หน่อไม้น้ำ:พืชเศรษฐกิจใหม่ของชาวปทุมธานี

หน่อไม้น้ำเป็นพืชตระกูลเดียวกับข้าว มีชื่อวิทยาศาสตร์ Zizania latifolia.Turcz หน่อไม้น้ำมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน และได้แพร่กระจายไปปลูกในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน รัสเซียตอนใต้ พม่า อินเดียตอนเหนือ ลังกา ปากีสถานและไทย สำหรับประเทศไทยหน่อไม้น้ำถูกนำมาปลูกมานานกว่า 50 ปีมาแล้ว  โดยชาวยูนานที่อพยพนำมาปลูกในภาคเหนือ  นอกจากนี้ชาวจีนอ่อนำมาปลูกที่เชียงใหม่ เชียงราย ส่วนภาคใต้นำเข้ามาทางประเทศมาเลเซีย โดยนำมาปลูกที่จังหวัดภูเก็ตแล้วกระจายสู่จังหวัดอื่น ๆ จนกลายเป็นพืชผักเศรษฐกิจที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายของภาคใต้ หน้าตาของหน่อไม้น้ำถ้าไม่บอกหลายคนต้องบอกว่าเป็นหญ้าแน่ ๆ หรือถ้ามองไกล ๆ ก็คงคล้ายกับต้นข้าว เพราะการปลูกหน่อไม้น้ำจะปลูกในทุ่งนาเหมือนข้าวนั่นแหละ  เนื่องจากหน่อไม้น้ำเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีน้ำขัง มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนต้นข้าว แต่ลำต้นสูงใหญ่กว่า แตกกอเหมือนข้าว ใบคล้ายต้นกกหรือธูปฤษีมีสีเขียวเข้ม มีดอกเป็นพวงแต่หน้าตาไม่เหมือนรวงข้าว ระบบรากเป็นรากฝอย ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อที่แตกออกมาจากข้อของลำต้น

การปลูกหน่อไม้น้ำจะสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีถ้าพื้นที่ปลูกมีน้ำ  ซึ่งนอกจากจะปลูกในนาข้าว ร่องน้ำ ร่องสวนแล้ว คนที่ไม่มีพื้นที่ก็สามารถปลูกในกระถางหรือภาชนะที่มีน้ำขังก็ได้  แต่ต้องขยันตัดสางหรือตัดแต่งกอและแยกหน่อออกไปปลูกบ่อยหน่อย  เพราะถ้ากอแน่นมาก หน่อไม้น้ำจะให้หน่อน้อยหรือไม่มีหน่อ เดือนพฤษภาคมดูจะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกเนื่องจากเป็นช่วงต้นฝนน้ำอุดมสมบูรณ์ การปลูกหน่อไม้น้ำเชิงการค้าเพื่อขายหน่อนั้นจะปลูกในพื้นที่นาซึ่งการเตรียมดินก็เหมือนกับการเตรียมแปลงปักดำข้าวนั่นแหละ  โดยทำการไถ กำจัดวัชพืช คราดทำเทือกแล้วปล่อยน้ำเข้าขัง ให้ระดับน้ำลึกประมาณ 15-25 เซนติเมตร การปลูกหน่อไม้น้ำจะใช้ต้นกล้าปักดำ ระยะปลูก 1×1 เมตร  ตัดใบออกก่อนปลูกเพื่อป้องกันลมพัดต้นล้ม พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 1,500 ต้น

การดูแลรักษาหน่อไม้น้ำไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงแต่คอยรักษาระดับน้ำในแปลงให้ลึกประมาณ 15-25 เซนติเมตร ถ้าน้ำลึกเกินไปจะยึดปล้องทำให้ต้นล้มและกระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตของหน่อไม้น้ำ  ส่วนการให้ปุ๋ยควรจะให้หลังปลูก 20 วัน ใส่ปุ๋ย 16-20-0  หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าปุ๋ยนานั่นเอง  อัตราที่แนะนำก็คือ 20-30 กก.ต่อไร่ และใส่ปุ๋ยทุกครั้งที่ทำการสางกอ  โดยใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยคอกในอัตราปุ๋ยเคมี 16-20-0 อัตรา 30 กก.ต่อไร่ และปุ๋ยคอก 200-300 กก.ต่อไร่  หรืออาจจะใช้ยูเรีย (46-0-0) ซึ่งมีธาตุไนโตรเจนสูงจะทำให้หน่อไม้น้ำให้หน่อดี หน่อใหญ่ กรอบอร่อย

หน่อไม้น้ำเจริญเติบโตเร็วเช่นเดียวกับข้าว หลังปักดำ 2 เดือน ต้องกำจัดวัชพืชในแปลงออกให้หมดแล้วทำการตกแต่งสางกอโดยการตัดใบที่แห้งหรือใบที่หักล้มออกให้หมด  โดยตัดแต่งเว้นไว้ประมาณ 5-10 ต้นต่อกอแล้วใส่ปุ๋ย  จะทำให้หน่อไม้น้ำให้หน่อดี แต่ถ้าไม่ตัดสางกอและใส่ปุ๋ยแล้วล่ะก็จะทำให้หน่อไม่สมบูรณ์ หน่อน้อย ดังนั้นในดินที่อุดมสมบูรณ์สูง หน่อไม้น้ำจึงให้หน่อได้ดีกว่าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

หน่อไม้น้ำจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้หลังปลูกแล้วประมาณ 5 เดือน ถ้าปลูกเดือนพฤษภาคมจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์  หน่อไม้น้ำจะให้หน่อมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม แต่จะให้หน่อน้อยในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม  ช่วงนี้เกษตรกรจะไม่นิยมเก็บเกี่ยวหน่อ  เพราะไม่คุ้มกับค่าจ้างเก็บเกี่ยว  ดังนั้นช่วงนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องตกแต่ง สางกอและใส่ปุ๋ย แต่ต้องคอยดูแลระดับน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

สำหรับการเก็บเกี่ยวหน่อไม้น้ำนั้นจะเลือกเก็บหน่ออ่อนที่พองตัวออกมาจากลำต้น  มีลักษณะพองโตบวมใหญ่ขึ้น เป็นหน่อที่ผิดปกติ ยาวประมาณ 6 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.0-2.5 ซม. หน่อที่เลือกเก็บต้องเป็นหน่อที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป  สังเกตง่าย ๆ ก็คือหน่ออ่อนจะมีขนาดเล็ก เมื่อตัดหน่อมาแล้วถ้าขนส่งไปขายไม่ต้องลอกกาบออกและน้ำไปเก็บไว้ในที่เย็นจะทำให้สดและเก็บได้นานถึง 15 วัน ในพื้นที่ 1 ไร่ หน่อไม้น้ำจะให้ผลผลิตได้มากถึง 200-300 กก.

ด้วยความที่หน่อไม้น้ำเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีน้ำขัง การปลูกหน่อไม้น้ำจึงสามารถปลูกได้ดีในร่องน้ำ ร่องสวนหรือท้องนาอย่างที่บอกไว้ตอนต้น  ดังนั้นทางสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานีจึงคิดว่าหน่อไม้น้ำน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ให้กับชาวปทุมธานีได้เนื่องจากปทุมธานีมีพื้นที่นาอยู่ค่อนข้างมาก  จึงได้นำหน่อไม้น้ำจากภาคใต้มาทดลองปลูก  โดยให้คุณสงเคราะห์  ชูแตง  เป็นจุดทดลองและถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องนี้  ปัจจุบันหน่อไม้น้ำที่ปลูกเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมบริโภคมากขึ้น

คุณสงเคราะห์เล่าว่า ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนำต้นพันธุ์หน่อไม้น้ำมาให้ทดลองปลูกเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วจำนวน 300 หน่อ คุณสงเคราะห์นำมาปลูกในร่องสวนซึ่งมีน้ำขังในร่องอยู่แล้ว  เมื่อหน่อไม้น้ำให้หน่อจึงนำไปขายเองที่ตลาดน้ำไทรน้อย ซึ่งคุณสงเคราะห์จะนำพืชผักผลไม้ที่สวนไปขายเป็นประจำอยู่แล้ว  ช่วงแรกหน่อไม้น้ำยังไม่เป็นที่รู้จักของชาวบ้านที่นี่ก็ต้องสร้างตลาดก่อน โดยแนะนำให้คนซื้อรู้จักวิธีการนำไปทำอาหาร คนที่ซื้อไปทานเกือบทุกคนล้วนติดใจในรสชาติที่หวานอร่อยของหน่อไม้น้ำ  จนทำให้ปัจจุบันผลผลิตไม่พอขาย คุณสงเคราะห์จะนำหน่อไม้น้ำไปขายวันละ 10 กก.  เพราะผลผลิตยังมีไม่มากนัก  โดยขายเป็นถุง ๆ ละ 10 บาท ซึ่งก็ประมาณ 10 หน่อ หรือ 3 ขีด หน่อที่นำไปขายจะเป็นหน่อที่ยังไม่ได้ลอกเปลือกออก  ซึ่งส่วนที่จะนำไปทานนั้นต้องลอกเปลือกออกก่อนจนถึงหน่ออ่อนที่อยู่ข้างใน หั่นหรือตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปทำอาหารได้เลย

คุณสงเคราะห์บอกว่า ด้วยความที่เป็นพืชใหม่จึงต้องศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตอยู่ เท่าที่นำมาปลูกก็ไม่ได้ดูแลอะไรมาก  มีการให้ปุ๋ยบ้าง ตัดสางกอและแยกหน่อไปปลูกขยายเรื่อย ๆ  ที่ผานมายังไม่มีปัญหาเรื่องโรค-แมลงรบกวนแต่อย่างใด  ปัจจุบันคุณสงเคราะห์มีการขยายแปลงปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เพราะตลาดมีความต้องการมากขึ้น และคาดว่าน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ให้กับชาวปทุมธานีได้อย่างที่หวังแน่นอน

ข้อมูลหน่อไม้น้ำจาก

หน่อไม้น้ำ…พืชเสริมรายได้ที่ล้ำค่า

ปรีชา  อำนักมณี  สถานีทดลองข้าวกระบี่

สถาบันวิจัยข้าว น.ส.พ.กสิกร ปีที่ 73 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2543