งา ปลูกได้ไม่ต้องใช้สารเคมี

งาเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกปี เนื่องจากความต้องการเมล็ดงาทั้งในประเทศและต่างประเทศมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันประเทศไทยผลิตงาได้ปีละประมาณ 35,000 ตัน ใช้บริโภคเองภายในประเทศร้อยละ 45 อีกร้อยละ 55 ของผลผลิตส่งไปขายยังต่างประเทศ ตลาดเมล็ดงาที่สำคัญของไทยได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ในขณะที่ตลาดโลกโดยเฉพาะยุโรปและอเมริกายังมีความต้องการงาอีกมาก ประเทศที่มีการปลูกงามากก็คือ อินเดีย จีน และในอัฟริกา

ในประเทศไทย เกษตรกรมักจะปลูกงาเป็นพืชเสริมหลังการปลูกพืชหลัก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่แห้งแล้วมีน้ำน้อย เพราะงาเป็นพืชที่ปลูกง่าย ลงทุนน้อย ทนต่สภาพแห้งแล้วได้ดี งาจึงปลูกได้ในทุกภาคของประเทศ แต่พื้นที่ที่มีการปลูกงากันมากได้แก่ บุรีรัมย์ ศีรสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม ชัยภูมิ สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย เลย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน นครสวรรค์ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่

ทั้ง ๆ ที่คนไทยมีการบริโภคเมล็ดงา และน้ำมันงากันมานานแล้ว แต่ความตื่นตัวของประชาชนทางด้านการบริโภคเพื่อสุขภาพมีมากขึ้น ทำให้เมล็ดงาและน้ำมันงาเป็นที่สนใจและให้ความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากมีการค้นพบว่าเมล็ดงาและน้ำมันงามีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ต้านทานโรคมะเร็ง จึงทำให้เมล็ดงาและน้ำมันเป็นที่ต้องการ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะหันมาปลูกงากันให้มากขึ้น อีกทั้งงาเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี เพียงแต่ต้องเรียนรู้ถึงธรรมชาติของงากันสักหน่อยก่อนลงมือปลูก

ธรรมชาติของงา

งาเป็นพืชล้มลุก ชอบอากาศร้อนแสงแดดจัด เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 27-30 องศาเซลเซียส ไม่ชอบอากาสเย็น ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสการงอกจะช้าหรืออาจจะชะงักการเจริญเติบโต แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาจะทำให้การผสมติดยาก การสร้างฝักเป็นไปได้ช้า

งาสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่จะขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุ มีการระบายน้ำได้ดี ไม่ทนต่อน้ำขังและไม่ชอบดินเค็ม ถ้าดินเค็มรากของงาจะเจริญเติบโตไม่ดี ทำให้ผลผลิตลดลง

งาเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี งาจะสามารถทนแล้งอยู่ได้จนถึงช่วงระยะออกดอกเป็นช่วงที่งาต้องการน้ำมากที่สุด ถ้าขาดน้ำในช่วงนี้จะทำให้ผลผลิตงาลดลง โดยปกติในฤดูฝนจะมีความชื้นเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตตลอดฤดูกาลปลูกแต่ต้องไม่เปียกแฉะหรือมีน้ำท่วมขัง ถ้าปลูกในฤดูแล้ง ถึงแม้งาจะชอบอากาศร้อนและทนแล้งได้ แต่ถ้าจะให้ได้ผลผลิตที่สูง ก็ต้องมีการให้น้ำเข้าช่วยให้พอเหมาะกับการเจริญเติบโตของงา

พันธุ์งา

งาที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งตามสีของเมล็ดงาได้ 3 ชนิด ได้แก่ งาดำ งาขาว และงาดำแดง

1.  งาดำ ที่ใช้ปลูกกันทั่วไปมี 4 พันธุ์ คือ งาดำบุรีรัมย์ งาดำนครสวรรค์ สองพันธุ์นี้เป็นพันธุ์พื้นเมือง ส่วนอีกสองพันธุ์เป็นพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงคืองาดำ มก.18 และงาดำ มข.2

2.  งาขาว พันธุ์พื้นเมืองได้แก่ พันธุ์เมืองเลย เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ เพราะนำไปสกัดน้ำมันได้น้ำมันที่มีกลิ่นหอม พันธุ์เชียงใหม่ ปลูกมากในเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน พันธุ์ชัยบาดาล หรือสมอทอด เป็นพันธุ์ที่หายากแล้ว อีกสามพันธุ์เป็นพันธุ์ปรับปรุง ได้แก่ พันธุ์ร้อยเอ็ด 1 พันธุ์ มข.1 และพันธุ์มหาสารคาม 60

3.  งาดำ-แดง หรือเรียกกันทั่วไปว่า งาเกษตร ที่ปลูกกันมี 3 พันธุ์คือ พันธุ์พื้นเมืองพิษณุโลก และพันธุ์พื้นเมือง สุโขทัย พันธุ์ที่ปรับปรุง ได้แก่ พันธุ์งาแดงอุบลราชธานี 1 และงาแดงพันธุ์ มข.3

ฤดูกาลปลูก

การปลูกงาในประเทศไทย ปลูกได้ 3 ช่วง คือ

1.  ต้นฤดูฝน  ส่วนใหญ่จะปลูกในนาดอนและนาลุ่ม แถบภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง เดือนพฤษภาคม เก็บเกี่ยวในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม การปลูกงาในช่วงต้นฤดูฝนนี้มีพื้นที่ปลูกถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ

2.  ปลายฤดูฝน  ส่วนใหญ่จะปลูกบนที่ดอน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่แถบภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันตก เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน และเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม

3.  ฤดูแล้ง  ปลูกในเขตที่มีชลประทาน ปลูกในเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เก็บเกี่ยวในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

การปลูก

งาเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ต้องการการดูแลมาก เพียงแต่ต้องเตรียมดินให้ดี ดังนั้นจึงควรพิจารณาพื้นที่ในการปลูกงาให้เหมาะสมดังนี้

1.  เป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขังแฉะ ดินมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร

2.  ดินมีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ไม่เป็นดินเปรี้ยวหรือดินเค็ม ถ้าดินเปรี้ยวให้โรยด้วยปูนขาว ถ้าเป็นดินเค็มให้โรยด้วยแกลบดิน

3.  ไม่ควรปลูกงาในพื้นที่เดียวกันติดต่อกันเป็นเวลาหลาย ๆ ปี เพราะจะทำให้ดินขาดความสมบูรณ์ และเกิดโรคระบาดได้ง่าย

การเตรียมดิน การเตรียมดินเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการปลูกงาเนื่องจากเมล็ดงามีขนาดเล็ก จึงต้องมีการเตรียมดินให้ร่วนซุย จะช่วยให้งางอกได้ดีและงอกได้อย่างสม่ำเสมอ การไถพรวนอาจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโครงสร้างของเนื้อดิน ถ้าเป็นดินทรายอาจไถ 1-2 ครั้ง ถ้าเป็นดินเหนียวอาจไถ 2-3 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้ละเอียด

ในช่วงเตรียมดินนี้ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือไถกลบปุ๋ยพืชสดลงในแปลงที่จะปลูกงา การปลูกงาให้ได้ผลผลิตดีสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพราะงาเป็นพืชที่มีการตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์ได้ดี และจะมีการตอบสนองน้อยต่อปุ๋ยเคมี ยิ่งหากปลูกโดยการใช้พันธุ์พื้นเมือง งาพันธุ์พื้นเมืองจะมีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนได้เป็นอย่างดี

การปลูกงาส่วนใหญ่จะใช้วิธีหว่าน หลังจากเตรียมดินแล้ว ใช้เมล็ดพันธุ์ 1-2 กก.ต่อไร่ หว่านให้กระจายสม่ำเสมอให้ทั่วแปลง แล้วคราดกลบ เนื่องจากเมล็ดงามีขนาดเล็ก อาจทำให้การหว่านไม่กระจาย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีความชำนาญ ให้นำเมล็ดงาผสมกับทรายละเอียด หรือขี้เถ้าแกลบ จะช่วยให้หว่านได้สม่ำเสมอมากขึ้น การปลูกด้วยการหว่านนี้ทำได้ง่าย ประหยัดแรงงานและเวลา รวมทั้งช่วยป้องกันวัชพืชได้ดีด้วยเมื่อต้นงาเติบโตแล้ว

การปลูกอีกวิธีหนึ่งคือ การปลูกเป็นแถว โดยการใช้คราดทำร่องสำหรับโรยเมล็ดตามระยะปลูกที่ต้องการจากนั้นโรยเมล็ดงาลงในร่องปลูก แล้วใช้ดินกลบบาง ๆ หลังจากนั้น 7-10 วัน เมื่อต้นกล้าสูง 6-8 ซม. ให้ถอนแยกให้ได้ระยะต้นตามต้องการ คือประมาณ 30-50 ซม. X 10 ซม. วิธีนี้จะเสียเวลาและแรงงาน และต้องกำจัดวัชพืชระหว่างแถวปลูก แต่สะดวกในการดูแล เมื่อเกิดโรคและแมลง ผลผลิตก็มักจะดีกว่าการปลูกแบบหว่าน

ถ้าหากปลูกในฤดูฝน น้ำฝนก็จะเพียงพอต่อการปลูกงาตลอดฤดูกาล แต่ถ้าหากปลูกในฤดูแล้งก็จำเป็นต้องให้น้ำตามความเหมาะสม ไม่มากเกินไปจนแฉะ และไม่น้อยเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่งาจะออกดอก ไม่ควรให้ขาดน้ำ

การป้องกันโรคและแมลง

โดยปกติงาเป็นพืชที่ปลูกง่ายไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปลูกด้วยพันธุ์พื้นเมือง หากใช้พันธุ์ผสมที่ปรับปรุงขึ้นจะมีโรคและแมลงรบกวน

โรคของงาที่พบบ่อยได้แก่ โรคเน่าดำ โรคใบไหม้และลำต้นเน่า โรคเหี่ยวจากแบคทีเรีย โรคยอดฝอย แนวทางในการป้องกันโรคงาโดยการไม่ใช้สารเคมีทำได้โดย

1.  เลือกปลูกงาพันธุ์พื้นเมืองจะต้านทานโรคได้ดี

2.  เตรียมดินด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพจะทำให้ต้นพืชแข็งแรง

3.  ไม่ควรปลูกงาในพื้นที่เดียวกันติดต่อกันหลายฤดูกาล

4.  อย่าให้มีน้ำขังในแปลงปลูก การมีน้ำขังแฉะมากเกินไป มักเป็นสาเหตุของโรคพืช

5.  เผาทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรค

6.  อาจทดลองใช้สมุนไพรให้เหมาะกับแต่ละโรค

ส่วนแมลงที่รบกวนงา ได้แก่ หนอนห่อยอดและหนอนเจาะฝัก เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญที่สุดของงา นอกนั้นก็มีหนอนผีเสื้อหัวกะโหลก แมลงกินูนเล็ก เพลี้ยจั๊กจั่น มวนเขียวข้าว มวนฝิ่น แนวทางป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูงา ก็คือใช้พันธุ์พื้นเมือง ที่ต้านทานโรคและแมลง หากมีแมลงระบาดให้ใช้สารสกัดสะเดา 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น หมั่นจับทำลายตัวหนอนหากตรวจพบ และไม่ทำลายศัตรูธรรมชาติเช่นแมลงวันก้นขน มันจะช่วยกำจัดหนอนผีเสื้อหัวกะโหลก ใช้แสงจากหลอดไฟดักจับผีเสื้อ

การเก็บเกี่ยวเมล็ดงา

เมื่องาเจริญเติบโตเต็มที่ถึงระยะสุกจะต้องเก็บเกี่ยว เพราะฝักแก่จะแตกออกทำให้เมล็ดงาร่วงเสียหาก การสุกแก่ของงาสังเกตได้ดังนี้

1. ดอก  ดอกสุดท้ายจะร่วง

2.  ใบ  ใบจะมีสีเหลืองและร่วงเกือบหมด

3.  ฝัก  ฝักจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองประมาณ 1 ใน 4 ของต้น

4.  เมล็ด  เมล็ดงาจะค่อนข้างเต่งตึง และเปลี่ยนสีตามพันธุ์

5.  อายุ  นับอายุของงาตาม แต่ละพันธุ์

วิธีการเก็บเกี่ยวงา ใช้เคียวหรือมีดเกี่ยวหรือตัดต่ำกว่าฝักล่างเล็กน้อย ถ้าปลูกในดินทรายหรืองาต้นเล็กจะใช้วิธีถอนทั้งต้นก็ได้ แต่อย่าให้ดินทรายติดต้นงา เพราะทรายจะปนเปื้อนเมล็ดงาเวลาเคาะ

การบ่มงาและการเก็บเมล็ดงา หลังการเกี่ยวต้องนำมาบ่มโดยนำต้นงามากองรวมกัน หันปลายยอดเข้าหากัน วางซ้อนเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วนำฟางข้าว ใบไม้ หรือใบหญ้ามาปิดทับกองไว้ 5-7 วัน หลังการบ่ม ฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลปนดำเสมอกันหมด ส่วนใบจะเปลี่ยนเป็นสีดำและหลุดร่วงไป จากนั้นจึงทำการมัด ตากและเก็บเมล็ดงา

หลังการบ่มงา ทำการเคาะให้ใบร่วงออกให้หมด เหลือแต่ฝักและต้นงา ใช้เชือกมัดต้นงารวมเป็นกำ ๆ นำไปตากแขวนไว้บนราวตาก หลังจากตากไว้ 2-3 วัน ก็นำไปเคาะในภาชนะที่เตรียมไว้ โดยใช้ไม้เคาะมัดของต้นงาเบา ๆ เมล็ดงาจะร่วงลงบนภาชนะโดยง่าย นำมัดต้นงาไปตากแดดอีก 1-2 แดด แล้วนำมาเคาะใหม่อีกครั้ง จึงนำเมล็ดงามาคัดแยกสิ่งสกปรกออกแล้วนำไปบรรจุกระสอบหรือถุงเก็บไว้เพื่อบริโภคหรือจำหน่ายต่อไป

เมล็ดงามีข้อดีอีกข้อหนึ่งคือสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 17 เดือน โดยเก็บไว้ในถุงพลาสติกชนิดหนา ปิดปากถุงด้วยความร้อน เมล็ดยังมีอัตราความงอกถึง 80 %

เอกสารอ้างอิง

การปลูกงา ฝ่ายเอกสารคำแนะนำ กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พืชเศรษฐกิจ คณาจารย์ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักพิมพ์มหาลัยเกษตรศาสตร์ กรกฎาคม 2542