เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ

เห็ดเผาะ เป็นเห็ดราที่อยู่ในจำพวกเชื้อราเอ็คโตไมโคไรซา (ectomycorrhiza)
ชื่อภาษาอังกฤษ Astraeus
ชื่อสกุล Astraeus
ชื่อวงศ์ Lycoperdacea

เป็นเห็ดพื้นบ้านที่มักออกดอกในช่วงต้นฤดูฝน หรือประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน มักขึ้นอยู่ตามพื้นที่ในป่าเต็งรัง ชอบขึ้นในดินที่มีลักษณะร่วนซุย และจะออกดอกเพียงปีละครั้งเท่านั้น แหล่งที่พบเห็ดชนิดนี้ได้มากคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ หรือภาคอื่นๆ แต่ไม่พบในภาคใต้ เห็ดชนิดนี้จะมีรสหวานเล็กน้อย เนื้อเห็ดมีความกรุบกรอบ เป็นเห็ดที่คนไทยทางภาคเหนือและภาคอีสานนิยมรับประทานกันมาก และเป็นเห็ดที่ไม่สามารถเพาะขึ้นมาเองได้

ลักษณะของเห็ดเผาะ
ลักษณะของเห็ดเผาะจะกลมค่อนข้างแบน ไม่มีก้านดอก เส้นผ่าศูนย์กลางของดอกมีประมาณ 1-3 เซนติเมตร ในระยะเริ่มแรกดอกเห็ดจะมีสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาก็จะเริ่มกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำเมื่อดอกเริ่มแก่ขึ้น ภายในผนังดอกทั้งชั้นนอกและชั้นในจะมีสปอร์อยู่เป็นจำนวนมากมาย ดอกเห็ดมักจะแตกเป็น 7-11 แฉกเมื่อแก่ โดยที่ผนังชั้นนอกของเห็ดเผาะจะแข็งและหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และมีเซลล์เส้นใยหลายชั้นเรียงตัวอัดกันแน่นอยู่ ส่วนผนังชั้นในเมื่อยังอ่อนจะมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อบางๆ สีขาว มีความหนาประมาณ 0.5 มิลลิเมตร เมื่อเริ่มแก่ก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล ถัดมาจากผนังชั้นในก็จะเป็นฐานสปอร์และสปอร์ สปอร์จำนวนมากในระยะที่เห็ดยังอ่อนอยู่จะมีลักษณะกลมใส และจะเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือดำเมื่อดอกเริ่มแก่

เห็ดเผาะที่พบในประเทศไทยมี 2 ชนิดคือ
1. เห็ดเผาะหนัง
มักพบในป่าเต็งรังในบริเวณที่เป็นดินทรายหรือดินลูกรัง เมื่อดอกเห็ดยังอ่อนอยู่จะมีลักษณะกลมตรงกลางและบุ๋มลงไป มีเส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ 1-3 เซนติเมตร ไม่มีก้านดอกและแข็ง ผนังดอกด้านนอกจะเรียบ ดอกจะมีสีขาวเหลืองเมื่อยังอ่อนอยู่ แล้วจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองน้ำตาล น้ำตาลอ่อน น้ำตาลเข้ม ไปจนถึงสีดำเมื่อดอกเริ่มแก่ขึ้น กลิ่นของดอกจะคล้ายกับกลิ่นของดินที่ชื้นๆ เมื่อดอกแก่มากก็จะแตกออกเป็น 3-10 แฉก เนื้อด้านนอกจะแข็งและหยาบ เมื่อยังอ่อนสปอร์จะเป็นสีขาวนวล และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เทา มะฮอกกานี และดำเมื่อดอกเริ่มแก่

2. เห็ดเผาะฝ้าย
มักพบในป่าเต็งรังบริเวณที่เป็นดินทรายตามทุ่งนา ป่า หรือดินลูกรัง เมื่อเห็ดยังอ่อนอยู่จะมีสีขาวนวล และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง น้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำเมื่อแก่ ลักษณะของดอกเห็ดเป็นรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-3 เซนติเมตร เป็นดอกพองฟู ไม่มีก้านดอก ผนังด้านนอกของดอกจะบาง และมีเส้นใยสีขาวปกคลุมอยู่ เมื่ออากาศชื้นดอกเห็ดที่แก่แล้วก็มักจะแตกออกเป็น 5-12 แฉก และแฉกก็จะบานออกเมื่ออากาศแห้ง เมื่อดอกยังอ่อนสปอร์ด้านในจะเป็นสีขาวนวล และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง น้ำตาล เทา และสีดำเมื่อแก่ หนามรอบๆ สปอร์จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก

การเพาะและขยายพันธุ์
ในปัจจุบันนี้ เห็ดเผาะที่นำมารับประทาน ก็มักจะเก็บกันมาได้จากป่าเต็งรังในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น เพราะยังไม่มีเทคนิคหรือวิธีใดๆ ที่จะสามารถเพาะขึ้นมาเองได้ แม้จะมีความพยายามของนักวิชาการจากหลายสถาบันก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่วิธีเพาะขยายพันธุ์โดยเลียนแบบธรรมชาติก็อาจจะช่วยได้บ้าง แต่การเลียนแบบให้เป็นแหล่งเกิดใหม่ของเห็ดก็มีสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงด้วยคือชนิดของต้นไม้ และลักษณะของดิน เพราะเห็ดเผาะมักชอบขึ้นอยู่บริเวณรากไม้ในป่าเต็งรัง ชอบดินที่มีการระบายน้ำได้ดี เช่น ดินทราย หรือดินลูกรัง หากมีบริเวณที่เหมาะสมแล้วก็อาจทำการขยายพันธุ์เลียนแบบธรรมชาติได้ด้วยการนำเห็ดเผาะที่แก่แล้วมาผสมกับขุยไม้เน่าแล้วขยำรวมกัน จากนั้นก็นำไปหว่านใต้ต้นไม้รอการงอกใหม่ของเห็ดเผาะในช่วงต้นฤดูฝนของปีถัดไป

สรรพคุณและประโยชน์ของเห็ดเผาะ
– ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
– ช่วยรักษาอาการช้ำใน
– ช่วยป้องกันวัณโรค
– ช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็ง
– ช่วยในการสมานแผลทำให้ผิวเรียบเนียน
– ช่วยลดอาการบวมหรืออักเสบ
– ช่วยแก้ไข้และอาการร้อนใน
– ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น
– ช่วยบรรเทาอาการคันตามนิ้วมือหรือนิ้วเท้า