ลำดวน

(Lumduan)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Melodorum fruticosum Lour.
ชื่อวงศ์ ANMONACEAE
ชื่ออื่น หอมนวล
ถิ่นกำเนิด ประเทศแถบอินโดจีน
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8-10 ม. หรืออาจถึง 20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 4-6 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปกรวย แน่นทึบ ลำต้น เปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกขรุขระเป็นสะเก็ด


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 7-12 ซม. ปลายใบเรียวแหลมโคนใบรูปลิ่ม แผ่นใบบางแต่เหนียว สีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีนวลสีขาว เส้นกลางใบสีเหลืองนวล ก้านใบ สีน้ำตาลแดง ยาว 0.4-0.6 ซม.
ดอก สีเหลือง มีกลิ่นหอมเย็น ออกเป็นดอกเดี่ยวที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง และปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบดอกหนาและแข็ง 6 กลีบ เรียงเป็นสองชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอก รูปไข่ ปลายแหลม แผ่กางออก ปลายกลีบงุ้มเข้า กลีบดอกชั้นในงุ้มเข้าชิดกันเป็นทรงกลม ดอกหอมในตอนเย็นถึงเช้า ดอกบานนานประมาณ 2 สัปดาห์ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-3 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-มี.ค.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อเป็นผลกลุ่มเรียงอยู่บนแกนตุ้มกลม 15-20ผล ทรงกลมรี กว้าง 0.6 ซม. ยาว 0.8 ซม. สีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงอมดำ เมล็ดมีเนื้อห่อหุ้ม รสหวานอมเปรี้ยว เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ด ต่อผล ติดผลเดือน พ.ค.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา ขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าดิบแล้งทั่วๆ ไป
การใช้ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกมีกลิ่นหอมแรง
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ดอก รสหอมเย็น เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลม
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย