สรรพคุณของโด่ไม่รู้ล้ม


ชื่ออื่น ขี้ไฟนกคุ่ม (เลย) คิงไฟนกคุ่ม (ชัยภูมิ) เคยโป้ หญ้าไก่นกคุ่ม หญ้าปราบ หญ้าสามสิบสองหาบ หนาดผา (ภาคใต้) ตะซีโกวะ (กะเหรี่ยง- แม่ฮ่องสอน) หญ้าไฟ นกคุ่มหนาดผา (กะเหรี่ยง) หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี)โข่วตี่ต้า (แต้จิ๋ว) ขู่ตี้ต่าน (จีนกลาง) Prickly Leaved Elephant’s Foot
ชื่อวิทยาศาสตร์ Elephantopus scaber L.
วงศ์ Compositae


ลักษณะต้น เป็นพืชอายุหลายปี ลำต้นตรงสูง 30-60 ซม. มีขนสีขาว หยาบปกคลุมทั้งต้น กิ่งเล็กแต่แข็ง ใบเดี่ยว ออกหนาแน่นตรงฐานต้น ใบมนรียาว 5-15 ซม. กว้าง 2-4.5 ซม. ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อยเล็กน้อย ก้านช่อดอกพุ่งขึ้นจากดินแยกเป็น 2 กิ่ง ช่อดอกมีหลายช่อ แต่ละช่อมีดอกหลายดอกจุกกันแน่น กลีบหุ้มดอกช่อยาว 8-10 มม. กลีบดอกย่อย ติดกันเป็นรูปท่อสีม่วงอ่อน ยาว 7-9 ซม. ปลายกลีบแยกเป็น 4 แฉก เกสรตัวผู้ 4-5 อัน รังไข่ 1 อัน เมล็ดเปลือกแข็งเป็นเหลี่ยม ปลายเมล็ดมีขนยาวและแข็ง 4-6 เส้น ขึ้นตามทุ่งนา ริมทาง และที่รกร้าง
ส่วนที่ใช้ ทั้งต้น
สรรพคุณ
ขับปัสสาวะ แก้อักเสบ ห้ามเลือดกำเดา แก้ดีซ่าน นิ่ว ขัดเบา บิด เหน็บชา ท้องมาน ฝีฝักบัว
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในหญิงท้องและผู้ที่อาการกลัวหนาว แขนขาเย็น ไม่กระหายน้ำชอบดื่มของร้อน ปวดท้อง ท้องร่วง ปัสสาวะใสและปริมาณมาก มีชั้นฝ้าบนลิ้นขาวและหนา (แพทย์จีนเรียกอาการพร่อง)
ตำรับยาและวิธีใช้
1. เลือดกำเดา ใช้ต้นสด 30-60 กรัม (ต้นแห้ง 10-15 กรัม) ต้มกับเนื้อหมูแดงพอประมาณ กินติดต่อกัน 3-4 วัน
2. ดีซ่าน ใช้ต้นสด 120-240 กรัม ต้มกับเนื้อหมูกินติดต่อกัน
4-5 วัน
3. ท้องมาน ใช้ต้นสด 60 กรัม ต้มน้ำแบ่งกินเช้า-เย็น หรือตุ๋นกับเนื้อหมูกิน
4. ขัดเบา ใช้ต้นสด 15-30 กรัม ต้มน้ำกิน
5. เหน็บชา ใช้ต้นสด 30-60 กรัม และเต้าหู้ 60-120 กรัม เติมน้ำจำนวนพอประมาณตุ๋นกิน
6. น้ำ ใช้ต้นสด 90 กรัม เนื้อหมู 120 กรัม เติมน้ำ ใส่เกลือเล็ก น้อยต้มเอากากออก แบ่งกิน 4 ครั้ง
7. ทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ใช้ต้นแห้ง 6 กรัม แช่ในน้ำร้อน 300 มล. นานครึ่งชั่วโมง กิน หรืออาจทำเป็นเม็ดกินก็ได้
8. ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ใช้ต้นสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน
9. ฝีบวมหรือฝีเป็นหนอง ใช้ต้นสดตำใส่เกลือและน้ำส้มสายชู พอกบริเวณที่เป็น
10. ฝีฝักบัว ใช้ต้นสด 25 กรัม ใส่น้ำและเหล้าจำนวนเท่าๆ กัน ต้มกิน และใช้ต้นสดต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
รายงานทางคลีนิค
1. อักเสบจากการติดเชื้อ โดยใช้สารสกัดความเข้มข้น 3 กรัม ต่อมล. เตรียมเป็นยาฉีด ฉีดเข้ากล้ามครั้งละ 2 มล. วันละ 2-3 ครั้ง ใน คนไข้ 112 รายที่มีการอักเสบจากการติดเชื้อชนิดต่างๆ (ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ลำไส้อักเสบ ฯลฯ) พบว่าได้ผลดี 68 ราย, ดีขึ้นชั่วคราว 38 ราย, ไม่ได้ผล 6 ราย
2. แผลเปื่อยในปาก ใช้ต้นแห้ง 30 กรัม ต้มน้ำกินวันละครั้ง คนไข้ 22 รายหายจากอาการ 18 ราย เฉลี่ยแล้วเวลาที่อาการดีขึ้นคือ 3 วัน ติดตามผลเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยทุกคนไม่มีอาการเกิดขึ้นอก ผลข้างเคียงของการใช้ยานี้พบว่าบางรายจะมีอาการรู้สึกไม่สบายในท้อง
ผลทางเภสัชวิทยา
ส่วนสกัดจากต้นด้วยแอลกอฮอส์ มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Escherichia coli
ความเป็นพิษ
เมื่อฉีดสารสกัดจากต้น ปริมาณ 30 กรัมต่อกก.น้ำหนักตัว และ 7.5 กรัม ต่อกก.น้ำหนักตัว เข้าช่องท้องหนูถีบจักรและกระต่ายตามลำดับ ไม่พบพิษและไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย นอกจากนี้เมื่อทดลองกับกล้ามเนื้อลายและเม็ดเลือดแดงของกระต่ายพบว่าไม่มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อลายและไม่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก
สารเคมีที่พบ
ทั้งต้น มี epifriedelinol, lupeol, stigmasterol, triacontan-1-
ol, dotriacontan-1-ol, potassium chloride, lupeol acetate, deoxyelephantopirn  และ isodeoxyelephantopin.
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล