ปาล์มประดับขุดล้อม

ในการพัฒนาที่ดินเพื่อจัดทำเป็นสนามกอล์ฟ สวนสาธารรณะ แหล่งพักผ่อน ศูนย์การค้า หรือแม้แต่โครงการบ้านจัดสรร ผู้ประกอบการย่อมต้องการให้ต้นไม้ในพื้นที่นั้น ๆ มีความร่มรื่น เขียวขจี เป็นระเบียบเหมือนกับจะเนรมิตรให้ต้นไม้นั้นโตและสวยได้อย่างทันทีทันใด วิธีดังกล่าวทำได้อย่างเดียวเท่านั้น คือ การขุดล้อม (ball and burlap) ย้ายต้นไม้ขนาดใหญ่ตามต้องการเอาเข้ามาปลูก

ต้นไม้ใหญ่มาจากไหน

ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่วงการจัดสวนต้องการมากมักจะมีลักษณะเด่นที่ทุกคนยอมรับเช่น มีทรงต้นสวยงาม แตกกิ่งเป็นพุ่มเป็นชั้น มีกิ่งก้านสมดุล มีดอกสวย ดอกมีกลิ่นหอม เช่น พญาสัตบรรณหรือตีนเป็ด ต้นทุ่งฟ้า ต้นปีบ ต้นกระพี้จั่นหรือบี้จั่น ต้นกะบุยหรือเที๊ยะ (Alstonia spathulata) ต้นศรีตรัง ต้นกุ่มบก ต้นลำดวน โมกมัน ราชพฤกษ์หรือคูน ประดู่แดง ทองกวาว สารภี บุนนาค ฯ ต้นไม้ไทยดังกล่าวขึ้นอยุ่ตามป่า ตามริมถนนในเขตทางหลวง ตามข้างบ้านข้างรั้ว รวมทั้งตามสวนเอกชน ต้นไม้เหล่านี้ถูกประเมินค่าตามขนาดและความสวยงามแล้ว ก็จะถูกขุดล้อมย้ายเข้ามาปลูกในสิ่งแวดล้อมใหม่ตามที่คนเมืองต้องการ  ยิ่งนับวันต้นไม้ดังกล่าวจะยิ่งหายากและมีราคาสูงมากขึ้นตามลำดับ

ทางเลือกใหม่

ต้นไม้ใหญ่บางต้นเมื่อขุดย้ายแล้วตาย  อันเนื่องมาจากสภาพไม่เหมาะสมเช่น ขึ้นอยู่ในดินทรายหรือดินร่วน  ขึ้นอยู่ในดินลูกรัง เมื่อขุดย้ายตุ้มจึงแตกได้ง่าย บางต้นมีระบบรากไม่สมบูรณ์ หรือบางครั้งเกิดความผิดพลาดอันเนื่องมาจากการขนส่ง ทำให้ต้นไม้ชอกช้ำมาก หรือถ้าปลูกในที่ลมแรงก็ทำให้เหี่ยวเฉาได้ง่าย ผู้ประกอบธุรกิจขุดล้อมต้นไม้จึงต้องขวนขวายหาต้นไม้ชนิดอื่นเข้ามาเสริมหรือทดแทน  ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือปาล์มประดับ

ต้นตาลขนาดใหญ่ขุดย้ายไม่ได้จริงหรือ

นักจัดส่วนรุ่นเก่า ๆ มักจะย้ายปาล์มประดับกันเฉพาะต้นเล็ก ๆ ที่รู้จักกันทั่วไป เช่น หมากเหลือง หมากนวล หมากเขียว แชมเปญฯ ส่วนต้นที่มีขนาดใหญ่ยังไม่มีการขุดย้ายกัน  อันอาจเนื่องมาจากยังไม่มีต้นขนาดใหญ่ให้ขุดย้าย หรือยังไม่มีคนกล้าขุดย้าย  โดยเฉพาะต้นตาลขนาดใหญ่นักจัดสวนส่วนมากมีความเชื่อกันว่าย้ายไม่ได้  ความเชื่อนี้มีมานานจนกระทั่งมีการจัดทำสวนตาลขึ้นในพุทธมณฑล  แล้วมีการใช้รถขุดล้อมขนย้ายต้นตาลขนาดใหญ่มาปลูกประดับ ปรากฎว่าต้นตาลเหล่านั้นก็เจริญเติบโตเป็นอย่างดีมาจนถึงปัจจุบันนี้ หลังจากนั้นมาการขุดย้ายต้นตาลขนาดใหญ่ก็นิยมทำกันอย่างแพร่หลายจนเป็นเหตุการณ์ปกติ

ปาล์มน้ำมัน ยักษ์ใหญ่ในวงการปาล์มขุดล้อม

หลังจากเกิดเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นเกย์ขึ้นที่จังหวัดชุมพรและระนองเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 ในครั้งนั้นพืชที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือ มะพร้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน  เพื่อพิจารณาถึงพื้นที่ปลูกของปาล์มน้ำมันในขณะนั้น  ส่วนใหญ่จะมีอายุ 5-6 ปี มีความสูงของส่วนลำต้นประมาณ 1 เมตร  ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงที่กำลังสวยพอดี  พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแต่ละแห่งเสียหายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับทิศทางของพายุหมุนที่ผ่านไป  แต่เจ้าของสวนปาล์มส่วนมากต้องการไถทิ้งเพื่อปลูกใหม่ให้สม่ำเสมอกัน  ในโอกาสเดียวกันนี้เองที่นักจัดสวนมองเห็นกำไรมหาศาล เมื่อนำปาล์มน้ำมันเหล่านั้นมาปลูกประดับสวน  ในขณะที่มีต้นทุนต่ำมาก ปรากฎว่าธุรกิจนี้ได้ผลดีเกินคาด ความนิยมพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด  ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะพบแต่ปาล์มน้ำมันขุดล้อมกันทั้งหมดจนแทบกล่าวได้ว่ากรุงเทพฯ กลายเป็นจังหวัดในภาคกลางที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุด

จุดเสื่อมของปาล์มน้ำมัน

เมื่อธุรกิจขุดล้อมปาล์มน้ำมันขยายตัวมากขึ้น  การแข่งขันในด้านการตลาดก็มีมากขึ้น  ราคาของต้นปาล์มรวมกับค่าขนส่งและค่าบริการปลูกลดลงตามลำดับ  จากต้นละหนึ่งหมื่นห้าพันบาทลงมาจนถึงต้นละสามพันบาทในปัจจุบัน  วิธีการลดต้นทุนต่าง ๆ นานาถูกงัดขึ้นมาใช้กันอย่างเต็มที่  ไม่ว่าจะเป็นการใช้ต้นปาล์มที่ด้อยคุณภาพ ต้นปาล์มหมดอายุให้ผล  ต้นปาล์มที่สูงเก็บเกี่ยวผลได้ลำบาก  มีการลดขนาดของตุ้มดินลงมาจนถึงขั้นที่ไม่มีดินติดเลยเพื่อให้มีน้ำหนักเบา  จะได้ขนส่งได้ครั้งละมาก ๆ ให้ราคาต้นทุนต่อต้นต่ำที่สุด ผลที่ตามมาคือ ต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกจะตั้งตัวได้ช้า มีอาการทรุดโทรม และที่สำคัญที่สุดคือคนเริ่มเบื่อเนื่องจากอาการ “ชินตา”

“อินทผลัม” พระเอกตัวใหม่

ถึงแม้ว่าปาล์มน้ำมันจะมีข้อดีที่มีทรงพุ่มใหญ่ มีก้านยาว มีใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ทนลมได้ดี และมีลำต้นที่ใหญ่สูงสง่างามพร้อมกับให้ความเด่นมีศักดิ์ศรีต่อสถานที่ปลูกก็ตาม แต่เมื่อคนเบื่อเสียแล้ว ก็เป็นธรรมดาของผู้ที่ไม่ชอบความจำเจจะต้องไขว่คว้าหาปาล์มประดับตัวใหม่เข้ามาแทนที่อยู่เสมอ แล้วอินทผลัมก็ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งดังกล่าว  ซึ่งอินทผลัมเองก็มีข้อได้เปรียบปาล์มน้ำมันคือ มีหลายชนิด (species) ให้เลือกมีทรงพุ่มขนาดต่างกันที่สวยงามและนิยมปลูกกันเช่น อินทผลัมโคราช หรืออินทผลัมเมืองเพชร (Phoenix sylvestris) อินทผลัมคานาเรียนซีส (Phoenix canariensis) อินทผลัมรูปิโคลา (Phoenix rupicola) อินทผลัมซีลอน (Phoenix pusila หรือ P.zeylanica) อินทผลัมเซเนกัล (Phoenix reclinata) ยกเว้นอินทผลัมกินผล (Phoenix dactylifera) ที่ไม่นิยมกันเนื่องจากมีก้านใบที่ไม่สวย อินทผลัมยังมีข้อดีที่ปลูกได้ทุกสภาพภูมิประเทศ มีเมล็ดจำนวนมาก และมีอัตราการงอกสูง มีความสง่างามมาก แต่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า และที่โชคร้ายไปหน่อยคือมีต้นที่ขนาดใหญ่จำนวนไม่มากนัก ทำให้ราคาซื้อขายอยู่ในเกณฑ์สูงมาก ขนาดหลายหมื่นหลายแสนบาททั้งนั้น  เราจึงพบกันว่าอินทผลัมขนาดใหญ่ที่สวย ๆ มักปลูกอยู่เฉพาะในบ้านเศรษฐีที่ใจถึงเท่านั้น

“ปาล์มขวด” พระเอกตัวต่อมา

ปาล์มประดับตัวใหม่ที่มีความเด่นสูสีกับปาล์มน้ำมัน และอินทผลัมก็คือปาล์มขวด  ซึ่งมีข้อดีที่ปลูกได้ทุกสภาพภูมิประเทศ มีเมล็ดจำนวนมากและมีอัตรางอกสูง แถมยังเจริญเติบโตได้เร็วมาก  แต่ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกับอินทผลัมคือไม่ค่อยมีคนปลูก ต้นขนาดใหญ่ไว้เป็นจำนวนมากนัก พอต้องการขึ้นมาก็หาไม่ค่อยได้  ทำให้ราคาซื้อขายต้นปาล์มขวดขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์สูง  จนนักจัดสวนส่วนมากต้องหันมาหาปาล์มขวดที่มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก และมีราคายังไม่สูงมาก

ปาล์มประดับตัวอื่นได้โอกาสเกิด

จากสถานการณ์ที่ปาล์มประดับแต่ละต้นนับตั้งแต่ต้นตาล ปาล์มน้ำมัน อินทผลัม และปาล์มขวด ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาใช้ประดับตกแต่งกันตามลำดับ  ทำให้นักจัดสวนและผู้ปลูกเลี้ยงปาล์มประดับรายใหญ่จำนวนมากเริ่มขยับตัว และหาทางที่จะปลูกปาล์มประดับต้นอื่น ๆ ที่มีความสวยงามและมีความเหมาะสมกับสภาพของภูมิอากาศในเมืองไทย เพื่อเอาไว้ขุดล้อมขาย  ในเวลาต่อมาได้มีการคัดเลือกปาล์มพื้นเมืองของไทยมาปลูกลงแปลงกลางแจ้งขนาดใหญ่  แล้วบำรุงรักษาเหมือนแปลงไม้ผลทั่วไป  ต้นปาล์มเหล่านี้ได้แก่ เต่าร้างยักษ์ เต่าร้างแดง ลาน หมากแดง หมากงาช้าง กระพ้อ ค้อ หมากเจ หมากหอม สิบสองปันนา ส่วนปาล์มที่ต้องปลูกในที่ร่มรำไร เช่น จั๋ง เจ้าเมืองตรัง เจ้าเมืองถลาง ช้างร้องไห้ ปาล์มบังสูรย์ ฯ

ปาล์มเมืองนอกได้เปรียบกว่า

เมื่อเปรียบเทียบปาล์มพื้นเมืองของไทยกับปาล์มจากต่างประเทศแล้ว ปาล์มพื้นเมืองยังมีข้อเสียเปรียบอยู่คือเป็นปาล์มที่ชิดต่อสายตาคนไทย จึงรู้สึกว่าไม่แปลกใหม่ นอกจากนี้ปาล์มพื้นเมืองหลายชนิดมีถิ่นกำเนิดจากป่าดงดิบชื้น  จึงยังคงต้องการการบำรุงรักษาเป็นพิเศษสักหน่อย  เช่นอยู่ในที่ร่มรำไรและต้องการความชื้นค่อนข้างมาก แต่สำหรับปาล์มจากต่างประเทศหลายชนิดสามารถปรับตัวอยู่ในสภาพของเมืองไทยได้เป็นอย่างดี  จนคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นปาล์มของไทยเอง ที่พิเศษคือปาล์มต่างประเทศพวกนี้มีสีสัน มีทรงพุ่มสวยงาม ทำให้นักจัดสวนสั่งเมล็ดเข้ามาปลูกกันเป็นว่าเล่นไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำพุ ตาลสีฟ้า ตาลแดง ตาลเหลือง ตาลน้ำเงิน ฟอกเทล นอร์แมลไบยาแว๊กซ ปาล์มสามทาง ปาล์มบูเตีย อ้ายหมีฯ หรือแม้กระทั่งปาล์มเมืองนอกรุ่นเก่า ๆ เช่น แชมเปญ ปาล์มพัดหรือปาล์มมงกุฏ ปาล์มจีบ ปาล์มขวด หมาก-เหลือง หมากเขียว ฯ

ปาล์มประดับ..ขุดล้อมได้ง่ายที่สุด

แปลงปลูกเลี้ยงปาล์มประดับกลางแจ้งขนาดใหญ่  ถ้าจะเปรียบแล้วก็เหมือนกับสถานอนุบาลต้นปาล์มคือปลูกจากต้นขนาดเล็ก บำรุงรักษา ตัดแต่งจนเจริญเติบโตมีความสวยงามและมีขนาดตามต้องการ ก็จะขุดล้อมออกขาย เมื่อเปรียบเทียบกับไม้ประดับชนิดอื่น ๆ แล้วปาล์มประดับมีความได้เปรียบอยู่มาก  เนื่องจากปาล์มประดับเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว  มีก้านใบน้อย  เวลาขนส่งจะมัดรวบก้านใบ มีระบบรากเป็นแบบรากฝอย มีรากจำนวนมากยึดเกาะดินได้ดีจึงไม่ต้องกลัวตุ้มดินแตก  เมื่อเวลาปลูกแล้วก็จะแตกรากใหม่หาอาหารได้เร็ว นักขุดล้อมต้นไม้ขายถือกันว่า ปาล์มประดับเป็นไม้ประดับที่ขุดล้อมง่ายที่สุด และถ้าขุดล้อมปาล์มประดับแล้วยังตายอีกละก็ “ไม่ต้องไปทำมาหากินอาชีพอื่นหรอกครับ”

ป้องกันการเหี่ยวตายได้อย่างไร

ปาล์มประดับที่มีราคาแพง  ผู้ขุดล้อมอาจจะเกรงว่าจะเหี่ยวเฉาหรือตาย  เพราะถ้าตายก็หมายถึงต้องสูญเสียเงินก้อนโต  และยังต้องไปหาต้นขนาดเดียวกันมาปลูกทดแทนเป็นการเพิ่มภาระอีกทอดหนึ่ง  วิธีป้องกันการเหี่ยวเฉาทำได้ง่าย เช่น เวลาขุดล้อมก็ขุดเพียงด้านข้างลงไปให้ลึก 1 หรือ  2 ฟุต แล้วแต่ขนาดของต้นหรือขนาดของตุ้มดิน  จากนั้นห่อมัดด้วยกระสอบทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ เป็นการเตือนให้ต้นปาล์มรู้ตัว ต่อมาจึงขุดด้านล่างของตุ้มแล้วมัดด้วยกระสอบก็เป็นอันเสร็จกรรมวิธีในการขุดล้อม  ส่วนในการขนส่งก็ให้รวบก้านใบเข้าหากันแล้วใช้ซาแลนมัดโดยรอบ รวมทั้งใช้ซาแลนคลุมหลังคาเพื่อพรางแสง และถ้าเป็นไปได้ก็ขนส่งในเวลากลางคืนหรือช่วงที่แดดไม่ร้อนจัด หลังจากปลูกแล้วควรปักหลักยึดต้นกันลมโยก หรือใช้ซาแลนพรางแดดไว้ 1-2 สัปดาห์ก่อน

ปลูกใส่รองบ่อ ขนย้ายง่ายดี

เพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการขุดล้อม และป้องกันการเหี่ยวเฉา จากปัญหาการขุดล้อมอันเนื่องมาจากมีรากขาดมากหรือต้นชอกช้ำ วิธีช่วยไม่ให้ต้นปาล์มประดับทรุดโทรมหรือช่วยให้ตั้งตัวได้เร็ว คือผู้ปลูกเลี้ยงจะปลูกไว้ในรองบ่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 80 เซนติเมตร ขึ้นไป รากของปาล์มจึงขดอยู่ในรองบ่อ วิธีนี้นิยมปลูกกับปาล์มที่มีราคาแพงมาก ๆ ผู้ปลูกกล่าวว่าจงทนเพิ่มอีกนิดหน่อยแล้วสบายกว่ากันเยอะเลย

ปาล์มบางอย่างย้ายไม่ได้จริงหรือ

ผู้ปลูกเลี้ยงปาล์มประดับรุ่นเก่า ๆ มักวิตกกังวลเกี่ยวกับการขุดย้ายปาล์มประดับขนาดใหญ่ และให้ข้อคิดเห็นว่าปาล์มขนาดใหญ่บางอย่างย้ายไม่ได้เช่น ต้นตาล คิงส์ปาล์ม ตาลสีฟ้า แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในปัจจุบันมีเครื่องมือขุดล้อมที่ดีขุดล้อมตุ้มขนาดใหญ่ มีรถเครนสำหรับยกและขนส่งได้อย่างสะดวกและปลอดภัย  ยิ่งถ้าได้รับการป้องกันการเหี่ยวเฉาตามที่กล่าวแล้ว ฉะนั้นความคิดที่ว่าย้ายไม่ได้จึงควรจะหมดไปเสียที จะเห็นได้ว่าในประเทสอเมริกาแล้วปาล์มขุดล้อมที่มีปริมาณสูงสุดในแต่ละปีคือ คิงส์ปาล์มและปาล์มวอชิงโตเนีย

ตลาดซื้อขายปาล์มขุดล้อมอยู่ที่ไหน…

ตลาดใหญ่ที่สุดคือตลาดจตุจักรในช่วงวันพุธ วันพฤหัสและวันศุกร์ จะมีปาล์มขุดล้อมมาให้ซื้อขายกันเกือบทุกชนิด มีทั้งระบบขายส่งและขายปลีก  ถ้าต้นมีขนาดใหญ่มากผู้ขายหลายรายไม่ต้องนำต้นปาล์มลงมาวางขาย แต่จะตั้งไว้บนรถบรรทุก เมื่อผู้ซื้อตกลงราคากันเสร็จก็จะขนส่งไปให้ถึงที่หมายได้เลย  เป็นความสะดวกและประหยัดทั้งแรงงานและเวลากันทั้งสองฝ่าย  ส่วนในวันเสาร์และอาทิตย์ก็ยังพอมีปาล์มขุดล้อมให้ซื้อได้  แต่ส่วนมากเป็นต้นขนาดเล็กและมีจำนวนไม่มากนัก

นอกจากตลาดจตุจักรแล้ว ปาล์มขุดล้อมยังสามารถซื้อขายได้ทุกวันในราบ 11 ที่ริมคลองประปา ที่บางใหญ่ ที่ริมถนนสายตลิ่งชัน ที่บริเวณรังสิตคลอง 15 และที่ริมถนนรามอินทรา

ส่วนในต่างจังหวัดก็เข้าไปซื้อได้ในวิทยาลัยเกษตรกรรมหลายแห่ง เช่น ที่เกษตรนครราชสีมา (อำเภอสีคิ้ว) เกษตรกรรมสิงห์บุรี เกษตรชัยนาท เกษตรเพชรบุรี (อำเภอชะอำ) เกษตรอุดรธานีฯ

อนาคตปาล์มขุดล้อมจะเป็นอย่างไร

ยิ่งนับวันธุรกิจของปาล์มขุดล้อมจะยิ่งกว้างขวางมากขึ้น  เนื่องจากให้ผลตอบแทนได้สูงกว่าปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่น  ซึ่งก็เป็นธรรมดาว่าต่อ ๆ ไป ราคาของปาล์มขุดล้อมจะต้องลดต่ำลงกว่าในปัจจุบัน ต้นที่มีราคาสูงอย่างไม่มีเหตุผล(ปั่นตลาด) จะค่อย ๆ หายไป สินค้าจะมีมาตรฐานดีขึ้น  ราคาซื้อขายจะยุติธรรมมากขึ้น  ซึ่งก็เป็นความโชคดีของคนไทยที่จะได้มีปาล์มประดับตามสถานที่ต่าง ๆ ให้สวยงามร่มรื่น และเป็นระเบียบเหมือนกับในประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย..

ข้อมูล: ดร.ปิยะ  เฉลิมกลิ่น

สาขาวิจัยอุตสาหกรรมการเกษตร

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย