ประเภทของนมพร้อมดื่ม


นมพร้อมดื่มหรือนมสดผ่านความร้อนจะเป็นนมสดที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
ตารางสรุปขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการผลิตนมพร้อมดื่ม


1. นมสดพาสเจอร์ไรซ์ (PASTEURIZED MILK) หมายถึง กรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนไม่ตํ่ากว่า 63 องศาเซลเซียส และคงอยู่ที่อุณหภูมินี้ไม่น้อยกว่า 30 นาที หรือทำให้ร้อนไม่ต่ำกว่า 72 องศาเซลเซียส และคงอยู่ที่อุณหภูมินี้ไม่น้อยกว่า 16 วินาที แล้วจึงทำให้เย็นลงทันทีที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียสหรือตํ่ากว่า ทั้งนี้จะผ่านกรรมวิธีทำนมสดให้เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่ก็ตาม
2. นมสดสเตอริไลส์ (STERILIZATION MILK) หมายถึง นมสดที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนไม่ตํ่ากว่า 100 องศาเซลเซียส ภายในเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ต้องผ่านกรรมวิธีทำให้นมสดเป็นเนื้อเดียวกัน
3. นมสดยูเอชที (ULTRA HIGH TEMPERATURE MILK) หมายถึง นมสดที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนไม่ตํ่ากว่า 133 องศาเซลเซียส ไม่น้อยกว่า 1 วินาที แล้วบรรจุลงในภาชนะภายใต้สภาวะที่ปราศจากเชื้อ ทั้งนี้ต้องผ่านกรรมวิธีทำนมสดให้เป็นเนื้อเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การแบ่งประเภทของนมพร้อมดื่มดังกล่าวข้างต้นเป็นการแบ่งจากลักษณะการผลิต ซึ่งถ้าสังเกตนมพร้อมดื่มที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจะสามารถแบ่งประเภทของนมพร้อมดื่มออกได้เป็น 2 ประเภท คือ นมไม่ปรุงแต่ง หรือที่เรียกกันว่านมจืด นมพร้อมดื่มประเภทนี้จะผลิตจากนมโคทั้งหมด (100%) ไม่มีส่วนผสมอื่นใดเลย และอีกประเภทหนึ่งคือ นมปรุงแต่ง ซึ่งได้แก่ นมประเภทที่มีรสหวานทั้งหลาย นมพร้อมดื่มประเภทนมปรุงแต่งจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เนื่องจากการปรุงรสโดยการเติมนํ้าตาล จะทำให้นมพร้อมดื่มมีรสชาติดีขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังนิยมปรุงแต่งสีและกลิ่นของนมอีกด้วย ซึ่งการปรุงแต่งสีและกลิ่นของนมพร้อมดื่มนี้ ผู้ผลิตมักจะให้สัมพันธ์กัน เช่น นมปรุงแต่งรสกาแฟก็จะแต่งกลิ่นกาแฟ และเปลี่ยนสีนมสดให้มีสีนํ้าตาลแก่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รสของนมปรุงแต่งนั้นส่วนมากจะมีรสเดียวกับไอศกรีมซึ่งส่วนมากจะเป็นรสผลไม้ สำหรับการปรุงแต่งกลิ่น ผู้ผลิตจะนิยมปรุงแต่งกลิ่นด้วยสารสังเคราะห์ที่เรียกว่า ESSENCE
สูตรของนมปรุงแต่งที่ผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดนั้นมีมากมายหลายสูตร ทั้งนี้แล้วแต่ความนิยมของผู้บริโภค แต่จากการสำรวจตลาดพบว่า นมปรุงแต่งที่ได้รับความนิยมมากมีประมาณ 2 สูตร ดังต่อไปนี้
1. นมปรุงแต่งรสช็อกโกเลต นมปรุงแต่งรสนี้นับเป็นรสที่มีผู้นิยมบริโภคมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกรณีของประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งนมปรุงแต่งรสช็อกโกเลตนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ประเภทที่มีตะกอนผงโกโก้ และประเภทที่ไม่มีตะกอนผงโกโก้ ส่วนผสมหลักของนมปรุงแต่งรสช็อกโกเลตนี้ คือ นมโคร้อยละ 94 (อาจใช้นมโคพร่องมันเนยหรือนมโคขาดมันเนยแทน) นํ้าตาลทรายร้อยละ 5 และผงโกโก้ ร้อยละ 1 (รวมทั้งกลิ่นสังเคราะห์ของโกโก้ตามความเหมาะสม) สำหรับนมปรุงแต่งประเภทไม่มีตะกอนผงโกโก้จะต้องเติมสารชนิดที่เรียกว่า COCOLOID หรือมีชื่อทางวิชาการว่า SODIUM ALGENATE ซึ่งสกัดได้จากสาหร่ายทะเล
ส่วนสารแต่งสีให้เป็นโกโก้ คือ คาราเมลหรือน้ำตาลคั่วให้ไหม้
2. นมปรุงแต่งรสกาแฟ นมปรุงแต่งรสนี้ผู้บริโภคนิยมเป็นอันดับสองรองจากนมรสช็อกโกเลต ส่วนผสมจะคล้ายกับนมรสช็อกโกเลต แต่จะใส่ผงกาแฟและ/หรือกลิ่นกาแฟสังเคราะห์ตามความเหมาะสม สำหรับการแต่งสีให้เป็นสีนํ้าตาลแก่ก็จะใช้คาราเมลหรือนํ้าตาลคั่วให้ใหม้เช่นเดียวกันกับนมรสช็อกโกเลต
นมปรุงแต่งที่ผลิตขายอยู่ในตลาดปัจจุบันนี้ ความจริงจะเรียกว่านมปรุงแต่งก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะอยู่ในรูปของนมปรุงแต่ง นมคืนรูป และนมแปลงไขมัน เนื่องจากไม่ได้ใช้นมโคเป็นวัตถุดิบ แต่ใช้นมคืนรูปเป็นวัตถุดิบแทน นอกจากนี้ นมปรุงแต่งนี้ ท้องตลาดยังจำแนกประเภทตามกรรมวิธีการผลิต คือ นมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรซ์ นมปรุงแต่งสเตอริไลส์ และนมปรุงแต่งยูเอชที
วัตถุดิบในการผสิตนมพร้อมดื่ม
นมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์นมในประเทศไทยมี 3 ชนิดด้วยกัน คือ นมโค นมคืนรูป และนมแปลงไขมัน นมโคในที่นี้จะหมายถึงนมโคที่เป็นของเหลวที่รีดมาจากเต้านมโคและยังไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูปใดๆ ซึ่งโดยทั่วๆ ไปจะเรียกว่านํ้านมดิบ (RAW MILK) ส่วนนมคืนรูปจะได้จากการนำเอาส่วนประกอบของนมสดที่ได้ แยกออกไปแล้ว เช่น มันเนย ธาตุนํ้านมไม่รวมมันเนย หรือนมผงจากมันเนย และนํ้ามาผสมกันใหม่ สำหรับนมแปลงไขมันหมายถึงนมโคชนิดต่างๆ ที่ใช้ไขมันอื่นบางส่วน หรือทั้งหมดแทนมันเนยที่มีอยู่
ตามประกาศฉบับที่ 26 (2522) ของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดเปอร์เซ็นต์ มันเนยของนมจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.2 และธาตุนํ้านมไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 8.5 ดังนั้น ถ้าจะนำนมโคมาผลิตเป็นนมสดผ่านความร้อนหรือนมพร้อมดื่ม จะเห็นว่ามันเนยของนมโคมีอยู่สูงถึงร้อยละ 4.0 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน ดังนั้น มันเนยส่วนเกินนี้ทางโรงงานผู้ผลิตนมจะแยกเอาออกเพื่อให้นมพร้อมดื่มที่ผลิตได้มีมันเนยร้อยละ 3.2 ตามกฎหมายเท่านั้น ส่วนเปอร์เซ็นต์ธาตุนํ้านมไม่รวมมันเนยของนมโคนั้นมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 9.1 ซึ่งในทางปฏิบัติถ้าธาตุนํ้านมไม่รวมมันเนยนี้สูงกว่ามาตรฐานเพียงเล็กน้อย ผู้ผลิตจะไม่นิยมปรับเข้าสู่มาตรฐาน เนื่องจากองค์ประกอบประเภทนี้ราคาไม่แพงเท่ามันเนย
ในกรณีของนมคืนรูปที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตนมพร้อมดื่มจะต้องมีคุณภาพมาตรฐานเช่นเดียวกับนมโค ดังนั้น สูตรของการผลิตนมคืนรูปในท้องตลาด สามารถจำแนกได้เป็น 3 สูตร คือ
สูตรที่ 1 นมคืนรูปธรรมดา (สำหรับนมคืนรูป     1,000 กิโลกรัม)
นมผงขาดมันเนย                85.00 กิโลกรัม
มันเนย                        32.00 กิโลกรัม
นํ้ากรอง                        883.00 กิโลกรัม
สูตรนี้เป็นที่นิยมผลิตในโรงงานผลิตนมพร้อมดื่มทั่วไป นมคืนรูปสูตรนี้จะได้นมที่มีคุณภาพค่อนข้างดี ทั้งนี้เพราะนมผงขาดมันเนยนั้นมีคุณสมบัติดี ไม่มีกลิ่นหืน ซึ่งนมคืนรูปที่ผลิตในสูตรนี้เรียกว่า RECOMBINED MILK
สูตรที่ 2 นมคืนรูปธรรมดา (สำหรับนมคืนรูป     1,000 กิโลกรัม)
นมผงธรรมดา                    117.00 กิโลกรัม
นํ้ากรอง                        883.00 กิโลกรัม
สูตรนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก นอกจากต้นทุนจะแพงกว่าสูตรแรกแล้ว บางทีอาจจะทำให้นมคืนรูปมีกลิ่นหืนในกรณีที่เก็บนมไว้นานเกินกำหนด นมคืนรูปที่ผลิตในสูตรนี้เรียกว่า RECONSTITUTED MILK
สูตรที่ 3 นมคืนรูปขาดมันเนย (สำหรับนมคืนรูป 1,000 กิโลกรัม)
นมผงขาดมันเนย                87.80 กิโลกรัม
นํ้ากรอง                        912.20 กิโลกรัม
โดยที่อัตราส่วนของนมผงขาดมันเนย : นํ้า = 1 : 10.38
สำหรับนมแปลงไขมันที่มีการผลิตในต่างประเทศมี 2 ลักษณะ คือ
1. FILLED MILK หมายถึง นมที่ผลิตขึ้นโดยใช้ไขมันอื่นบางส่วนหรือทั้งหมดแทนมันเนย อย่างไรก็ตาม นมแปลงไขมันที่ผลิตในประเทศมีลักษณะของนมคืนรูปด้วยแต่ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องจริงๆ ควรจะเรียกว่า “นมคืนรูปแปลงไขมัน” หรือ “นมแปลงไขมันคืนรูป” แต่ปัจจุบันนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 26 ก็ไม่ได้กำหนดเอาไว้ จึงใช้เพียงนมแปลงไขมันเท่านั้น
2. IMITATION MILK หมายถึง สิ่งที่มีลักษณะคล้ายนม แต่ใช้ไขมันอื่นทดแทนมันเนย หรืออาจจะเรียกว่านมเทียม อย่างไรก็ตาม นมพร้อมดื่มสูตรนี้ยังไม่มีการผลิตในประเทศ
ในการผลิตนมแปลงไขมันนั้น ไขมันที่นิยมใช้ได้แก่ นํ้ามันมะพร้าวผสมกับนํ้ามันจากส่วนเนื้อของปาล์มนํ้ามัน ในอัตราส่วน 1 : 1 ทั้งนี้เพื่อจะให้มีกรดลีโนเลอิคประมาณร้อยละ 3 เช่นเดียวกับมันเนย สูตรการผลิตนมแปลงไขมันจะคล้ายๆ กับสูตรการผลิตนมคืนรูป แตกต่างกันก็แต่เพียงสูตรนมแปลงไขมันใช้นํ้ามันพืชแทนมันเนยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นมโค หรือนํ้านมดิบเป็นวัตถุดิบที่ดีที่สุดสำหรับทำผลิตภัณฑ์จากนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมพร้อมดื่ม อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้นมโคที่ผลิตภายในประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอ จึงจำเป็นจะต้องใช้นมคืนรูปและนมแปลงไขมันเป็นวัตถุดิบควบคู่กันไปก่อน
การตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบก่อนการรับซื้อ
เนื่องจากโคนมในประเทศไทยยังมีปริมาณนํ้านมไม่มากเท่าในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจึงนิยมรีดนมโควันละ 2 ครั้ง คือ เวลาเช้าประมาณ 5.00 น. และเวลาบ่ายประมาณ 15.00 น. ดังนั้น เกษตรกรจะส่งนมตอนเช้าเวลาประมาณ 7.00-8.00 น. และตอนบ่ายเวลาประมาณ 17.30-18.30 น. การส่งน้ำนมดิบในบางท้องที่ศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบจะมีรถไปรับนํ้านมดิบเอง แต่บางแห่งเกษตรกรจะต้องนำนํ้านมมาส่งที่ศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบ อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบจะยังไม่ตีราคานมให้เลยว่านมของแต่ละฟาร์มในวันนั้นจะได้รับราคาเท่าใด จนกว่าจะได้มีการทดสอบด้านคุณภาพองค์ประกอบของนมเสียก่อน จึงจะคำนวณราคาให้ได้ ซึ่งการตรวจสอบคุณภาพของนมก่อนการรับซื้อจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้
1. การตรวจสอบชั้นต้น หรือการทดสอบที่ชานชาลา (PLATFORM TEST)
เป็นการตัดสินใจว่าจะรับซื้อนมถังใดหรือไม่ ถ้านมถังใดผ่านการทดสอบจึงจะรับไว้ เพื่อทดสอบในขั้นต่อไป และตีราคานํ้านมดิบของถังนั้น ส่วนนมถังใดไม่ผ่านการทดสอบ จะต้องแจ้งให้เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของทราบและมารับคืนไป การตรวจสอบขั้นต้นนี้ยังแยกออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ
1.1 ออกาโนเล็บติคเทสต์ (ORGANOLEPTIC TEST) คือการตรวจสอบคุณภาพของนมโดยใช้ประสาทสัมผัส ได้แก่ การดูสีของนม การดมกลิ่น และการชิมรส เจ้าหน้าที่ของศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบจะเขย่าถังนมและเปิดฝานมออกดูสีว่าเป็นปกติหรือไม่ โดยปกติแล้วนมจะมีสีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง ดังนั้น ถ้านมมีสีแดงปนหรือมีสีดำเป็นจุดๆ ถือว่ามีสีผิดปกติก็จะส่งนมคืนแก่เกษตรกร ส่วนในการดมกลิ่นนั้น โดยปกตินมจะมีกลิ่นคาวนิดๆ ดังนั้นถ้านมมีกลิ่นหืนหรือกลิ่นไม่สะอาดไม่ควรรับนมไว้ ขั้นต่อไปจะต้องใช้ช้อนสะอาดตักนมประมาณ 1 ซี.ซี. ชิมดู ซึ่งปกตินมจะมีรสหวานนิดๆ ของนํ้าตาลแลคโตส แต่ถ้านมมีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นบูดแสดงว่านมเสียหรือจวนจะเสีย ไม่ควรรับนมชนิดนี้ไว้ นอกจากนี้การชิมนมนี้จะทำให้สามารถรู้ได้ว่านมนั้นเติมนํ้ามาหรือไม่ เพราะนมที่เติมนํ้ามาจะมีรสจืดจาง แต่โดยปกติแล้วนมจะมีรสเข้มข้น
1.2 แอลกอฮอล์เทสต์ (ALCOHOL TEST) เป็นการทดสอบเพื่อพิสูจน์ว่านมนั้นจะอยู่ตัวคงทนความร้อนได้ดีเพียงใดหรือไม่ เมื่อนำนมนั้นไปผลิตเป็นนมพร้อมดื่ม และอีกประการหนึ่งการทดสอบในขั้นตอนนี้จะเป็นการยืนยันผลการทดสอบในขั้นแรก เช่น เมื่อชิมดูปรากฎว่านมถังหนึ่งมีรสเปรี้ยวนิดๆ และกลิ่นบูดหน่อยๆ ผู้ปฏิบัติการไม่กล้าตัดสินใจว่าจะรับนมนั้นไว้หรือไม่ก็สามารถจะทดสอบโดยวิธีนี้ได้ โดยเก็บตัวอย่างนม 1 ซี.ซี.ใส่หลอดทดสอบเติมเอ็ททิลแอลกอฮอล์ (68%) จำนวน 1 ซี.ซี. ลงไป ปิดปากเขย่าขวดเพื่อให้นํ้านมและแอลกอฮอล์ผสมเข้ากันดี สังเกตดูการตกตะกอนที่เกิดขึ้น ถ้านมตกตะกอนแสดงว่านมจวนเสียแล้ว หรือไม่ก็เป็นนมที่ไม่ทนความร้อน ไม่ควรรับไว้
2. การตรวจสอบนมในห้องปฏิบัติการ เมื่อตรวจสอบนมขั้นต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องเก็บตัวอย่างนมเพื่อทดสอบในขั้นต่อไป ทั้งนี้เพื่อนำผลในการทดสอบมาประกอบการตีราคานม โดยการทดสอบนี้จะเป็นการทดสอบหาเปอร์เซ็นต์ของมันเนย การทดสอบหาเปอร์เซ็นต์ของธาตุนํ้านมทั้งหมด และการทดสอบหาปริมาณจุลินทรีย์ เพื่อการทดสอบหาชั่วโมงการเปลี่ยนสีเมททีลีนบลู (METHYLENE BLUE REDUCTION TEST) ซึ่งการทดสอบทั้งสามอย่างนี้นับเป็นการทดสอบที่จำเป็น ควรจะได้ทำสัปดาห์ละครั้ง หรือ 3 เดือนครั้งแล้วแต่กำหนด ส่วนการทดสอบอย่างอื่นที่นอกเหนือจากนี้อาจจะทำได้เมื่อเกิดกรณีสงสัย
การกำหนดราคารับซื้อน้ำนมดิบ
เนื่องจากการผลิตนํ้านมดิบในประเทศมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของนม ดังนั้น ผู้รับซื้อนํ้านมดิบหรือศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบจึงวางระเบียบการตีราคารับซื้อนํ้านมให้รัดกุม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเติมนํ้าและเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรผลิตนมให้สะอาดยิ่งขึ้น ตัวอย่างของการตีราคารับซื้อนํ้านมดิบจากศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบขององค์การ ส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อสค. ได้ร่างระเบียบการตรวจสอบและซื้อนํ้านมดิบ พอจะสรุปได้ดังนี้
1. ไขมัน ถือมาตรฐานร้อยละ 3.3 ในกรณีที่ไขมันในนํ้านมดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ราคารับซื้อนํ้านมดิบจะเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 2 สตางค์ และในทางตรงกันข้าม ถ้าไขมันนํ้านมดิบลดลงร้อยละ 0.1 ราคานํ้านมดิบจะลดลงกิโลกรัมละ 2 สตางค์
2. การแบ่งเกรดของนํ้านม โดยดูจากจำนวนชั่วโมงของการเปลี่ยนสีเมททีลีนบลู (ซึ่งเป็นการตรวจสอบจุลินทรีย์)

จำนวนชั่วโมงก่อนเปลี่ยนสี        เกรด        ราคา(สตางค์/กก.)
มากกว่า 6 ชั่วโมง                                1                +15
มากกว่า 4-6 ชั่วโมง                            2                +10
มากกว่า 3-4 ชั่วโมง                            3                +5
น้อยกว่า 3 ชั่วโมง                                4                -15
3. ถ้านมมีจุลินทรีย์ทนความร้อนเกินกว่า 5,000 ตัว/มิลลิกรัม จะตัดราคานมกิโลกรัมละ 20 สตางค์ ในเดือนที่ตรวจพบ
4. ถ้านมมีเม็ดโลหิตขาวเกินกว่า 100,000 เซลล์/มิลลิกรัม จะตัดราคานํ้านมดิบ กิโลกรัมละ 20 สตางค์ในเดือนที่ตรวจพบ
5. ถ้าตรวจพบว่าเติมนํ้าหรือสารอื่นใดเพื่อเพิ่มปริมาณนํ้านม จะถูกปรับเป็นเงิน 30 เท่าของมูลค่านํ้านมดิบในวันที่ตรวจพบ
6. ถ้าตรวจพบว่าเติมสารเคมีหรือยาปฏิชีวนะอื่นใดเพื่อรักษาคุณภาพนํ้านม จะถูกปรับเป็นเงิน 15 เท่าของมูลค่านํ้านมดิบในวันที่ตรวจพบ
7. การตรวจสถานที่รีดนมจะมีคะแนนและเงินค่านมเพิ่มโดยกำหนดเป็นมาตรฐาน ไว้ดังนี้คือ
สภาพ            คะแนน            ราคา (สตางค์/กก.)
ดีมาก                  5                    +15
ดี                         4                    +12
ปานกลาง           3                    +9
พอใช้                 2                    +6
เลว                      1                    +3
เลวมาก             0                      0
อย่างไรก็ตาม สมาชิกมีสิทธิ์ที่จะยินยอมให้ตรวจสถานที่หรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าหากไม่ยอมให้ตรวจก็จะไม่ได้รับคะแนนและเงินค่านํ้านมดิบเพิ่มจากหมวดนี้
สำหรับระเบียบตรวจสอบและซื้อนมของสหกรณ์โคนมหนองโพ จังหวัดราชบุรี พอจะสรุปได้ดังนี้
1. ไขมัน ถือมาตรฐานร้อยละ 3.5 และไขมันทุกๆ ร้อยละ 0.1 ที่เพิ่มขึ้นจะได้ราคาน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 3 สตางค์ ในทางตรงกันข้าม ไขมันทุกๆ ร้อยละ 0.1 ที่ตํ่ากว่ามาตรฐาน ราคานํ้านมดิบรับซื้อจะลดลงกิโลกรัมละ 1 สตางค์
2. ความถ่วงจำเพาะ ถือมาตรฐาน 1.027 และทุกๆ 0.001 ที่สูงกว่ามาตรฐานจะได้ราคานํ้านมดิบเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 2 สตางค์ ในทางตรงข้ามทุกๆ 0.001 ที่ตํ่ากว่ามาตรฐานจะได้รับราคาน้ำนมดิบกิโลกรัมละ 2 สตางค์
3. ครามระอาด แบ่งเป็น 6 เกรด ดังนี้
เกรด 1        สะอาดมากที่สุด        +25 สตางค์/กก.
เกรด 2        สะอาด                       +15 สตางค์/กก.
เกรด 3        พอใช้                          –
เกรด 4        สกปรก                       -15 สตางค์/กก.
เกรด 5         สกปรกมาก              -50 สตางค์/กก.
เกรด 6         สกปรกที่สุด             -100 สตางค์/กก.
4. ตรวจรอบจุลินทรีย์ โดยใช้
เกรด 1    สีของเมททีลีนบลูคงอยู่นานกว่า 7 ชม.       +30 สตางค์/ กก.
เกรด 2    สีของเมททีลีนบลูคงอยู่นานกว่า 6-7 ชม.  +25 สตางค์/ กก.
เกรด 3    สีของเมททีลีนบลูคงอยู่นานกว่า 5-6 ชม.  +15 สตางค์/กก.
เกรด 4    สีของเมททีลีนบลูคงอยู่นานกว่า 4-5 ชม.   – 5 สตางค์/ กก.
เกรด 5    สีของเมททีลีนบลูคงอยู่นานกว่า 3-4 ชม.   -15 สตางค์/กก.
เกรด 6    สีของเมททีลีนบลูคงอยู่ภายใน 3 ชม.         -50 สตางค์/ กก.
5. คะแนนคอก เป็นคะแนนหมวดพิเศษที่ตั้งขึ้นสำหรับผู้ที่มีคอกโคและระบบสุขาภิบาลที่ถูกต้อง โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1-10 สตางค์/กิโลกรัม จากราคาพื้นฐานที่ตั้งไว้ 4.50/ กิโลกรัม
การเก็บรักษาน้ำนมดิบเพื่อรอการแปรรูป
นํ้านมดิบที่ขนส่งเข้ามาสู่โรงงานนมนั้น บางครั้งจะไม่ได้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมได้ในทันที อาจจะต้องเก็บรักษาไว้หลายชั่วโมง หลายวัน หรืออาจจะนานถึง 2-3 เดือน ซึ่งโดยปกติการเก็บนํ้านมดิบจะเก็บไว้ได้นานไม่เกิน 2 สัปดาห์ ดังนั้น การเก็บนํ้านมดิบเพื่อรอการแปรรูปจึงจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การเก็บนมเย็นจัด (CHILLED MILK) คือ การเก็บนมที่อุณหภูมิระหว่าง 1-5 องศาเซลเซียส (โดยปกติประมาณ 2 องศาเซลเซียส) ซึ่งการเก็บที่อุณหภูมินี้จะทำให้นมมีคุณภาพดีมีรสหวานอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ (โดยปกติประมาณ 5 วัน)
2. เก็บนมเย็นจัดจนแข็ง (FROZEN MILK) คือ การทำนมให้เย็นจนแข็งแล้ว เก็บอยู่ในสภาพแข็ง คือ ระหว่างอุณหภูมิ -1 ถึง -4 องศาเซลเซียส จะทำให้นมมีคุณภาพดี คงรสหวานไว้ได้นานประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งการเก็บรักษานํ้านมวิธีนี้จะต้องนำนมไปผ่านความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายเอนไซม์ไลเปสเสียก่อน แล้วจึงทำให้เย็นจนแข็ง อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังก็คือ อย่าเก็บนํ้านมดิบที่อุณหภูมิ -5 องศาเซลเซียส เพราะแลคโตสในนํ้านมจะปลดปล่อยแคลเซียมออกมา ทำให้โปรตีนนมตกตะกอนแข็งตัว
ที่มา:ส่วนวิจัยเกษตรกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกสิกรไทย