การทำสวนสมุนไพร

สมุนไพรที่ใช้เป็นยารักษาโรคในรูปแบบต่างๆ ทั้งยาต้ม ยาชง ยาลูกกลอน ซึ่งคนไทยมักจะรู้จักและคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่นิยมกันมากในปัจจุบันมักอยู่ในรูปของยารักษาโรค อาหารเสริม และใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางชนิดต่างๆ มากมาย

การปลูกพืชสมุนไพรไว้เป็นอาหาร และใช้รักษาโรคที่อาการไม่รุนแรงมากนัก จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ แถมยังมีพืชสมุนไพรที่ปลอดจากสารเคมีไว้บริโภคในครัวเรือนด้วย

พืชที่จะนำมาปลูกในสวนสมุนไพรมักเน้นถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก เป็นพืชที่มักนำมาใช้กันอยู่บ่อยๆ ปัจจัยสำคัญที่จะใช้เลือกพืชสมุนไพรมาปลูกคือ ต้องดูว่าสถานที่ปลูก ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่จะใช้ปลูกพืชชนิดนั้นเหมาะสมกันหรือไม่ ซึ่งมีข้อพิจารณาต่างๆ ดังนี้

1. แสงแดด
ให้พิจารณาดูว่าปริมาณแสงแดดที่ส่องไปยังบริเวณที่จะปลูกในแต่ละวันเป็นอย่างไร เช่น ได้รับแสงแค่รำไร มีแสงส่องเฉพาะในช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย หรือได้รับตลอดทั้งวัน

2. อุณหภูมิ
ให้พิจารณาถึงอุณหภูมิที่พืชจะได้รับซึ่งอาจเป็นผลมาจากฤดูกาล สถานที่ที่ใช้ในการปลูก และปริมาณแสงที่จะได้รับ เช่น หากพืชชนิดนั้นทนกับอากาศร้อนได้ดีก็ควรปลูกในบริเวณที่มีแดดจัดซึ่งมีอุณหภูมิสูง

3. น้ำ
ให้พิจารณาถึงแหล่งน้ำที่จะใช้สำหรับการปลูกพืชแต่ละชนิด ซึ่งควรมีการรดน้ำให้แก่พืชในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม ไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป

4. ดินปลูก
ให้พิจารณาถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินที่จะใช้ในการปลูก ว่ามีอินทรียวัตถุมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสามารถเพิ่มความสมบูรณ์ให้แก่ดินก่อนที่จะปลูกพืชได้ด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยชีวภาพต่างๆ

5. ลักษณะของพืช
ให้พิจารณาถึงความแตกต่างของลักษณะนิสัยของพืชที่จะใช้ปลูกแต่ละชนิดว่าเป็นอย่างไร เช่น บางชนิดชอบที่ร่ม บางชนิดชอบที่ชื้นแฉะมีน้ำท่วมขัง บางชนิดเป็นไม้เลื้อย หรือบางชนิดเป็นไม้ยืนต้น

6. การดูแลรักษา
ในช่วงเริ่มต้นของการเพาะปลูก ควรมีการรดน้ำให้แก่พืชอย่างสม่ำเสมอ และควรมีร่มเงาเพื่อให้พืชใช้บังแสงแดดด้วย เพื่อให้พืชสามารถตั้งตัวได้ดี ควรมีการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพเป็นระยะๆ เมื่อปลูกไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว กิ่งที่แห้งหรือเป็นโรคก็ควรตัดออก และตัดแต่งทรงของต้นไปพร้อมๆ กัน ส่วนพืชที่มีลำต้นประเภทเลื้อยพันก็ควรมีที่สำหรับเกาะยึด เช่น เสา ร้าน หรือค้าง เอาไว้ด้วย

วิธีการปลูก
1. การปลูกด้วยเมล็ด
โดยการนำเมล็ดพันธุ์ไปหว่านในแปลงปลูก แล้วโรยทับด้วยดินร่วนหรือทรายหยาบบางๆ ต้องรดน้ำให้ชื้นทุกวัน เมล็ดที่งอกแล้วหากมีต้นที่อ่อนแอก็ควรทำการถอนทิ้ง เว้นระยะห่างพอสมควร มักใช้ในการปลูกพืชพวก กะเพรา โหระพา ส่วนการหยอดเมล็ดลงไปในหลุมปลูกมักเป็นพืชพวก ฟักทอง ละหุ่ง ซึ่งมีเมล็ดที่ใหญ่กว่า โดยในแต่ละหลุมจะหยอดเมล็ดลงไปมากกว่าจำนวนต้นที่ต้องการ และค่อยถอนออกในภายหลัง

2. การปลูกด้วยต้นกล้าหรือกิ่งชำ
เป็นการย้ายต้นกล้าที่แข็งแรงดีแล้วจากการเพาะเมล็ด หรือกิ่งชำมาปลูกในแปลง โดยต้องระมัดระวังไม่ให้รากเกิดความเสียหาย เพื่อให้ต้นอ่อนเจริญเติบโตได้ดีหลุมที่เตรียมไว้สำหรับปลูกควรมีความกว้างกว่าภาชนะที่ใช้เพาะชำพอควร ให้ลำต้นของพืชที่อยู่เหนือรากอยู่พอดีกับระดับขอบหลุม แล้วกลบปากหลุมด้วยดินร่วนซุย หรือดินร่วนปนทราย กดดินปลูกให้พอแน่น ที่รอบโคนต้นให้คลุมไว้ด้วยเศษไม้ใบหญ้าเพื่อป้องกันแรงกระแทกเมื่อมีการรดน้ำและเพื่อเป็นการรักษาความชุ่มชื้นไปด้วย ส่วนพวกไม้ยืนต้น เช่น คูน แคบ้าน ชุมเห็ดเทศ สะแก หรือขี้เหล็ก ควรป้องกันการล้มหรือโยกคลอนด้วยการปักไม้ข้างๆ ลำต้นแล้วใช้เชือกผูกยึดเอาไว้

3. การปลูกด้วยหัว
พืชที่ใช้ปลูกมักเป็นพวก หอมหรือกระเทียม ดินที่ใช้ปลูกพืชประเภทหัวควรมีการระบายน้ำได้ดี เพื่อป้องกันการเน่าเปื่อยของหัว โดยฝังลงไปให้ลึกไม่เกิน 3 เท่าของหัวพืชชนิดนั้น กลบดินให้พอแน่นดี แล้วใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมแปลงปลูกอีกครั้ง

4. การปลูกด้วยเหง้าหรือหน่อ
โดยการนำเหง้าหรือหน่อที่เตรียมไว้แล้ว ย้ายไปในแปลงปลูก

5. การปลูกด้วยไหล
มักเป็นพืชพวก บัวบก หรือแห้วหมู ซึ่งก่อนนำไปลงแปลงปลูกก็จะนำส่วนที่เป็นไหลมาชำไว้ก่อน

6. การปลูกด้วยจุกหรือตะเกียง
พืชที่ใช้ปลูก เช่น สับปะรด โดยให้จุกตั้งขึ้นแล้วกลบจุกนั้นด้วยดินปลูก

7. การปลูกด้วยใบ
พืชที่ใช้ปลูก เช่น ว่านลิ้นมังกร หรือพืชที่มีใบหนา ใหญ่ และแข็งแรง โดยการตัดใบแล้วนำไปปักบนดินที่มีความชุ่มชื้นที่เตรียมไว้แล้วเพื่อให้เกิดเป็นต้นใหม่ต่อไป

8. การปลูกด้วยราก
พืชที่ใช้ปลูก เช่น ดีปลี เป็นต้น โดยการตัดส่วนของรากไปปักชำให้เกิดเป็นต้นใหม่ขึ้นมา

การมีสวนสมุนไพรไว้ประจำบ้านถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นทีเดียว เมื่อได้ศึกษาถึงสรรพคุณของพืชสมุนไพรแต่ละชนิดแล้วลงมือทำ ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากหรือซับซ้อนจนเกินไป เช่น รู้ว่าว่านหางจระเข้ ขึ้นได้ดีในดินปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชอบแสงแดดที่พอเหมาะ รู้ว่าต้นเหงือกปลาหมอชอบดินเลน หรือดินกร่อยที่มีความชุ่มชื้น หากผู้ปลูกเข้าใจสภาพแวดล้อมของพืชและวิธีปลูก ก็จะทำให้สมุนไพรเจริญเติบโตได้ดีและมีคุณภาพ