การปลูกผักคะน้า

คะน้าเป็นผักที่บ้านเรารู้จักกันดี นิยมใช้บริโภคกันอย่างกว้างขวาง หา ซื้อง่ายราคาไม่แพงและหาซื้อมาบริโภคได้ตลอดปี หรือหากมีที่ว่าง ๆ ข้างบ้านจะปลูกเป็นผักสวนครัวเพื่อใช้บริโภคเองก็ปลูกได้สะดวกสบายไม่มีอะไรยุ่งยาก ผักคะน้า ปลูกได้ทั้งในดินร่วน ดินเหนียว ดินทราย ที่เพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับผักคะน้า ในรูปของปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว และผักคะน้ายังปลูกได้ตลอดปีในแหล่งที่มีน้ำอย่างเพียงพอ ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการปลูกผักคะน้าได้ดีที่สุดคือ ระยะตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม-เมษายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จะปลูกได้ผลดีที่สุด แต่ก็จะเป็นช่วงที่ผักคะน้ามีราคาตํ่าที่สุดด้วย เนื่องจากว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดมากพร้อม ๆ กัน ยกเว้นว่าแหล่งผลิตบางแห่งประสบภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ราคาก็จะเปลี่ยนแปลงไป ส่วนช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน อันเป็นช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนสามารถปลูกได้ดีเช่นกัน แต่อาจจะประสบปัญหาบ้าง เช่น ขาดน้ำ หรือมีปัญหาโรคและแมลงรบกวนมาก หรือปัญหาฝนตกหนักทำให้เกิดดินแน่น ผักไม่เจริญเติบโต แต่ถ้าพูดถึงในด้านราคาขายดูจะดีกว่า

พันธุ์

ผักคะน้าจัดเป็นพืชผักตระกูลกะหล่ำ (Cruciferac) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Brassica Oleracea Var alboglabra สำหรับผักคะน้าที่ปลูกอยู่ในบ้านเราคือ พันธุ์คะน้าจีน (Chinese Kale) ซึ่งที่นิยมปลูกกันอยู่มี 2 ประเภทคือ

1.คะน้าใบ มีลักษณะต้นอวบใหญ่ ก้านเล็ก ใบกลมหนา กรอบ ทนทานต่อดินฟ้าอากาศได้ดี เมล็ดพันธุ์ของคะน้าใบที่ทางราชการผลิตได้ ได้แก่ พันธุ์ฝางเบอร์ 1 และฝางเบอร์ 2

2.คะน้ายอดหรือคะน้าก้าน มีลักษณะต้นอวบใหญ่ มีดอกสีขาว ใบแหลม ก้านใหญ่ มีรสอร่อย มีความต้านทานต่อโรค ต่อความร้อนและความชื้นได้ดี สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ทางราชการผลิตได้คือพันธุ์ PL 20 โดยทำการคัดเลือกปรับปรุงและเผยแพร่ให้เกษตกรได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2516 แต่ เป็นพันธุ์ที่ออกดอกช้าให้น้ำหนักดีและผลผลิตสูง

ผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่นจะนิยมบริโภคพันธุ์ที่ไม่เหมือนกัน เกษตรกรที่ปลูกผักคะน้าสำหรับขายจึงควรเลือกปลูกพันธุ์ตามความนิยมของตลาด บางท้องถิ่น อาจจะชอบคะน้าพันธุ์ใบ บางท้องถิ่นอาจจะชอบกินคะน้าพันธุ์ยอด การเลือกปลูกให้ถูกพันธุ์จะทำให้ไม่มีปัญหาในการขาย

การเลือกชื้อหาเมล็ดพันธุ์ผักของเกษตรกรโดยทั่วไปนั้น จะซื้อกันจาก ร้านค้าย่อย โดยการฟังคำแนะนำจากผู้ขาย หรือซื้อจากพ่อค้าคนกลางที่ทำการรับซื้อผลผลิตพืชผักของเกษตรกรกลับคืนซึ่งมีข้อผูกพันกันในทำนองให้เมล็ดพันธุ์มาปลูกก่อนแล้วค่อยหักเงินเอาจากราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายให้กับพ่อค้า ซึ่งแน่นอนว่าราคาของเมล็ดพันธุ์จะต้องสูงขึ้นกว่าที่เกษตรกรจะไปซื้อหาเอาเองจากร้านขาย เมล็ดพันธุ์ใหญ่ ๆ และมีบ่อยครั้งที่เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งเมื่อปลูกไปแล้วกว่าจะรู้ว่าพันธุ์ดีหรือไม่ดีก็ต้องเสียเวลา เสียเงิน เสียแรง ไปแล้วอย่างแก้ไขไม่ได้ เกษตรกรจึงควรพิจารณาและตัดสินใจเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการให้แน่ใจด้วยตนเองเสียก่อนจะดีกว่า

การเตรียมดิน

ดินที่เหมาะสำหรับปลูกผักคะน้าควรมีค่าพีเอชดินระหว่าง 5.5-6.8 และหากดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินในอัตราที่สอดคล้องกับสภาพของดินในแต่ละที่ ซึ่งทางที่ดีควรส่งดินไปตรวจหาค่าพีเอชดินจะแน่นอนกว่า ดินที่จะใช้ปลูกผักคะน้า ให้ขุดพลิกดินลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ที่ไม่ต้องขุดลึกมากนักเพราะระบบรากของผักคะน้าไม่ลึกนัก ขุดพลิกแล้วตากดินไว้ สัก 7-10 วัน แล้วย่อยพรวนเป็นก้อนเล็ก ๆ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดี แล้วลงคลุกเคล้าให้เข้ากับดินในอัตราพอสมควร

วิธีปลูก

ผักคะน้ามีทรงพุ่มไม้ใหญ่ จึงปลูกได้โดยวิธีหว่านเมล็ดลงในแปลงได้เลย วิธีการหว่านเมล็ดมีอยู่ 2 แบบคือ การหว่านเมล็ดพันธุ์ให้กระจายทั่ว ๆ แปลง และวิธีโรยเมล็ดแบบเรียงเป็นแถว ซึ่งจะเลือกปลูกด้วยวิธีแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ของแปลงที่จะปลูก หรือความสะดวกในการทำงานของเกษตรกรเอง

1.แบบหว่านเมล็ดให้กระจายทั่ว ๆ แปลง การหว่านเมล็ดให้กระจาย ได้ทั่ว ๆ ต้องอาศัยความชำนาญในการหว่าน วิธีแบบนี้เหมาะสำหรับแปลงปลูก แบบยกร่องมีคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งขนาดของร่องแปลงผัก กว้างถึง 5-6 เมตร เมื่อเตรียม ดินแล้วจะต้องปูฟางข้าวหรือหญ้าแห้งคลุมบนแปลงเสียก่อนแล้วจึงหว่านเมล็ด รดน้ำตามให้ชุ่ม การหว่านแบบนี้ใช้เมล็ดพันธุ์เปลืองสักหน่อย คือใช้ประมาณ 2 กก./ไร่

2.แบบโรยเมล็ดเรียงเป็นแถว เหมาะสำหรับแปลงที่ยกร่องธรรมดา ขนาดของแปลงกว้างประมาณ 1 เมตร เมื่อเตรียมดินเสร็จเรียบร้อยแล้วก็โรยเมล็ด ให้เป็นแถว กะระยะให้เมล็ดห่างกันพอสมควร และระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 20 เซนติเมตร เสร็จแล้วกลบดินบาง ๆ ปูฟางข้าวหรือหญ้าคาแห้งคลุมบนแปลง รดน้ำให้ชุ่ม แบบนี้ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 800 กรัม/ไร่

เมื่อผักสูงได้ประมาณ 10 เซนติเมตร หรือราวอายุ 20 วัน ให้เริ่มทำการถอนแยก ครั้งแรกเลือกต้นกล้าที่ไม่สมบูรณ์ออก เหลือระยะห่างระหว่างต้นไว้ ประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นอ่อนของคะน้าในวัยนี้ เด็ดรากออกแล้วสามารถขายสู่ตลาดได้ และเมื่อต้นผักสูงได้ประมาณตามที่ต้องการหรือเมื่อมีอายุได้ประมาณ 30 วัน ก็ทำการถอนแยกครั้งที่สองให้เหลือระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตร และต้นผักคะน้าที่ถอนแยกออกมาในวัยนี้ตัดรากออกส่งขายตลาดเป็นยอดผักได้อีกเช่นกัน ผู้บริโภคนิยมรับประทานเป็นยอดผักเพราะอ่อนและอร่อย ในการถอนแยกผักคะน้า แต่ละครั้งจะเป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัวด้วย จะต้องใช้แรงงานคนในการถอนและ ตัดรากหากจะนำไปขาย แต่ก็สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สรุปแล้วการปลูกผักคะน้าในแต่ละฤดูปลูก สามารถขายได้ถึง 3 ครั้ง คือเมื่อถอนแยกครั้งแรก ครั้งที่ 2 และตอนตัดต้นขาย

การใส่ปุ๋ย

ได้กล่าว แล้วว่าการปลูกผักคะน้าหรือผักใด ๆ ก็ตามควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเป็นปุ๋ยรองพื้นก่อนหว่านเมล็ดทุกครั้ง การปลูกผักจะได้ผลดีมากขึ้น ผักจะแข็งแรงมีความต้านทานโรคและแมลงได้ดี ทำให้ลดการใช้สารเคมีลงไปมาก

สำหรับปุ๋ยสูตรที่เหมาะสมกับผักคะน้า คือสูตร 12-8-8 ในอัตรา 100 กก./ไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละเท่า ๆ กัน คือใส่หลังจากการถอนแยกครั้งที่ 1 (หลังปลูก 20 วัน) และหลังจากถอนแยกแล้วกล้าครั้งที่สอง (หลังปลูก 30 วัน) หากสังเกตว่าผักที่ปลูกไม่ค่อยเจริญเติบโตอาจจะใส่ปุ๋ยบำรุง เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรด โดยให้ทางรากหรือละลายน้ำในอัตราประมาณ 3-4 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปีบ ฉีดพ่นทางใบเป็นครั้งคราว

การให้นํ้า

ผักคะน้าต้องการน้ำอย่างเพียงพอและสมํ่าเสมอ การปลูกผักคะน้าหรือผักใด ๆ ก็ตามจึงต้องปลูกในแหล่งที่มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลปลูก หากขาดแคลนน้ำ จะทำให้ผักชะงักการเจริญเติบโตและคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร ในช่วงระยะที่เมล็ดเริ่มงอกยิ่งขาดน้ำไม่ได้เลย  วิธีการให้น้ำผักคือใช้บัวฝอย หรือใช้เครื่องฉีดฝอยให้ทั่วและชุ่ม รดน้ำวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น

การเก็บเกี่ยว

ผักคะน้ามีอายุการเก็บเกี่ยว 45-55 วัน ใช้มีดตัดชิดโคน (ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป) แล้วตัดแต่งใบเสียทิ้ง การตัดจะตัดไล่เป็นหน้ากระดานไปเลย เมื่อตัดแล้วบางแห่งใช้มัดด้วยเชือกกล้วยมัดละ 5 กก.บางแห่งก็บรรจุใส่เข่ง ซึ่งแล้วแต่ความสะดวกในการขนส่งและของผู้ซื้อ

โรคที่สำคัญ

1.โรคใบจุดและใบไหม้

2.โรคเน่าคอดิน

3.โรครานํ้าค้าง

แมลงศัตรู

1.หนอนคืบกะหล่ำ (หนอนเขียว, หนอนคืบเขียว) พบระบาดมากใน ฤดูหนาว และฤดูแล้ง ฤดูฝนพบน้อย

2.หนอนใยผัก (ตัวบิน, ตัวจรวด) พบมากในฤดูหนาวและเพิ่มความรุนแรงในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูแล้ง เป็นหนอนที่ทนทานต่อยาฆ่าแมลงและปรับตัวให้ดื้อยาได้รวดเร็ว

3.หนอนกระทู้หอม (หนอนหนังเหนียว, หนอนหลอดหอม) ระบาด ตลอดปีในภาคกลาง

4.หนอนกระทู้ผัก (หนอนรัง)

5.หนอนแมลงวันเจาะต้น (หนอนข้าวสาร