หลักการป้องกันกำจัดโรคพืช

(Principles of plant disease control)

การป้องกันกำจัดโรคพืช หมายถึง การปฏิบัติหรือการกระทำใดๆ ก็ตามในอันที่จะขัดขวางไม่ให้มีโรคเกิด หรือไม่ก็เพื่อบรรเทาและลดความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของโรคนั้นๆ ที่มีต่อพืชโดยมีหลักปฏิบัติใหญ่ๆ ที่อาจทำได้รวม 6 ประการด้วยกันคือ

1. การหลีกเลี่ยงไม่ให้มีโรคเกิดขึ้นกับพืช voidance of the pathogen)

หมายถึงการปลูกพืชโดยวิธีเลี่ยงให้ห่างจากเชื้อโรค หรือแหล่งที่เกิดของโรค ซึ่งอาจทำได้โดย

1.1 การเลือกลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสม (choice of geographic area) ได้แก่การเลือกพื้นที่ปลูกที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืซแต่ละชนิดเช่น พวกกะหล่ำและผักกาดต่างๆ ที่อวบน้ำหรือมีเนื้อมากหากปลูกในที่แห้งและเย็นจะไม่ได้รับความเสียหายจากโรคเน่าเละที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มะเขือ เทศ มันฝรั่ง ถ้าปลูกในท้องถิ่นที่อากาศค่อนข้างอบอุ่นและแห้งก็จะปลอดจากโรคเลทไบล๊ท์ที่เกิดจากเชื้อรา ytophthora infers tans เป็นต้น

1.2 เลือกปลูกพืชในดินที่เหมาะสม (choice of planting site in a local area)หมายถึงการปลูกพืชลงในดินที่ใหม่สะอาดปราศจากเชื้อหรือไม่เคยมีโรคเกิดมาก่อน ดินปลูกต้องไม่เหมาะสมหรือช่วยส่งเสริมต่อการเกิดโรค เช่น พืชผักบางชนิดที่ปลูกในดินที่ยกเป็นร่องมีการเตรียมอย่างดี ไม่มีนํ้าแช่ขังจะปลอดภัยจากโรครากเน่าโคนเน่า หรือโรคเหี่ยวที่เกิดจากราชั้นต่ำ เช่น Pythium sp. Phytophthora sp. หรือแบคทีเรียบางชนิด

1.3 การเลือกระยะเวลาหรือฤดูการปลูกที่เหมาะสม (choice of planting date) การปลูกพืชในช่วงเวลาสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการเกิดและระบาดของโรคก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสียหายจากโรคลงได้ เช่นผักที่ง่ายต่อการเกิดโรครานํ้าค้างจะไม่เป็นหรือได้รับความเสียหายจากโรคนี้ หากปลูกในฤดูแล้งที่มีอากาศแห้งและร้อนหรือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น โรคยอดหรือใบ หงิกมักจะระบาดและเสียหายรุนแรงในช่วงที่อากาศร้อนและแห้ง ส่วนในฤดูหนาวหรือฤดูฝนที่มีอากาศเย็นและชื้น โรคจะไม่ระบาดทั้งนี้เนื่องจากแมลงทั้งที่เป็นตัวนำและถ่ายเชื้อไวรัสไม่ชอบสภาพอากาศดังกล่าวจึงไม่แพร่ขยายพันธุ์ทำให้โรคหยุดการระบาดไปด้วย

1.4 การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์หรือส่วนของพืชที่จะใช้ทำพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรคและเชื้อ (use of disease-free planting stock) การปลูกพืชโดยใช้พันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อหรือมีโรคติดมา พืซที่จะเจริญเติบโตต่อมาจากพันธุ์ดังกล่าวก็จะปลอดและหลีกเลี่ยงจากการเกิดโรคอย่างน้อยก็ในระยะแรกของการเจริญเติบโต หากพืชดังกล่าวได้รับการเอาใจใส่ดูแลรักษาและป้องกันโรคต่อมาดีก็จะพ้นหรือปลอดภัยจากการเสียหายจากโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้

1.5 การนำเอาวิธีเกษตรกรรมมาปรับใช้ในการปลูกพืช (modification of cultural practices) การเกษตรกรรมที่เหมาะสมและถูกต้องก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดมีโรคขึ้นกับพืช เริ่มตั้งแต่การเตรียมดินปลูกโดยใช้ดินที่สะอาดปราศจากเชื้อยกเป็นแปลงหรือร่องนูน ให้มีระยะปลูกระหว่างต้นระหว่างแถวให้พอเหมาะพอดีไม่แน่นหรือห่างเกินไป การปักไม้หลักช่วยคํ้ายันต้นพืชหรือทำค้างให้หากจำเป็น หมั่นดูแลเอาใจใส่บำรุงรักษาพืชให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอไม่ให้ขาดนํ้าขาดอาหารหรือปุ๋ยที่จำเป็น และเหมาะสมต่อช่วงระยะการเจริญเติบโตของพืช เมื่อสังเกตเห็นพืชต้นใดแสดงอาการผิดปกติซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคก็ให้รีบขจัดทำลายหรือไม่ก็ตัดแต่งริดส่วนที่ผิดปกตินั้นออกเพื่อเป็นการป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ ขณะเดียวกันก็หมั่นดูแลทำความสะอาดแปลงปลูกอย่าให้มีวัชพืชขึ้นรกรุงรังอันอาจเป็นบ่อเกิดสะสมหรือที่อาศัยของโรคและแมลงที่อาจมาทำลายพืชที่ปลูกได้

2. การกีดกันหรือขจัดทำลายต้นตอที่มาของโรค (exclusion of the pathogen)

การกีดกันไม่ให้โรคเกิดขึ้นกับพืซมีวิธีทำได้โดยวิธีต่างๆ ดังนี้

2.1 การทำลายเชื้อโรคที่อาจจะติดมากับส่วนของพืชที่ใช้ขยายพันธุ์(treatment of propagules of plant) ส่วนของพืชที่จะนำมาปลูกหรือใช้ขยายพันธุ์ เช่น เมล็ด หัว หน่อ เหง้า หรือท่อนพันธุ์ เหล่านี้อาจมีเชื้อสาเหตุ โรคเกาะติดหรืออาศัยอยู่โดยเฉพาะ หากได้มาจาต้นพ่อแม่หรือแหล่งปลูกที่เคยมีโรคระบาดเมื่อนำมาปลูกก็อาจจะทำให้ต้นที่งอกเกิดโรคขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้หากไม่แน่ใจว่าส่วนขยายพันธุ์ดังกล่าวบริสุทธิ์หรือไม่ เพื่อความไม่ประมาท และเพื่อให้ต้นที่เกิดใหม่ปลอดจากโรคควรทำการฆ่าทำลายเชื้อบนหรือในส่วนเหล่านั้นเสียก่อน ซึ่งอาจทำได้โดยวิธีคลุก จุ่ม แช่ หรืออบรมด้วยสารเคมีที่ฆ่าเชื้อได้ หรือไม่ก็โดยการแช่ในน้ำอุ่น 49-50°ซ. แล้วจึงค่อยนำไปปลูก

2.2 การตรวจสอบโรคและกำหนดคุณภาพของพืช (inspection and certification) ให้มีการตรวจสอบคุณภาพและความบริสุทธิ์ของพืช (โดยเฉพาะส่วนที่จะใช้ในการขยายพันธุ์) ทั้งที่จะนำเอาเข้ามาและส่งออกไปยังแหล่งอื่น ให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อใดๆ ติดมาหรือปนอยู่ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ทั้งนี้โดยกำหนดให้คำรับรองคุณภาพ (certification) ที่ยอมรับและเชื่อถือได้เป็นหลักฐานประกอบ

2.3 การกักกันพืช (exclusion or restriction by plant quarantine) หมายถึงการสะกัดกั้น หรือป้องกันไม่ให้เชื้อสาเหตุโรคหรือศัตรูพืชชนิดต่างๆ ระบาดแพร่กระจายจากที่แห่งหนึ่งไปยังแห่งอื่นๆ หรือในที่ที่ยังไม่เคยมีโรคนั้นมาก่อน โดยการตราออกเป็นกฎหมาย และโดยความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น เมือง หรือประเทศกำหนดเขตการระบาดของโรคที่สำคัญ และชนิดของพืชที่ไม่ให้นำเข้า หรือออกนอกประเทศ หรือที่จำเป็นจะต้องตรวจกัก เมื่อได้ ทำการทดสอบจนแน่ใจว่าไม่มีโรคหรือเชื้อใดๆ อาศัยเกาะติดปะปนอยู่แล้วจึงจะปล่อยให้นำเอาไปปลูกขยายพันธุ์ได้

2.4. การป้องกันกำจัดแมลงที่เป็นพาหะนำเชื้อ (elimination of insect vectors) มีแมลงหลายชนิดที่นอกจากจะเป็นศัตรูดูดกัดกินพืชให้เกิดการเสียหายโดยตรงแล้วยังปรากฏว่าเป็นตัวทำให้เชื้อโรคพืชต่างๆ เช่น แบคทีเรีย รา ไวรัส และมายโคพลาสมา ระบาดแพร่กระจายจากต้นตอที่กำเนิดของโรคไปยังต้นข้างเคียงหรือต้นอื่นๆ ที่อยู่ในระยะที่แมลงจะบินหรือเคลื่อนที่ไปได้ การป้องกันกำจัด แมลงพวกนี้ไม่ให้แพร่ระบาดหรือเกิดมีขึ้นก็จะช่วยป้องกัน หรือลดความเสียหายจากโรคลงได้

3. การกำจัดทำลายโรคที่มีอยู่ให้หมดไปจากแหล่งปลูกพืช (eradication of the pathogen)

เป็นการขจัดทำลายกวาดล้างโรคที่มี หรือกำลังเป็นอยู่ให้หมดสิ้นไปจากท้องถิ่น หรือไม่ก็ให้เหลือน้อยที่สุดจนไม่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับพืชได้อีก ซึ่งอาจปฏิบัติได้โดยวิธีต่อไปนี้

3.1 วิธีทางชีววิทยา (biological con­trol of plant pathogens) หมายถึง การใช้สิ่งที่มีชีวิตหรือเชื้อโรคให้ทำลายและควบคุมปริมาณกันเอง ตัวอย่างเช่น การป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของมะเขือเทศที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas solanacearum โดยแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งคือ Bacillus polymyxa หรือการใช้เชื้อรา Trichoderma viride กำจัดทำลายพวก Pythium sp. และ Rhizoctonia sp. สาเหตุโรค damping-off โรครากเน่าและโคนเน่าของผักต่างๆ หลายชนิด

3.2 การปลูกพืชหมุนเวียน (crop rotation) โดยการเปลี่ยนพืชปลูกหรือนำเอาพืชชนิดอื่นมาปลูกสลับหมุนเวียนไม่ให้ซํ้ากันในที่เดิมวิธีนี้จะช่วยลดปริมาณ หรือเปลี่ยนลักษณะของเชื้อสาเหตุโรคที่เป็นกับพืชชนิดใดชนิดหนึ่งตกค้างอยู่ในดินจากฤดูปลูกที่แล้วไม่ให้กลับขึ้นมาทำลายพืชเดิมได้อีก อย่างไรก็ดีการปลูกพืชหมุนเวียนจะให้ผลดีก็เฉพาะกับพวกโรคที่เชื้อสาเหตุลงไปอยู่ในดินโดยบังเอิญ (soil invader) เท่านั้น เพราะพวกนี้หากไม่มีการปลูกพืชเดิมซ้ำลงไปในดินนั้นสัก 3 – 4 ปี ก็จะค่อยๆ ลดปริมาณหรือเสื่อมความสามารถในการเป็นพาราไซท์ลง ไม่สามารถกลับมาก่อให้เกิดโรคกับพืชได้อีกอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้าเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อที่ธรรมชาติเป็น soil- borne แล้วการป้องกันกำจัดโดยวิธีนี้ก็ไม่สู้จะให้ผลนัก ทั้งนี้ เพราะเชื้อดังกล่าวแม้จะไม่มีการปลูกพืชก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้เรื่อยไปโดยอาศัยเกาะกินเศษซากอินทรีย์วัตถุต่างๆ ที่มีอยู่ในดินนั้น เมื่อใดที่มีการปลูกพืชที่เป็น host ลงไปก็จะกลับขึ้นมาทำลายสร้างความเสียหายได้อีกทันที

3.3 การทำลายพืชที่อ่อนแอหรือส่วนของพืชที่เป็นโรค (removal and destruction of susceptible plants or diseased parts of plants)

ได้แก่การกำจัดต้นพืชหรือส่วนของพืชที่เป็นโรคทิ้งไปเสียก่อนที่จะระบาดลุกลามแพร่กระจายออกไป ซึ่งทำได้โดยวิธีการต่างๆ ต่อไปนี้

ก. ถอนทำลายต้นพืชที่เป็นโรค (roguing) ทันทีที่เห็นหรือแสดงอาการ โดยการเผาไฟ ฝังดิน หรือนำไปทิ้งให้ไกลจากแหล่งปลูก ในกรณีที่เป็นไม้ยืนต้นก็อาจจะทำได้ โดยการตัดแต่งเฉพาะส่วนที่เป็นโรคออกจากต้น ก่อนที่จะกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของต้นหรือระบาดไปยังต้นข้างเคียงแล้วนำไปทำลายเช่นเดียวกัน

ข. กำจัดทำลายพืชอาศัยหรือวัชพืชที่เชื้ออาจไปอาศัยเกาะกินชั่วคราวนอกฤดูปลูก (elimination of alternate hosts and weed hosts) โรคบางโรคต้องการพืชมากกว่าหนึ่งอย่างเพื่อให้มีวงจรชีวิต ที่สมบูรณ์ถ้าขาดชนิดใดชนิดหนึ่งไปก็จะไม่สามารถระบาดแพร่กระจายได้ และก็มีอีกหลายโรคที่เมื่อหมดฤดูปลูกแล้วก็สามารถไปอาศัยเกาะกินอยู่บนพืชอื่นหรือวัชพืชบางชนิดได้ชั่วคราวจนถึงฤดูปลูกต่อไปก็จะกลับมาทำลายพืชที่ปลูกได้ใหม่อีก การทำลายพืชอาศัยพวกนี้อาจมีอยู่ในบริเวณหรือใกล้แปลงปลูกก็เท่ากับ เป็นการตัดไม่ให้เชื้อกลับมาทำลายพืชปลูกได้อีก

ค. การทำความสะอาดแปลงปลูก (sanita­tion) หลังเก็บเกี่ยวผลแล้ว ควรทำความสะอาดแปลงปลูก โดยการเก็บรวบรวมชิ้นส่วนเศษซากตอซังออกให้หมดจากแปลงปลูกแล้วนำไปทำลายเสียเช่นเดียวกับข้อ ก. ทั้งนี้เพราะเศษซากพืชดังกล่าวอาจเป็นที่อยู่ของเชื้อสาเหตุโรคได้ชั่วคราวจนกว่าจะถึงฤดูปลูกใหม่ ช่วงที่แปลงหรือดินว่างเว้นจากการปลูกควรจะใช้ปูนขาวโรยฆ่าเชื้อทิ้งไว้ หรือไถขุดพลิกหน้าดินให้ได้รับแสงอาทิตย์ให้เต็มที่สักชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อฆ่าทำลายหรือลดปริมาณเชื้อที่อาจมีอยู่ในดินนั้นแล้วจึงค่อยปลูกพืชลงไปใหม่

3.4 การใช้ความร้อนกำจัดหรือควบคุมโรคในพืช (heat treatment of diseased plant) ได้แก่การใช้ความร้อนกำจัดทำลายเชื้อสาเหตุโรคที่อยู่บนหรือภายในพืชหรือส่วนของพืชที่เป็นโรคโดยไม่ทำให้พืชได้รับอันตรายจากความร้อนนั้น ซึ่งทำได้โดย

ก. โดยการนำเอาพืชหรือส่วนของพืชที่จะนำไปใช้ทำพันธุ์ไปจุ่มในน้ำอุ่น (hot water treatment) ที่มีอุณหภูมิประมาณ 45-51°ซ. นานตั้งแต่ 15-25 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และปริมาณของพืชที่ต้องการฆ่าเชื้อ

ข. โดยการนำเอาชิ้นส่วนหรือเมล็ดพันธุ์พืช ที่เป็นโรคหรือสงสัยว่ามีเชื้อโรคไปอบ รมด้วยไอหรืออากาศร้อน (hot air treatment) อากาศร้อนหรือไอร้อนภายในตู้อบ (hot air oven) ที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 54-65° ซ. อาจทำลายเชื้อบางชนิดที่ติดมากับชิ้นส่วนเมล็ดพันธุ์หรือส่วนของพืชที่จะนำไปใช้ทำพันธุ์ได้เช่นเดียวกับการแช่ในน้ำอุ่น แต่ต้องใช้เวลานานกว่าคือ ตั้งแต่ 5 -24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และปริมาณพืชที่ต้องการฆ่าเชื้อเช่นกัน

3.5 การใช้สารเคมีเพื่อขจัดทำลายเชื้อในพืชที่เป็นโรค (chemical treatment of diseased plants) ได้แก่การใช้สารเคมีกำจัดทำลายเชื้อสาเหตุโรคในพืชโดยเฉพาะส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ (seed treatment) เพื่อให้ปลอดจากโรคก่อนที่จะนำไปปลูก

การใช้สารเคมีฆ่าทำลายเชื้อที่ติดมากับเมล็ดหรือส่วนขยายพันธุ์ทำได้หลายวิธีเช่น นำมาคลุกในลักษณะที่เป็นฝุ่นผงผสมนํ้าในปริมาณที่เข้มข้นแล้วใช้ป้ายทาหรือทำเป็นสารละลายสำหรับใซ้ชุบ ล้าง จุ่มหรือแช่ในการคลุกเมล็ดนั้น ปริมาณสารที่ใช้ปกติประมาณ 0.3 – 1.0% ของน้ำหนักเมล็ด

สิ่งที่ต้องระวังสำหรับการใช้สารเคมีฆ่าทำลายเชื้อบนเมล็ดหรือส่วนของพืชที่ใช้ขยายพันธุ์คือ สารดังกล่าวจะต้องไม่ทำลายพืชหรือทำให้ความงอกเสียไปด้วยและจะต้องเคลือบฉาบติดอยู่กับเมล็ดหรือส่วนของพืชเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มีอยู่ในดินและต้นอ่อนที่จะงอกเป็นต้นต่อมาได้อีกด้วย

ชนิดของสารเคมีที่ใช้

สารเคมีที่ใช้ฆ่าทำลายเชื้อที่ติดมากับเมล็ดหรือส่วนของพืชที่ใช้ในการขยายพันธุ์มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด มีทั้งสารพวก ทองแดง ปรอท สังกะสี ในรูปของสารประกอบอนินทรีย์ (inorganic compounds) พวก ออร์แกนิค เมอร์คิวรี่ (organic mercury) เช่น พาโนเจน (panogen) เซมีแซน (semesan) และพวกสารประกอบที่ไม่ใช่ปรอท (non-mercurial compounds) อื่นๆ เช่น แคปแตน (captan) คลอรานิล (chloranil) เด็กซอน (dexon) ไดโคลน (dichlone) พีซีเอ็นบี (PCNB) ไธแรม (thiram) ฟายกอน (phygon) และสเปอร์กอน (spergon) เป็นต้น

3.6 การฆ่าทำลายเชื้อในดิน (soil treatments)

จุดมุ่งหมายในการฆ่าทำลายเชื้อในดินก็เพื่อเป็นการลดปริมาณหรือทำให้เชื้อหมดความสามารถในการก่อให้เกิดโรคในพืช ซึ่งก็อาจกระทำได้โดยวิธีต่างๆ เช่น การใช้สารเคมี การใซ้ความร้อนอบ รม เผา การปล่อยให้น้ำท่วมขัง และการไถพลิกกลับหน้าดิน

การใช้สารเคมีขจัดทำลายเชื้อในดิน อาจทำได้โดยการอบ รมด้วยสารที่ระเหยเป็นไอ (fumigate) การนำเอาสารเคมีมาผสมน้ำใซ้ราดรดหรือนำมาคลุกผสมดินโดยตรง ตัวอย่างของสารเคมีที่ใช้ทำลายเชื้อในดินประเภทระเหยเป็นไอ เช่น เมธิลโบรไมด์ (methylbromide) คลอโรพิคริน (chloropicrin) ดาโซเมท (dazomet) เอธีลีนไดโบรไมด์ (ethylenedibromide=EDB) ดีดีมิกซ์เจอร์ (D-D mixture) สารเคมีที่ใช้ผสมน้ำราดรดหรือคลุกดิน เช่น เมอร์คิวริค คลอไรด์ (HgCl2) ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) เทอราคลอร์ (terrachlor) เด๊กซอน (dexon) และพีซีเอ็นบี (PCNB) เป็นต้น

การใช้ความร้อนฆ่าทำลายเชื้อในดินก็ทำได้ทั้งใช้ไอนํ้า อบ รม นึ่ง หรือเผาคั่วก็ได้ทั้งสองวิธี ซึ่งก็จะสามารถฆ่าทำลายเชื้อโรคและจุลินทรีย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในดินได้ อย่างไรก็ดีทั้งการใช้สารเคมีและความร้อนกับดินนั้น ปกติแล้วจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อใช้กับดินที่มีปริมาณน้อยๆ เช่น แปลงเพาะกล้า ดินที่ใช้ในการทดลอง หรือในเรือนกระจกเท่านั้นไม่สามารถใช้กับดินแปลงปลูกที่ใหญ่ๆ ได้เพราะสิ้นเปลืองและไม่สามารถทำลายเชื้อที่มีอยู่ให้หมดสิ้นโดยเด็ดขาด

การปล่อยน้ำให้ท่วมขังก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำลายเชื้อโรค และศัตรูพืชหลายชนิดที่มีอยู่ในดินปลูกได้ผลดีแต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน ตัวอย่างดังจะเห็นได้จากดินที่มีนํ้าท่วมขังเป็นเวลานานๆ หรือดินตามริมแม่น้ำ ลำห้วย หนอง หรือดินปลูกที่เป็นลักษณะน้ำไหลทรายมูล ตามเกาะแก่งในแม่นํ้าซึ่งชาวบ้านใช้ปลูกพืชผักในฤดูแล้งมักจะเจริญงอกงามและพ้นจากการทำลายของโรคและศัตรูพืชชนิดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

การไถหรือขุดพลิกกลับหน้าดินจากด้านล่างขึ้นมาตาก หรือให้ถูกกับแสงแดดเป็นระยะๆ นอกจากจะทำให้ดินแห้งทำให้เชื้อไม่สามารถมีชีวิตแพร่ขยายพันธุ์ได้แล้วรังสี และความร้อนจากแสงแดดยังสามารถฆ่าทำลายเชื้อโรคได้โดยตรง นับเป็นการขจัดทำลายเชื้อได้อย่างดีมีประสิทธิภาพที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยและปลอดภัยที่สุด ไม่ทำให้ดินเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเคมี ความเป็นกรดเป็นด่าง ไม่มีฤทธิ์ตกค้างหรือเป็นพิษดังเช่นการใช้สารเคมี

4. การป้องกันพืชไม่ให้เกิดโรค (protection of the plant)

การป้องกันไม่ให้พืชที่ปลูกเกิดเป็นโรคขึ้น อาจทำได้โดยการใช้สารเคมี หรือวิธีการทางเกษตรกรรมต่างๆ ดังนี้

4.1 โดยการใช้สารเคมีฉีดพ่น คลุก จุ่ม แช่พืชหรือส่วนของพืชที่ใช้ขยายพันธุ์เพื่อป้องกันการเกิดโรค (spraying or dusting and treatment of propagules to protect against infection) การนำเอาสารเคมีมาใช้กับพืช โดยวิธีการต่างๆ เหล่านี้ พิษจากสารเคมีที่ใช้จะช่วยทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันระหว่างพืชและเชื้อโรคไม่ให้เกิดมีการทำลาย หรือเป็นโรคขึ้นได้ นอกจากนั้นยังเป็นตัวยับยั้งหรือช่วยป้องกันการงอกของสปอร์ และทำลายเชื้อขณะเจริญเติบโตอยู่บนพืชเช่นพวกราแป้งขาวได้ด้วย

4.2 การใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดแมลงที่เป็นตัวพาหะหรือนำเชื้อโรคไม่ให้ระบาดหรือแพร่กระจาย (controling the insect vectors of pathogens) มีโรคพืชหลายชนิดที่เกิดจากเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสที่สามารถระบาดแพร่กระจายออกไปได้เป็นระยะทางไกลๆ โดยมีแมลงชนิดต่างๆ เป็นตัวนำและถ่ายเชื้อให้กับพืช ด้วยเหตุนี้ การฆ่าทำลายแมลงดังกล่าวไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดก็เท่ากับ เป็นการตัดการกระจายของโรคได้ทางหนึ่ง

4.3 การปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมกับการเกิดโรค (modification of the environ ment)การเปลี่ยนแปลงควบคุมสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้เป็นตัวช่วยส่งเสริมการเกิดและระบาดของโรค เช่น การระบายถ่ายเทอากาศรอบๆ ต้นพืชหรือผลิตผลของพืชที่เก็บเกี่ยวแล้ว การลดความชื้นอุณหภูมิให้ต่ำลงในระดับหรือจุดที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อเจริญเติบโตสร้างความเสียหายให้กับพืชและผลิตผลของพืชดังกล่าวได้เต็มที่แล้ว ยังจะ ช่วยให้พืชสามารถสร้างความต้านทานให้เกิดมีขึ้นในตัวของมันเอง ไม่ให้เหมาะสมต่อการที่จะเกิดโรคบางชนิดได้

4.4 การกระตุ้นพืชให้มีความต้านทานต่อโรคไวรัสโดยการปลูกเชื้อที่อ่อนแอให้ก่อนที่จะเกิดโรค (inoculation with a benign virus to protect againsts more virulent form) พบว่ามีไวรัสอยู่หลายชนิดที่อาศัยอยู่ในพืชถาวรในลักษณะแฝง (latent form) ไม่ก่อให้เกิดอาการหรือความเสียหายรุนแรงกับพืชดังกล่าวแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นเชื้อไวรัสพวกนี้ยังอาจทำหน้าที่ช่วยป้องกันเชื้อพวกที่มีความรุนแรงหรือเป็นตัวการของโรคที่แท้จริงไม่ให้เข้าทำลาย หรือก่อให้เกิดโรคขึ้นกับพืชที่มันเข้าไปอาศัยอยู่ก่อนได้ จากปรากฏการณ์และความรู้นี้ก็สามารถถนำมาปฏิบัติช่วยในการป้องกันการเกิดโรคได้

4.5 การปรับใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับต้นพืช (modification of nutrition) ธาตุอาหารบางชนิดอาจเป็นทั้งตัวช่วยส่งเสริมความรุนแรงหรือลดการเกิดโรคได้ ตัวอย่างเช่น ธาตุไนโตรเจน ซึ่งจำเป็นและช่วยในการเจริญเติบโตในระยะแรกของพืชขณะเดียวกันก็จะช่วยให้เชื้อโรคบางชนิดเข้าทำลายพืชได้ง่ายและทำให้เกิดโรครุนแรงขึ้น พืชที่ขาดหรือได้รับธาตุโปแตสเซี่ยมไม่พอเพียงจะทำให้เกิดอาการซํ้าและอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโรค ขณะเดียวกันการให้พืชได้รับธาตุแคลเซี่ยมพอเพียงก็จะช่วยให้มีความต้านทานต่อโรคเหี่ยวและโรคเน่าได้ดีขึ้น

5. การปรับปรุงให้พืชมีความต้านทานต่อโรค (development of resistant hosts)

การทำให้พืชมีความต้านทานต่อโรค อาจทำได้โดยวิธีต่างๆ ดังนี้

5.1 การคัดเลือกพันธุ์หรือผสมพันธุ์ (selection and breeding for resistance) ได้แก่การเลือกพืชที่มีคุณสมบัติหรือสร้างพืชให้มีลักษณะพิเศษที่คงทน หรือต้านไม่ให้โรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายดังเช่นพืชธรรมดาทั่วๆ ไป โดยที่ความต้านทานอาจเกิดขึ้นในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ก็ได้ทั้งในทางสรีรวิทยา (physiological resistance) เช่น การสร้างหรือทำให้เกิดมีขึ้นของสารที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อขึ้นภายในโปรโตพลาสซึ่มของพืช หรือป้องกันไม่ให้มีการเกิดปฏิกิริยาร่วมกันได้ระหว่างพืชและเชื้อที่เป็นสาเหตุ (metabolic incompatibility of host and patho­gen) ทางโครงสร้างหรือรูปร่างลักษณะของพืช (morpho­logical resistance หรือ mechanical ressistance) คือ การที่พืชมีการสร้างเปลือกหรือผิวหนาแข็งแรงมีชั้นของคอร์คเลเยอร์ (cork layer) หรือ คิวติเคิล (cuticle) ที่หนาขึ้นทำให้เชื้อไม่สามารถแทรกเข้าไปภายในพืชได้ง่ายและสุดท้าย คือเกิดความเปลี่ยนแปลงในหน้าที่หรือ function (functionaal resistance) ในการปฏิบัติงานของอวัยวะบางส่วนของพืช เช่น การเปิดปิดของช่องปากใบ (stomata) ในช่วงที่มีเชื้อระบาด หรือสภาพแวดล้อมเหมาะต่อการเกิดโรคทำให้เชื้อไม่สามารถเข้าไปก่อให้เกิดโรคในพืชได้

การเกิดมีขึ้นในลักษณะหรือคุณสมบัติดังกล่าวก็จะช่วยทำให้พืชนั้นยากต่อการเข้าทำลายของเชื้อ โอกาสที่จะเป็นโรคก็มีน้อยลง ทำให้พืชนั้นดูเหมือนเกิดมีความต้านทานต่อโรคขึ้น

5.2 โดยการใช้สารเคมี (resistance by chemotherapy) สารเคมีบางชนิดเมื่อนำมาใช้กับพืช อาจช่วยกระตุ้นหรือทำให้พืชเกิดมีความต้านทานต่อโรคขึ้น โดยการยืดระยะเวลาการเกิดโรคให้นานออกไปจนพืชแข็งแรงหรือโตพ้นระยะรุนแรงของโรคหรือไม่ก็อาจไปเปลี่ยนแปลงลักษณะ อาการของโรค ทำให้ไม่มีผลเสียหายต่อการเจริญเติบโต หรือผลิตผลของพืช

5.3 โดยการควบคุมหรือให้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับพืช (resistance through nutrition) ธาตุอาหารจะมีผลต่อความต้านทานในทาง mechanical ซึ่งเกี่ยวข้องทางรูปร่างลักษณะของพืช (morphology) มากกว่าทางอื่น การควบคุมปริมาณชนิด และสัดส่วนของธาตุอาหาร หรือปุ๋ยที่จะให้กับพืชในอัตราส่วนที่เหมาะสมและสมดุลย์ระหว่างธาตุโดยคำนึงถึงชนิดและอายุของพืช ตลอดจนสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ซึ่งหากทำได้โดยความถูกต้องก็จะเป็นส่วนช่วยให้พืชเกิดความต้านทานและลดความเสียหายจากโรคลงได้

6. การให้การรักษาพืชที่เป็นโรค (therapy applied to the diseased plant)

การให้การรักษาซึ่งรวมไปถึงการขจัดทำลายส่วนของพืชเป็นโรค ในกรณีที่เกิดโรคขึ้นแล้ว บางครั้งก็เป็นสิ่งจำเป็นและพึงกระทำทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความเสียหาย รักษาส่วนของต้นที่ยังเหลือไว้ และป้องกันไม่ให้เชื้อระบาดแพร่กระจายออกไปทำลายส่วนอื่นๆ ที่ยังเหลือรวมไปถึงต้นข้างเคียงโดยรอบด้วย อย่างไรก็ดีการรักษาโรคพืชนั้นเท่าที่ปฏิบัติกันมา ส่วนใหญ่มักจะมุ่งทำกับพืชยืนต้นหรือพืชถาวรเช่น ไม้ผลที่มีอายุมาก ที่เพิ่งเริ่มเป็นหรือแสดงอาการของโรคให้เห็นเป็นบางส่วนยังไม่ถึงขั้นรุนแรงนัก ปกติแล้วจะไม่ทำกับพืช ล้มลุกเช่น พืชไร่หรือพืชผัก เพราะพืชเหล่านี้เมื่อเกิดเป็นโรคหรือเมื่อแสดงอาการให้เห็นนั้นก็มักจะอยู่ในชั้นรุนแรง เสียหายมากแล้วทำให้การป้องกันรักษาได้ผลไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องลงไป ในการรักษาพืชที่เป็นโรคอาจทำได้โดยวิธีต่างๆ ดังนี้

6.1 โดยการใช้สารเคมี (chemo­therapy) สารเคมีที่นำมาใช้กับพืชแล้วสามารถป้องกันรักษาโรคได้นั้น กล่าวได้ว่าเป็นไปใน 3 ลักษณะคือ

(1) ไปฆ่าทำลายเชื้อโรคโดยตรง

(2) ช่วยทำให้พิษจากสาร (toxic substances) ที่เชื้อสร้างขึ้นแล้วปล่อยออกมาขณะที่เจริญเติบโตอยู่ในพืชอ่อนเจือจางลงจนไม่สามารถก่อให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น่ได้ และ

(3) สารเคมีอาจไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในพืชจากเดิมที่มีลักษณะอ่อนแอ ให้กลับเป็นคงทนหรือต้านทานต่อโรคดีขึ้น

6.2 โดยการใช้ความร้อน (heat treatment) การนำเอาความร้อนมาใช้ในการกำจัดทำลายเชื้อหรือรักษาโรคในพืชส่วนใหญ่มักจะทำกับเมล็ดพันธุ์ หน่อ หัว ต้นตอ หรือส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ต่างๆ โดยที่ความร้อนนั้นจะทำลายเฉพาะเชื้อที่เป็นสาเหตุไม่ว่าจะเป็น รา แบคทีเรีย ไส้เดือนฝอยหรือแม้แต่ไวรัส แต่จะต้องไม่ทำลายพืชหรือทำความเสียหายให้กับพืช

6.3 โดยการตัดแต่งเคลื่อนย้ายส่วนที่เป็นโรคออกไปจากต้น (surgery) การตัดหรือริดเอาส่วนของพืซที่แสดงอาการโรคออกไปจากกิ่งหรือต้น เท่ากับเป็นการขจัดทำลายเชื้อหรือต้นตอของโรคไม่ให้ระบาด แพร่กระจายออกไปทั้งในต้นเดียวกันและต้นอื่นๆ ทั้งยังอาจเป็นการรักษาไม่ให้โรครุนแรง ทำความเสียหายมากขึ้น เมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม

ทั้งหมดดังได้กล่าวแล้วนั้น เป็นหลักการและวิธีปฏิบัติโดยทั่วๆ ไปในการป้องกันกำจัดโรคพืชซึ่งอาจสรุปเป็นหัวข้อเพื่อนำมาปฏิบัติโดยย่อ ดังนี้

1. สิ่งแรกที่ควรกระทำคือ การฝึกฝนตนเองให้เป็นคนช่างสังเกตต่อพืชผักแต่ละชนิดที่ปลูกในแต่ละช่วงฤดูกาลของปีว่ามีปัญหาหรือโรคศัตรูพืชชนิดใดเกิดขึ้นบ้าง แล้วเก็บข้อมูลจดบันทึกไว้ ซึ่งจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วโรคแมลง หรือศัตรูของพืชผักแต่ละชนิดที่เป็นอย่างเดียวกันมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาหรือฤดูเดียวกันของแต่ละปี เมื่อทราบข้อมูลแล้วก็จะเป็นการง่ายในการเตรียมการป้องกันกำจัดเพื่อไม่ให้เกิดมีขึ้น เช่นหลีกเลี่ยง ร่นหรือยืดระยะเวลาการปลูกพืชชนิดนั้นให้เร็วหรือช้ากว่ากำหนดที่เคยปลูกอยู่เดิมก่อนหรือ หลังจากที่โรคเคยระบาด โอกาสที่จะเกิดโรคก็จะน้อยลงหรืออาจไม่เกิดเลย แม้จะไม่ใช้วิธีการเปลี่ยนระยะเวลาปลูกใหม่ การที่ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรค เช่น การเกิดการระบาดและความเสียหายมาจากปีก่อนๆ ก็จะทำให้มีโอกาสและเวลาวางแผนการป้องกันโดยวิธีอื่น โดยเฉพาะการใช้สารเคมีให้ได้ผล และทันต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพราะการปล่อยหรือรอให้โรคเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วจึงค่อยใช้สารเคมีฉีดพ่น มักจะได้ผลไม่คุ้มค่า ไม่อาจหยุดความเสียหายจากโรคได้ เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์

2. หมั่นสังเกตและเอาใจใส่ต่อพืชผักที่ปลูกอย่างใกล้ชิด และสม่ำเสมอ เมื่อเห็นต้นใดผิดปกติหรือแสดงอาการของโรคเกิดขึ้นก็ให้รีบขจัดทำลายเสียแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงในเวลาต่อมาได้ สำหรับต้นที่เหลือแม้จะยังไม่แสดงอาการโรคให้เห็น ก็ให้รีบฉีดสารเคมีที่ใช้กับโรคนั้นๆ ป้องกันไว้ก่อนทันทีโดยเฉพาะ ในช่วงที่สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคดังกล่าวเริ่มจะเกิดขึ้น

3. ทุกครั้งที่เก็บเกี่ยวพืชผลแล้วควรเก็บทำลายเศษซากตอ ซัง หน่อ หัว หรือ เหง้า ต้นพืชเก่า อย่าใหัมีหลงเหลือทิ้งอยู่ในบริเวณแปลงปลูก โดยเฉพาะจากต้นที่เคยเกิดโรคมาก่อน รวมไปถึงต้นกล้าหรือต้นพืชที่งอกขึ้นมาเองจากเมล็ดหรือส่วนขยายพันธุ์ที่หลงเหลืออยู่ส่วนต่างๆ หรือต้น เหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งให้เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเข้าไปอาศัย เกาะกินชั่วคราว รอจนถึงฤดูปลูกต่อไปเพื่อกลับไปก่อให้เกิดโรคได้อีก

4. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชชนิดเดียวกันหรือพวกที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น ผักพวกกะหล่ำต่างๆ ที่อยู่ในตระกูล ครูซิเฟอร์ ได้แก่ ผักกาดขาว ผักคะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร๊อคโคลี่ ผักกาดเขียวปลี ฯลฯ พวก โซลานา เซียส เช่น พริก มะเขือ มะเขือเทศ มันฝรั่ง พวกถั่ว (legumes) ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น พวก Phaseolus ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วราชมาด ถั่วแขก ถั่วพุ่ม พวก Vigna ได้แก่ ถั่วฝักยาว ถั่วข้าว ถั่วดำ ถั่วกระด้าง และพวกหอม กระเทียม ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Allium ได้แก่ หอมแบ่ง หอมแดง หอมต้น หอมหัวใหญ่ กระเทียมหัว กระเทียมใบ และกุยฉ่าย เป็นต้น พวกนี้โรคที่เกิดอาจเป็นอย่างเดียวกันและเกิดจากเชื้อชนิดเดียวกันได้ หากมีการปลูกต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ โรคก็จะคงอยู่ในแหล่งดังกล่าวต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด การเปลี่ยนพืชปลูกจะทำให้เชื้อหมดความสามารถไม่ก่อให้เกิดโรคหรือทำความเสียหายให้กับพืชชนิดใหม่นั้นได้อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

5. เมล็ดพันธุ์ หัว หน่อ กิ่งตอน ต้นตอ หรือส่วนขยายพันธุ์ ควรคัดเลือกหรือนำมาจากต้นพ่อ-แม่ ที่แข็งแรงสมบูรณ์ หากไม่สามารถผลิตหรือเก็บเองได้ก็ควรหาซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และรับรองแล้ว การปลูกพืชด้วยเมล็ดหรือส่วนขยายพันธุ์ที่ปลอดโรคเท่ากับเป็นการเริ่มต้นที่ดี อย่างน้อยก็จะทำให้ได้ต้นพืชที่สมบูรณ์ในระยะแรกของการเจริญเติบโต

6. โรคบางชนิดซึ่งเป็นพวกที่อาศัยหรือมีกิ่นกำเนิดอยู่ในดิน (soil-borne organisms) ทั้งเชื้อราและแบคทีเรียพวกนี้มักจะเป็นปัญหาในการป้องกันหรือขจัดทำลายให้หมดสิ้นได้โดยยาก หรือไม่ก็เป็นการสิ้นเปลืองเสียค่าใช้จ่ายสูง วิธีการเปลี่ยนสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินโดยการเติมปูนขาวหรือสารที่ก่อให้เกิดกรดลงในดินนั้นเพื่อไม่ให้เหมาะต่อการเจริญเติบโต และความสามารถในการทำให้เกิดโรคของเชื้อ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันหรือลดความเสียหายที่อาจจะเกิดจากเชื้อดังกล่าวลงได้

7. การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคอาจเป็นสิ่งจำเป็นที่พึงกระทำในเมื่อเกิดมีโรคระบาดเกิดขึ้น แต่ก็ควรเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะนำมาพิจารณาปฏิบัติเมื่อได้ทำการป้องกันโดยวิธีอื่นแล้วไม่เป็นผล สิ่งสำคัญคือสารเคมีที่ใช้กับพืชส่วนใหญ่มีราคาแพงและมีอันตรายทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค แม้ว่าพิษจะไม่รุนแรงเท่ากับสารที่ใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงแต่ก็ไม่ควรประมาทโดยเฉพาะผู้ที่อ่อนแอ หรือมีภูมิต้านทานต่ำ หากรับเข้าสู่ร่างกายมากๆ ถึงจุดอันตราย อาจตายได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเพื่อให้ปลอดภัยและให้ผลมากที่สุด จึงมีสิ่งที่ควรคำนึงและปฏิบัติดังต่อไปนี้

7.1 อ่านสลากคำแนะนำ พร้อมกับทำความเข้าใจกับชนิดของสารเคมีที่ใช้ให้ถ่องแท้ ใช้ให้ตรงกับชนิดของโรคและชื่อสาเหตุที่ระบุ และปฏิบัติตามข้อบ่งใช้อย่างเคร่งครัดไม่ควรใช้สารเคมีในอัตราส่วนที่เจือจาง หรือเข้มข้นเกินไปกว่าที่กำหนด เพราะสารเคมีที่เจือจางนอกจากจะไม่สามารถฆ่าทำลายเชื้อให้ตายทันทีหรือไม่ตายแล้วยัง อาจทำให้เชื้อเกิดความต้านทานต่อสารเคมีขึ้นในภายหลังได้ ส่วนที่เข้มเกินใปนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองแล้วยังอาจเป็นอันตรายต่อทั้งพืช ผู้ใช้และผู้บริโภคด้วย

7.2 สารเคมีที่ใช้ ควรจะใช้ในลักณณะป้องกันโรคก่อนที่โรคจะเกิดทำความเสียหายรุนแรงหรือทันทีที่พบว่าเริ่มมีโรคเกิดขึ้นในช่วงที่สิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยมีแนวโน้มและสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดการระบาดจากข้อมูลและบันทึกที่ทำไว้เดิม การใช้สารเคมีเมื่อโรคเกิดหรือเป็นรุนแรงมักไม่ได้ผล ไม่คุ้มกับการลงทุน ปัจจุบันมีสารเคมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่ใช้รักษาโรคที่กำลังเป็นอยู่ในพืชแล้วได้

7.3 เนื่องจากสารเคมีบางชนิดมีราคาค่อนข้างสูง ถ้าใช้ได้ผลก็นับว่าเป็นประโยชน์ขณะเดียวกันหากใช้ไม่ได้ผลหรือให้ผลน้อยก็จะยิ่งเป็นการซํ้าเติมทำให้เสียหายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ก่อนตัดสินการใช้สารเคมีควรพิจารณาศึกษาหรือคำนวณเสียก่อนว่าคุ้มควรแก่การลงทุนหรือไม่ ถ้าได้มากกว่าเสียก็ควรกระทำ ในทางตรงกันถ้าหากคำนวนแล้วค่าสารเคมีค่าจ้างแรงงานรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่ต้อง ลงทุนแพงกว่าผลผลิตของพืชที่จะได้คืนมาก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง ปฏิบัติใดๆ ในอันที่จะทำให้ต้องขาดทุนเพิ่มมากขึ้นไปอีก

7.4 ในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชที่นิยมทำกันอยู่ก็มีสองวิธี คือ ถ้าสารเคมีมีลักษณะเป็นเม็ดเป็นก้อนแข็งหรือเป็นของเหลว ก็ใช้วิธีละลายนํ้าให้เป็นสารละลายเจือจางลงแล้วนำไปใช้โดยวิธีฉีดพ่น (spraying) ราดรดลงในดินหรือจุ่มแช่ (soaking) หากเป็นสารเคมีชนิดที่มีลัษณะเป็นฝุ่นผงละเอียด ก็อาจจะเอามาละลายน้ำให้เป็นสารละลายเสียก่อนเช่นกันแล้วจึงค่อยนำไปฉีดหรือพ่น หรือบางชนิดจะใช้ในลักษณะพ่นเป็นฝุ่นผง (dusting) ให้กับพืช โดยตรงก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกและเหมาะสม การใช้สารเคมีในลักษณะที่เป็นสารละลายแล้วฉีดพ่นให้กับพืช ในกรณีของผักที่ต้น กิ่ง ใบหรือผล ฝัก มีลักษณะเรียบเป็นมันเพราะมีสารพวกขี้ผึ้ง(wax) หรือ chitin เคลือบฉาบอยู่ที่ผิว หรือพวที่มีต้นใบเรียว กลม และตั้งตรงเช่น หอม กระเทียม ขึ้นฉ่าย เพื่อให้สารที่ฉีดพ่นไปแล้วยึดเกาะติดกับส่วนของพืช ป้องกันและฆ่าทำลายเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคได้ดีและนาน มีการสูญเสียน้อยที่สุด ควรจะทำการผสมสารเคลือบใบ (sticker หรีอ spreader) ลงไปด้วย สารเคมีบางชนิดมีลักษณะเป็นน้ำมันละลายนํ้าได้น้อยพวกนี้ก็ควรผสมสารที่ช่วยทำให้นํ้าและนํ้ามันรวมตัวและเข้ากันได้ดีขึ้น (emulsifier) ลงไปเสียก่อน ผสมให้เข้ากันดีแล้วจึงค่อยนำไปฉีดให้กับต้นพืช ซึ่งสารเหล่านี้จะรวมอยู่ในกลุ่มของสารเสริมประสิทธิภาพ (adjuvants)

การใช้เครื่องมือฉีดพ่นสารที่เหมาะสมและถูกต้องก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรจะมองข้าม ทั้งนี้เนื่องจากทั้งเชื้อโรคและแมลงบางชนิดที่ช่วยทำให้เกิดโรคในพืชผักนั้น เมื่อเข้าไปเกาะกินหรือทำลายพืชไม่ได้อยู่เฉพาะที่ผิวด้านนอกหรือด้านบนของต้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่นโรคราน้ำค้าง โรคราสนิมขาว พวกนี้เมื่อเข้าทำลายพืชจนแสดงอาการแล้วก็จะสร้างสปอร์หรือโคนิเดียขึ้นที่ด้านใต้ของใบพืช แมลงพวกเพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หรือไรขาว ไรแดง ก็เช่นกันหลังจากขึ้นมาดูดกินนํ้าเลี้ยงบนใบอ่อนหรือส่วนยอดในตอนกลางคืน หรือตอนเช้าแล้วพอสายแดดออกอากาศร้อนก็จะหลบเข้าไปแอบซ่อนตัวอยู่ตามซอกกาบใบ ใต้ใบ หรือใบที่ม้วน พวกนี้จำเป็นจะต้องใช้เครื่องฉีดพ่นที่มีรูจ่ายสารเคมีที่เล็กและมีกำลังอัดลมสูง เพื่อให้เนื้อสารเคมีที่ฉีดออกมาเป็นฝอยละเอียดหรือมีลักษณะเป็นหมอกควันสามารถแทรกซึมไปเกาะหรือปกคลุมทั่วทุกซอกมุมของต้นพืช มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่สามารถป้องกันและฆ่าทำลายเชื้อและแมลงพวกนี้ได้หมด

7.5 หลังจากใช้สารเคมีครั้งสุดท้ายกับพืชแล้วไม่ควรเก็บเกี่ยวผลออกจำหน่ายหรือนำมาบริโภคทันที ต้องรอจนพ้นระยะอันตรายของสารเคมีนั้นๆ เสียก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพของทั้งผู้บริโภคและผู้ที่ปฏิบัติหรือเกี่ยวข้องกับต้นพืชดังกล่าว