ข้อมูลของกล้วย


ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa sapientum Linn.
ชื่ออื่นๆ กล้วยไข่ กล้วยใต้ กล้วยส้ม กล้วยหอม (เหนือ) กล้วยนํ้าว้า (กลาง) แหลก(ชอง-จันทบุรี)
ชื่ออังกฤษ Banana


ลักษณะ กล้วยเป็นพืชเมืองร้อน มีลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเหง้าสีนํ้าตาลอ่อน แข็ง มีรากสีน้ำตาล ยาวประมาณ 15-30 ซ.ม. ประมาณ 10-20 ราก
ลำต้นบนดิน มีลักษณะตรง กลมสูง 3-4 เมตร ซึ่งเป็นส่วนของกาบใบมาซ้อนๆ กันจนแน่นสามารถลอกออกมาได้เป็นกาบๆ ทั้งต้นอวบนํ้า ใบเดี่ยวแผ่นใบมีขนาดใหญ่ยาว ปลายและโคนใบมน ขอบใบขนาน ใบกว้าง 35-60 ซ.ม. ยาว 1.50- 1.80 เมตร มีแกนกลางใบเป็นสันนูน ผิวใบมีนวล ดอกช่อพุ่งออกมาจากลำต้นใต้ดิน แทงผ่านกลางลำต้นบนดินมาโผล่ที่ปลายยอด ช่อดอกมีขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า
หัวปลี ช่อดอกมีใบประดับหุ้มมิด เมื่อบานจะเห็นใบประดับย่อยสีม่วงแดง อยู่ภายใน ผลกล้วยรวมกันเป็นเครือ แต่ละเครือประกอบด้วยหลายๆ หวี ในหนึ่งหวีมีผลกล้วยหลายผล รูปร่าง ขนาด สีผล รสชาติของกล้วยเมื่อสุกจะแตกต่างกันแล้วแต่พันธุ์ เป็นต้นว่ากล้วยไข่มีผลขนาดเล็ก ผิวผลสุกสีเหลือง รสชาติหวานอร่อย ส่วนกล้วยนาก ผลใหญ่กว่ากล้วยไข่ ผิวผลเมื่อสุกเป็นสีแดงคลํ้า รสหวาน ในกล้วยบางชนิดไม่มีเมล็ด เช่น กล้วยไข่ กล้วยหอม บางชนิดมีเพียง 2-5 เมล็ด เช่น กล้วยนํ้าว้า บางชนิดมีเมล็ดมาก เช่น กล้วยตานี กล้วยครก เป็นต้น
ส่วนที่ใช้ เหง้า ต้นบนดิน ก้านใบ แกนกลางใบ แผ่นใบ หัวปลี ผลอ่อน ผลแก่จัด ผลสุก
สารสำคัญ ผลดิบมีรสฝาด มีสารพวกแทนนินมาก ผลสุกของกล้วยประกอบด้วยนํ้าตาล และวิตามินหลายๆ ชนิด โปรตีน นํ้ามันหอมระเหย และมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายอืนๆ เช่น nor-epinephrine, serotonin, dopamine และอื่นๆ
ประโยชน์ทางยา กล้วยดิบ ใช้รักษาอาการท้องเดิน โดยใช้กล้วยนํ้าว้าดิบฝานบางๆ ทำให้แห้ง หรือทำให้เป็นผง รับประทานครั้งละ 1/2-1 ผล
กล้วยห่าม ใช้รักษาโรคกระเพาะ ใช้กล้วยหักมุกทิ่แก่จัด ฝานบางๆ ทำให้แห้ง บดเป็นผง รับประทานครั้งละ 2-4 ช้อนชา วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์จึงจะเห็นผล รับประทานจนกว่าจะหายเป็นปกติ ถ้าไม่มีกล้วยหักมุกใช้กล้วยนํ้าว้าแทน
สำหรับการใช้กล้วยรักษาอาการท้องเดินได้ผลดีนั้น เนื่องจากในเนื้อกล้วยดิบมีสารแทนนินอยู่ประมาณ 1.52-1.66% จึงสามารถระงับอาการท้องเดินได้ เนื้อกล้วยนอกจากมีสารแทนนินแล้วยังมีธาตุโปแตสเซียมสูงซึ่งจะไปช่วยชดเชยสารโปแตสเซียมในผู้ป่วยที่ได้สูญเสียไปในขณะที่ท้องเดิน ทำให้เกิดความสมดุลของโปแตสเซียมและโซเดียมในร่างกาย (ในเนื้อกล้วยดิบ 100 กรัม มีโปแตสเซียมอยู่ 401.0 มิลลิกรัม) ผู้ป่วยบางคนเมื่อรับประทานกล้วยน้ำว้าดิบแล้ว จะมีอาการท้องอืดเฟ้อ ให้รับประทานยาขับลมร่วมด้วย เช่น นํ้าขิง จะช่วยทำให้อาการข้างเคียงหมดไป
การใช้กล้วยห่ามรักษาโรคกระเพาะนี้ มีการทดลองในสัตว์พบว่าได้ผลดี ผู้วิจัยเข้าใจว่ากล้วยดิบไปกระตุ้นเซลล์ในเยื่อบุกระเพาะ ทำให้ผลิตนํ้าเมือก (mucin) ออกมามากขึ้น จะไปช่วยเคลือบกระเพาะหรือเคลือบแผลในกระเพาะ จึงช่วยรักษาแผลได้
ในปี 1985 Ghosal ได้แยกสารออกจากกล้วยเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านแผลในกระเพาะที่เกิดจากฮีสตามิน ได้สารชื่อว่า “sitoindoside I-IV” สารทั้ง 4 ชนิดนี้พบว่า sitoindoside IV เป็นสารที่มีฤทธิ์แรงที่สุด

กล้วยสุก – ใช้กล้วยนํ้าว้าสุกงอมรับประทานเป็นยาระบาย รับประทานครั้งละ 2-3 ผล วันละ 2 เวลา เช้าเย็นและต้องรับประทานต่อเนื่องกันอย่างน้อย 7-10 วัน จะช่วยไม่ให้ท้องผูก สำหรับขนาดที่ใช้รับประทานนั้นขึ้นกับคนธาตุหนัก ธาตุเบา บางคนรับประทาน 2 ผลต่อวันติดต่อกันเพียง 4-5 วันก็ได้ผล
-ใช้รักษาโรคกระเพาะ โดยใช้กล้วยนํ้าว้าสุกงอม ใช้กันในอินเดีย และในประเทศไทยบางท้องถิ่น โดยใช้กล้วยสุกงอมรับประทานครั้งละ 2 ผล วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร 1/2-1 ชั่วโมง ต้องรับประทานติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน จึงจะได้ผล
การที่กล้วยสุกงอมสามารถช่วยระบายและเคลือบกระเพาะ เพราะในกล้วยสุกมีสารเพคติน (pectin) อยู่เป็นจำนวนมาก จะไปช่วยเคลือบผนังกระเพาะ และไปช่วยเพิ่มปริมาณของอุจจาระ (bulk laxative) ไปช่วยดันผนังลำไส้ บีบไล่กากอาหารออกมา ทำให้มีการถ่ายออก นอกจากนั้นยังไปช่วยหล่อลื่นลำไส้ ลดอาการระคายเคือง การขับถ่ายจึงคล่องขึ้น
ในเด็กท้องผูก ให้กล้วยนํ้าว้าสุกงอมแก่เด็กเล็ก โดยใช้ช้อนขูดผลกล้วยเบา ๆ เอาแต่เนื้อไส้ไม่เอาเพื่อให้ได้เนื้อกล้วยที่ละเอียด เป็นการง่ายในการที่จะย่อยได้หมดในเด็กเล็ก เพราะถ้าย่อยไม่หมดเด็กจะมีอาการท้องอืดเฟ้อ และไม่สบาย เนื่องจากเด็กยังมีนํ้าย่อยอยู่น้อย ดังนั้นเมื่อเริ่มให้ครั้งแรก ให้ครั้งละเพียง 1/2 ช้อนชา แล้วจึงค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ระวังอย่าให้มากเกินไป สำหรับเด็กที่มีอายุตํ่ากว่า 3 เดือน ไม่ควรให้กล้วย เพราะนํ้าย่อยยังมีไม่มากพอ
– กล้วยสุกใช้เป็นยาอายุวัฒนะ มีการเตรียมยาอายุวัฒนะหลายวิธี แต่ที่ใช้กันทั่วๆ ไปนิยมใช้กล้วยสุกงอม รับประทานครั้งละ 1-2 ผลก่อนนอนทุกคืนกับน้ำผึงเดือนห้า จะทำให้มีสุขภาพดี
การที่ได้ผลดี เนื่องจากกล้วยสุกงอมและน้ำผึ้งมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้มีการขับถ่ายทุกวัน เมื่อระบบการขับถ่ายดี ระบบอื่นๆ ก็จะดีไปด้วย สำหรับคนเป็นโรคเบาหวานไม่ควรใช้ตำรับนี้
หัวปลี– นอกจากจะใช้เป็นอาหารแล้ว ในยาไทยเชื่อว่าเป็นตัวช่วยเพิ่มนํ้านม โดยปรุงเป็นแกงเลียง ให้สตรีหลังคลอดรับประทาน
-หัวปลีใช้ลดนํ้าตาลในเลือด พบว่าในหัวปลีมีสารประกอบเป็นพวก triterpene หรือ steroid สามารถลดระดับนํ้าตาลในเลือดได้
เหง้า ลำต้นใต้ดินของกล้วยที่เรียกว่าเหง้า ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

เปลือกกล้วยหอมสุก ใช้รักษาส้นเท้า ฝ่าเท้าแตก โดยใช้เปลือกกล้วยหอมด้านที่อยู่ติดกับเนื้อ ทาถูบริเวณที่เป็นวันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกัน 5-7 วันจะเห็นผล โดยก่อนที่จะใช้เปลือกกล้วยหอมถูให้ใช้แปรงสีฟันขัดบริเวณที่แตกให้สะอาดก่อน
น้ำยางจากส่วนของกล้วย ใส่แผลห้ามเลือด และรักษาแผลสด การใช้ต้องระวังความสะอาด นํ้ายางควรหยดจากส่วนของกล้วยใส่แผลโดยตรง การที่ใช้ยางกล้วยห้ามเลือด หรือรักษาแผลสดได้เพราะในนํ้ายางมีสารฝาดสมาน (tannin)

ใบตองสด ที่ไม่แก่จะมีนวลสีขาว มีไขมันเคลือบอยู่ที่ผิวใบ รู้สึกลื่น สมัยก่อนใช้ใบตองปูให้คนเป็นฝีดาษ หรือคนที่อยู่ไฟแล้วแพ้พิษไฟนอน เนื่องจากใบตองลื่นมีนวล เมื่อนอนบนใบตองผิวหนังที่พองหรือเป็นแผลไม่ติดบนใบตอง แต่ถ้านอนบนผ้าปูที่นอนหรือเสื่อผิวหนังที่พองหรือเป็นแผลจะติด ทำให้คนไข้ได้รับความเจ็บปวดทรมานมากเมื่อพลิกตัว
ในอินเดียและในไทย ใช้ใบตองอ่อนแทนผ้าพันแผล สำหรับคนไทยนิยมใช้ใบตองอ่อนที่ยังไม่คลี่เจาะรูเล็กๆ ด้วยเข็ม เอาด้านในของใบตองพันติดกับแผล ได้เคยใช้ใบตองสดที่ไม่แก่ และไม่อ่อนเกินไป ปิดแผลไฟไหม้ นํ้าร้อนลวก ในโรงพยาบาลของรัฐปรากฎผลว่า ใช้ได้ผลดีกับแผลระดับ 1 และระดับ 2 ยังได้ทดลองใช้กับบริเวณที่ผ่าตัดผิวหนังไปปลูกที่อื่น (doner area) และบริเวณปลูกถ่ายหนัง (receipient area) ปรากฏผลว่าใช้ได้ แต่มีข้อเสียหลายข้อคือ ไม่สามารถใช้กับแผลไฟไหม้นํ้าร้อนลวกระดับ 3 ไม่สามารถใช้กับอวัยวะบางส่วนเพราะใบตองจะลื่นไหล เช่นตามนิ้วเท้า ซอกต่างๆ และเป็นภาระต้องเตรียม บ่อยๆ จึงได้เลิกใช้ไป
อื่นๆ ใช้เป็นอาหาร ผลกล้วยดิบ ใช้ใส่แกงเป็นผัก หรือรับประทานเป็นผักกับอาหารบางชนิด เช่น แหนมเนือง เป็นต้น
ผลกล้วยห่ามสุก ใช้เตรียมเป็นอาหารหลายชนิด เช่น ทอด เชื่อม บวดชี ทำข้าวต้มผัด ตากแห้ง ฯลฯ และรับประทานเป็นผลไม้ที่มีคุณค่า สูง เนื่องจากในกล้วยสุกมีทั้งโปรตีน วิตามินหลายชนิด มีแร่ธาตุต่างๆ มีเส้นใย และอื่นๆ นอกจากนั้นใช้เตรียมนํ้ากล้วยหอม ทำพั้นช์ ฯลฯ
ปลีกล้วย ใช้เป็นอาหาร เช่น ยำ แกงเลียง รับประทานกับผัดไทยและอื่นๆ
แกนกลางของต้นกล้วย ใช้ปรุงอาหาร ทำห่อหมก แกงเผ็ด
แกงเลียง ฯลฯ
ต้นกล้วย เลี้ยงหมู ทำแพ ฯลฯ
ใยจากต้นบนดิน ใช้ทอผ้า ทำกระดาษ ทำสิ่งทออื่นๆ เช่น กระเป๋า ตะกร้า ทำรองเท้า ฯลฯ
ทั้งต้นของกล้วย ใช้ในงานมงคลคู่กับต้นอ้อย เช่นใช้ในพิธียกเสาเอก พิธี แต่งงาน ฯลฯ
กาบต้นกล้วย ใช้ทำกระทงแทนโฟม ใช้ปักดอกไม้ ช่วยในการลอยตัวของกระทง จักเป็นเส้นตากแห้งใช้สานเป็นเครื่องใช้ เช่น ตะกร้า กระเช้า ฯลฯ
ใบตองสด ใช้ห่อของ ใช้ทำงาน “ใบตอง” เป็นงานประดิษฐ์ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทยเช่น บายศรี กระทง และอื่นๆ
ใบตองแห้ง ใช้ห่อผลไม้บนต้น ป้องกันสัตว์และแมลงศัตรูพืชรบกวน ช่วยบ่มผลไม้ให้สุกเร็วและทำให้ผิวของผลไม้สวย ใช้มวนบุหรี่ ใช้ห่อในการตอนกิ่งไม้
ก้านใบ จักเป็นเส้นๆ ใช้เป็นเชือก และทำของเด็กเล่น
ยางกล้วย ใช้เป็นสีย้อม และสีระบายบนผ้า
ผลกล้วยสุกบางชนิด ใช้ประกอบพิธีบวงสรวง เช่น พิธียกพระภูมิเจ้าที่ ไหว้ครู ฯลฯ ได้แก่ กล้วยนํ้าไท
ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกง่ายสวยงาม เช่น กล้วยบัว กล้วยพัด ฯลฯ
กล้วยเป็นพืชที่มีประโยชน์มากมาย ทุกส่วนใช้ประโยชน์ได้ ผลมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งราคาย่อมเยา นอกจากนั้นส่วนของกล้วยสามารถใช้รักษาโรคได้หลายโรค การปลูกไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก ปลูกง่าย การปลูกกล้วยนอกจากมีประโยชน์ดังกล่าวแล้วยังช่วยทำให้สภาพดินที่ไม่สมบูรณ์นั้นดีขึ้น และยังช่วยลดมลภาวะลงได้ โดยการใช้ส่วนของต้นกล้วย เช่น ใบตอง กาบกล้วย ต้นกล้วยแทนโฟมและพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุที่ก่อให้เกิดมลภาวะมาก ถ้าเรารู้จักนำส่วนของกล้วยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดความสมดุลขึ้นด้วย
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ