การจัดประกวดและวิธีให้คะแนนของไม้ดอก

การประกวดพันธุ์ไม้ต่าง ๆ และการตัดสินนั้น เป็นคำที่กว้างมาก หมายความถึงรวมพันธุ์ไม้ทุกชนิด

ทำไมจึงต้องมีการประกวดกันขึ้น ดูเหมือนจะเป็นปัญหาธรรมดา ไม่ว่าจะนิยมเลี้ยงหรือเล่นอะไรกันขึ้นก็ต้องมีการประกวดประขัน เพื่อให้รู้ว่าของใครดีกว่ากัน ที่ไหนก็ที่นั่น ต่างก็นิยมกันมากขึ้น จนกลายเป็นหลักสากลทั่ว ๆ ไป หลักเกณฑ์ที่ถือเป็นหลักปฎิบัติจึงเกิดขึ้น

กรรมการตัดสินแรก ๆ คงคัดมาจากผู้ที่นิยมอย่างนั้น จนเป็นที่แน่นอนว่ารู้ดีในเรื่องนั้น ๆ ได้รับการอุปโหลกยกย่องเป็นกรรมการชี้ขาด อาจจะเป็นคนเดียวหรือหลายคนแล้วแต่กรณี ตอนหลัง ๆ จึงมีกฎเกณฑ์ของกรรมการขึ้นโดยเฉพาะว่า

1. กรรมการต้องเป็นคณะและมีประธานชี้ขาดเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

2. กรรมการผู้นั้นเป็นผู้ที่ให้ความยุติธรรม

3. กรรมการผู้นั้นต้องมีประสบการณ์ มีความคิดก้าวหน้าในกิจการนั้น ๆ พอสมควร

นี่เป็นหลักใหญ่ในเรื่องของกรรมการตัดสิน ไม่ว่าจะประกวดอะไรต้องเข้าหลักเกณฑ์อันนี้ ถึงแม้กรรมการผู้นั้นจะมิได้ปลูกเลี้ยงพันธุ์ไม้ที่ตนตัดสินเลยก็ตาม แต่เป็นผู้มีประสบการณ์ รู้ว่าต้นไหนสวยไม่สวยอย่างไร พ่อแม่ลักษณะดอกและต้นเป็นอย่างไร เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่า มีความคิดก้าวหน้า

การตัดสินของคณะกรรมการในระยะแรก ๆ ที่ปฏิบัติกัน ก็เป็นแต่เพียงดู ๆ แล้วก็ชี้เอาว่าต้นนั้นได้ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ วิธีนี้ไม่ค่อยนิยมกัน เรียกว่า การตัดสินโดยวิธีโหวต (Vote) หรือมีความเห็นพ้องอย่างเปิดเผย กล่าว คือ กรรมการผู้ตัดสินต้องมีความเห็นพ้องต้องกันเกินกว่าครั้งเป็นอันใช้ได้ ผลปรากฏว่าแตกต่างกว่าการให้คะแนน เพราะไม่มีสถิติที่แน่นอน ไม่มีบันทึกไว้เป็นหลักฐานนั่นเอง

อีกประการหนึ่ง การประกวดที่กำหนดวัน เดือน ปี ที่แน่นอนลงไปนั้นมีข้อเสียอยู่หลายประการ เช่น ไม่ตรงกับฤดูดอกไม้แต่ละชนิดที่จะบานได้สวย หรือประเภทนั้น ๆ ไม่อาจบานในวันเวลาที่จัดประกวดต้นไม้ที่ได้รับรางวัล จึงเป็นผลทางหลักวิชาการที่จะได้มาทางสถิติไม่แน่นอน เพราะคุณภาพของดอกไม้แต่ละคราวย่อมไม่เหมือนกัน แตกต่างหลายอย่างกับฤดูกาลของมันที่บานตามธรรมชาติ

วิธีการตัดสินโดยการให้คะแนนนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก แต่การกำหนดคะแนน การให้รางวัลตามลำดับนั้น แล้วแต่จะได้กำหนด เพื่อเป็นแนวทางไว้พิจารณาตัดสิน และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นการกำหนดคะแนนที่ให้ความเหมาะสมและใกล้เคียงต่อความเป็นจริงที่สุด วัตถุประสงค์ที่กำหนดคะแนนหรือกำหนดกฎเกณฑ์กันขึ้นโดยทั่ว ๆ ไปนั้น ก็เพื่อมุ่งหมายไปในแนวทางการส่งเสริมเป็นจุดใหญ่ คือ

1. เป็นการส่งเสริมวิธีการเลี้ยงให้ถูกต้อง

2. เป็นการส่งเสริมการผสมพันธุ์ให้ได้มาทางคุณภาพที่ดีเด่นยิ่ง ๆ ขึ้น

3. ให้ทัศนะแก่ผู้เลี้ยงและนักนิยมพฤกษชาติได้ทราบว่าอย่างไหนอยู่ในลักษณะดีเยี่ยม

4. เป็นการส่งเสริมกำลังใจ และเป็นการสังสรรค์ในหมู่นักนิยมพฤกษชาติด้วยกัน อันจะได้มาซึ่งปัญหาใหม่ ๆ

5. ให้รู้จักพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

หลักเกณฑ์การพิจารณาดอกไม้ที่จะได้รับรางวัล

ก่อนที่จะทราบวิธีการให้คะแนน หรือวิธีการตัดสินนั้น ควรจะได้ทราบหลักการพิจารณาตัดสินเสียก่อนว่า เขาพิจารณากันอย่างไรคร่าว ๆ เสียก่อน กรรมการผู้ตัดสินจะพิจารณาคุณภาพของดอกไม้โดยทั่ว ๆ ไป ดังนี้คือ

1. ฟอร์มดอก (Form of Flower) รูปลักษณะ

2. สีของดอก (Color of Flower)

3. ขนาดดอก (Size of Flower)

4. การจัดระเบียบดอก (Arrangement of Flower on Inflorescense)

5. จำนวนดอก (Number of Flower)

6. ความหนา เนื้อหา (Substance)

7. ผิวพรรณ (Texture)

8. ก้านช่อ (Stem)

9. ความสมบูรณ์ของต้น

เมื่อทราบว่าการพิจารณาตามหลักสากล เขาพิจารณาเช่นนี้แล้วก็ควรทราบความหมายพอเลา ๆ ไว้บ้างพอสมควร เช่น คำว่า Form หรือ Shape ที่สวยงามนั้น กลีบหลังกลีบหน้าของดอกควรจะชิดและสมดุลย์ อยู่ในลักษณะ พอเหมาะพอสมตามคุณภาพของแต่ละชนิด

Substance เนื้อหา-ความหนา หมายถึงเนื้อของดอก ซึ่งมีความแน่นและหนา อาจสามารถเก็บทรงดอกให้คงทนไม่เสื่อมหรือโรยง่าย

Color สี หมายถึง ความนุ่มนวลและอ่อนช้อยของสี ซึ่งเกิดจากลักษณะธรรมดาของแต่ละชนิด ซึ่งพิจารณาดูแล้วดูสดใสและงามตามสภาพ

Size ขนาด หมายถึง ความใหญ่ ตามคุณสมบัติแต่ละตระกูล

Stem ก้านดอกและดอกดกนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดอกไม้ ซึ่งเกี่ยวโยงกันตามสภาพของแต่ละชนิด

การวัดขนาดของดอกโดยทั่วไป

ตามหลักสากล ใช้มาตรานิ้วฟุตและละเอียดไปจนถึงเศษของนิ้ว

1. ความใหญ่ วัดระยะตามความยาวระหว่างปลายกลีบในทั้งสอง ในลักษณะที่บานอยู่ตามธรรมชาติ

2. ความกว้างของกลีบดอก วัดส่วนกว้างที่สุดของกลีบ อาจจะขยายหรือคลี่ออกวัดตามแบน

3. ความยาว วัดจากโคนปลายกลีบตามแนวของกลีบ ส่วนกลีบในก็คงวัดเช่นเดียวกัน

4. ปาก วัดความกว้างตามขวาง วัดยาวตามยาวจากโคนปากถึงปลายปาก

การให้คะแนน

คะแนนส่วนมากแทบทุกประเทศมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ขอยกตัวอย่างเช่น

แคทลียา

ฟอร์มของดอก 30 คะแนน

สีของดอก 30 คะแนน

ขนาดของดอก 10

ความหนา เนื้อหา 15

ผิวพรรณ     5

ระเบียบดอก 8

ก้านช่อ 2

รวม 100 คะแนน

แต่ละอย่างแต่ละอย่างเรายังแยกแยะคะแนนย่อยลงไปอีก เพื่อพิจารณากันโดยละเอียดอย่างเช่น แวนด้า

1. สี โดยทั่วไปพิจารณาให้คะแนนย่อยดังนี้

ก. ความนิ่มนวลของสี 8

ข. เป็นแพรมันและสะอาด 8

ค. สี่ที่หายาก 4

และให้พิจารณาส่วนอื่นของดอก

ก. กลีบนอก 2

ข. กลีบใน 3

ค. กลีบล่าง 5

ง. ปาก 2

สีรวม  32 คะแนน

2. ฟอร์มหรือรูปลักษณะ ให้พิจารณาดังนี้

ฟอร์มโดยทั่วไป    14 คะแนน

ส่วนอื่น ๆ

ก. กลีบนอก 4

ข. กลีบใน 4

ค. กลีบล่าง 5

ง. ปาก 3

ฟอร์มรวม   30 คะแนน

 

3. ขนาดดอก 10 คะแนน

และให้พิจารณารวมถึง

ก. ความหนา 5 คะแนน

ข. ผิวพรรณ 5 คะแนน

ขนาดดอกรวม 20 คะแนน

4. ก้านช่อ 5 คะแนน

และให้พิจารณาถึง

ก. การจัดระเบียบ  6 คะแนน

ข. จำนวนดอก 8 คะแนน

ก้านช่อและการจัด

ระเบียบดอกรวม 19 คะแนน

รวมคะแนนทั้งหมด 100 คะแนน

การพิจารณาดอกไม้เป็นเรื่องของศิลป จึงต้องดูความสวยงามบางอย่างไปพร้อม ๆ กัน เช่น เมื่อเราเห็นว่าดอกไม้นี้ดอกใหญ่ก็ต้องดูความดกของมันไปด้วย เมื่อพิจารณาถึงฟอร์มก็ต้องพิจารณาในเรื่องสีไปพร้อม ๆ กันด้วย ใน โอกาสเดียวกันก็ต้องพิจารณาถึงความบกพร่องของมันที่ปรากฏด้วย เมื่อนำมาหักลบกลบเกลื่อน ในการให้คะแนนว่าดอกไม้นั้นมีส่วนเสียอะไร เช่น กลีบแกร็น ด่างดำ เป็นรอยจุดหรือชอกช้ำ หรือถูกแมลงกัดเว้าแหว่ง หากเสียหายมาก จะงดการพิจารณาเสียก็ได้

ส่วนดอกไม้อย่างอื่นที่มิใช่กล้วยไม้ อาจมีลักษณะกลีบ และปากผิดแผกแตกต่างกับกล้วยไม้ การพิจารณาให้คะแนนไปอีกอย่างหนึ่ง พอจะยกตัวอย่างสัก 2-3 อย่าง ดังนี้

ดอกหน้าวัว

ดอกและจาน 15 คะแนน

สี 15 คะแนน

ปลี 15 คะแนน

ความย่น 20 คะแนน

หู 15 คะแนน

ก้านดอก 10 คะแนน

ทรงต้น 10 คะแนน

รวม 100 คะแนน

บอนสี

ทางและทรงต้น 25 คะแนน

ใบ 20 คะแนน

สี 30 คะแนน

ความสมบูรณ์ 25 คะแนน

รวม   100 คะแนน

โกสน

ที่ว่างามต้องประกอบด้วยลักษณะดังนื้คือ

1. สีไม่ผ่านก้านใบ และ สีต้องไม่ดิบ (สีสดใส)

2. ทรวดทรงงาม ใบเป็นพุ่ม มีใบตลอดต้น ไม่ทิ้งระยะ ใบไม่ร่วงหล่นเหี่ยวแห้ง ไม่แตกกิ่ง และเขี้ยวไม่หลุด

3.ใบตะโพกโตแผ่กว้าง ไม่ตีบ หรือแหว่ง

เว้าฉีกขาด

4. ลำต้นตั้งตรง ไม่คดเคี้ยว สูง 12 นิ้วขึ้นไป

การให้คะแนน

สี 30 คะแนน

ทรวดทรง 30 คะแนน

ใบ 20 คะแนน

ลำต้น 20 คะแนน

รวม   100 คะแนน

อย่างไรก็ดี การพิจารณาให้คะแนนที่กำหนดแต่ละอย่าง คณะกรรมการก็ได้พิจารณาความสำคัญของแต่ละอย่างว่าอย่างไหนควรมากน้อยเพียงใดตามลำดับ และได้มีการแก้ไข เพื่อผลที่สุด เพื่อให้ได้มาซึ่งความสมบูรณ์แบบของไม้ที่จะสวยสด และเป็นไปตามธรรมชาติจริง ๆ

ต้นไม้ที่ได้รับรางวัลควรทำทะเบียนประวัติ

คณะกรรมการสถาบันใดสถาบันหนึ่ง เมื่อได้ตัดสินให้คะแนนต้นใดได้รับรางวัลแล้ว จำเป็นต้องจดประวัติทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน เพื่อ ประกอบการพิจารณาในโอกาสต่อไป เช่น ต้นไม้นั้นชื่ออะไร และพันธุ์ (Variety) ชื่ออะไร ซึ่งจำเป็นต้องตั้งขึ้น สำหรับไม้ที่ได้รับรางวัลเข้าขั้น คะแนนที่ได้รับ ชื่อเจ้าของสถาบันที่ให้คะแนน รายชื่อกรรมการ ตลอดทั้งวัน เดือน ปี ที่ได้รับการพิจารณาให้คะแนน เป็นต้น

การจัดประเภทประกาศนียบัตร

การจัดประเภทประกาศนียบัตรนี้ ก็ได้จัดเยี่ยงความนิยมเช่นต่างประเทศเขาจัดกันจนเป็นสากลใช้กันทั่วโลก

1. ประกาศนียบัตรเกียรตินิยมชั้นหนึ่ง (First Class Certificate) ใช้ตัวย่อว่า F.C.C. หรือ จะเขียนว่า FCC ก็ได้ ต้องได้คะแนนสำหรับกล้วยไม้พันธุ์ป่าตั้งแต่ 90 คะแนนขึ้นไป สำหรับลูกผสม 87 คะแนนขึ้นไป

2. ประกาศนียบัตรเกียรตินิยมชั้นสอง (Award of Merit) ใช้ตัวย่อว่า A.M. หรือจะใช้เขียนติดกัน AM ก็ได้ ต้องได้คะแนนตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไปถึง 86.99 คะแนน

3. รางวัลการเลี้ยงไม้งาม (Certificate of Cultural Merit) เขียนย่อว่า C.C.M. หรือจะเขียน CCM ก็ได้ เป็นรางวัลที่จะมอบให้แก่การเลี้ยงไม้งาม และให้ดอกมาก ผิดปรกติวิสัย ทั้งนี้ต้องได้รับคะแนน 80 คะแนนขึ้นไป จะได้แก่ พันธุ์ไม้ป่า

4. รางวัลคุณภาพ (Award of Quality) เขียนย่อว่า A.Q. หรือเขียนติดกัน AQ ก็ได้ เป็นรางวัลที่จัดไม้แสดงเป็นกลุ่มที่กำหนดไว้กลุ่มหนึ่งไม่น้อยกว่า 12 ต้น ในเนื้อที่จำกัด ไม้ลูกผสมทั้ง 12 ต้นนี้ ต้องเป็นลูกผสมฝักเดียวกัน จะเป็นลูกผสมกับลูกผสมจะเป็นลูกผสมกับพันธุ์ป่า หรือเป็นพันธุ์ป่าต่อพันธุ์ป่าด้วยกันก็ได้ การพิจารณามุ่งแต่คุณภาพดีเด่นเท่านั้น มีข้อแม้อยู่อย่างเดียวว่า หากผู้ผสมพันธุ์ดังกล่าวกับผู้ขอรับรางวัลเป็นคนละคนแล้ว หากได้รับรางวัล ต้องได้ทั้งสองคน

รางวัลชั้น 3 (High Class Certificate) ตัวย่อว่า H.C.C. หรือ HCC ให้กับไม้ที่ได้คะแนน ตั้งแต่ 75 คะแนนขึ้นไป

รางวัลดีเด่น (Award of Distinction) เขียนตัวย่อว่า A.D. บางทีนิยมเขียนว่า AOD เป็นที่เข้าใจว่า ความหมายเช่นเดียวกัน รางวัลชนิดนี้ สำหรับประเทศไทยยังไม่นิยมใช้กัน และไม่มีการให้คะแนนอยู่ที่ความพอใจของคณะกรรม การที่เห็นว่าลูกผสมนั้น ๆ มีความดีเด่น และมีคุณค่าในทางผสมพันธุ์ที่ได้มาแปลกและสดุดตา จะเป็นการขอรับต้นเดียวหรือหมู่ก็ได้ไม่จำกัด

รางวัลไม้ป่าที่หายาก (Certificate of Botanical Merit) เขียนย่อว่า C.B.M. หรือ CBM รางวัลนี้ พิจารณาให้คะแนนเฉพาะพันธุ์ไม้ป่าเท่านั้น ซึ่งไม้ต้นนั้นเป็นที่หายาก สวยงาม และเกี่ยวกับทัศนศึกษา ต้องได้คะแนนตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป

นอกจากนี้ก็มีรางวัลประเภทเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง มอบให้ในโอกาสที่มีงานประกวดโดยการตัดดอกก็ได้ จะส่งในนามบุคคลหรือหลายคนก็ได้ หรือในนามสถาบันก็ได้ โดยเพ่งเล็งถึงคุณค่าและคุณภาพของดอกไม้เป็นจุดเด่น และอีกอย่างหนึ่งเพ่งเล็งถึงผลในทางผสมที่ได้มา ในการค้นคว้าที่สีเด่น

1. เหรียญทอง (Gold Medal Certificate) เขียนย่อว่า G.M.C. ต้องได้คะแนน 90 คะแนนขึ้นไป

2. เหรียญเงิน (Silver Medal Certificate) เขียนย่อว่า S.M.C. ต้องได้คะแนน 86 คะแนนขึ้นไป และ

3. เหรียญทองแดง (Bronze Medal Certi­ficate) เขียนย่อว่า B.M.C. ต้องได้คะแนน 80 คะแนนขึ้นไป

นอกจากนั้นก็มีอีกหลายรางวัลที่ได้กำหนดกันขึ้นไว้ เช่น Certificate of Botanical Excellent (C.B.E.) และ Common Class Certificate (C.C.C.) Medium Class Certificate (M.C.C.) แต่ก็ไม่นิยม ที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบันนี้มีเพียง 2-3 ชนิดเท่านั้น เช่น เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง F.C.C. และเกียรตินิยมอันดับสอง A.M. และ C.C.M.