ความหมายและความสำคัญของการเกษตร

การเกษตรหมายถึงการผลิตทางพืช สัตว์ ป่าไม้ และการประมง ซึ่งเป็น

งานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตปัจจัยสี่ของมนุษย์นั่นเอง ดังนั้นการเกษตรจึงมีประโยชน์ และความสำคัญ เพราะว่าการเกษตรเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการ

1. ผลิฅอาหารเพื่อมนุษย์ และสัตว์

2. ผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย

3. ผลิตยาและสารอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นยาป้องกัน กำจัดโรคแมลง และพยาธิต่าง ๆ

4. ผลิตสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เช่น ฝ้าย ป่าน ปอ

5. ผลิตสินค้าออกไปจำหน่ายต่างประเทศ เช่น ข้าว ยาง ข้าวโพด มันสำปะหลัง

6. เป็นอาชีพของคน และลดจำนวนคนว่างงาน

7. เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศชาติ

8. ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเป็นงานอดิเรก

9. เพื่อความเพลิดเพลิน พักผ่อนหย่อนใจ เช่น การเลี้ยงกล้วยไม้เป็นต้น

10. ช่วยให้บุคคลมีพลานามัยสมบูรณ์ เพราะการได้ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่สด ๆ

11. ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าและประหยัด

12. เป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดอาชีพอื่น ๆ เช่น การอุตสาหกรรม

พาณิชยกรรม หัตถกรรม การคมนาคมและการขนส่ง เป็นต้น

วิชาเกษตร(Agriculture) เป็นชีววิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Biological Science) ซึ่งแยกออกเป็นศาสตร์หลายสาขา และมีแขนงวิชาที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น

1. พืชศาสตร์ (plant Sciences ) : พืชสวน พืชไร่

พืชสวนประดับ การจัดเรือนเพาะชำ ไม้ดอกไม้ประดับ การจัดสวนผลไม้ หลักพืชกรรม ไม้ผลเมืองร้อน การตกแต่งสถานที่ สวนผัก พืชสวนเฉพาะ หลักพืชไร่ ดิน-ปุ๋ย การจัดการดิน การอนุรักษ์ดินน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน การขยายพันธุ์พืช พืชเศรษฐกิจ ศัตรูพืชและการป้องกัน พืชไร่เฉพาะ วัชพืชและการ กำจัด พืชอาหารสัตว์ พืชหัว ธัญญพืช หญ้าสนาม โรคพืช กีฏวิทยา พันธุศาสตร์ สถิติ-วางแผนทดลอง

2. สัตวบาล (สัตวศาสตร์ Animal Sciences )

หลักการเลี้ยงสัตว์ทั่วไป อาหารและการให้อาหารสัตว์ โรคและการสุขาภิบาลสัตว์ การผสมพันธุ์สัตว์ โภชนาศาสตร์สัตว์ การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงสัตว์ปีก การเลี้ยงโคเนื้อโคนม การเลี้ยงม้า แพะ แกะ กระบือ การจัดการปศุสัตว์ กายวิภาคและสรีรวิทยาของสัตว์ การประกวดและตัดสินสัตว์  อาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง ฯลฯ

3.  ช่างกลเกษตรหรือวิศวกรรมเกษตร (Farm Mechanics or Agricultural Engineering)

ทักษะช่างเกษตร ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างเชื่อมโลหะ การสำรวจรังวัด เกษตรชลประทาน ไฟฟ้าในฟาร์ม เครื่องยนต์เล็กในฟาร์ม แทรคเตอร์และเครื่องทุ่นแรง อุตุนิยมทางเกษตร ฯลฯ

4.  เศรษฐศาสตร์เกษตร (Agricultural Economics)

หลักเศรษฐศาสตร์เกษตร การจัดการฟาร์ม สหกรณ์การเกษตร การตลาดเกษตร หลักธุรกิจเกษตร ธนกิจเกษตร เศรษฐศาสตร์ที่ดิน บัญชีฟาร์ม สถิติเกษตร

5.  ครุศาสตร์เกษตร/ศึกษาศาสตร์เกษตร (Agricultural Education)

หลักการศึกษาศาสตร์เกษตร การสอนวิชาการเกษตร หลักอาชีวศึกษาเกษตร องค์การเกษตรต่าง ๆ การจัดและบริหารโรงเรียนเกษตร โสตทัศนศึกษา การวัดผลการศึกษา ฯลฯ

6.  คหกรรมศาสตร์ (Home Economics)

หลักคหกรรมศาสตร์ อาหารและโภชนาการ การถนอมอาหาร ผลิตภัณฑ์พืชและสัตว์ ผ้าและเส้นใย การจัดบ้านเรือน การจัดอาหาร การออกแบบเครื่องแต่งกาย การจัดดอกไม้ พัฒนาการของเด็ก ฯลฯ

การเกษตรเป็นอาชีพหลักของประชาชนชาวไทย และการเกษตรเป็นแหล่งของรายได้ที่สำคัญที่สุดของประเทศ กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2520 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประมาณการว่ามูลค่าของผลผลิตเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง ตามราคาที่เกษตรกรพึงขายได้ (Farm Value) มีมูลค่าทั้งสิ้น 112,768 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2520 ประเทศไทยส่งสินค้าเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้เงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 50,580 ล้านบาท หรือประมาณ 72% ของมูลค่าสินค้าออกทั้งหมด สินค้าออกของประเทศที่สำคัญ ๆ 9-10 อย่างในปี พ.ศ. 2520 มีดังต่อไปนี้

ชื่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า (ล้านบาท)
1. ข้าวและผลิตภัณฑ์ 13,566
2. น้ำตาลชนิดต่าง ๆ 8,204
3. มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ 7,720
4. ยางพาราและผลิตภัณฑ์ 6,163
5. ข้าวโพดและแป้งข้าวโพด 3,349
6. ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 2,518
7. ถั่วต่าง ๆ 1,213
8. พืชสวนผักและผลไม้ 1,119
9. ผลิตภัณฑ์จากป่า 1,006
10. ผลิตภัณฑ์พืชเส้นใย 854

ลักษณะการเกษตรของประเทศไทย

กล่าวโดยทั่ว ๆ ไป การเกษตรของประเทศไทยยังไม่เจริญเท่าที่ควร  เพราะประสิทธิภาพในการผลิตยังต่ำ มีคนทำงานในสาขาเกษตรมากเกินไป และใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า ทั้งนี้เพราะเรามีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ เช่น

1.  ดินจืด  เพราะใช้ติดต่อกันมาหลายชั่วคน และหาดินที่ดีมีความอุดมสมบูรณ์มาทำการเกษตรได้ยาก

2.  เกษตรกรไทยมีความรู้น้อย เพราะเกษตรกรส่วนมากมีความรู้แค่ระดับประถมศึกษา

3.  การคมนาคมไม่สะดวก เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในชนบทที่ห่างไกล ไม่มีโอกาสได้รับข่าวคราว ประสบการณ์ และความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านเกษตร

4.  มีคนทำงานทางด้านเกษตรมากเกินไป (80% ของประชาชนชาวไทย) จึงเป็นการใช้แรงงานที่ได้ผลไม่คุ้มค่า ทำให้ไม่สามารถพัฒนาอาชีพอื่น ๆ ได้

5.  ขาดอุตสาหกรรมการเกษตร ที่จะรับรองและแปรรูปผลิตผลทางเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

6.  เกษตรกรมีฟาร์มขนาดเล็ด และอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย การเกษตรเป็นแบบเลี้ยงตัวเองและทำแต่พอกิน

7.  เกษตรกรทำฟาร์มหน้าเดียวหรือฤดูเดียว  โดยทั่วๆ ไปเกษตรกรจะปลูกพืชมากกว่าการเลี้ยงสัตว์ พันธุ์พืชและสัตว์ยังไม่ดี จึงทำให้ผลผลิตต่ำ

8.  เกษตรกรส่วนมากยังยากจน มีทุนน้อยและรายได้ต่ำ จึงไม่สามารถจะขยายและปรับปรุงการผลิตของตนเองได้

9.  การผลิตใช้วิธีโบราณ และพึ่งน้ำฝนจากธรรมชาติ ขาดปัจจัยและวิทยาการแผนใหม่ ต้องพึ่งอุปกรณ์ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์จากต่างประเทศ เกษตรกรส่วนมากไม่สามารถจะซื้ออุปกรณ์และปัจจัยการผลิตที่มีราคาแพงได้ จึงทำให้การเกษตรยังล้าหลังและได้ผลผลิตต่ำ

10.  การตลาดยังไม่ดี ราคาผลิตผลไม่แน่นอน มีพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาอยู่เป็นจำนวนมาก ขาดการรวมตัวและการสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ

การปรับปรุงและพัฒนาการเกษตร

ในการปรับปรุงและการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย ผู้เกี่ยวข้องกับการเกษตรทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

ด้วยเหตุที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ (75-80%) เป็นเกษตรกรและอาศัยอยู่ในชนบท เกษตรกรเหล่านี้ส่วนมากมีความรู้น้อยหรือจบแค่ชั้นประถมศึกษา

ดังนั้น ถ้าเราคิดจะพัฒนาการเกษตรของชาติให้ดีขึ้น เราจะต้องเพิ่มความรู้ทางเกษตรเข้าไปในหลักสูตรชั้นประถมศึกษาให้มากขึ้น เพื่อเตรียมตัวให้บุคคลเหล่านี้ออกไปเป็นเกษตรกรที่ทันสมัย บุคคลที่จะออกไปทำการเกษตรอย่างจริงจัง คือ ผู้ที่จบชั้นประถมศึกษา (ป.4 ป.7 สมัยก่อน หรือ ป.6 หลักสูตรใหม่)

อนึ่ง ในการที่จะพัฒนาการเกษตรของไทยให้เจริญก้าวหน้านั้น เราจะยกแต่ระดับความรู้ของเกษตรกรอย่างเดียวหาได้ไม่ แต่เราจะต้องยกระดับของเทคโนโลยี เช่น เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการใหม่ ๆ พร้อมทั้งทัศนคติหรือแรงจูงใจ ของเกษตรกรให้ขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าชาวสวนยางมีความรู้เรื่องการทำยางแผ่นชั้นดี  เขาก็ควรจะมีเครื่องมือและน้ำกรดที่ดีและต้องมีแรงจูงใจ (ยางราคาดี) ด้วย เขาจึงจะยอมรับวิทยาการแผนใหม่

นโยบายของรัฐบาลก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง แม้ว่าเกษตรกรจะมีความรู้ เทคโนโลยีและแรงจูงใจพร้อมแล้วก็ตาม แต่ถ้านโยบายของรัฐไม่เอื้ออำนวยหรือไม่สนับสนุนงานเกษตรเสียแล้ว ก็ยากที่จะพัฒนาหรือปรับปรุงการเกษตรของเราได้

ปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งทำให้การเกษตรของเราไม่เจริญเท่าที่ควรก็คือ ปัญหาเรื่องตลาด ถ้าตลาดดีเกษตรกรขายผลผลิตได้กำไรงาม และถ้าเกษตรกรสามารถจะเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าของเขาได้เอง ก็จะทำให้การเกษตรของไทยเจริญไปไกลกว่านี้  ถ้าจะกล่าวโดยสรุป ทั้งหน่วยราชการ องค์การ ห้างร้านบริษัท และเกษตรกรเอง ก็สามารถจะพัฒนาและปรับปรุงการเกษตรได้  ถ้าหากว่าได้มีการปฏิบัติจัดทำในสิ่งต่อไปนี้

1.  รัฐและองค์การต่าง ๆ ควรจะมีนโยบายที่ชัดแจ้งและสนับสนุนงานเกษตรทุกรูปแบบอย่างจริงจัง ควรจะเพิ่มวิชาเกษตรและการสหกรณ์เข้าไปในโรงเรียนประถมและมัธยมให้มากขึ้น และขยายการสอนไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว รัฐควรจะต้องแก้ไขเรื่องตลาดโดยด่วน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย จะต้องร่วมมือกันแก้ไขและปรับปรุงตลาดการเกษตรให้ดีขึ้น รัฐควรจะต้องสนับสนุนด้านเงินทุน วัสดุอุปกรณ์และปัจจัยการผลิตอย่างแท้จริง และควรจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเกษตรในชนบท หรือจัดรถหน่วยเคลื่อนที่ไปเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนในชนบทด้วย  สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งที่รัฐจะต้องช่วยจัดหาคือน้ำ และการชลประทาน  เพราะถ้าเกษตรกรมีน้ำเพียงพอก็จะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ได้ตลอดปี

2.  บริษัทห้างร้านและพ่อค้าคนกลาง ควรจะเห็นอกเห็นใจเกษตรกรโดยควรพยายามช่วยเหลือในด้านวิชาการความรู้ และปัจจัยการผลิตที่มีราคายุติธรรม บริษัทห้างร้านและพ่อค้าคนกลาง ไม่ควรจะเอากำไรมากเกินควร เมื่อทำการค้าขายกับเกษตรกร

3.  เกษตรกรเองก็จะต้องเสาะแสวงหาความรู้ เลือกพื้นที่ที่จะทำฟาร์มให้เหมาะสมใช้พันธุ์-พืช-สัตว์ ที่ดี  มีการจัดการดูแลและบำรุงรักษาดี  เลือกจังหวะผลิตและชนิดของพืช-สัตว์ ที่จะผลิตตรงตามที่ตลาดกำลังต้องการ อาจใช้วิธีการทำไร่นาสวนผสมอย่างถูกวิธี และมีการรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นสหกรณ์การเกษตรประเภทต่าง ๆ