การผสมข้ามพันธุ์:เทคนิคที่ทำให้ทุเรียนผลดกและคุณภาพดี

ทรงพล  สมศรี

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี  กรมวิชาการเกษตร

ปัจจุบันในแต่ละประเทศมีการแข่งขันกันอย่างมากในการผลิตสินค้าออก โดยมีการเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้า ขณะเดียวกันก็พยายามลดต้นทุนการผลิตเพื่อต่อสู้แข่งขันในตลาดโลก การวิจัยและพัฒนาเพื่อหาเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ทุเรียนของไทยเป็นผลไม้ที่มีลู่ทางแจ่มใสและมีศักยภาพสูงมากในการส่งออก ในปีพ.ศ.๒๕๓๑ ไทยส่งออกผลทุเรียนสดมีมูลค่า ๒๒๕ ล้านบาท นับเป็นอันดับ ๑ ของมูลค่าส่งออกผลไม้ไทยทั้งหมด การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพของทุเรียนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่ได้ผลเป็นที่ยอมรับกันแล้วก็คือ การผสมข้ามพันธุ์

ผู้เขียนได้เคยเสนอเรื่อง “ผสมเกสรทุเรียนให้ติดผลดกและคุณภาพดี” ในหนังสือ “กสิกร” ปีที่ ๖๑ ฉบับที่ ๕ (กันยายน-ตุลาคม) ๒๕๓๑ มาครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนั้นเป็นการศึกษาการผสมพันธุ์แม่ชะนี ก้านยาวกับเกสรตัวผู้พันธุ์ต่างๆ ผู้เขียนได้ทำการศึกาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผสมข้ามพันธุ์ทุเรียนพันธุ์แม่กระดุมทอง หมอนทอง ชมพูศรี และอีหนัก กับเกสรตัวผู้พันธุ์ต่างๆ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทความนี้

ผลการทดลองการผสมข้ามพันธุ์ทุเรียน

๑.  การติดผลในพันธุ์แม่กระดุมทอง

ทุเรียนพันธุ์กระดุมทองพันธุ์แม่ที่ผสมตัวเองจะติดผลดีพอสมควร แต่ถ้าผสมกับเกสรตัวผู้จากต่างพันธุ์ก็จะติดผลดีขึ้น โดยพบว่าหลังการผสมเกสร ๑๔ วัน ทุเรียนพันธุ์แม่กระดุมทองผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์ชะนีติดผลสุงสุด (๗๐.๗๖℅) รองลงมาได้แก่การผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์ชมพูศรี (๕๑.๖๔℅) และพันธุ์หมอนทอง (๔๕.๕๔℅) ตามลำดับ และหลังการผสมเกสร ๘๔ วัน ก็ยังพบว่าทุเรียนพันธุ์แม่กระดุมทองที่ผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์ชะนีติดผลมากที่สุด (๓๘.๓๙℅) รองลงมาได้แก่การผสมพันธุ์ชมพูศรี (๓๕.๖๕℅)

๒.  การติดผลในพันธุ์แม่อีหนัก

ทุเรียนพันธุ์อีหนักผสมเกสรตามธรรมชาติ หลังการผสมเกสรพบว่าติดผล ๓๐℅ แต่ถ้าผสมข้ามพันธุ์จะติดผล ๕๗-๗๘℅ โดยการผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์ชะนีติดผลมากที่สุด (๗๘℅) และผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทองติดผล ๕๗℅

ข้อสังเกตจากการศึกษานี้ก็คือ พบว่าการที่ทุเรียนแตกใบอ่อนช่วงดอกบานและช่วงติดผลอ่อน จะทำให้การติดผลของทุเรียนพันธุ์หมอนทองลดน้อยลง อีกประการหนึ่ง ขณะที่ดอกทุเรียนบานถ้ามีฝนตก ดอกจะร่วงมากและติดผลน้อย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าการที่ฝนตกอากาศจะมีความชื้นมาก ทำให้การแตกของอับละอองเกสรตัวผู้ของทุเรียนพ่อพันธุ์ทุกพันธุ์มีน้อย หรืออับละอองเกสรตัวผู้แตกช้ากว่าปกติ การผสมเกสรจึงมีน้อย

ลักษณะของผลทุเรียนที่เกิดจากการผสมเกสรกับต่างพันธุ์กัน

๑.  ทุเรียนพันธุ์แม่กระดุมทอง

ผลทุเรียนที่ได้จากการผสมส่วนมากจะมีลักษณะรูปทรงของผลสวย พูเต็มเกือบทุกพู โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลทีเกิดจากการผสมด้วยเกสรตัวผู้พันธุ์ชะนีและพันธุ์ชมพูศรีจะมีลักษณะดังกล่าว ส่วนลักษณะเนื้อ สีของเนื้อ รสชาติไม่แตกต่างจากผลที่เกิดจากการผสมตามธรรมชาติ ความหนาของเนื้อ ๐.๗๔-๐.๙๙ ซม. เปอร์เซ็นต์เมล็ดลีบ ๒๙.๕๑-๕๕.๕๔ ผลที่เกิดจากการผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์ชะนีมีเมล็ดลีบสูงสุด (๕๕.๕๔℅)

๒.  ทุเรียนพันธุ์แม่หมอนทอง

ผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ผสมเกสรด้วยเกสรตัวผู้พันธุ์ก้านยาว กระดุมทอง และชมพูศรี มีลักษณะรูปทรงผลดี โดยเฉพาะผลที่ผสมกับเกสรตัวผู้จากพันธุ์ชมพูศรี มีพูเต็มเกือบทุกพู ส่วนลักษณะเนื้อสีของเนื้อ รสชาติไม่แตกต่างจากผลที่ผสมเกสรตามธรรมชาติ ความหนาเนื้อตั้งแต่ ๑.๙-๒.๗๘ ซม. โดยเฉพาะผลที่ผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์ก้านยาว และชมพูศรี มีความหนาเนื้อมาก ๒.๗๘ และ ๒.๔๔ ซม.ตามลำดับ จำนวนเมล็ดต่อผลค่อนข้างน้อย ตั้งแต่ ๔.๕-๘ เมล็ด เปอร์เซ็นต์เมล็ดลีบ ๔๐-๕๙.๘๙℅

๓.  ทุเรียนพันธุ์แม่อีหนัก

ผลทุเรียนพันธุ์แม่อีกหนัก ที่ผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์ชะนีและพันธุ์หมอนทอง มีลักษณะรูปทรงของผลสวยงาม พูเต็มทุกพู ส่วนลักษณะเนื้อ สีของเนื้อ และรสชาติไม่แตกต่างจากทุเรียนอีหนักที่ผสมเกสรตามธรรมชาติ

กล่าวได้ว่าการช่วยผสมเกสรทุเรียนในทุกพันธุ์ โดยใช้เกสรตัวผู้ต่างพันธุ์กับพันธุ์แม่ จะช่วยเพิ่มการติดผล ซึ่งทำให้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่เพิ่มขึ้น และยังทำให้คุณภาพของผลดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ที่ทดลองแล้วและปรากฎว่าได้ผลดีก็คือ

–         พันธุ์แม่กระดุมทอง  ผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์ชะนี พันธุ์ชมพูศรี และพันธุ์หมอนทอง

–         พันธุ์แม่หมอนทอง  ผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทองต่างต้นกัน และพันธุ์ชมพูศรี

–         พันธุ์แม่ชะนี ผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทอง

–         พันธุ์แม่อีหนัก  ผสมกับเกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทองและพันธุ์ชะนี

การผสมเกสรที่อยู่บนกิ่งสูง เกษตรกรทำเองก็ได้

การผสมเกสรทุเรียนซึ่งกิ่งอยู่ระดับต่ำๆ ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วในหนังสือกสิกร ปีที ๖๑ ฉบับที่ ๕ ผู้อ่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้

สำหรับการผสมเกสรทุเรียนในกรณีที่ดอกอยู่บนกิ่งที่สูง มีวิธีการดังนี้

วิธีที่ ๑ เก็บละอองเกสรตัวผู้ของพันธุ์พ่อใส่ขวด(อาจใช้ขวดลิโพวิตันดีก็ได้) เอาเชือกผูกปากขวดแล้วห้อยคอผู้ที่จะขึ้นไปทำการผสมเกสร เมื่อผู้ผสมเกสรปีนต้นทุเรียนขึ้นไปแล้ว ก็ใช้พู่กันแตะละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อจากขวด นำไปป้ายที่ยอดเกสรตัวเมียของดอกทุเรียนพันธุ์แม่ที่กำลังบาน

วิธีที่ ๒ เก็บละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อใส่กระป๋องพลาสติก แล้วใช้แปรงขนอ่อน (แปรงทาแลคเกอร์) ๑-๒ อัน ต่อกับไม้ไผ่หรือไม้ระกำ ความยาวตามที่ต้องการ จากนั้นใช้แปรงขนอ่อนแตะละอองเกสรตัวผู้จากกระป๋องพลาสติก นำไปป้ายยอดเกสรตัวเมียของดอกพันธุ์แม่ที่กำลังบานตามกิ่งสูง โดยผู้ทำการผสมเกสรไม่ต้องปีนขึ้นไปบนต้นทุเรียน

วิธีที่ ๓ กรณีที่ต้นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์อยู่ใกล้กันก็ใช้แปรงขนอ่อนต่อไม้ แล้วยกขึ้นไปปาดละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อ จากนั้นก็ย้ายไปปาดยอดเกสรตัวเมียของดอกพันธุ์แม่ที่กำลังบาน สลับกันไปมา เป็นการช่วยผสมเกสรทั้งสองฝ่าย

การเก็บละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อ

ตามปกติควรจะเก็บละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อในเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาที่อับละอองเกสรตัวผู้แตก ปล่อยละอองเกสรตัวผู้ ซึ่งสามารถนำไปผสมเกสรได้เลย

เกษตรกรต้องการเก็บละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อก่อนเวลา ๑๙.๐๐ น. ก็สามารถเก็บดอกมาไว้ก่อนนำไปผสมเกสรดังนี้

วิธีที่ ๑ ตัดดอกพันธุ์พ่อซึ่งกำลังบานเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. แต่อับละอองเกสรตัวผู้ยังไม่แตก นำดอกพันธุ์พ่อดังกล่าวมาแช่น้ำในกระป๋องหรือแก้วน้ำ โดยแช่เฉพาะส่วนของก้านดอก เวลาประมาณ ๑๙.๐๐น. อับละอองเกสรตัวผู้จะแตกปล่อยละอองเกสรตัวผู้ ก็นำไปใช้ผสมเกสรได้ หรืออาจจะตัดเฉพาะอับละอองเกสรตัวผู้ใส่กระป๋องพลาสติก แล้วจึงนำไปใช้ผสมเกสร

วิธีที่ ๒ ตัดดอกพันธุ์พ่อซึ่งกำลังบาน เวลาประมาณ ๑๗.๐๐น. ใส่ในถุงพลาสติกนำไปไว้ในที่ร่ม ต่อมาเวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. ใช้มือรูดหรือดึงเฉพาะอับละอองเกสรตัวผู้ใส่ในกระป๋องพลาสติก เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. อับละอองเกสรตัวผุ้จะแตก ปล่อยละอองเกสรตัวผู้ก็นำไปใช้ผสมเกสรได้เลย

สรุป

ในอนาคตข้างหน้าอันใกล้นี้ การเพิ่มผลผลิตทุเรียน เพื่อการส่งออกสามารถกระทำได้โดยใช้วิธีการช่วยผสมเกสรโดยใช้เกสรตัวผู้ต่างพันธุ์ ซึ่งจะได้ผลผลิตสูงขึ้น และผลทุเรียนมีขนาด รูปทรงผล ตลอดจนคุณภาพได้มาตรฐานมากขึ้น

ระบบการปลูกทุเรียนอาจเปลี่ยนแปลงไป โดยการปลูกระยะแรกอาจใช้ระยะปลูก ๖x๖, ๗x๗ หรือ ๘x๘ เมตร และเมื่อต้นสูงขึ้น อายุประมาณ ๑๐ ปี ทำการตัดยอดทิ้งให้ความสูงไม่เกิน ๘ เมตร ต่อมาเมื่อกิ่งระหว่างแถวจะชนกันก็ค่อยๆ ทยอยตัดแต่งกิ่งทุเรียนแถวกลางออกทีละน้อยทุกปี ซึ่งต้นเหล่านี้ก็ยังสามารถเก็บเกี่ยวผลได้ จนกระทั่งเมื่อต้นทุเรียนแถวที่เก็บเอาไว้มีกิ่งข้างขยายมากแล้ว ก็ทำการตัดต้นแถวกลางทิ้งจะได้ระยะปลูกใหม่เป็น ๑๒x๑๒, ๑๕x๑๔ หรือ ๑๖x๑๖ เมตร ซึ่งได้ต้นทุเรียนที่มีลักษณะทรงพุ่มเตี้ยกว้าง และควรปลูกทุเรียนต่างพันธุ์สลับแถวบ้างเป็นบางช่วง แล้วใช้เทคนิคการช่วยผสมเกสรอย่างง่ายๆ เพื่อช่วยเพิ่มการติดผลตามกิ่งตั้งแต่บริเวณที่ห่างลำต้นเล็กน้อยจนถึงเลยกลางกิ่งเล็กน้อย การที่สามารถกำหนดตำแหน่งการติดผลได้ทำให้สะดวกต่อการปฏิบัติดูแลรักษา ไม่ต้องโยงกิ่งมาก การฉีดสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทำได้อย่างทั่วถึงและเก็บเกี่ยวผลได้ง่าย