พันธุ์ไม้หอมที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร

เมืองไทยมีพันธุ์ไม้หอมจำนวนมากมาย ทั้งพืชที่ให้ดอกหอม ใบหอม เปลือกหอม ผลหรือเมล็ดหอม รากหอม ยางหอม และต้นหอม ความหอมจากส่วนต่าง ๆ ของพืชพรรณไม้ไทยเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง เช่น ปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อส่งกลิ่นหอม หรือเก็บส่วนต่าง ๆ ที่มีกลิ่นหอมมาทำเป็นเครื่องหอม หรือนำไปสกัดเป็นสารสกัดและน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีสรรพคุณในทางยาสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคทางกาย อารมณ์และจิตใจ รวมทั้งนำไปเสริมความสวยความงาม

ดังที่กล่าวแล้วว่า พันธุ์ไม้หอมของไทยนั้นมีนับร้อยชนิด วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติฉบับนี้ขอนำมาเสนอ 14 ชนิด เพื่อให้เราได้รู้จักพันธุ์ไม้หอมและนำไปใช้ประโยชน์กันมากขึ้น

กฤษณา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Aquilaria crassna Pierre H.Lec.

วงศ์ THYMELAEACEAE

ชื่ออื่น ไม้หอม(ตะวันออก) กายูกาฮู กายูการู(ปัตตานี-ใต้)

กฤษณาให้ดอกสีขาวนวล มีกลิ่นหอมฉุน เนื้อไม้ที่เหมาะสมสำหรับนำไปทำยา ต้องมีสีดำและมีกลิ่นหอม เมื่อตัดเป็นท่อน ๆ แล้วโยนลงน้ำต้องจมลงทันที โดยมากจะได้เนื้อไม้ลักษณะนี้จากต้นที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป และจะดีที่สุดคือ มีกลิ่นหอมทั้งต้นเมื่ออายุ 50 ปี(ปกติเนื้อไม้จะมีสีขาว และไม่มีกลิ่น กลิ่นที่ได้เกิดจากเชื้อราที่ชื่อ Cystosphaera mangiferae Died ซึ่งเข้าไปเจริญในเนื้อไม้ทำให้มีสีเข้ม ให้ oleoresin ซึ่งจะเริ่มเกิดเมื่อกฤษณาอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป)

เนื้อไม้ยังนำไปกลั่นน้ำมันหอมระเหย เรียกว่า Agar-atar และ Chuwah หรือใช้ชันจุดเผาไฟจะเกิดควันที่มีกลิ่นหอม บางศาสนานิยมนำไปเผาเพื่อบูชาเทพเจ้า ผงกฤษณาผสมทำธูปหอม หรือใช้โรยบนเสื้อผ้าเพื่อฆ่าเหาและหมัด

ลักษณะ

กฤษณาเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อาจสูงได้ถึง 30 เมตร เรือนยอดทรงพุ่ม เปลือกต้นเรียบสีเทา ใบเดี่ยวรูปรีแกมขอบขนาน โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นคลื่นม้วนลงเล็กน้อย ออกแบบเรียงสลับ เนื้อไม้อ่อนสีขาวมีเสี้ยน

ดอกสีขาวนวล มี 5 กลีบ ออกเป็นช่อหรือกระจุก มีกลิ่นหอมฉุน เวลาออกดอกมักออกพร้อมกันเต็มต้น

ผล    รูปรีปลายมน เปลือกแข็งมีขนสั้นประปรายหรือเกลี้ยง กลีบเลี้ยงเจริญติดอยู่กับผล

การขยายพันธุ์

กฤษณาขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ชอบอากาศร้อนชื้น มีมากทางภาคใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้

สรรพคุณ

–         เนื้อไม้  ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ท้องร่วง ปวดตามข้อ แก้กระหายน้ำ

–         แก่นไม้  ใช้บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับและปอดให้เป็นปกติ

–         น้ำมันจากเมล็ด  ใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน แก้มะเร็ง

ประโยชน์ด้านอื่น

–         เนื้อไม้  ในแหลมมลายูใช้ผสมในเครื่องสำอาง

–         ผงจากเนื้อไม้  ใช้โรยบนเสื้อผ้าเพื่อฆ่าเหาและหมัด หรือผสมในการทำธูปหอม

–         ชัน  ชาวฮินดูใช้จุดเผาไฟ เพื่อให้มีกลิ่นหอมในโบสถ์

การบูร

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora (L.) J.S. Presl

วงศ์ LAURACEAE

ชื่ออื่น การะบูน(กลาง) อบเชยญวน พรมเส็ง(เงี้ยว)

การบูรให้ดอกเล็กสีขาวอมเขียวหรือเหลือง กลิ่นหอม ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

เปลือกและรากนำไปสกัดด้วยไอน้ำได้การบูรดิบ ผงการบูร เป็นเกล็ดกลมเล็กสีขาวแห้ง ใช้ทำเครื่องหอมประเภทไล่ยุงและแมลง หรือผสมเป็นตัวดับกลิ่นอับในรองเท้า

สรรพคุณทางยาใช้การบูร แก้ปวดขัดตามเส้นประสาท แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับน้ำเหลือง แก้เลือดลม บำรุงกำหนัด ขับผายลม หากนำไปผสมน้ำผึ้งจะเป็นยาร้อนใช้ทาเพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ โรคปวดผิวหนัง รอยแตกในฤดูหนาว แก้พิษสัตว์กัดต่อย เป็นต้น

นอกจากนี้เปลือกรากและกิ่งยังนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า Camphor oil ใช้น้ำมันชนิดสีขาว มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้จิตใจปลอดโปร่ง บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ และใช้ไล่แมลง

ลักษณะ

การบูรเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 9 เมตร ผิวมันเกลี้ยงเป็นสีเขียว ใบเดี่ยว รูปรีผิวมันเรียบปลายใบแหลม ใบค่อนข้างบาง

ดอกเล็กสีขาวอมเขียวหรือเหลือง กลิ่นหอม ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ผล ขนาดเล็กสีชมพูหรือน้ำตาลม่วง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด กลิ่นหอมและมีรสหวาน

การขยายพันธุ์

การบูรขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และปักชำ

สรรพคุณ

–         เปลือกและราก  กลั่นเป็นการบูร รับประทาน 1-2 เกรน แก้ปวดขัดตามเส้นประสาท ข้อบวมเป็นพิษ แก้เคล็ดขัดบวม เส้นสะดุ้ง กระตุก ข้อยอกแพลง แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับน้ำเหลือง แก้เลือดลม บำรุงกำหนัด ขับผายลม หากนำไปผสมน้ำผึ้งจะเป็นยาร้อนใช้ทาเพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ สะบักจม ทรวงอกปวดร้าวตามเส้นเอ็น โรคปวดผิวหนัง รอยผิวแตกในฤดูหนาว แก้พิษสัตว์กัดต่อย เป็นต้น

ประโยชน์ด้านอื่น ๆ

–         ใบและกิ่งก้าน  ใช้แต่งกลิ่นอาหารและขนม เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ไส้กรอก เบคอน ข้าวหมกไก่ เยลลี่ แยม ลูกกวาด เครื่องดื่มโคคา-โคลา เหล้าใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องพะโล้ เครื่องแกงมัสมั่น ผงกะหรี่ ขนมเค้ก คุกกี้ เป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทผักดอง ซอส ใช้แต่งกลิ่นยา เป็นต้น

–         ผงการบูร  ใช้ทำเครื่องหอมประเภทไล่ยุงและแมลง หรือผสมเป็นตัวดับกลิ่นอับในรองเท้า

ข้อควรระวัง

ผู้ที่ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด เป็นโรคริดสีดวงทวาร อุจจาระแข็งแห้งและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน

น้ำมันการบูร (Camphor)

น้ำมันการบูรช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้จิตใจโล่งปลอดโปร่งได้ดี ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและทำให้ตื่นตัว ยังใช้ได้ดีกับการบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ และใช้ไล่แมลง

น้ำมันการบูรจะใสไม่มีสีไปจนถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นสดชื่น แหลมฉุน จัดอยู่ในกลุ่ม Top note

วิธีการใช้

ผสมน้ำมันนวดตัว ประคบ ผสมในขี้ผึ้ง สูดดม เตาระเหย โลชั่น

ข้อควรระวัง

ห้ามใช้น้ำมันการบูรที่มีสีน้ำตาลและเหลือง เพราะมีความเป็นพิษ

กำยาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Styrax tonkinensis Craib, Styrax paralleloneurus Perkins, Styrax benzoin Dry.

วงศ์ STYRACACEAE

ชื่ออื่น กำยานไทย(กลาง) กำหยาน(เหนือ) เซ่พอบอ(กะเหรี่ยงเชียงใหม่) เข้ว(ละว้า-เชียงใหม่) เกลือตานตุ่น(ศรีสะเกษ) ชาติสมิง(นครพนม) กำมะแย กำยานสุมาตรา (นราธิวาส มาเลเซีย)

กำยานมีกลีบดอก 2 สี กลีบดอกด้านในเป็นสีชมพู หรือชมพูแดง ส่วนกลีบดอกด้านนอกจะเป็นสีขาว มีเกสรตัวผู้สีเหลือง มีกลิ่นหอม ส่วนที่ใช้ประโยชน์โดดเด่นคือยางจากต้นหรือยางจากเปลือก ทั้งในด้านสมุนไพรหรือการนำไปทำเครื่องหอมต่าง ๆ

ยางกำยานชั้นหนึ่งจะมีสีขาว ซึ่งได้จากต้นที่มีอายุ 3-6 ปี ยางชั้นรองลงมามีสีน้ำตาล ซึ่งได้จากต้นแก่ที่มีอายุ 7-9 ปี ต้นกำยานที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปจะให้ยางสีน้ำตาลดำหรือสีดำ ซึ่งไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ประโยชน์

ยางจากต้นกำยาน ใช้ทำเครื่องร่ำน้ำอบไทย ทำธูป กระแจะ หรือเครื่องหอมชนิดอื่น ๆ วิธีการกรีดยาง ให้ใช้มีดหรือของมีคม สับฟันต้นหรือเปลือกให้น้ำยางไหลออกมา แล้วทิ้งไว้อย่างนั้น 60 วัน เพื่อให้น้ำยางแห้ง จึงทำการเก็บยางจากต้นหรือเปลือกออกมาใช้

ยางนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยที่เรียก Benzoin oil ได้น้ำมันสีส้มอมน้ำตาล กลิ่นหอมคล้ายวนิลา ช่วยรักษาความตึงเครียดของระบบประสาท ทำให้จิตใจเบิกบานหายหดหู่

ลักษณะ

กำยานเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นสีเทา หรือสีหม่น ๆ มีขนเล็กน้อย ใบรูปไข่ยาวเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีขน เป็นไม้ที่มียางและดอกหอม

ดอกมีขนด้านในสีชมพู ชมพูแดง กลีบดอกด้านนอกสีขาว เกสรตัวผู้สีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกเป็นกระจุกหรือช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ

ผล  ค่อนข้างกลม ผิวสีน้ำตาล

การขยายพันธุ์

กำยานขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง

สรรพคุณ

–         ยาง  มีกลิ่นหอม ใช้เป็นยา บำรุงเส้น แก้ลม แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ สมานแผล หรือใช้ดับกลิ่นเน่าเหม็นทุกประเภท เมื่อผสมกับน้ำผึ้ง ใช้ทาแก้โรคเชื้อรา น้ำกัดเท้า ทาแผล หรือนำไปเผาไฟใช้ควันอบห้อง เพื่อฆ่าเชื้อโรคในอากาศ

ประโยชน์ด้านอื่น

–         ยาง  ใช้ทำเครื่องร่ำ น้ำอบไทย ทำธูป กระแจะ หรือเครื่องหอมชนิดอื่น ๆ หรือใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำหอมให้เกิดกลิ่นคงตัว ช่วยทำให้น้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นเบากว่าคงอยู่ได้นาน และใช้เป็นสารกันเสียหรือกันหื่นได้ดี

น้ำมันกำยาน (Benzoin)

น้ำมันกำยานมีความโดดเด่นในการถูกใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำหอม เพราะมันทำหน้าที่ทำให้กลิ่นคงตัว (Tixahve)และรักษาให้กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยที่เบากว่าอยู่ได้นาน และยังใช้เป็นสารกันเสียกันหื่นได้ดีโดยตัวของมันเอง น้ำมันกำยานมีประโยชน์ในการรักษาความตึงเครียดของระบบประสาท ทำให้จิตใจเบิกบานหายหดหู่

น้ำมันกำยานมีสีส้มอมน้ำตาล กลิ่นหอมหวานคล้ายวนิลา จัดอยู่ในกลุ่ม Base note

วิธีการใช้

ประคบ ผสมน้ำหอม ผสมน้ำมันนวด ผสมในขี้ผึ้ง

คัดเค้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Randial siamensis Craib

วงศ์ RUBIACEAE

ชื่ออื่น เค็ดเค้า(เหนือ) หนามลิดเค้า จีเก๊า(เชียงใหม่)

คัดเค้าให้ดอกเล็กคล้ายดอกมะนาวสีขาวมีกลิ่นหอม โชยกลิ่นหอมแรงในช่วงเวลาเย็นถึงกลางคืน ออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม นอกจากความหอมชื่นใจ ดอกยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรใช้รักษาโลหิตกองกำเดา และสามารถนำไปรับประทานเป็นอาหารได้

วิธีบริโภค นำดอกสดไปชุบแป้งทอดรับประทานกับน้ำจิ้ม

ลักษณะ คัดเค้าเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยเนื้อแข็งและเหนียว คล้ายพวกเฟื่องฟ้า มีหนามตามกิ่งก้าน ใบเรียวยาวคล้ายใบมะม่วง

ดอก เล็กคล้ายดอกมะนาวสีขาว มีกลิ่นหอม โชยกลิ่นหอมทั้งวันแต่จะหอมมากในช่วงเวลาเย็นถึงกลางคืน ดอกออกเป็นกระจุกบนก้านเดียวตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม

ผล กลมรี ปลายแหลม เมื่อแก่มีสีดำ ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก

การขยายพันธุ์ คัดเค้าขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือปักชำ เป็นไม้กลางแจ้ง ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ต้องการน้ำปานกลาง สามารถทนสภาพความแห้งแล้งได้

สรรพคุณ

ใบ  ใช้รักษาโรคโลหิตซ่าน แก้ไข้

ดอก  ใช้รักษาโลหิตในกองกำเดา

ผล  บำรุงโลหิต ขับประจำเดือน

หนาม  ลดไข้ ลดความร้อน แก้พิษไข้กาฬ แก้พิษฝีต่าง ๆ

ต้น  บำรุงโลหิต

เปลือกต้น  แก้เลือดออกในทวารทั้ง 9 รีดมดลูก แก้เสมหะและโลหิตซ่าน

แก่น  ฝนน้ำรับประทานแก้ไข้

ราก  รสเย็นและฝาด ใช้ขับเลือด รักษาไข้เพื่อโลหิต รักษาเลือดออกตามไรฟัน

จันทร์หอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Mansonial gagei Drumm.

วงศ์ STERCULIACEAE

ชื่ออื่น จันทร์ จันทร์ชะมด(ประจวบคีรีขันธ์) จันทร์ขาว จันทร์พม่า (กลาง)

จันทร์หอมให้ดอกเล็กสีขาว ออกดอกประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เป็นพืชที่มีเนื้อไม้หอม ใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย ปรุงแต่งเครื่องหอมและเครื่องสำอางหรือใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ รูป เนื้อไม้ และแก่นยังใช้ประโยชน์ด้านยาสมุนไพรได้อีกด้วย

ลักษณะ จันทร์หอมเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงประมาณ 10-20 เมตร เปลือกค่อนข้างเรียบสีเทาอมขาว เรือนยอดพุ่มค่อนข้างโปร่ง ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ขอบใบเป็นคลื่นห่าง ๆ

ดอกเล็กสีขาว ออกเป็นช่อใหญ่ ตามปลายกิ่งและง่ามใบ ออกดอกประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม

ผล  รูปกระสวย มีปีกรูปสามเหลี่ยม ผลแก่จัดประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม

การขยายพันธุ์

จันทร์หอมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในสภาพดินทุกชนิด เป็นไม้กลางแจ้ง ตามธรรมชาติมักขึ้นในดินแถบเขาหินปูน

สรรพคุณ

–  เนื้อไม้ ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย เป็นยาบำรุงหัวใจ

–  แก่น  กลิ่นหอม  ใช้แก้ไข้ ขับลม บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้คลื่นเหียนอาเจียน โดยใช้แก่นบดเป็นผง 1 ช้อนชา ชงน้ำดื่ม หรือปรุงเป็นยาหมอบำรุงหัวใจรวมกับสมุนไพรอื่น ๆ (แก่นมีสีน้ำตาลอ่อน มีเส้นสีดำ กลิ่นหอม)

ประโยชน์ด้านอื่น

เนื้อไม้  เนื้อไม้ที่ตายเองจะมีกลิ่นหอม ตบแต่งง่าย ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป ใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย ปรุงแต่งเครื่องหอมและเครื่องสำอาง

จันทร์เทศ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Myristica fragrans Linn.

วงศ์ MYRISTICACEAE

ชื่ออื่น จันทร์นิเทศ(กลาง) จันทร์บ้าน(ฉาน-เหนือ)

จันทร์เทศให้ดอกสีเหลืองอ่อน เป็นไม้ที่มีผลและเนื้อไม้หอม โดยเนื้อไม้นิยมนำไปทำเครื่องร่ำ น้ำอบไทย หรือเครื่องหอมต่าง ๆ ส่วนผลนิยมนำไปใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหาร

ผลสุกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่มีรกหรือเยื่อสีแดงเป็นแฉก ๆ หุ้มเมล็ดอยู่ เรียกว่า “ดอกจันทร์เทศ” และส่วนเนื้อที่อยู่ในเมล็ดสีน้ำตาล เรียกว่า “ลูกจันทร์” ส่วนนี้จะใช้ในการสกัดน้ำมันหอมระเหย

ลูกจันทร์เทสและดอกจันทร์เทศมีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ ใช้ผสมในยาต่าง ๆ เช่น แก้ไข้ แก้ปวดศรีษะ บำรุงโลหิต แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้หอบหืด ลดเสมหะ

น้ำมันหอมระเหยจากการสกัดลูกจันทร์เทศ ใช้เป็นส่วนผสมของขี้ผึ้งที่ทาระงับอาการปวด หรือแต่งกลิ่นสบู่ ครีมยาทาผิว และยาชะล้าง

ลักษณะ

จันทร์เทศเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กกลาง แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบดกหนาทึบ สูงประมาณ 5-18 เมตร ใบเดี่ยวรูปรีแกมขอบขนาน ออกติดลำต้นแบบสลับ

ดอกสีเหลืองอ่อน ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่กันคนละต้น โดยดอกตัวเมียออกเป็นดอกเดี่ยว ส่วนดอกตัวผู้จะออกเป็นช่อมีขนาดเล็กกว่าดอกตัวเมีย

ผล  สีน้ำตาลค่อนข้างกลม ฉ่ำน้ำ เมื่อสุกจะแตกออกเป็นสองส่วน มีรกหรือเยื่อสีแดงเป็นแฉก ๆ หุ้มเมล็ดอยู่ รกสีแดงนี้เรียกว่า “ดอกจันทร์เทศ” ส่วนเนื้อที่อยู่ในเมล็ดสีน้ำตาล จะมีกลิ่นหอม เรียกว่า “ลูกจันทร์” ส่วนนี้จะใช้ในการสกัดน้ำมันหอมระเหย

การขยายพันธุ์

จันทร์เทศขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วนซุย ต้องการน้ำสูงและชอบความชุ่มชื้น แต่ไม่ชอบน้ำท่วมขังหรือที่แห้งแล้งเกินไป การปลูกจันทร์เทศควรปลูกทั้งต้นที่มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียให้อยู่ใกล้กันเพื่อที่จะให้ติดผล โดยต้นตัวผู้ 1 ต้น สามารถผสมเกสรกับต้นตัวเมียได้ถึง 6 ต้น

สรรพคุณ

–         ลูกจันทร์เทศและดอกจันทร์เทศ ช่วยเจริญอาหาร เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ ใช้ผสมในยาต่าง ๆ เช่น แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ บำรุงโลหิต แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้หอบหืด ลดเสมหะ

–         แก่น  แก้อาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน อาหารไม่ย่อย

–         น้ำมันหอมระเหย  ใช้เป็นส่วนผสมของขี้ผึ้งที่ทาระงับอาการปวด

ประโยชน์ด้านอื่น

–         ลูกจันทร์เทศและดอกจันทร์เทศ  นำไปคั่วและป่นให้ละเอียด มีกลิ่นหอม ใช้แต่งกลิ่นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น แฮม ไส้กรอก ใส่ในแกงเนื้อ ต้มเนื้อ เพื่อดับกลิ่นคาว หรือใช้แต่งกลิ่นซุป ซอส ขนม เช่น ขนมปัง คัสตาร์ด คุกกี้ ใช้แต่งกลิ่นเครื่องดื่ม เช่น โกโก้ ช็อกโกแลต และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

–         เนื้อไม้  มีกลิ่นหอม ใช้ทำเครื่องร่ำ น้ำอบไทย หรือเครื่องหอมต่าง ๆ

–         น้ำมันหอมระเหย  ใช้แต่งกลิ่นสบู่ ครีม ยาทาผิว และยาชะล้าง

ข้อควรระวัง

1.  ไม่ควรรับประทานลูกจันทร์เทศมากกว่า 5 กรัม เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง มึนงง ระบบการเต้นของหัวใจผิดปกติและอาจเสียชีวิตได้

2.  ผู้เป็นริดสีดวงทวาร มีอาการปวดฟันและท้องเสีย อันเกิดจากความร้อน ไม่ควรรับประทานแก่นจันทร์เทศ

3.  น้ำมันหอมระเหยมีสารเมอริสติซิน(Myristicin)หากรับประทานมากไป จะทำให้เกิดอาการเคลิ้มฝัน

จำปี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Michelia alba DC. (M.longifolia Bl.)

วงศ์ MAGNOLIACEAE

จำปีให้ดอกสีขาวนวล คล้ายดอกจำปา เริ่มโชยกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงเย็นและหอามแรงขึ้นในเวลากลางคืน ครั้นรุ่งเช้ากลิ่นจะเริ่มจางลงแล้วหลุดร่วงไป ออกดอกตลอดปี สรรพคุณทางยาใช้แก้ลม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ขับน้ำดี

ดอกสดใช้ร้อยมาลัย ทำบุหงาสด ทำน้ำลอยดอกไม้สำหรับทำน้ำอบไทย หรือเครื่องหอมอื่น ๆ นอกจากนี้จำปียังเป็นพืชที่มีใบหอม ใช้ในการสกัดน้ำมันหอมระเหย

ลักษณะ จำปีเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่ม เรือนยอดหนาทึบ สูงประมาณ 10-20 เมตร กิ่งก้านเปราะแตกหักง่าย เปลือกสีขาวอมเทา ใบเดี่ยวออกสลับตามข้อต้น ขอบใบหยักเล็กน้อย

ดอกสีขาวนวลคล้ายดอกจำปา กลีบดอกซ้อนกัน 8-10 กลีบ ลักษณะแข็งยาวตั้งขึ้น ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ มีกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วยเย็นและหอมแรงขึ้นในเวลากลางคืน ครั้นรุ่งเช้ากลิ่นจะเริ่มจางลงแล้วร่วงไป ออกดอกตลอดปี ไม่ติดผล

การขยายพันธุ์ จำปีขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งหรือทาบกิ่ง การตอนควรตอนจากกิ่งยอดหรือกิ่งแขนงที่ตั้งตรง มีความยาวไม่น้อยกว่า 1 เมตร ชอบดินร่วนซุย ระบายน้ำดี เป็นไม้กลางแจ้งชอบแสงแดดจัด ชอบน้ำมาก แต่ไม่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง

สรรพคุณ

–         ใบ  ระงับอาการไอ แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง แก้ต่อมลูกหมากอักเสบ และขับระดูขาว โดยใช้ใบที่ตากแห้งแล้ว หรือนำไปผิงไฟให้แห้ง ใช้ 10-15 กรัม ต้มกับน้ำรับประทานแก้ไอ และแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง แต่มีฤทธิ์เพียงชั่วคราวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

–         ดอก  แก้ลม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ขับน้ำดี

–         ใบ  ใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย เคล็ด ขัด ยอก แพลง หรือใบตำปิดบริเวณที่ปวด รักษาอาการปวดศีรษะ อาการบวม และลดไข้

–         เมล็ด  ใช้เป็นาบำรุง ยาระบาย ขับเลือดประจำเดือนและขับปัสสาวะ

–         ราก  เคี้ยวให้แหลกจนเป็นน้ำ แล้วกลืนแต่น้ำทำให้อาเจียน หรือใช้ตำพอกแผล

–         หัว  รสขม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ขับเสมหะ เป็นยาระบาย ทำให้คลื่นเหียนอาเจียน รักษาโรคเกี่ยวกับปัสสาวะและน้ำดี

เตยหอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanns amaryllifolius Roxb.

วงศ์ PANDANACEAE

ชื่ออื่น หวานข้าวไม้(กลาง) ปาแนะวองิง(นราธิวาส)

เตยหอมมีใบที่มีน้ำมันหอมระเหย และสีเขียวของคลอโรฟิลด์ ใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบสดและใบแห้ง ใบสดมีสรรพคุณทางยาใช้เป็นยาบำรุงหัวใจช่วยลดอาการกระหายน้ำ

น้ำจากใบเตยสดมีรสเย็นชื่นใจ นิยมใช้แต่งสีและกลิ่นอาหารคาวหวาน เช่น ลอดช่อง ซ่าหริ่ม วุ้น ขนมขี้หนู ขนมเปียกปูน เค้ก แต่งกลิ่นข้าวมัน โจ๊ก หรือใช้ทำเครื่องดื่ม เช่น น้ำใบเตย หรือชาใบเตย

ใบสดยังใช้ทำบุหงาสด ต้มทำน้ำอบไทย น้ำปรุง ใบแห้งใช้ทำบุหงาแห้ง และเครื่องหอมอื่น ๆ

ลักษณะ เตยหอมเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน สูงประมาณ 2 ฟุต ลักษณะเป็นกอ มีรากอากาศออกมาจากข้อใบเดี่ยวเรียวยาวคล้ายหอกสีเขียวเข้ม  ออกเรียงสลับเป็นกระจุก กลางใบเป็นร่อง มีกลิ่นหอมคล้ายดอกขจร ในใบมีน้ำมันหอมระเหย และสีเขียวของคลอโรฟิลด์

การขยายพันธุ์ เตยหอมขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อหรือต้น ชอบดินที่มีความชื้นแฉะ ปลูกง่าย ขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ

สรรพคุณ

–         ใบ  ใบสดใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยลดอาการกระหายน้ำ

–         ราก  ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาเบาหวาน

ตำรับยา

1.  เป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยลดอาการกระหายน้ำ ใช้ใบสดตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2-4 ช้อน

2.  ใช้เป็น่ยาขับปัสสาวะ นำรากประมาณครึ่งกำมือ หรือรากจากต้น 1 ต้น ต้มกับน้ำรับประทาน

3.  ช่วยรักษาเบาหวาน ใช้ราก 1 กำมือ ต้มกับน้ำ รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

ประโยชน์ด้านอื่น

–         ใบ  มีน้ำมันหอมระเหย และสีเขียวของคลอโรฟิลด์ ใช้แต่งสีและกลิ่นของอาหารและขนม เช่น ลอดช่อง ซ่าหริ่ม วุ้น ขนมขี้หนู ขนมเปียกปูน เค้ก แต่งกลิ่นข้าวมัน โจ๊ก หรือใช้ทำเครื่องดื่ม เช่น น้ำใบเตย หรือชาใบเตย

ข้อควรระวัง

การใช้ใบเตยในการแต่งสีอาหาร ควรใส่เมื่ออาหารหรือขนมนั้นเย็นแล้ว หากใส่ขณะอาหารหรือขนมยังร้อนจะทำให้สีเขียวของใบเตยเปลี่ยนเป็นสีเขียวแกมเหลืองไม่สวย

นมแมว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Rauwenhoffia siamensis Scheff.

วงศ์ ANNONACEAE

นมแมวให้ดอกสีเหลืองนวล โชยกลิ่นหอมในช่วงเวลาเย็นถึงกลางคืน ออกดอกตลอดปี ปลูกเป็นไม้ให้กลิ่นหอมหรือนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย ใช้ปรุงกลิ่นขนม

ลักษณะ

นมแมวเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย หากเจริญเติบโตเพียงลำพังจะเป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1-2 เมตร กิ่งเหนียวสีเทาเข้ม แตกกิ่งก้านสาขาใกล้ผิวดิน มีลักษณะเป็นกอ ใบเดี่ยวรูปไข่ ผิวใบเรียบเป็นมัน ออกใบสลับในระนาบเดียวกับกิ่ง

ดอกเดี่ยว สีเหลืองนวล กลีบดอกหนาและแข็ง มี 6 กลีบ เรียงสองชั้น ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง โชยกลิ่นหอมในช่วงเวลาเย็นถึงกลางคืน ออกดอกตลอดปี

ผล มีรสหวาน ใช้รับประทานได้

การขยายพันธุ์

นมแมวขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง เป็นพืชที่ออกรากยาก การเพาะเมล็ดจะใช้เวลากว่า 1 เดือนต้นกล้าจึงจะงอก การตอนกิ่งควรเลือกกิ่งที่เริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อนเป็นสีเทา ชอบดินที่มีความชุ่มชื้นแต่ระบายน้ำดี ต้องการแสงรำไร

โมกใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ Holarrhena antidysenterica Wall.

วงศ์ APOCYNACEAE

ชื่ออื่น โมกหลวง มูกมันน้อย มูกมันหลวง มูกหลวง โมกเขา โมกทุ่ง(เหนือ) ยาดพุด(เลย) หนามเนื้อ(ฉาน-เหนือ) ซอที พอแก ส่าตี (เขมร แม่ฮ่องสอน) พุด (กาญจนบุรี) พุทธรักษา(เพชรบุรี)

โมกใหญ่ออกดอกเป็นช่อใหญ่สีขาว มีกลิ่นหอมแรงในช่วงเวลาเย็น ออกดอกประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ปลูกเป็นไม้ให้ความร่มรื่น โชยกลิ่นชื่นใจ สรรพคุณทางยาใช้เปลือกต้น แก้บิดมูกเลือด แก้เสมหะเป็นพิษ บำรุงธาตุทั้ง 4 แก้โรคเบาหวาน แก้ไข้จับสั่น

ลักษณะ โมกใหญ่เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เปลือกสีน้ำตาลหรือสีเทา ตกสะเก็ด มีน้ำยางสีขาว รอยถากสีเหลืองอ่อน ใบเดี่ยวออกแบบตรงกันข้าม ใบอ่อนมีขนสีเทาอมเหลืองปกคลุม แล้วค่อย หลุดร่วงไปเมื่อใบแก่

ดอกออกเป็นช่อใหญ่สีขาว ออกตามโคนก้านใบหรือปลายยอด ดอกย่อยมีขนสั้นนุ่มปกคลุม มีกลิ่นหอมแรงในช่วงเวลาเย็น ออกดอกประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน

ผล  ออกเป็นฝักคู่ ปลายข้างหนึ่งมีขนยาวติดเป็นพู่ ฝักเริ่มแก่ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

การขยายพันธุ์

โมกใหญ่ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิดทั้งดินเหนียวและดินทราย ควรปลูกในฤดูฝน โดยเพาะเมล็ดจนต้นอ่อนมีใบจริง 5-6 ใบ จึงย้ายปลูก ในระยะแรกควรทำร่มบังและมีไม้หลักพยุงต้นไว้ รดน้ำเช้าเย็น จนต้นตั้งตัวได้ โมกใหญ่เป็นไม้ที่สามารถทนต่อความแห้งแล้งได้

สรรพคุณ

–         เปลือกต้น  รสขมร้อนฝาดเมา แก้บิดมูกเลือด แก้เสมหะเป็นพิษ บำรุงธาตุทั้ง 4 แก้โรคเบาหวาน แก้ไข้จับสั่น

ตำรับยา

1.  แก้บิด  นำเปลือกแห้งของโมกใหญ่ ทับทิม มังคุด อย่างละ1 ส่วน ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มให้เดือดนานประมาณ 10 นาที ตั้งทิ้งไว้ให้พออุ่น รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 2-3 วัน หรือใช้เปลือกแห้งโมกใหญ่ 1 กำมือ(10-15 กรัม) ต้มน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง

ข้อควรระวัง

หากใช้มากเกินไปหรือทานมากกว่า 500 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดอาการทางประสาท นอนไม่หลับ และปั่นป่วนในท้อง

สายหยุด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmos chinensis Lour.

วงศ์ ANNONACEAE

ชื่ออื่น สาวหยุด(กลาง-ใต้) เสลาเพชร(สุราษฎร์ธานี) กล้วยเครือ(สระบุรี) เครือเขาแกลบ(เลย)

สายหยุด ชื่อที่บ่งบอกช่วงเวลาแห่งความหอม สายหยุดให้ดอกสีเหลือง หรือเหลืองอมส้ม เริ่มส่งกลิ่นหอมในช่วงเวลาเย็น เมื่อเข้าช่วงเวลากลางคืนจะยิ่งหอมแรงมาก และจะหยุดส่งกลิ่นหอมในช่วงสาย จึงมีชื่อเรียกว่าสายหยุด

ดอกออกตลอดทั้งปี ใช้อบทำน้ำดอกไม้สด อบแป้งร่ำ น้ำอบไทย ดอกไม่พบสรรพคุณทางยา

ลักษณะ

สายหยุดเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย เนื้อไม้เหนียว กิ่งสีเขียวอมน้ำตาล มีขนเมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ ไม่มีขน ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปใบหอกแมขอบขนานท้องใบมีขน

ดอกบิดงอห้อยย้อยใต้กิ่ง เมื่ออ่อนสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม มีกลีบดอก 6 กลีบ แบ่งเป็น 2 ชั้น ๆ ละ 3 กลีบ เริ่มส่งกลิ่นหอมในช่วงเวลาเย็น เมื่อเข้าช่วงเวลากลางคืนจะยิ่งหอมแรงมาก และจะหยุดส่งกลิ่นหอมในช่วงสาย ออกดอกตลอดปี และให้ดอกดกมากในช่วงฤดูฝน เมื่อออกดอกแล้วไม่ติดผล

การขยายพันธุ์

สายหยุดขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง ชอบดินร่วนซุย ระบายน้ำดี เป็นไม้กลางแจ้ง หากต้องการปลูกให้เป็นไม้พุ่ม ต้องหมั่นตัดแต่งกิ่ง สามารถปลูกในกระถางได้โดยไม่ต้องมีไม้ยึดเกาะ

รสสุคนธ์ขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Tetracera loureiri Pierre

วงศ์ DILLENIACEAE

ชื่ออื่น รสสุคนธ์ สุคนธรส เสาวรส(กลาง) เถากะปด ใบเลื่อม(ประจวบคีรีขันธ์) ปดคาย ปดเลื่อน (สุราษฎร์ธานี) บอระคน อรคนธ์(ตรัง) ปดน้ำมัน (ปัตตานี)

รสสุคนธ์ขาวให้ดอกสีขาวนวล โชยกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน แต่จะหอมมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลาเย็น บานวันเดียวแล้วร่วงออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

ความหอมของดอกมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ นิยมนำดอกแห้งไปบดทำยาดม ยาหอม หรือผสมทำเครื่องหอมประเภทร่ำ ดอกสดยังใช้ทำบุหงาสด น้ำลอยดอกไม้สดใช้ทำน้ำอบไทย น้ำปรุง

ลักษณะ

รสสุคนธ์ขาว เป็นไม้เถาเลื้อย เนื้อแข็ง เลื้อยได้ไกลถึง 8 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเดี่ยวรูปหอกปลายแหลม เนื้อใบสาก ใบหนาทึบ กิ่งเหนียว มีขุยบาง ๆ สีน้ำตาลแก่รอบกิ่งอ่อน เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา ผิวเรียบบาง

ดอกสีขาวนวล มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกเล็กทรงกลม มีเกสรตัวผู้เป็นฝอยเล็ก ๆ คล้ายกระจุกเส้นด้ายสีขาว โชยกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน แต่จะหอมมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลาเย็น บานวันเดียวแล้วร่วง ดอกทยอยบานเกือบพร้อมกันทั้งช่อ ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

ผลเมื่อดอกร่วงจะติดเป็นผลสีแดง มีเมล็ด 1-2 เมล็ด

การขยายพันธุ์

รสสุคนธ์ขาวขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง ออกรากภายใน 6 สัปดาห์ เป็นไม้กลางแจ้ง ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ต้องการน้ำปานกลาง สามารถทนสภาพความแห้งแล้งได้ สามารถปลูกเป็นไม้กระถางได้

สรรพคุณ

–         ดอก  นำดอกไปเข้ายาหอม ช่วยบำรุงหัวใจ แก้อาการเป็นลมอ่อนเพลีย

ลำเจียก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus odoratissimus Linn. f.

วงศ์ PANDANACEAE

ชื่ออื่น เตยทะเล การะเกด(กลาง) ปาเนะ (มาเลย์-นราธิวาส)

ลำเจียกให้ดอกสีขาวนวล ออกกลางลำต้น มีกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน ดอกเริ่มบานในเวลาเย็นและส่งกลิ่นหอมเป็นพิเศษกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ

ดอกใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย ทำบุหงา หรืออบเครื่องหอมอื่น ๆ มีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ลม บำรุงหัวใจ

ลักษณะ ลำเจียกเป็นไม้พุ่มประเภทเดียวกับเตย สูงประมาณ 4-6 เมตร บริเวณโคนต้นมีรากอากาศโผล่ออกมา ใบคล้ายใบสับปะรด ขอบใบมีหนามแหลมเล็ก ๆ ออกใบเฉพาะบริเวณเรือนยอด

ดอก สีขาวนวล ออกกลางลำต้น มีกลิ่นหอมเย็นตลอดทั้งวัน ดอกเริ่มบานในเวลาเย็นและส่งกลิ่นหอมเป็นพิเศษกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ

การขยายพันธุ์ ลำเจียกขยายพันธุ์ โดยแยกกอหรือหน่อ ชอบขึ้นตามชายทะเลต้องการความชุ่มชื้นและน้ำสูง ปลูกได้ดีในดินร่วนซุย หรือดินเหนียวปนทรายอุ้มน้ำได้ดี

สรรพคุณ

–         ดอกและกาบรองช่อดอก แก้ลมบำรุงหัวใจ

–         ดอกแห้งใช้เข้าเครื่องยาหอม

–         รากมีรสเย็นหวาน ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ แก้พิษเสมหะ พิษไข้ พิษเลือด

–         รากอากาศ รากอากาศที่โผล่บริเวณส่วนโคนต้น ปรุงเป็นยาแก้หนองใน แก้นิ่ว แก้ระดูขาวมีกลิ่นเหม็น แก้ปัสสาวะพิการ

ประโยชน์ด้านอื่น

–         ใบ ใช้ทำสื่อกระเป๋า

นางแย้ม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Volkameria fragrans Vent.

วงศ์ VERBENACEAE

ชื่ออื่น นางแย้ม(กลาง-นครศรีธรรมราช) ปิ้งสมุทร(เชียงใหม่) ปิ้งชะมะ ปิ้งซ้อน(เหนือ) ส้วนใหญ่ (นครราชสีมา) กะอุมเปอ(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)

นางแย้มให้ดอกสีขาวหรือชมพู ดอกจะทยอยบานจากบนลงล่างคล้ายดอกมะลิซ้อน ดอกมีกลิ่นหอมชื่นใจตลอดทั้งวัน เป็นไม้ขนาดเล็กที่ไม่ชอบแดดจัด จึงเหมาะที่จะนำไปปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านหรืออาคารได้เป็นอย่างดี

ลักษณะ

นางแย้ม เป็นไม้ทรงพุ่มยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง ต้นขนปกคลุมเล็กน้อย ใบเดี่ยวคล้ายรูปหัวใจ ออกสลับตามข้อต้น เมื่อขยี้มีกลิ่นเหม็น

ดอกสีขาวหรือชมพู คล้ายดอกมะลิซ้อน มีกลิ่นหอมตลอดวัน ดอกออกเป็นช่อตามส่วนยอดของต้นหรือปลายกิ่ง โดยดอกบนจะทยอยบานก่อนดอกด้านล่าง

ผล  เนื้ออ่อนมีเปลือกหุ้ม แยกออกเป็น 4 กลีบ

การขยายพันธุ์

นางแย้ม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง ไม่ชอบแสงแดดจัด สามารถปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านเรือนได้

สรรพคุณ

–         ใบสด รสเฝื่อน ใช้ตำพอกแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน

–         ราก  รสเฝื่อน แก้ปวดข้อ เหน็บชา แก้ริดสีดวง ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขุ่น เหลือง แดง แก้หลอดลมอักเสบ แก้กระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง

ตำรับยา

1.  แก้อาการเหน็บชา ปวดขา ใช้ราก 15-30 กรัม ตุ๋นกับไข่ รับประทาน 2-3 วันติดต่อกัน

2.  แก้อาการเหน็บชาที่มีอาการบวมน้ำ ปวดเอว ปวดข้อ ใช้รากแห้ง 30-60 กรัม ต้มกับน้ำทาน

3.  แก้ริดสีดวงทวาร ใช้รากแห้งขนาดพอประมาณ ต้มกับน้ำแล้วนั่งแช่สักชั่วครู่

4.  ขับระดูขาว แก้หลอดลมอักเสบ ลดความดันโลหิตสูง นำใบที่ตากแห้งประมาณ 15-30 กรัม และราก ต้มกับน้ำรับประทาน

5.  แก้ผิวหนัง ผื่นคัน ใช้ใบสดขนาดพอประมาณ ต้มเอาน้ำมาล้างบริเวณผิวหนังที่เป็น

ประโยชน์ด้านอื่น

เนื้อไม้ มีลายสวยงาม ใช้ทำเครื่องเรือน กรอบรูป ด้ามปากกา ด้ามร่ม ด้ามมีด ฝักมีด ซอด้วง ซออู้ เครื่องกลึง กระสวย เป็นต้น