กระดังงาไทย

(Kenang, ylang-ylang)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga odorata (Lamk.) Hook.f. & Thomson var.odorata
ชื่อวงศ์    ANNOMACEAE
ชื่ออื่น กระดังงา กระดังงาใหญ่ สะบันงา สะบันงาต้น
ถิ่นกำเนิด มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาะแปซิฟิกเขตร้อน
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 3-5 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปกรวยแผ่กว้างค่อนข้างโปร่ง กิ่งก้านมักตั้งฉากกับลำต้น ปลายห้อยลู่ลง ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีเทา ผิวหยาบแตกสะเก็ด หรือเป็นแผลขนาดใหญ่กระจายทั่วทั้งลำต้น


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรีอรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-7 ซม. ยาว 9-20 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมันและเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเรียบ เป็นคลื่น แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นลอน สีเขียวสด เป็นมัน ก้านใบยาว 1-1.5 ซม.


ดอก สีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่กิ่ง เหนือรอยแผลของใบ ช่อดอกห้อยลง มี 3-6 ดอก ก้านดอกยาว 2-5 ซม. กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ปลายกลีบกระดกขึ้น กลีบดอก 6 กลีบ รูปขอบขนาน ปลายแหลมโค้งเข้าด้านใน ขอบเรียบ และเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบเรียงสลับกัน 2 ชั้น เกสรเพศผู้จำนวนมาก ดอกแรกบานเป็นสีเขียว เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 4-6 ซม.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อ เป็นผลกลุ่ม ทรงกลมรี กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-2.5 ซม. สีเขียว เรียงอยู่บนแกนตุ้มกลม 5-12 ผล เมื่อสุก สีเขียวคล้ำหรือดำ เมล็ดรูปไข่แบน สีนํ้าตาล 2-10 เมล็ดต่อผล ออกดอกและติดผลตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบชื้นในภาคใต้ตอนล่างและปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ ดอก ให้น้ำมัน ใช้ปรุงนํ้าอบเครื่องสำอาง ใช้อบนํ้าเชื่อมสำหรับใส่ขนมหวาน ทำให้มีกลิ่นหอม โบราณใช้ดอกทอดกับน้ำมันมะพร้าวทำนํ้ามันใส่ผม
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ต้น กิ่งก้านและใบ ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ ดอก ให้น้ำมันปรุงเป็นยาหอมแก้ลมอ่อนเพลีย แก้ไข้โลหิต เป็นพิษ ราก ใช้คุมกำเนิด เปลือก ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย