การบังคับให้ลิ้นจี่ติดผลที่โคนต้น

จังหวัดเชียงรายเป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ประมาณ 20,000 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 21-23 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา การขายตลาดลิ้นจี่ของเราดีมากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อพูดถึงลิ้นจี่เมืองเชียงรายแล้ว ขอเล่าถึงชาวสวนลิ้นจี่รายหนึ่ง ซึ่งส่งลิ้นจี่เข้าประกวดในงานวันลิ้นจี่ที่จังหวัดเชียงรายแล้วได้รางวัลมาครองเกือบทุกปี  บางปีได้รางวัลที่ 1 พันธุ์จักรพรรดิ บางปีได้ฮงฮวย ท่านผู้นั้นคือ ผู้ใหญ่มนัส  เกียรติวัฒน์ หรือพ่อหลวงมนัสของชาวบ้านเวียงพังคำ พ่อหลวงมนัสอายุได้ 73 ปีแล้ว แต่ยังแข็งแรงและมีประสบการณ์มากมายในการปลูกลิ้นจี่ เพราะปลูกมานานถึง 17 ปี

ผู้ใหญ่มนัสมีสวนอยู่เชิงเขา ริมถนนแม่สาย-ดอนตุง ห่างจากถนนพหลโยธินเข้าไป 1,500 เมตร บริเวณสวนเป็นเนินเตี้ย ๆ ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำค่อนข้างดีในพื้นที่ 60 ไร่ ปลูกลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย จำนวน 180 ตัน อายุ 17 ปี พันธุ์จักรพรรดิ 150 ต้น อายุ 9 ปี สภาพต้นสมบูรณ์แข็งแรงแสดงว่ามีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี สวนแห่งนี้ใช้ระบบให้น้ำโดยติดตั้งหัวน้ำเหวี่ยงแบบของลุงดำ น้ำหยด โดยให้น้ำครั้งละ 1 ชั่วโมง หรือประมาณ 400 ลิตรต่อตัน ให้ 3 วันต่อครั้ง ที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเพราะมีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใกล้ ๆ

ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านมาชมสวนแห่งนี้  ก็เนื่องจากผู้ใหญ่มนัสมีเทคนิคพิเศษในการจัดการให้ลิ้นจี่ออกผลที่โคนต้น  ข้อสำคัญผลที่ได้มีคุณภาพดี จนได้รับรางวัลอยู่เสมอมา

เทคนิคสำคัญของสวนนี้คือการตัดแต่งกิ่งซึ่งต่างจากที่อื่น การควั่นกิ่ง และการให้ปุ๋ย ช่วงที่ผมเดินทางไปนั้น ทางสวนกำลังเก็บผลพอดี และบางสวนกำลังตัดแต่งกิ่ง

เข้าไปในสวนจะเห็นลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิผลโตสีแดงมีทั้งชายพุ่ม และเมื่อแหวกเข้าไปในทรงพุ่มก็จะเห็นผลลิ้นจี่ผลโต ๆ ห้อยเป็นพวงจากโคนต้น บางพวงห้อยย้อยเกือบถึงพื้นดิน เป็นที่น่าสังเกตว่าผลลิ้นจี่ที่เกิดจากกิ่งใหญ่ ๆ โคนต้นจะให้ผลโตกว่าผลที่อยู่ปลายกิ่งชายพุ่ม นักเลงมะม่วงที่เคยใช้วิธีเสียบข้างด้วยมะม่วงต่างพันธุ์ที่โคนกิ่งในทรงพุ่มคงจะเห็นพ้องกับผมว่ามะม่วงก็เป็นเหมือนกัน

เราได้เห็นวิธีการตัดแต่งกิ่ง ซึ่งตัดกิ่งออกมากประมาณ 80℅ กิ่งที่ตัดออกคือกิ่งที่อ่อนแอ  กิ่งที่ทับซ้อนกัน บังแสงซึ่งกันและกัน กิ่งกระโดง การตัดใช้เลื่อยคันธนู และกรรไกรตัดกิ่งไม้คม ๆ ถึงตอนนี้ผมอยากจะฝากนิดหนึ่งว่า เวลาเลือกกิ่งที่จะตัดทิ้งต้องดูให้รอบคอบก่อนตัด และขอให้ยึดหลักกิ่งกำไรและกิ่งขาดทุนไว้ให้มั่น กิ่งกำไรคือกิ่งที่มีใบปรุงอาหารมาเลี้ยงลำต้นมากกว่านำอาหารไปใช้ เราเลือกกิ่งที่ทำกำไรมาก ๆ เอาไว้ก่อน ส่วนกิ่งที่ขาดทุนคือกิ่งที่มีใบน้อยหรือใบไม่สมบูรณ์ได้แสงแดดน้อย กิ่งเหล่านี้ใบจะส่งอาหารมายังลำต้นน้อย บางครั้งน้อยมากกว่าที่นำเอาไปใช้เสียอีก ดังนั้นเราจึงต้องตัดกิ่งขาดทุนและกิ่งที่ให้กำไรน้อยทิ้งไป  ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือต้องเปิดกลางทรงพุ่มเพื่อให้แสงแดดส่องถึงโคนต้น ตรงจุดนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

การตัดแต่งกิ่งต้องทำทันทีเมื่อเก็บผลเสร็จ ห้ามรีรอเด็ดขาด แม้ว่าลิ้นจี่บางพันธุ์เป็นพันธุ์จักรพรรดิ  ซึ่งเป็นพันธุ์หนักยังไม่ได้เก็บผล  แต่เมื่อเก็บผลลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวนไปแล้วก็ต้องตัดแต่งกิ่งพันธุ์ฮงฮวยก่อน ต้องระดมคนงานมาทำ เรียกว่าต้องเก็บไปตัดแต่งกิ่งตามไปเลยทีเดียว

เมื่อตัดแต่งกิ่งเสร็จแล้วให้รีบใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งให้แตกใบอ่อน ปุ๋ยที่ใช้สูตร 15-15-15 หรือหากต้องการเร่งใบให้แตกมาก ๆ จะใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ก็ได้  โดยให้ต้นละ 4 กิโลกรัม พร้อมทั้งให้น้ำเต็มที่เพื่อเร่งให้แตกใบใหม่พร้อมกันทั้งต้น

พอถึงต้นเดือนตุลาคม  ต้องควั่นกิ่งลิ้นจี่โดยใช้เลื่อยเล็ก ๆ ที่มีฟันตื้น ๆ คลองเลื่อยกว้าง 1.5 มม. เลื่อยรอบโคนกิ่งขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 นิ้ว สมมุติว่าต้นหนึ่งมี 3 กิ่ง ให้ควั่นกิ่ง 2 กิ่ง เหลือไว้ 1 กิ่ง พอถึงปีต่อไปเลื่อนไปควั่นกิ่งที่ยังไม่ได้ควั่นทำเช่นนี้ทุกปี  สังเกตดูกิ่งลิ้นจี่สวนนี้มีรอยควั่นเป็นแนว ๆ ซ้อนกันหลายแนว

วิธีควั่นกิ่งนั้น เลื่อยเฉพาะเปลือกลึกถึงเยื่อเจริญอย่าให้เข้าไปในเนื้อไม้  จากนั้นใช้ลวดขนาด 1.5 มม. พันฝังลงในรอยควั่นแล้วรัด  เพื่อไม่ให้เนื้อเยื่อติดกันเร็วเกินไป เมื่อครบ 45 วันจึงเอาลวดที่มัดไว้ออก  การควั่นกิ่งแล้วรัดลวดไว้เพื่อช่วยให้กิ่งลิ้นจี่มีการสะสมอาหารมากขึ้น  ซึ่งจะส่งผลให้มีการออกดอกในกิ่งที่ควั่นมากขึ้น

ในช่วงเดือนตุลาคมต้องให้ปุ๋ยทางใบ ใช้สูตร 0-52-34 สลับกับ 10-52-17  เพื่อให้ลิ้นจี่มีการพัฒนาตาดอกดีขึ้น  มีการสะสมอาหารมากขึ้นโดยพ่นทุก 7 วัน  จนกระทั่งลิ้นจี่เริ่มออกดอก ในช่วงก่อนออกดอกต้องงดน้ำ ต่อเมื่อแทงช่อดอกแล้วจึงให้น้ำและเมื่อลิ้นจี่มีผลโตประมาณ 1 เซนติเมตร จึงใส่ปุ๋ยทางดินสูตรที่มีโปแตสสูงเช่น 13-13-21 จำนวน 5 กิโลกรัมต่อต้น  ปุ๋ยสูตรนี้จะช่วยให้ลิ้นจี่มีคุณภาพดี รสหวานเพิ่มขึ้น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งในการดูแลลิ้นจี่ในสวนนี้คือ ผู้ใหญ่มนัสจะปล่อยให้หญ้าประเภทรากตื้นขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณสวน  รวมทั้งใต้ต้นลิ้นจี่ด้วย การควบคุมหญ้าทำโดยใช้เครื่องตัดหญ้าคอยตัดให้เตียนอยู่เสมอ ส่วนเศษหญ้าใช้คลุมดินเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินไปในตัว

การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการดูแลดังที่ได้กล่าวมา  ทำให้ลิ้นจี่จากสวนนี้ไม่ค่อยมีอาการของโรคเปลือกของผลแห้งซีกเดียว

สำหรับลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิที่ดกมาก ๆ ควรปลิดผลออกบ้างเหลือไว้เพียงช่อละ 3-4 ผลก็พอ  ทั้งนี้เพราะลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิผลโตขายได้ราคาต่างกับผลเล็กมาก สรุปได้ว่าขายผลโต แม้ว่าจำนวนจะน้อยกว่าแต่ได้เงินมากกว่า

ผมไปชมสวนของผู้ใหญ่มนัส  เกียรติวัฒน์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2537 และได้ชวนให้ญาติซึ่งปลูกลิ้นจี่ ที่เชียงรายทดลองตัดแต่งกิ่งออกมาตามวิธีดังกล่าว ผลปรากฎว่าลิ้นจี่ที่ถูกตัดแต่งกิ่งอย่างหนักแตกใบอ่อนมาก และไม่ให้ผลในปี 2538 เมื่อสอบถามดูจึงทราบว่าไม่ได้ให้ปุ๋ยทางใบ ที่มีฟอสเฟตและโปแตสสูง ๆ ในช่วงก่อนออกดอก รวมทั้งไม่มีการควั่นกิ่ง  ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นสองสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลิ้นจี่ในสวนญาติผมไม่ออกดอก

ในเรื่องการตัดแต่งอย่างหนัก ปัจจุบันใช้กับพืชหลายชนิด ที่เห็นได้ชัดคือมะม่วง แต่เดิมเราไม่กล้าตัดแต่งกิ่งมะม่งออกมาก เพราะถ้าตัดออกมากมะม่วงมักจะแตกกิ่งอ่อนออกมามาก  จนไม่ค่อยได้ดอก-ผล ซึ่งจะเห็นตัวอย่างชัด ๆ ก็คือ พวกที่ทาบกิ่งมะม่วงขาย ต้นมะม่วงของเขาจะได้กิ่งงาม สวย แต่ไม่ค่อยได้ผลต่อมาเมื่อมีการใช้สารชะลอการเจริญเติบโตพืชแพคโคลบิวทราโซล (ชื่อการค้าคัลทาร์ พรีดิคท์ และอีกหลายยี่ห้อ) มาใช้เพื่อเร่งให้ออกนอกฤดูและส่งเสริมการติดผลในฤดูนั้น ชาวสวนมะม่วงจำเป็นต้องพ่นด้วยปุ๋ยทางใบสูตรฟอสเฟตและโปแตสสูง ๆ เช่น 0-52-34 ในระยะใบเพสลาดจนถึงก่อนมะม่วงแทงช่อดอกเป็นจำนวน 3-4 ครั้งเป็นต้น เมื่อมีการราดสารแพคโคลบิวทราโซลและพ่นปุ๋ยทางใบดังกล่าวมา การตัดแต่งกิ่งมะม่วงแบบตัดมากกลับเป็นสิ่งดี มีผลทำให้มะม่วงออกดอกติดผลดีและมีคุณภาพสูงขึ้น จนเป็นที่ยอมรับในหมู่ของชาวสวนมะม่วงทั่วไป

จากการติดตามผลการออกดอกติดผลของลิ้นจี่ในสวนที่มีการดูแลรักษาอย่างดี  จะต้องประกอบกันทั้งการตัดแต่งกิ่ง การควั่นกิ่ง และการให้ปุ๋ยที่เหมาะสม จะส่งผลให้ลิ้นจี่ออกดอกติดผลดี และมีคุณภาพดี วิธีการที่ผมนำมาเรียนให้ทราบนี้ เมื่อนำไปใช้ในสถานที่ต่างกันผลย่อมไม่เหมือนกัน จะต้องปรับใช้ให้เหมาะสมในพื้นที่ที่มีความหนาวเย็นน้อย การตัดแต่งกิ่งมากเกินไปอาจไม่ได้ผล พื้นที่บางแห่งน้ำในดินมีอยู่สูง หรือต้นลิ้นจี่ปลูกอยู่ที่บนสันเขื่อนมีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา ลิ้นจี่จะไม่ค่อยให้ผลแต่จะเจริญด้านกิ่งใบมากกว่า สภาพของดินที่ปลูกก็มีอิทธิพลต่อการออกดอกมาก ดินเหนียวในสวนยกร่องระบบรากลิ้นจี่จะอยู่ตื้น เมื่อมีการลดระดับน้ำในท้องร่องลงก็จะส่งผลให้เกิดการขาดน้ำในต้นลิ้นจี่ได้ง่าย  ซึ่งจะส่งผลให้มีการส่งเสริมการออกดอกดีขึ้น ข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำมาพิจารณาปรับใช้ในสวนของท่าน ก็จะก่อให้เกิดผลดีต่อไป

เรื่อง “ประทีป  กุณาศล”