โรคที่มักพบในการปลูกกาแฟ

โรคและแมลงศัตรู
๑. โรคราสนิม (Coffee Leaf Rust) เกิดจากเชื้อรา Hemeleia vastatrix ซึ่งยังแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ต่างๆ อีกจำนวนมากกว่า ๒๐ สายพันธุ์ เป็นโรคที่สำคัญและทำอันตรายร้ายแรงในการปลูกกาแฟเป็นการค้า ในแหล่งปลูกกาแฟอราบิก้าทั่วโลก
อาการ เชื้อราจะเข้าทำลายผิวด้านใต้ใบ แล้วสร้างสปอร์สีส้มคล้ายสนิมเหล็ก เป็นจุดๆ อยู่ใต้ใบ และแพร่ขยายทำลายใบ ทำให้ใบร่วงหล่น ไม่สามารถสังเคราะห์อาหารได้ ถ้าไม่มีการป้องกันกำจัด จะ เสียหายประมาณ ๗๐ – ๘๐ เปอร์เซนต์ อาจไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ และต้นกาแฟจะตาย เริ่มระบาดตั้งแต่ฝนเริ่มตกและระบาดมากในเดือนตุลาคม และรุนแรงที่สุดในเดือนธันวาคม
การป้องกันกำจัด
๑. ใช้พันธุ์ต้านทาน
๒. ฉีดพ่นด้วยยาบอร์โดมิกซ์เจอร์ หรือใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราประเภทสารประกอบทองแดง เช่น คูปราวิท ซึ่งสะดวกกว่า โดยทำการฉีดพ่นบริเวณใต้ใบของกาแฟปีละ ๓ ครั้ง ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม เป็นการพ่นยาก่อนดอกจะบาน เพื่อป้องกันใบอ่อนที่จะแตกออกมา ครั้งที่สองในเดือนพฤษภาคม หลังจากดอกบาน หมดแล้ว ซึ่งเป็นระยะมีการเจริญทางลำต้นและใบ เพราะใบอ่อนที่จะแตกใหม่เหล่านี้ง่ายต่อการติดเชื้อ ครั้งที่ ๓ เดือนกันยายน ซึ่งเป็นระยะหลังฝน ซึ่งเหมาะแก่การเจริญและเข้าทำลายของเชื้อรา นี่เป็นการฉีดพ่นยาเพื่อป้องกันในที่ๆ ยังไม่มีการระบาด หากมีการระบาดต้องฉีดเดือนละ ๑ ครั้งเป็นอย่างน้อย และอาจต้องฉีดทุกๆ ๗ วัน จึงจะได้ผล แต่ถ้าต้นกาแฟถูกเชื้อราเข้าทำลายแล้ว ต้องเปลี่ยนมาใช้ยาแพลนท์แวกซ์ จึงจะได้ผลในการป้องกันและรักษา ยานี้ราคาประมาณ ๑๐๕ บาท ต่อขวดขนาดบรรจุ ๕๐๐ ซี.ซี.
การฉีดพ่นยาเหล่านี้ให้กระทำในตอนเช้าที่อากาศแจ่มใส และไม่มีฝนตกและทำการฉีดพ่นให้ยาจับบริเวณใต้ใบอย่างทั่วถึง โดยหงายหัวฉีดขึ้น การฉีดพ่นจากภายนอกผ่านๆ ไม่สามารถป้องกันได้และควรหลีกเลี่ยงการฉีดพ่นยา ซึ่งมีสารประกอบทองแดงเหล่านี้ในขณะที่อากาศมีอณหภูมิสูงกว่า ๘๐๐F หรือ ๒๗๐C เพราะอาจเป็นอันตรายต่อใบทำให้เกิดอาการใบไหม้ และไม่ควรใช้กับต้นอ่อน หากจำเป็นต้องระมัดระวังความเข้มข้น หรือเปลี่ยนเป็นยาจำพวกที่ไม่มีสารประกอบทองแดง สำหรับต้นอ่อน เช่น ออร์โธไซค์ แมนเซทดี ซินนิ ไซด์ เป็นต้น แต่อาจให้ผลไม่ดีเท่า
ยาบอร์โดมิกซ์เจอร์และคูปราวิทนี้ใช้ได้ผลดีในทางป้องกัน แต่ไม่สามารถรักษาหรือทำลายสปอร์ของเชื้อราขนิดนี้ให้ตายหรือฝ่อได้ ซึ่งปัจจุบันมียาที่ใช้ได้ผลดีในการรักษา เพื่อทำลายสปอร์ของเชื้อรานี้ได้ มีชื่อเป็นการค้า คือ แพลนท์แวกซ์ (plant vax) เป็นยาดูดซึมได้เป็นบางส่วน แต่ยานี้มีราคาแพงและการป้องกันมักให้ผลดีกว่าการรักษา
๒. โรคเกิดกับผลกาแฟ (Coffee Berry Disease) เกิดจากเชื้อ Colleto- trichum coffeanum
อาการ เชื้อราจะเข้าทำลายผลกาแฟระยะมีสีเขียว ทำให้เกิดจุดสีน้ำตาล ถ้าอาการรุนแรง ผลกาแฟจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือดำและเมล็ดภายในจะถูกทำลายด้วย
การป้องกันกำจัด เช่นเดียวกับโรคราสนิม แต่ให้ฉีดพ่นในช่วงกำลังออกดอกและติดผลอ่อน
๓. โรคใบจุดสีน้ำตาล (Brown-eye spot) เกิดจากเชื้อ Cercospora coffeicola
อาการ โรคนี้มักเกิดกับต้นกล้าในเรือนเพาะชำ และต้นที่ได้รับแสงแดดมาก และระดับธาตุอาหารพืชต่ำ อาการจะแสดงที่ใบ เป็นจุดสีน้ำตาล มีขอบนอกสีน้ำตาลแดงถ้าปล่อยไว้อาการรุนแรงใบจะร่วง ต้นกล้าจะชะงักการเจริญเติบโตอาจตายได้
การป้องกันกำจัด
๑ . ฉีดพ่นยาป้องกันกำจัด เชื้อราประเภทที่ไม่มีสารประกอบทองสำหรับต้นอ่อน เช่น Captan Maneb หรือ zineb ได้แก่ ยาที่มีชื่อออร์โธไซด์ ๕๐ แมนเซทดี.หรือซินนิไซด์
๒. ทำการใส่ปุ๋ยให้เพียงพอ
๓. ทำการเพิ่มร่มเงาให้
๔. โรคตายยอด (Die-back) เป็นโรคแทรกภายหลังที่ต้นอ่อนแอลงภายหลังจากการให้ผลดกเกินไป และความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอ
อาการ ปลายกิ่งที่ติดดอกออกผล จะแห้งตายจากปลายกิ่ง เข้ามาใจะร่วงทำความเสียหายมาก เพราะในปีต่อไปอาจไม่ได้ผลผลิตเลย เพราะไม่มีการเจริญของปลายกิ่งออกไป ซึ่งจะเป็นบริเวณที่ติดดอกออกผล ต้นที่มีอาการรุนแรงอาจแห้งตาย
การป้องกันกำจัด
๑. ตัดแต่งกิ่งไม่ให้กาแฟให้ผลดกมากเกินไป โดยเฉพาะในปีแรก
๒. เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ใส่ปุ๋ยให้เพียงพอในช่วงกำลังออกดอกผล
๓. เพิ่มร่มเงาให้ เพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและลดผลผลิตให้ได้สัดส่วน ไม่ให้ต้นทำงานหนักเกินไปในการเลี้ยงผลกาแฟ
๔. ต้นที่มีอาการรุนแรง ยืนแห้งจะตาย ควรตัดระดับหัวเข่า เพื่อให้แตกกิ่งตั้งใหม่จะให้ผลดีกว่าคอยให้ฟื้นตัว ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ ๒ ปี
๕. โรคเน่าดำ (Black rot) โรคนี้เกิดในระหว่างฤดูฝน ซึ่งความชื้นในอากาศสูงและอุณหภูมิต่ำ
อาการ ที่เคยพบนั้นเกิดหลังจากการเด็ดยอดเป็นส่วนมาก ส่วนยอดและใบจะกลายเป็นสีดำและเน่าลงมา
การป้องกันกำจัด
๑. ฉีดพ่นด้วยบอร์โดมิกซ์เจอร์หรือคูปราวิท หลังฝนทิ้งช่วง ๑๐-๒๐ วัน
๒. ถ้ามีการเด็ดยอดตอนปลูกให้ทารอยแผลด้วยปูนแดง หรือยาป้องกันกำจัดเชื้อรา
๖. โรคเน่าคอดินหรือโรคคอเน่า (Damping off or Collar rot) เกิดจากเชื้อรา Rhysoctonia solani
อาการ ต้นอ่อนในแปลงเพาะเมล็ดระยะหลังงอก โคนต้นบริเวณผิวดินจะเน่า และคอดเข้าต้นจะตาย มักเกิดในแปลงเพาะที่มีต้นกล้าแน่นเกินไป ใช้วัสดุคลุมดินมากไป รดน้ำแฉะเกินไป
การป้องกันกำจัด
๑. คลุกเมล็ดด้วยยาคลุกเมล็ดป้องกันเชื้อรา เช่น Captan
๒. เพาะเมล็ดบนแปลงที่ยกสูงขึ้นจากพื้น เพื่อป้องกันน้ำขังแฉะ
๓. ใช้วัสดุคลุมดินบางๆ ไม่รดน้ำจนแฉะ โดยเฉพาะในเวลาตอนเย็น
๔. ถอนต้นกล้าที่เป็นโรคออกทำลาย แล้วฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อราประเภท Captan Maneb, zineb เป็นต้น
หมายเหตุ
๑. การฉีดพ่นยาเพื่อป้องกันกำจัดโรคราสนิมอย่างถูกต้องนั้น จะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วด้วย เป็นอย่างดีในขณะเดียวกัน
๒. ยาที่มิได้ระบุชื่อและอัตราการใช้ ให้ใช้ตามอัตราที่ระบุไว้บนฉลากยาแต่ละชนิด
ยาบอร์โดซ์มิกซ์เจอร์
เป็นน้ำยาที่ผสมขึ้นโดยมีสารประกอบทองแดง จากจุนสี หรือหินเขียวและปูนจากน้ำปูนเดือด (Unslac lime) ปูนเดือดนี้ เป็นปูนขาวที่ยังไม่ถูกความชื้น มีลักษณะเป็นก้อน เมื่อใส่ในน้ำจะมีอาการเดือด ซึ่งเรียกว่าปูนเดือด ไม่ใช่ปูนขาวธรรมดา การเก็บจะต้องเก็บไม่ให้ถูกความชื้น จะต้องเก็บปูนเดือด หรือหินปูนที่เผาเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ทันสลายตัวเป็นผง ให้ใส่ปี๊ปแล้วบัดกรีปิดฝาให้สนิท ไม่ให้อากาศถ่ายเทเข้าออกได้จะเก็บไว้ได้เป็นปีๆ โดยไม่เสื่อมคุณภาพ เมื่อจะใช้ผสมยาบอร์โดซ์ฯ จึงเปิดออกมาใช้
สูตรที่นิยมใช้กันคือ จุนสี : ปูนเดือด : น้ำ = ๑:๕: ๑๐๐ หมายถึงจุนสี ๑.๕ กิโลกรัม ปูนเดือด ๑ กิโลกรัม และน้ำ ๑๐๐ ลิตร
วิธีผสมละลายจุนสี ๑.๕ กิโลกรัม ลงในน้ำ ๕๐ ลิตร (๒ ปี๊ปครึ่ง) ตามปกติถ้าแช่จุนสีลงในน้ำ จุนสีละลายได้ช้ามาก แต่ถ้าห่อจุนสีด้วยผ้าขาวบางแล้วนำไปแช่ในน้ำ ซึ่งบรรจุอยู่ในโอ่งเคลือบหรือภาชนะอื่นๆ ที่ไม่ใช่โลหะ ให้ห่อจุนสีแขวนลอยอยู่ห่างจากก้นภาชนะเล็กน้อย โดยแขวนห่อจุนสีไว้กับปากภาชนะทิ้งค้างคืนไว้จะทำให้จุนสีละลายหมดในวันรุ่งขึ้น ถ้าต้องการใช้จุนสีโดยเร็วในวันนั้นก็ใช้วิธีต้ม สำหรับปูนเดือด ๑.๐ กิโลกรัม ก็แช่ลงในน้ำ ๕๐ ลิตร ทิ้งค้างคืนไว้รุ่งขึ้นน้ำปูนเดือดที่ได้ควรจะกรองด้วยตะแกรงตาห่างๆ พอสมควร เอาเศษอิฐที่ยังเป็นก้อนใหญ่ออกทิ้ง แล้วตักน้ำจุนสีและน้ำปูนเดือดจำนวนเท่าๆ กัน ใส่ลงในภาชนะใบที่สามพร้อมๆ กันคอยคนให้ผสมกันให้ดีจนกระทั่งเกือบจะหมดน้ำจุนสี และน้ำปูนเดือดที่ละลายไว้ น้ำยาที่ได้คือยาบอร์โดซ์ฯ ซึ่งมีสีฟ้าปูนขาว
ลองตรวจดูยาบอร์โดซ์ที่ได้ว่า มีจุนสีเหลืออยู่อีกหรือไม่ ถ้ายังมีจุนสีเหลืออยู่ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อต้นกาแฟ ให้เติมน้ำปูนเดือดอย่างเดียว ลงในน้ำยาบอร์โดซ์ฯ นั้นคนให้ทั่วแล้วตรวจจุนสีอีกครั้งหนึ่ง ทำจนกระทั่งไม่มีจุนสีเหลืออยู่อีกเลย น้ำยาบอร์โดซ์ฯ นั้นใช้ได้ วิธีผสมอีกอย่างหนึ่งคือแบ่งน้ำปูนเดือดออกเก็บไว้สัก ๑ ใน ๕ ของทั้งหมดแล้วเทน้ำจุนสีลงในน้ำปูนเดือดหลังจากที่ได้แบ่งเก็บไว้แล้ว จนกระทั่งน้ำจุนสีเกือบจะหมด ลองตรวจหาจุนสีในยาบอร์โดซ์ฯ ที่ได้ ถ้าพบว่ายังมีจุนสีก็ต้องเติมน้ำปูนเดือดที่เก็บไว้ลงไป ตรวจดูจน กระทั่งไม่มีจุนสีเหลืออยู่เลย
การตรวจน้ำยาบอร์โดซ์ฯ ว่ามีจุนสีเหลืออยู่อีกหรือไม่ มีวิธีตรวจสองวิธี คีอ
๑. ตักน้ำยาบอร์โดซ์ฯ ขึ้นมาเพียงเล็กน้อย เอาตะปูเหล็กใหม่ๆ ไม่เป็นสนิมจุ่มลงไปถ้าหากมีคราบทองแดงจับ ต้องเติมน้ำปูนเดือดลงไปอีก
๒. โดยวิธีใช้กระดาษตรวจ คือ เอากระดาษตรวจน้ำยาจุนสีที่ทำขึ้นสำเร็จรูปแล้วจุ่มลงในน้ำยาบอร์โดซ์ฯ ถ้าหากว่ากระดาษเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลปนแดง แสดงว่าในน้ำยาบอร์โดซ์ฯ นั้นยังคงมีจุนสีเหลืออยู่
การทำกระดาษตรวจจุนสีในยาบอร์โดซ์ฯ ทำได้โดยใช้กระดาษกรองหรือกระดาษที่มีคุณสมบัติในการดูดซึม และมีสีขาวหรือค่อนข้างขาว จุ่มลงในน้ำยาโปแตสเซียมเฟอร์โรไซยาไนด์เข้มข้น ๒% (ตัวยาโปแตสเซียมเฟอร์โรไซยาไนด์หนัก ๒ กรัม ละลายในน้ำธรรมดา ๑ ลิตร) พอน้ำยาซึมซาบในแผ่นกระดาษดีแล้ว นำแผ่นกระดาษนั้นไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เก็บใส่ภาชนะปิดสนิท อย่าให้ได้รับความชื้นหรือแสงสว่างมากนัก เวลาจะใช้แต่ละครั้งให้เด็ด หรือตัดกระดาษนั้นเอามาเพียงเล็กน้อย พอที่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของสีกระดาษได้ น้ำยาบอร์โดซ์ฯ ที่ผสมเสร็จแล้วต้องใช้ให้หมดในวันนั้น เพราะถ้าทิ้งไว้ค้างคืน จะเสื่อมคุณภาพ เวลาใช้รดต้นไม้ต้องผสมน้ำอีก
บอร์โดซ์มิกซ์เจอร์นี้ ใช้ได้ผลดีในทางป้องกัน เป็นยาป้องกันกำจัดเชื้อราที่มีราคาถูก แต่ไม่สะดวกในการใช้บนพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชันสูง อันเนื่องมาจากการต้องมีภาชนะสำหรับผสมมีน้ำหนักมากและการนำจุนสีและหินปูนเดือด เพื่อไปส่งเสริมให้กสิกรชาวเขาใช้ค่อนข้างจะเป็นปัญหามาก อาจใช้ยาป้องกันกำจัดที่มีสารประกอบทองแดงและปูนชนิดอื่นๆ ที่สะดวกก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าไร่กาแฟอยู่ใกล้และสามารถผสมน้ำยาบอร์โดซ์ฯ ใช้จะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
แมลงศัตรู
๑. หนอนเจาะลำต้น (Stem borers) ศัตรูตัวสำคัญที่ทำลายต้นกาแฟอย่างร้ายแรงตัวหนึ่งเป็นตัวหนอนของผีเสื้อกลางคืน ตัวเมียจะไข่ในรอยแตกและตามร่องของเปลือกลำต้น ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ไข่จะฟักออกเป็นตัวหนอน (ที่พบเป็นสีแดง แต่อาจมีสี ขาว ซึ่งตัวแก่เป็นด้วงปีกแข็ง) เจาะลำต้นเข้าไปอยู่ในเนื้อไม้และกัดกินข้างใน ก่อนจะเข้าดักแด้จะเจาะลำต้นออกเป็นรู พอออกดักแด้ก็จะกลายเป็นผีเสื้อ เตรียมวางไข่ต่อไปในช่วงกันยายน-พฤศจิกายน
อาการ เท่าที่พบมักเข้าทำลายต้นกาแฟที่ให้ผลผลิตแล้ว ไม่พบว่าทำลายต้นกาแฟที่ยังเล็กอยู่ จะสังเกตเห็นว่าต้นกาแฟในไร่จะแสดงอาการใบเหลืองและเหี่ยวเห็นได้ชัด แตกต่างจากต้นอื่นๆ หากพบต้นกาแฟมีอาการถึงขั้นนี้แล้ว มักจะตายมักพบขุยไม้เป็นเม็ดๆ ตกอยู่บริเวณโคนต้น ถ้าผ่าต้นดูจะพบว่าท่อน้ำของต้นจะถูกกัดกินทำลาย จึงทำให้ต้นกาแฟเหี่ยว เฉาตาย การทำลายไม่มากต้น แต่รุนแรงและทำความเสียหายให้มาก เพราะส่วนมากเป็นต้นใหญ่ที่ให้ผลผลิตแล้ว
การป้องกันกำจัด
๑. ผสมยาฆ่าแมลงทั้งหลายชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีพิษตกค้างนาน ในอัตราเข้มข้นมากๆ แล้วใช้ทาบนบริเวณลำต้นสูงขึ้นไปประมาณ ๕๐ ซม. รวมทั้งกิ่งแรกด้วย ทาสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนเมษายน ครั้งที่สองช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ทาทุกต้นในไร่กาแฟ ยา B.H.C. สามารถใช้ได้ผลดี แต่มีปัญหาเรื่องพิษตกค้าง ควรเปลี่ยนมาใช้ยาดีลดริน หรืออัลดริน ก็ได้ อัตรา ๑๒๐ ซี.ซี./น้ำ ๕ ลิตร หรือ ๖๐ กรัม/น้ำ ๕ ลิตร ตามลำดับ เพื่อให้สังเกตได้ง่ายว่าต้นใดทายาแล้ว ควรผสมสีย้อมผ้าสีน้ำเงินลงไปด้วย
๒. หากเป็นการสำรวจพบก่อนว่าหนอนได้เจาะเข้าไปแล้ว โดยสังเกตเห็นขี้ไม้เป็นเม็ดๆ อยู่ข้างนอก และต้นยังไม่เหี่ยวเฉา ให้ใช้เข็มและหลอดฉีดยา ทำการฉีดยาเข้าไปในรูนั้น แล้วใช้สำลีอุดรูไว้อาจช่วยได้ ถ้าอาการยังไม่รุนแรง
๓. ตัดต้นที่ถูกทำลายที่มีอาการรุนแรง ระดับต่ำกว่ารอยเจาะ เข้าทำลาย เพื่อทำลายตัวหนอน หากไม่ทำการปลูกซ่อมก็อาจปล่อยให้แตกกิ่งขึ้นมาใหม่ได้
๔. ใช้ไฟล่อในตอนกลางคืน เพื่อทำลายตัวแก่ เป็นการตัดวงจร
๒. แมลงกัดกินเปลือกรอบโคนต้น (Bark eating insect) เป็นตัวหนอนของด้วงกาแฟ
อันตรายร้ายแรงเช่นเดียวกับหนอนเจาะลำต้นสามารถทำให้การ เจริญเติบโตชะงักไป ลำต้นอ่อนแอในระยะแรก ถ้าปล่อยปละละเลย จนกัดกินเข้าไปถึงบริเวณที่สร้างท่อน้ำ ท่ออาหาร (Cambium) ก็จะทำให้ต้นตาย การทำลายไม่มากต้น แต่รุนแรงเช่นกัน
อาการ เปลือกรอบโคนต้นระดับผิวดินสูงขึ้นไปประมาณ ๖” จะถูกกัดกินหมด เหลือแต่เนื้อไม้ ต้นแสดงอาการไม่สมบูรณ์ และไม่แข็งแรง เหี่ยวเฉาทั้งต้น และตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
๑. ใช้ยาฆ่าแมลงชนิดเข้มข้นทำเช่นเดียวกับป้องกันหนอนเจาะลำต้น
๒. ไม่ใช้วัสดุคลุมดินคลุมชิดโคนต้นกาแฟ
๓. แมลงเจาะผลกาแฟ (Coffee berry borer) เป็นด้วงปีกแข็งตัวเล็กสีน้ำตาลเกือบดำ เรียกว่ามอดหัวหิน เจาะผลกาแฟขนาดเล็กเพื่อวางไข่ ไข่จะฟั้กเป็นหนอนกัดกินเมล็ดกาแฟ
อาการ ผลกาแฟอ่อนจะถูกเจาะ ผลกาแฟแก่จะไม่มีเมล็ดหรือไม่สมบูร์ ผลอาจเน่าและร่วงหล่น
การป้องกันกำจัด
๑. ตัดแต่งกิ่งกาแฟให้โปร่ง
๒. ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง เช่น ดีลดรินและอัลดริน
๔. จำพวกเพลี้ย มีอยู่หลายชนิดที่พบ เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย พวกนี้ เป็นแมลงปากดูด ทำการดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช ทำให้การเจริญผิดปกติ อาจทำให้ยอดและกิ่งแห้ง
อาการ
เพลี้ยอ่อน เป็นเพลี้ยสีเขียว เกาะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณส่วนยอด ทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ มักระบาดในฤดูแล้ง ในขณะที่บริเวนอื่นแห้งแล้ง แต่ต้นกาแฟยังคงเขียวอยู่ เพลี้ยนี้สร้างน้ำหวานออกมา ทำให้เกิดเชื้อราสีดำขึ้นคลุมใบ ทำให้สังเคราะห์อาหารได้ไม่ดีและ อาจมีมดขึ้นทำรัง ทำให้เกิดปัญหาในการเก็บเกี่ยว
เพลี้ยแป้ง เป็นเพลี้ยที่มีส่วนขาวๆ คล้ายแป้งห่อหุ้มป้องกันตัว เองอยู่ สังเกตเห็นได่ชัดเจน พบดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณขั้วของผลกาแฟและตามยอดอ่อน ทำให้การเจริญของยอดผิดปกติและผลร่วง
เพลี้ยหอย เป็นเพลี้ยมีลักษณะเป็นเกล็ดแบนรูปไข่ มักเกาะอยู่ตามเปลือกลำต้น และกิ่ง เป็นกลุ่ม มักพบดูดกินน้ำเลี้ยงตามกิ่งและยอดอ่อน ทำให้การเจริญของยอดอ่อนผิดปกติ
การป้องกัน
๑. โรยรอบบริเวณโคนต้นด้วยยาผง Aldrex หรือ dieldrin เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโดยการนำพาไปของมด Aldrex ใช้อัตรา ๑ กิโลกรัมต่อกาแฟ ๒๐ ต้น หรือ Dieldrin อัตรา ๖๐ ซี.ซี./น้ำ ๕ ลิตร ลาดลงไปบริเวณโคนต้นประมาณ ๒๕๐ ซี.ซี./ต้น
๒. สำหรับเพลี้ยอ่อน ฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลงชนิดถูกตัวตายก็อาจเพียงพอ เพราะยาประเภทนี้ถูกกว่ายาประเภทดูดซึม เช่น ยามาลาไธออน อัตรา ๒๐ – ๓๐ ซี.ซี. ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ยานี้ราคาลิตรละ ๗๕ บาท ขณะที่ยาอโซดริน ราคาลิตรละ ๒๒๕ บาท หรือถ้าให้ประหยัดยิ่งขึ้น ก็อาจใช้รากโล่ติ้น ตำให้แหลก ละลายน้ำจนมีสีขาวขุ่น ก็ใช้ฉีดพ่นได้
๓. สำหรับเพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอย พวกนี้มีเกราะหุ้มป้องกันตัว เองอยู่ภายใน จึงควรใช้ยาประเภทดูดซึม เช่น อโซดริน หรือถ้าเป็นต้นกล้าขนาดเล็กๆ อายุไม่เกิน ๒ ปี จะใช้ยาฟูราดาน ๓ จี โรยรอบต้นประมาณ ๓๐ กรัม/ต้นก็ได้ แต่ยาจำพวกนี้มีราคาแพง และอาจไม่ได้ผลถ้าแมลงมีความต้านทานยา อาจใช้วิธีป้องกันกำจัดโดยการใช้น้ำมันฉีดพ่นก็ได้ โดยน้ำมันที่ฉีดพ่นไปจะไปเคลือบตัวของแมลงและปิดรูหายใจตามข้างลำตัวของแมลงทำให้ตาย และใช้ทำลายไข่แมลงได้ด้วย การใช้น้ำมันฉีดพ่นนี้ ใช้น้ำมันอะไรก็ได้ โดยผสมน้ำให้มีความ เข้มข้นไม่เกิน ๔ เปอร์เซนต์ วิธีผสมน้ำมันให้เข้ากับน้ำได้ ให้ใช้สบู่ละลายในน้ำจำนวนเล็กน้อยก่อน จะช่วยให้น้ำมันแตกตัวเข้ากับน้ำได้ แต่อาจเกิดอันตรายจากใบร่วงได้ จึงแนะนำให้ใช้น้ำมันขาว (White Oil) ซึ่งเป็นน้ำมันถูกสกัดให้เป็นกลางแล้ว ไม่มีกรดจึงปลอดภัยที่จะใช้ ซึ่งมีชื่อการค้าว่า ไทรโอน่า มีสีขาวข้น ใช้ผสมน้ำอัตรา ๒๐ ซี.ซี. ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
การฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดโรคและแมลง ควรผสมยาจับใบด้วยอัตรา ๒๐-๓๐ ซี.ซี./ ๒๐ ลิตร เพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่
ตารางแสดงค่าใช้จ่ายในการใช้ยาป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู

-ค่าใช้จ่ายคิดจากอัตราที่ใช้ผสมน้ำและฉีดพ่นให้ได้จำนวนต้นดังที่กำหนด แล้วคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อต้น และคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อไร่ที่จำนวน ๒๕๖ ต้น
-คูปราวิท ทำการฉีดพ่น ๖ ครั้ง เดือนละครั้ง อัตรา ๔๐ กรัม/น้ำ ๒๐ ลิตร
-อโซดริน ทำการฉีดพ่น ๓ ครั้ง อัตรา ๓๐ ซี.ซี./น้ำ ๒๐ ลิตร
-แพลนท์แวกซ์ ทำการฉีดพ่น ๑ ครั้ง อัตรา ๑๐๐ ซี.ซี./น้ำ ๒๐ ลิตร
-อัลดริน ใช้ทาลำต้น ป้องกันหนอนเจาะลำต้น อายุ ๑-๒ ปี ยังไม่ต้องทา
ตารางที่แสดงจำนวนต้นกาแฟที่ควรจะได้รับการฉีดพ่น จากถังขนาดบรรจุ ๑๖ ลิตร

* ให้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ เพราะคนงานบางคน จะทำการฉีดพ่นผ่านๆ อย่างรวดเร็วไม่ทั่วถึง อาจไม่ได้ผลในการป้องกันกำจัดโรคและแมลง
ที่มา:อนันต์  อิสระเสนีย์