โรคใบจุดของถั่วที่เกิดจากเชื้อCercospora

(Cercospora leaf spot)

เป็นโรคใบจุดอีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นเสมอบนถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแขก ถั่วพุ่ม ถั่วฝักยาว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ฯลฯ และเช่นเดียวกับโรคที่เกิดจากเชื้อ Alternaria ปกติแล้วเป็นโรคที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง นอกจากถั่วที่ปลูกจะอ่อนแอขาดการเอาใจใส่ดูแลที่ดี หรือสิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อ

อาการโรค

อาการทั่วๆ ไป จะเกิดขึ้นบนใบโดยหลังจากการเข้าทำลายของเชื้อจะเกิดแผลจุดสีดำหรือเทาเข้ม ส่วนใหญ่จะมีลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลมขนาดตั้งแต่ ½ – 1 ซม. บางครั้งอาจพบว่าที่ขอบแผลมีสีน้ำตาลแดงล้อมรอบอยู่ สีดำ หรือเทาเข้มที่เห็นบนแผล คือ กลุ่มของสปอร์หรือโคนีเดียที่ราสร้างขึ้นเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ อาการจุดแผลที่เกิดจาก Cercospora บนถั่วจะไม่เหมือนกับบนพืชผักชนิดอื่น คือ บนถั่วจุดจะมีขนาดค่อนใหญ่กว่ามีการสร้างสปอร์หรือโคนีเดียสีดำ หรือเทาเข้มคลุมอยู่ทั่วทั้งแผล คล้ายๆ พวกราดำ (sooty mold) แทนที่จะเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ และตรงกลางมีสีขาว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแผล Cercospora ทั่วๆ ไป นอกจากนั้นแผลบนถั่วจะเป็นแผลลอยๆ ไม่มีขอบเขตจำกัด เหมือนแผลจุดทั่วๆ ไปใบถั่วที่เกิดแผลขึ้นมากๆ จะร่วงหลุดออกจากต้น หากเชื้อเข้าทำลายส่วนที่เป็นต้นหรือกิ่งก้าน แผล ที่เกิดจะมีลักษณะคล้ายกันโดยมีรูปร่างยาวๆ ไปตามส่วนของกิ่งก้านดังกล่าวไม่กลมเหมือนบนใบ สำหรับบนฝักถั่วหากมีการทำลายเกิดขึ้นก็มักจะเกิดบนฝักที่เจริญเติบโตเต็มที่หรือ แก่ใกล้เก็บเกี่ยวแล้วโดยเกิดแผลอย่างเดียวกัน

สาเหตุโรค : Cercospora cruenta, C.canescens, C. caracallac, C. vanderysti

เชื้อรา Cercospora ด้วยกันถึง 4 ชนิด ที่ขึ้นทำลายถั่วต่างๆ โดย C. cruenta และ C. canescens สองชนิดนี้ส่วนใหญ่จะพบบนถั่วแขก ถั่วราชมาด ถั่วฝักยาว ถั่วดำ ถั่วกระด้าง ถั่วเหลือง และถั่วทั้งหมดใน genera Phaseolus, Dolichus และ Vigna ส่วน C. caracallae พบมากในพวก ถั่วแขก ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว

สำหรับลักษณะความแตกต่างของ Cercospora ทั้ง 4 ชนิดนี้ดูได้จากลักษณะรูปร่างของส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ (fruiting body) เช่น C. cruenta โคนีเดีย เป็นแท่งยาว สีเขียวอ่อน C. canescens โคนีเดียเป็นแท่งยาว ฐานโตมีปลายเรียวไม่มีสีส่วน C. caracalhieimim เป็นแท่งยาวเช่นกัน แต่หัวท้ายมนและไม่มีสี

การระบาดก็โดยโคนีเดียซึ่งถูกพัดพาไปโดยลม น้ำ และสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ทุกชนิดที่ไปสัมผัสถูกต้องเข้า

การอยู่ข้ามฤดู โดยเกาะกินอยู่บนต้นพืชอาศัยที่ขึ้นอยู่ตามบริเวณใกล้เคียง นอกจากนั้นก็อยู่ในเศษซากพืชหรือโคนีเดียปะปนติดอยู่กับเมล็ดพันธุ์

การป้องกันกำจัด

1. ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 4 – 5 ปี โดยใช้พืชอื่นที่ไม่ใช่ถั่วปลูกสลับ

2. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค

3. หากเกิดโรคขึ้นกับต้นถั่วที่ปลูกให้ใช้สารเคมีต่างๆ เช่นไดเธนเอ็ม-22 50 – 75 กรัม เฟอร์แบม 75 กรัม แคปแตนหรือออร์โธไซด์ 100 กรัม และไธแรม 75 กรัม โดยเลือกสารเคมีเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งมาละลายนํ้า 20 ลิตร แล้วทำการฉีดพ่นให้กับพืชทุกๆ 5 – 7 วันต่อครั้ง