นสูง แต่ส่วนมากบอนไม่ชอบแสงแดดจัด ควรมีที่บังแดดให้ต้นได้รับความเข้มของแสงอย่างมากประมาณ 5,000 แรงเทียน (Foot- candle) ถ้าแสงมาก ควรให้น้ำและความชื้นสูง ปริมาณแสงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณและขนาดของหัวที่เกิด ถ้าแสงมากจะมีหัวขนาดใหญ่และมีปริมาณหัวมาก ถ้าแสงน้อยก้านจะยาวและมีสีขาวซีด ต้นจะอ่อนพับง่าย แต่ที่เหมาะที่สุดคือแสงแดดรำไร

การปลูกและการคูแลรักษา

การปลูกบอนนั้นมีหลายแบบด้วยกัน แล้วแต่ความนิยมและวัตถุประสงค์ของผู้ปลูก ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้คือ

1. การปลูกบอนในแปลง ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา มักจะปลูกให้หัวอยู่ลึก 3-4 นิ้ว แต่ถ้าต้นมีความอุดมสมบูรณ์สูง จะปลูกลึกกว่านี้ ทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาต้องปลูกในเรือนเพาะชำก่อนประมาณ 8 อาทิตย์ คือ จนกว่าอุณหภูมิภายนอกจะอบอุ่น จึงจะนำออกปลูกโดยเริ่มปลูกในเดือนมีนาคมและทยอยปลูกเรื่อยไป

การดูแลรักษาแปลงปลูก ในการเตรียมแปลง ต้องมีการเตรียมต้นอย่างดี ใช้ปุ๋ยสูตร 8-8-8 ในอัตรา 500-800 กก.ต่อไร่ ในระหว่างฤดูปลูก ต้องใส่ปุ๋ยสูตร 8-8-8 หรือ 3-10-12 อีก 2-3 ครั้ง ครั้งละ 500 กก.ต่อไร่ โดยปกติ การใช้ ปุ๋ยครั้งที่ 2 และ 3 จะลดประมาณไนโตรเจนลง และเพิ่มโปแตสเซี่ยมขึ้น การเพิ่มโปแตสเซี่ยม จะทำให้หัวบอนแข็งแก่เร็ว และเก็บไว้ได้นาน

การกำจัดวัชพืชเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั่วๆ ไปใช้วิธีถอนทิ้งมีบางรายใช้ยากำจัดวัชพืช ซึ่งจะต้องระมัดระวังมาก

สำหรับในประเทศไทย การปลูกในแปลง ต้องเป็นแปลงที่อยู่ในเรือนเพาะชำ เพราะแดดจัดจนเกินไป จะทำอันตรายบอนได้ หรืออาจทำเฉพาะหลังคาไม้ระเเนง หรืออาจใช้ทางมะ­พร้าวช่วยบังแสงแดดให้บอนก็ได้

เครื่องปลูกอาจประกอบด้วย ดินเผา ใบมะพร้าว ปุ๋ยคอก ในอัตรา 1:1:1 ผสมกันให้เข้ากันดี แล้วใส่ในแปลงที่จะปลูกบอนในเรือนเพาะชำ ในกรณที่ใช้อิฐบล๊อคกั้น จากการทดลองของแผนกพืชกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ถ้าต้องการปลูกบอนให้ได้ในจำนวนมาก และมีอายุยืนนาน ควรปลูกด้วยเครื่องปลูกที่มีส่วนผสมของใยมะพร้าว เช่น ทรายในอัตราส่วน 1:1:1 ถ้าต้องการใน ขนาดใหญ่ ควรปลูกด้วยส่วนผสมของทรายหยาบ ใบไม้ผุ ปุ๋ยคอก ในอัตรา 1 : 1 : 1 ถ้า ต้องการใบใหญ่พอสมควรมีจำนวนใบมาก และมีหัวขนาดใหญ่ ควรปลูกด้วยส่วนผสมของดินเผา ใยมะพร้าว ปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 1:1:1

การดูแลรักษา ต้องให้ความชื้นสูงเพียงพอแก่ความต้องการของบอน การให้น้ำไม่นิยมใช้แบบรดเหนือต้น เพราะจะทำให้ใบซึ่งบอบบางเป็นอันตรายเสียหายได้ นิยมการให้น้ำทางโคนต้น อาจใช้สายยาง หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่สะดวก ข้อสำคัญคือ พยายามให้นํ้าถูกใบน้อยที่สุด โดยใช้วิธีระบบให้น้ำแบบปล่อยให้ท่วมดิน หรือให้น้ำจากใต้ดินขึ้นมา

2. การปลูกบอนเป็นไม้กระถาง การปลูกบอนเป็นไม้กระถางนี้ในประเทศไทยทำกันเป็นการค้าอย่างกว้างขวาง จากการสอบถามพบว่า การปลูกบอนกระถาง จะใช้ดินดำผิวหน้านานำมาตากให้แห้งหรืออาจย่างไฟก็ได้ ผสมกับใบมะขามที่เน่าเปื่อยผุพังแล้ว ในอัตรา 2:3 สำหรับกระถางเล็ก 3-4 นิ้ว ถ้ากระถางใหญ่ 5-6 นิ้ว ใช้ในอัตราส่วน 1 : 3 หรืออาจใช้ใบทองหลางแทนใบมะขามก็ได้ ใบมะขามทำให้สีสวย ใบทองหลางทำให้ใบแข็ง คงรูป ก้านแข็งตรง แต่การเจริญเติบโตช้ากว่าการใช้ใบมะขาม ใบก้ามปูก็ใช้ได้ แต่มักทำให้หัวเน่าง่าย อาจเป็นเพราะมีธาตุอาหารสูงเกินไปก็ได้ เวลาปลูกควรฝังให้ลงในเครื่องปลูก 1 นิ้ว

การดูแลรักษา ต้องให้ความชื้นอย่างเพียงพอแก่ความต้องการของบอน อาจใช้การรดน้ำที่โคนต้น หรือใส่ภาชนะหล่อน้ำก็ได้ ให้มีอุณหภูมิประมาณ 20-30° ซ. ถ้าเป็นฤดูร้อนต้องระวังเรื่องแสงแดดให้มาก ถ้าปกติก็ให้แสงแดดรำไร หรือถ้าจะปลูกในกลางแจ้งก็ได้เหมือนกัน แต่จะต้องให้ถูกแสงแดดตั้งแต่เริ่มชำหัว หรือเพาะเมล็ดเลยทีเดียว เพื่อให้บอนเคยชินกับแสงแดดและมีความสามารถต้านทานได้

การให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยน้ำสูตร 8-8-8 อาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง

การปลูกบอนตู้ การทำบอนตู้มีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการเลี้ยงบอนให้ได้ใบที่มีสีสันสวยสดเป็นเงามัน ดังนั้นจึงต้องมีการอบผิวบอน ซึ่งทำได้ง่าย ๆ คือ ทำกระบะซีเมนต์กว้าง ยาว ตามที่ต้องการวางบนพื้น หรือยกพื้น ตามแต่จะสะดวก แล้วนำกระถางซึ่งใส่ดินปลูกเหมือนบอนกระถางทั่วไป คือ ดินเหนียวคลุกกับใบ มะขามเผาพอแห้ง อาจผสมขี้วัวเล็กน้อยก็ได้ แล้วนำหัวบอนที่เพาะจนงอกปลีแล้ว ปลูกลงในกระถางนี้ นำกระถางนี้วางลงบนกระบะซีเมนต์ข้างต้น เรียงให้เป็นระเบียบจนเต็มกระบะเติมน้ำลงในกระบะให้สูง 1-1.5 นิ้ว จากก้นกระถาง และหมั่นเติมให้อยู่ในระดับนี้อยู่เสมอ ส่วนตู้จะใช้ตู้กระจก หรือตู้พลาสติคคลุมก็ได้ เพื่อให้แสงสว่างผ่านได้ แต่ความชื้นจะไม่สูญหาย จะสมํ่าเสมอตลอดเวลา และช่วยให้อากาศ และอุณหภูมิภายในสูงตามที่บอนต้องการแต่จะต้องเปิดให้อากาศผ่านเข้าออกได้บ้างเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อนต้องระวังให้ มาก เพราะอาจทำให้บอนมีอาการตายนึ่งได้ง่าย ข้อดีของการเลี้ยงบอนตู้ก็คือ ถ้าไม่เลี้ยงแบบนี้ ในฤดูร้อนจะเกิดอาการใบร่วง และการเลี้ยงบอนตู้ทำให้มีใบมาก นอกจากนี้ยังเป็นผลดีทางการค้า ที่ผู้ซื้อบอนไปจะไม่สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้ทันที เพราะว่าการปลูกแบบนี้บอนจะไม่สร้างหัว หรือสร้างหัวก็มีขนาดเล็กมาก ถ้าจะขยายพันธุ์ก็จำเป็นต้องเลี้ยงต่อไปจนกระทั่งบอนสร้างหัวได้ขนาดเสียก่อน

การย้ายปลูก เช่นการย้ายจากกระถางมาปลูกลงในแปลง หรือย้ายลงกระถางใหม่ ก่อนย้ายควรลดบอนด้วยสารละลายที่มีส่วนผสมระหว่าง น้ำตาล และ dextrose base เช่น Alad­din จะทำให้ลำต้นและใบของบอนแข็งแรง เหมาะแก่การย้ายปลูก และเมื่อปลูกแล้ว ในบอนแสดงอาการห้อยย้อยลง อาจแก้ไขได้โดยการหุ้มต้นบอนด้วยกระดาษที่ชุ่มชื้นเป็นเวลา 1 คืน วันรุ่งขึ้นต้นบอนจะสดชื้น และใบจะตั้งตรงเหมือนเดิม

การขยายพันธุ์

1. โดยใช้เมล็ด เมล็ดมีสีครีมขนาดเล็กกว่าเมล็ดยาสูบเพาะในถาดหรือกระถางตื้นใส่ดินร่วนที่มีความชื้นพอสมควรใช้แผ่นพลาสติก หรือกระจกปิดภาชนะที่เพาะ การงอกของเมล็ดเร็วช้าแตกต่างกันออกไปตามชนิดของพันธุ์ บางพันธุ์ 4-5 วัน บางพันธุ์ 6-7 วัน หรือบางครั้งก็เกือบ 1 เดือน เมื่องอกแล้วก็แยกไปใส่กระถางชำ ควรพ่นยากันเชื้อราด้วย

2. โดยใช้หัว ซึ่งแบ่งได้ 2 แบบ

2.1โดยการแยก (seperation) แต่ละหัว จะมีหน่อแตกออกมาเป็นทิวเบอร์ใหม่ แต่ละทิวเบอร์จะมีเขี้ยว (sprout) แยกหัวนี้ไปปลูก โดยให้เขี้ยวหงายขึ้น ถ้าเขี้ยวคว่ำลงจะทำให้งอกช้า หรืออาจเน่าตายไปเลยก็ได้

2.2การแบ่ง (Division) การตัดแบ่งหัว ออกเป็นชิ้น ๆ โดยให้แต่ละชิ้นมีเขี้ยวติดอยู่ด้วย อาจแบ่งเป็น 4, 8 หรือ 16 ชิ้นก็ได้ เวลาแบ่งอาจคว้านท่อนบนของส่วนหัวแบบ และนำส่วนที่คว้านนี้ไปปลูกได้ ส่วนหัวที่ถูกคว้านนั้น นำมาผ่าตามยาวหรือตามแนวดิ่ง ให้ทุกชิ้นมีเขี้ยวติดอยู่ด้วย แล้วนำไปล้างน้ำให้หมดยาง แช่น้ำปูนแดงประมาณ 1-2 นาทีเพื่อให้รัดตัว และไม่ให้หัวเน่า นำขึ้นผึ่งในร่ม กะ ว่าพอหมาด ๆ อย่าให้แห้งมาก แล้วนำไปวางในกระบะชำที่มีเครื่องปลูกคือ อิฐมอญทุบละเอียด ๆ เวลาวางชิ้นของหัวให้เอาทางด้านผิดของหัวที่มีเขี้ยวอยู่ด้านบนเสมอ แล้วนำกระบะนี้ไปวางในภาชนะหล่อน้ำปิดกระบะด้วยกระจก หรือกระดาษก็ได้ ซึ่งจะช่วยรักษาความชื้นได้ดี ประมาณ 5-8 วัน หลังจากนั้น จะแตกปลีเป็นต้น ถ้าหากใช้หัวอ่อน ๆ (อายุน้อย) จะแตกต้นได้เร็วกว่าหัวแก่ (อายุมาก)

การฟักตัวของบอน

บอนจะฟักตัวในฤดูหนาว เมื่อบอนจะฟักตัว ใบจะเริ่มเหี่ยวและทิ้งใบ ในที่สูดจะเหลือแต่หัวอยู่ในดิน อาจป้องกันไม่ให้บอนฟักตัวในฤดูหนาวก็ได้ โดยหาวัสดุใส เช่น ถุงพลาสติกใส หรือโปร่งแสง หรือโหลแก้วใสมาคลุมหรือครอบต้นบอน ไม่ให้อากาศเข้าไปได้ ถ้าคลุมด้วยถุงพลาสติกก็รัดปากถุงพลาสติกให้แน่น กับกระถาง การทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้บอนฟักตัวได้ แต่จะต้องทำกับบอนที่ปลูกในกระถาง และมีน้ำหล่ออยู่ก้นกระถางตลอดเวลา สำหรับบอนที่เลี้ยงอยู่ในตู้ตลอดเวลาไม่ต้องทำเช่นนี้ เมื่อหมดฤดูหนาวแล้วค่อย ๆ เปิดวัสดุ ที่คลุมออก อย่าเปิดออกเลยทันที เพราะจะเป็นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมอย่างกระทันหัน ซึ่ง จะทำให้บอนทรุดไประยะหนึ่ง ควรเปิดออกทีละน้อยเพื่อให้ชินกับอากาศภายนอก ค่อย ๆ เปิดจนหมดการคลุมด้วยถุงพลาสติกให้อากาศเข้าทีละน้อย เมื่อฉีกจนหมดก้นถุงแล้ว ก็เอาถุงพลาสติกที่คลุมออกได้ บอนก็สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ สำหรับบอนที่เลี้ยงอยู่ในตู้ เมื่อพ้นฤดูหนาวแล้ว จะนำออกมาตั้งไว้ภายนอกก็ได้ แต่ถ้านำออกมาในฤดูร้อน ควรคลุมด้วยถุงพลาสติกใสก่อน แล้วค่อย ๆ เปิดให้อากาศภายนอกเข้าไป จนบอนชินกับอากาศภายนอก แล้วจึงนำวัสดุที่คลุมนั้นออก ในฤดูฝนสามารถนำบอนจากตู้มาตั้งภายนอกได้ทันที อย่างไรก็ตาม เมื่อนำบอนออกจากตู้ในฤดูร้อน หรือฤดูฝนก็ดี ควรนำบอนไว้ในร่มเสียก่อนประมาณ 15-20 วัน แล้วค่อยนำไปไว้ในที่ที่มีแดดรำไร

เมื่อถึงฤดูฟักตัว ถ้าไม่ป้องกันการฟักตัวของบอน บอนจะทิ้งใบ ในกรณีเช่นนี้ให้ขุดหัวขึ้นมาทำความสะอาด ผึ่งลมในที่ร่มประมาณ 4-7 วัน แล้วแต่ขนาดของหัวใหญ่หรือเล็ก หลังจากนั้นนำหัวบอนไปชำไว้ทั้งหัวในทราย หรือขี้เถ้าแกลบที่มีความชุ่มชื้นเพียงพอโดยฝังหัวบอนพอมิดหัวเท่านั้น และควรปิดภาชนะที่ใช้ชำเสียด้วย เมื่อหัวบอนงอกปลีใหม่ ก็นำไปปลูกได้ ถ้ายังไม่พ้นฤดูหนาวควรนำเข้าตู้ หรือใช้ถุงพลาสติกคลุมจะได้ผลดี แต่ถ้าเป็นบอนหัวใหญ่ก็ไม่จำเป็น เพราะต้นของหัวใหญ่จะแข็งแรง และทนทานได้ดี

หัวของบอนนี้ ถ้าเรายังไม่ปลูกทันที สามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 3-4 เดือน ถ้าเกินกว่านี้ หัวอาจเหี่ยวหรือฝ่อ ใช้ทำพันธุ์ไม่ได้ หรือถ้าไม่ขุดออกจากดิน จะเก็บไว้ในดินก็ได้ แต่ดินนั้นควรจะแห้งและอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 16.5°ซ.

ในต่างประเทศจะบังคับให้บอนฟักตัว (Forcing) หัวที่จะนำมาบังคับ มักจะใช้หัวที่ เก็บเกี่ยวกลางเดือนธันวาคม หัวบอนส่วนใหญ่ ต้องปลูกในเดือน มกราคม-พฤษภาคม การนำหัวมาบังคับในเดือนมกราคม จะใช้เวลา 6-8 สัปดาห์ ซึ่งจะนำไปขายหรือปลูกได้หัวที่บังคับ ในเดือนพฤษภาคม จะใช้เวลาเพียง 4-6 สัปดาห์เท่านั้น

การบังคับเร็ว ต้องใช้หัวบอน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีสีชัดเจน ในขณะที่อายุยังน้อย หรือเป็นพันธุ์ที่ไม่เปลี่ยนสี เมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่ ถ้าบังคับช้าต้องใช้พันธุ์ที่เปลี่ยนสีได้

โดยทั่วไปสามารถขุดหัวบอนขึ้นมาได้ตลอดเวลา แล้วนำมาผึ่งให้แห้งในอากาศธรรมดา 2-3 อาทิตย์ แล้วจึงนำมาบังคับใช้เวลา 6-8 สัปดาห์ อุณหภูมิที่ตํ่าสุดในการบังคับ คือ 22.5°ซ. แต่อุณหภูมิ 27-32° ซ. จะเป็นอุณหภูมิที่เหมาะ หลังจากที่รากงอกออก 2-3 นิ้ว ก็สามารถย้ายลงปลูกในกระถางได้ ดินกระถางปลูกควรประกอบด้วยดินทราย 1 ส่วน อินทรีย์ วัตถุ 1 ส่วน กระถาง 6 นิ้ว จะต้องใช้ปุ๋ยสูตร 6-6-6 จำนวน 1 ช้อนชา จะทำให้การเจริญเติบโตดีขึ้น บอนซึ่งกำลังเจริญเติบโตนี้ต้องการน้ำมาก ต้องเก็บไว้ในที่ชื้นสม่ำเสมอ และในที่ที่มีอุณหภูมิกลางคืนไม่ต่ำกว่า 18.5 ซ.

ในการบังคับ (Force) หัวบอน ตาตรงกลางจะผลิออกมาก่อนและเมื่อย้ายใส่กระถางจะมีใบ 2-3 ใบ และหน่อ 3-4 หน่อ วิธีเลี้ยงไม่ให้มีหน่อระเกะระกะ ก็คือ คว้านตาตรงกลางออกเสียก่อน แล้วจึงนำหัวที่คว้านแล้วไปปลูก หรือนำหัวที่คว้านแล้วไปผ่าตามยาว หรือแนวดิ่ง แล้ววางหันหลังชนกัน หรือให้ตาชนกัน จะทำให้ผลิหน่อได้มาก และสม่ำเสมอเป็นระเบียบเรียบร้อย

การเก็บเกี่ยว ในต่างประเทศบอนจะหยุดเจริญเติบโต เมื่ออากาศหนาวจนกระทั่งแข็ง ผู้ปลูกบอนมักจะขุดหัวในเดือนพฤศจิกายนเรื่อยไป เมื่อขุดหัวขึ้นแล้ว นำมาผึ่งในอากาศธรรมดา หัวที่เก็บมาควรวางในถาดก้นแบบที่โปร่งเป็นตาข่าย มีความลึกเท่า ๆ กับความสูงของหัวบอนแล้วนำถาดนี้ไปวางไว้ในที่ร่ม ซึ่งแห้งประมาณ 6 สัปดาห์ หลังจากหัวบอนแห้งแล้ว ก็สามารถเก็บรวมกันไว้พร้อมที่จะขายได้ หรือใช้ปลูกต่อไป อุณหภูมิขณะที่ทำให้แห้งหรือเก็บต้องไม่ต่ำกว่า 16°ซ.

สำหรับการเก็บหัวในประเทศไทย เมื่อถึงระยะฟักตัว บอนจะเริ่มทิ้งใบโดยใบจะเริ่มเหี่ยวแห้งไปในราวเดือนมกราคม-มีนาคม ต้องค่อย ๆ ลดการให้น้ำลง จนกระทั่งงดการให้น้ำโดยเด็ดขาด และเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น จนกระทั่งหัวและดินแห้ง แล้วขุดหัวนำมาตากในอุณหภูมิธรรมดา หรือผึ่งไว้ในที่ร่มมีอากาศถ่ายเท ได้สะดวก อย่าให้ถูกความชื้น เพราะถูกความชื้นอาจงอกได้หรือจะปล่อยทิ้งไว้ในดินก็ได้ แต่ดินนั้นควรจะแห้ง และอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 16.5°

เมื่อพ้นระยะฟักตัวไปแล้ว มันจะแตกใหม่ หัวสามารถเก็บไว้ได้นาน 3-4 เดือน ถ้าหากเก็บไว้นานกว่านี้หัวอาจเหี่ยวหรือฝ่อ นำไปปลูกไม่ได้

โรคและแมลง แมลงที่พบมีอยู่ไม่มากนัก ที่ทำความเสียหายให้มากพอสมควร ได้แก่

1. เพลี้ยอ่อน (Aphids) กินใบ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์

2. เพลี้ยไฟ (Thirips) เกาะอยู่ตามก้านใบ ยอดอ่อน ทำให้หงิกงอเสียรูปทรงไป บางครั้งมดมาดูดกินน้ำหวานจากก้านใบที่เพลี้ยทำลายไว้ทำให้เสียหายหนักขึ้น ใช้มาลาไธออน พาราไธออน หรือ ดี.ดี.ที. พ่น

3. ไรแดง หรือแมงมุมแดง (Spidermite)

4. ไส้เดือนฝอย (Nematode) เป็นปัญหามากเหมือนกัน ถ้าแปลงปลูกเป็นแปลงเล็ก ก็สามารถฆ่าเชื้อในแปลงได้ ถ้าเป็นแปลงใหญ่ ควรเลิกปลูกบอนในที่นั้น และปลูกพืชหมุนเวียนแทน จะช่วยแก้ปัญหาได้

โรคที่พบส่วนมากมี

1. โรคใบจุด          (Leaf spot) เกิดจากเชื้อรา ชื่อ Possypium spp.

2. โรคเน่า    (Soft rot or mushy rot) เกิดจากเชื้อรา Rhizopus nigricans โดยเน่าที่หัว เนื่องจากดินเปียกหรือระบายน้ำไม่ดี หรือการเก็บหัวไม่ดี เก็บในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 10° ซ. หรือเก็บไว้นานจนเกินไป สภาพของหัวจะเสื่อม เกิดอาการเป็นผงแป้ง บีบแล้วฝ่อ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ นอกจากนี้ เชื้อที่ทำให้หัวเน่า อาจเป็นพวกเชื้อ (Pectobacterium caroteuerum, Pellicularia relfaii, Botryotenia ricini

3. โรคใบไหม้ (Foliar burn) มักเกิดเสมอในแปลงหรือโรงเรือน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขาดน้ำ ทำให้ดินแห้ง หรือรากถูกทำลาย มากกว่าที่จะเกิดจากเชื้อโรค

4. โรค Southern blight เป็นปัญหามากในการปลูกบอน โรคนี้มีเชื้อราสาเหตุอยู่ในดิน ชื่อ Sclerotium rolfsii สามารถทำลายต้นบอนได้อย่างรวดเร็ว การฆ่าเชื้อในดินแปลงปลูกหรือกระถางปลูกจะช่วยได้ ถ้าเป็นแปลงใหญ่ก็จะทำได้ยากมาก ดังนั้นจึงใช้วิธีถอนทิ้งและปลูกพืชหมุนเวียน เหมือนกับการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอย และโรคนี้มักเกิดกับแปลงซึ่งปลูกบอนติดต่อกันหลายปี

พันธุ์ บอนสีมีพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย แม้แต่ในต่างประเทศก็ลำดับชื่อไว้ไม่ครบถ้วน มีผู้รวบรวมพันธุ์บอนสีไว้เป็นจำนวน 2,000 ชนิด ในประเทศไทยเองนิยมตั้งชื่อกันเป็น “ตับ” เช่น ตับขุนช้าง ขุนแผน ตับอิเหนา ตับพระอภัยมณี ตับไก่ ตับนก ตับจังหวัด ฯลฯ ซึ่งในแต่ละต้นก็ยังแยกออกเป็นตับต่าง ๆ อีกมากมาย