ยาหอมไทย:ทำไมต้องกินยาหอม


108 แพทย์แผนไทย (วัชรีพร  คงวิลาด)

คอลัมน์ 108 วิธีดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย เปิดประเด็มคอลัมน์ใหม่ด้วยเรื่องเกี่ยวกับยาหอมไทยมาเล่าให้ฟังหลายคนอาจสงสัยว่ายาหอมไทยมาเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพได้อย่างไร จริง ๆ แล้วยาหอมไทยอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน คือ ใช้บำรุงหัวใจ ขับลม แก้ไข้

อยู่ ๆ วันหนึ่งก็มีข่าวครึกโครมว่า อย.ตรวจพบมีสารหนูในยาหอมยี่ห้อหนึ่ง ครั้งนั้นตลาดยาไทยแทบพังโดยเฉพาะยาหอมไทย ขายไม่ออกเลยทีเดียว คนไทยจำนวนมากไม่กล้ากินยาหอมอีก กระทั่งหน่วยงานราชการอันประกอบด้วย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ต้องเร่งระดมสมองจากนักวิชาการจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่าง อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจยาไทย และหมอพื้นบ้านจาก 4 ภาค มาถกปัญหาและตีแผ่ว่าทำไมยาหอมไทยจึงมีการตรวจพบสารหนู หรืออาจมีการใช้สารอันตรายอื่น ๆ อีกหรือไม่

ยาหอมคืออะไร ทำไมต้องกินยาหอม

ยาหอม คือยาที่ถูกกำหนดให้เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ สามารถจำหน่ายได้ทุกสถานที่ หมอแผนโบราณใช้รักษาอาการไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้ลมวิงเวียน มีอยู่ 4 ตำรับที่ขึ้นทะเบียนไว้ที่ อย. คือ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร์ ยาหอมนวโกฐ และเป็นตำรับที่ใครก็สามารถลอกนำไปใช้ได้ เป็นสูตรยาตายตัว ซึ่งจะเป็นกลุ่มยาสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมแต่ปัจจุบันได้มีการกำหนดสรรพคุณใหม่ให้เป็น่ยาที่สรรพคุณแก้ลมวิงเวียน ยังมีแต่ตำรับยาหอมเทพจิตรเท่านั้นที่ระบุสรรพคุณชัดเจนว่าใช้บำรุงหัวใจ

ทำไมคนไทยต้องกินยาหอม?  ตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทย มีการใช้ยาหอมแก้โรคลมมาช้านานและมีหลากหลายตำรับที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โรคลม มี 2 ประเภท คือลมกองหยาบ กับลมกองละเอียด

1.  ลมกองหยาบ คือ  ลมหายใจเข้าออก ลมในท้องและลำไส้ มักจะมีอาการจุก แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เรอ และผายลม

2.  ลมกองละเอียด คือ  ลมที่ก่อให้เกิดอาการหน้ามือตาลาย เวียนศรีรษะ ใจสั่นสวิงสวาย อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ตกใจ เสียใจ แพ้ท้อง และทำงานกลางแดดจัดนาน ๆ

ถ้านำกลุ่มอาการที่เกิดจากโรคลมทั้ง 23 กองมาวิเคราะห์ตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบันแล้วจะสามารถเทียบเคียงได้กับกลุ่มอาการของโรค

–         อาการบ้านหมุน (Vertigo)

–         อาการใจสั่น (Papitation)

–         อารมณ์เครียด (Einolional Stress)

–         ปวดศรีษะ (Headache)

ซึ่งกลุ่มอาการของโรคดังกล่าวมานี้สามารถใช้ยาหอมไทยรักษาได้ รวมถึงอาการเมารถเมาเรือก็สามารถใช้ยาหอมแก้อาการได้

สรุปแล้วคนไทยกินยาหอมเพราะมีอาการเกี่ยวกับโรคลมและตัวยาหอมจะสามารถช่วยรักษาและแก้ไขอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนไทยจึงใช้ยาหอมมาช้านาน

ทำไมยาหอมต้องมีสารหนู?

ตัวยาโดยหลักของกลุ่มยาหอมไทยแล้วจะประกอบด้วย เกสรดอกมะลิ เกสรดอกพิกุล เกสรดอกบุนนาค เกสรดอกสารภี เกสรดอกบัวหลวง กฤษณา สมุลแว้ง โกฐทั้งหลาย เปราะหอม อบเชย ชะมด เทียนทั้ง 5 พิมเสน เกล็ดสะระแหน่ กระลำพัก ขอนดอก หญ้าฝรั่น จันทร์หอม จันทร์เทศ เปลือกชะลูด การพลู ผิว ดอกและใบของส้ม เป็นต้น

ถามว่าในกรณีที่มีการตรวจพบสารปนเปื้อนสารหนูในยาหอมยี่ห้อหนึ่งนั้นผิดไหม ทำไมต้องใส่สารหนูลงไปด้วย จริง ๆแล้วก็ไม่ถึงกับเกิดความผิด เพราะตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 กำหนดให้สามารถใช้สารพิษหรือสารที่เป็นอันตรายได้แต่ต้องใช้ตามปริมาณที่กำหนดหรือควบคุม ซึ่งจะมีปริมาณไม่เกิน 4 ส่วนใน 1 ล้านส่วน แต่ยาหอมยี่ห้อที่ตรวจพบนั้นมีปริมาณมากเกินที่กำหนดไว้

ทำไมต้องใส่สารหนู จริง ๆ แล้วสารหนูจัดเป็นสารพิษ ตามหลักการแพทย์แผนไทยแล้วการใช้สารพิษรักษาโรคนั้นเป็นศาสตร์ของการปรุงยาหรือการรักษาอย่างหนึ่งเป็นการใช้พิษรักษาโรค แต่ต้องใช้นิดเดียว ผู้ใช้ต้องชำนาญใช้ให้ถูกวิธี ถูกขนาด หรือต้องสะตุหรือฆ่าฤทธิ์ก่อนที่จะนำไปปรุงยา สำหรับการใส่สารหนูลงในยาหอมไปด้วยนั้น วัตถุประสงค์เพื่อไปกระตุ้นให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้นกว่าเดิม

ถ้ากระบวนการปรุงยาหอมไม่ใส่สารหนูเพื่อเร่งการทำงานได้ไหม จริง ๆ แล้วกระบวนการผลิตยาหอมนั้นไม่จำเป็นต้องใส่สารหนูหรือสารมีพาอื่น ๆ ด้วยซ้ำ เพราะมียาสมุนไพรหลายตัวที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงาน และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย เช่น หญ้าฝรั่น แต่มีราคาแพงต้องสั่งจากประเทศสเปน ชะมดเชียง ต้องสั่งจากประเทศจีน เพราะประเทศไทยยังมีน้อยมากไม่เพียงพอ นอกจากนี้ก็ยังมีเหล้าโรงหรือเหล้าขาว ก็สามารถนำมาใช้ได้ และยังมีหลายตัวทีเดียว

ดังนั้นถ้าผู้บริโภคยังต้องซื้อยาหอมตามท้องตลาดบริโภคอยู่ก็มีวิธีทดสอบง่าย ๆ ว่ายาหอมนั้นมีสารพิษหรือไม่โดยเฉพาะสารประเภทกำมะถันหรือชาดหรคุณ ที่ช่วยทำให้ยาหอมมีสีสันที่น่ารับประทาน วิธีสังเกตให้เอายาหอมละลายในน้ำใส่แก้วใสคนให้ละลายแล้วนำไปส่องดูกับไฟ ถ้ามีการตกตะกอนก้นแก้วออกสีแดง แสดงว่าใส่สารกำมะถันแน่นอน ก็ให้หลีกเลี่ยงอย่าไปรับประทาน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ทั้งหลายที่ต้องพกยาหอมติดกระเป๋าเป็นประจำ เพราะจะเกิดอันตรายต่อเด็กได้

ทำยาหอมไว้กินเองทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

ถ้าผู้บริโภคไม่ซื้อยาหมอกินเองทางเลือกที่ดีก็น่าจะทำยาหอมไว้รับประทานเอง โดยอาจจะเลือกตำรับยาหอมสามัญประจำบ้านทั้ง 4 ตำรับ ดังที่กล่าวข้างต้น หรือยาหอมตำรับอื่น ๆ ของหมอแผนไทย ซึ่งมีจำนวนมากมาย โดยเอาตัวยาเหล่านี้ไปหาซื้อตามร้านขายยาสมุนไพรที่เชื่อถือได้และให้ทางร้านจัดปริมาณตัวยาตามที่กำหนดไว้เลยแล้วเอามาปรุงเองตามกรรมวิธีที่บอกไว้ในตำรับ และขอแนะนำยาหอมไว้ 2 ตำรับ ตำรับแรกคือยาสามัญประจำบ้านที่มีสรรพคุณแก้ลม วิงเวียน และบำรุงหัวใจ ส่วนตำรับที่ 2 เป็นของหมอประกอบ อุบลขาว  ท่านแนะนำไว้บอกว่าทางภาคใต้ใช้ตำรับยานี้กันอย่างแพร่หลายเหมือนกัน ก็เลยนำมาฝากไว้ที่นี้ด้วย

ตำรับยาหอมเทพจิตร (ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ)

วัตถุส่วนประกอบ

–         ลูกจันทร์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู จันทร์แดง จันทร์ขาว กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ชะลูด อบเชย เปราะหอม แฝกหอม หนักสิ่งละ 2 ส่วน

–         ผิวมะกรูด ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว ผิวส้ม ตะรังกะนู ผิวส้มจีน ผิวส้มโอ ผิวส้มเขียวหวาน หนักสิ่งละ 4 ส่วน

–         ผิวส้มซ่า หนัก 28 ส่วน

–         เกสรดอกพิกุล เกสรดอกบุนนาค เกสรดอกสารภี เกสรดอกบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน หนักสิ่งละ 4 ส่วน

–         การบูร หนัก 1 ส่วน

–         โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ 4 ส่วน

–         เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ 4 ส่วน

–         พิมเสนหนัก 4 ส่วน

–         ดอกมะลิ หนัก 184 ส่วน

วิธีทำ บดเป็นผง ผสมน้ำดอกไม้เทศ ทำเป็นเม็ด หนักเม็ดละ 0.2 กรัม

รับประทาน ครั้งละ 5-7 เม็ด

สรรพคุณ แก้ลม บำรุงหัวใจ

ยาหอมชื่นใจ (หมอประกอบ  อุบลขาว)

วัตถุส่วนประกอบ

–         โกศสอ โกศหัวบัว เปราะหอม ชะเอมเทศ ชะเอมไทย อบเชยเทศ อบเชยไทย หนักอย่างละ 30 กรัม

–         ผงลิ้นทะเล หนัก 15 กรัม

–         พิมเสน(เกล็ด)หนักอย่างละ 7.5 กรัม

วิธีทำ นำส่วนผสมทั้งหมดเป็นผงบดให้ละเอียดผสมกัน

รับประทาน ครั้งละ ½ ช้อนชา ชงกับน้ำอุ่น รับประทานตอนเช้าและก่อนนอน

สรรพคุณ แก้อารมณ์เครียด รับประทานแล้ว ทำให้ชื่นใจ ป้องกันลมอันมีพิษทั้งปวง บำรุงหัวใจ แก้ความดันต่ำ