ข้อควรรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกระต่ายจันทร์


สาบแร้ง หญ้าจาม
ชื่อ
จีนเรียก      ง่อเกี้ยอึมเจิยะเช่า จูเกี๋ยเช่า  ง่อเกียไฉ่  Centipeda minima (L.) A.Br. et. Aschers.

ลักษณะ
ชอบขึ้นตามคันนา ริมหนองน้ำ ข้างทาง เป็นพืชล้มลุกปีเดียว ลำต้นสีเขียวอ่อน เป็นพืชอ่อนแอ แตกกิ่งก้านขึ้นมากเอนไปตามหน้าดิน ยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ใบเกิดจากต้นโดยตรงไม่มีก้านใบ รูปใบเป็นรูปสามเหลี่ยมแหลมที่โคนบาน ที่ปลายยาวประมาณ 2 หุน ขอบใบมีหยัก 1-2 หยัก ออกดอกตามฐานใบบ้าง ออกตามยอดบ้างตลอดปี ดอกเป็นกระจุกยาวประมาณ 1 หุน กระเปาะดอกสีเหลืองออกผลเป็นเมล็ด เล็กๆ

รส
รสเฝื่อน แต่กลิ่นหอม ธาตุไม่เย็นไม่ร้อน ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
รับประทานสามารถขับลม ระงับปวด ใช้ภายนอกเร่งให้จาม ทำให้ตาสว่าง ฤทธิ์เข้าถึงม้ามและปอด

รักษา
พลัดตกหกล้มช้ำใน เป็นหวัดคัดจมูก เด็กเป็นตาลขโมย ไอกรน ใช้ภายนอก หยอดตากันตาเป็นต้อ ไซนัส จมูกอักเสบ

ตำราชาวบ้าน
1. ช้ำในเพราะถูกของแข็ง – กระต่ายจันทร์ครึ่งตำลึง ตำแหลกตุ๋นเหล้า ส่วนกากใช้พอกที่เจ็บ หรือกระต่ายจันทร์ครึ่งตำลึง ตำแหลกใส่นํ้าตาลทรายขาว รับประทานก็ได้ส่วนกากใช้พอก
2. เป็นหวัดคัดจมูก – กระต่ายจันทร์ครึ่งตำลึงต้มกับหัวหอม 5 หัว รับประทาน
3. เด็กเป็นตาลขโมย – กระต่ายจันทร์ 3 เฉียน ยัดใส่ในไข่ ต้มรับประทาน
4. ไอกรน – กระต่ายจันทร์ ครึ่งตำลึงต้มรับประทาน หรือใส่นํ้าตาลกรวดก็ได้ ถ้าใส่นํ้าตาลทรายก็นับอายุ 3 ปี ต่อ 2 เฉียน ต้มรับประทาน
5. แก้ตาเป็นฝ้า – กระต่ายจันทร์ ตำแหลกยัดในรูจมูกข้างเดียวกับตาที่เป็นฝ้า
6. จมูกเป็นไซนัส – กระต่ายจันทร์ ตำแหลกยัดในรูจมูกที่เป็นโรค
7. จมูกอักเสบ – กระต่ายจันทร์ ตำแหลกยัดในรูจมูก

ปริมาณใช้
สดใช้ไม่เกิน 1 ตำลึง แห้งไม่เกินครึ่งตำลึง ใช้ภายนอกกะพอประมาณ

ข้อควรรู้
หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช