ไม้สัก:การเพาะชำกล้าไม้สัก

การเพาะชำกล้าไม้สัก

สำเนียง  อินทร์ดนตรี

หัวหน้าศูนย์เพาะชำกล้าไม้ลำปาง(งาว)

วิวัฒนาการรูปแบบงานแปลงเพาะ

กรมป่าไม้เริ่มทำแปลงเพาะเพื่อผลิตกล้าไม้สัก  ถอนตัดแต่งเป็นเหง้าสัก (Teak seedling stumps) ปลูกสวนป่าไม้สัก (Teak plantation) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา  จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2531) รวมเวลา 53 ปี รูปแบบของงานแปลงเพาะเริ่มพัฒนาขึ้นมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา  เดิมรูปแบบของแปลงเพาะกล้าไม้สักใช้วิธีมีวัตถุขัดขอบแปลง เช่น ไม้ไผ่สับฟาก กำหนดขนาดกว้างยาวเป็นจำนวนเต็ม เช่น กว้าง 1 เมตร ยาว 20-30 เมตร สูงประมาณ 30 ซม. ความยาวแปลงเพาะจะเท่ากับปริมาณเมล็กสักที่เก็บได้แต่ละปี  พื้นที่แปลงเพาะคาดการกำหนดขนาดได้ตามจำนวนแปลงเพาะ  เมื่อเตรียมพื้นที่แล้วก็จัดเตรียมวัตถุอุปกรณ์จำเป็นที่จะต้องใช้ เช่น ตัดไม้ไผ่ ตัดเป็นหลักกลม ๆ เสี้ยมแหลมด้านหนึ่งขนาดประมาณ 1” เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 1 ½ ฟุต สำหรับตอกกันขอบแปลงเพาะในปริมาณที่มากพอตัดไม้ไผ่ลำโตสับเป็นฟากแช่น้ำไว้ในจำนวนที่มากพอ  เพื่อใช้ขัดเป็นขอบแปลงเพาะ วิธีทำ เมื่อถางเตรียมพื้นที่เสร็จ  ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน การหมายแปลงปักหลักปักกันของแปลงด้านซ้ายมือก่อน (1) ห่างกันพอเห็นเป็นแนวแปลงทางความยาว คนงานจะใช้จอบขุดดินด้านซ้ายมือไปกองยาวด้านขวามือ (1) ปักหลักเสริมด้านซ้านให้ถี่ขึ้นจนใช้ไม้ไผ่สับฟากที่เตรียมไว้ ขัดกับหลักเป็นขอบแปลงด้านซ้าย (2) แล้วขุดดินจากด้านขวามือมาอัดขอบแปลงด้านซ้าย (3)  ให้ได้ดินพูนสูงพอกับความสูงแปลงเพาะ  สับไม้ฟากหักเป็นขอบหัวท้าย (2,3)  ตอกหลักด้านขวามือให้ถี่พอแล้วขัดฟากด้านขวา (3,4) เกลี่ยดินจากด้านซ้ายไปอัดขอบไม้ฟากด้านขวา (4) ก็จะได้รูปแบบแปลงเพาะแบบขัดขอบ  เกลี่ยตีดินปรับหน้าแปลงให้ราบทางยาว(5) เป็นอันเสร็จวิธีการยกแปลง  การหว่านเมล็ดใช้วิธีหว่านกระจาย (Broadscast sowing) เฉลี่ยเมล็ดตลอดแปลง  การกลบเมล็ดใช้ดินขูดละเอียดข้างแปลงกลบพอดีมิดเมล็ด

เปรียบเทียบข้อดี  ข้อเสียของแปลงเพาะแบบขัดขอบ

ข้อดี

1.  ไม่ต้องเตรียมดินด้วยการไถพลิกดิน

2.  ไม่จำเป็นต้องขุดถอนตอไม้ทิ้ง

3.  รู้สต๊อกเมล็ดก็รู้จำนวนแปลงเพาะ

4.  ถอนวัชพืชง่ายเฉพาะบนแปลง

5.  ความสูงแปลงแน่นอนได้มาตรฐาน

6.  แปลงเพาะเมื่อฝนตกหนักพังยุบได้ยากกว่า

7.  ดินปรับปรุงได้ง่ายในแต่ละแปลง

ข้อเสีย

1.  เปลืองวัสดุขัดขอบแปลง

2.  งานละเอียดล่าช้า และขยายกว้างออกไปยาก

3.  จัดระยะความถี่ห่างกล้าไม้ยากขึ้น

การทำแปลงเพาะกล้าไม้สักวิธีนี้ ผลิตกล้าไม้ถึงขนาดได้ 800-1,000 กล้าต่อเมล็ด 1 ถัง (ข้อมูลเก็บปี พ.ศ. 2510)

ตั้งแต่ พ.ศ. 2508-2509 งานเพาะชำกล้าไม้สักเริ่มปรับเข้ารูปแบบ “แปลงเพาะถาวร” กำหนดความยาวแปลงเพาะมากขึ้นและขจัดปัญหาวัสดุขัดขอบแปลงที่ค่อนข้างหายากและไกลขึ้น  จึงเปลี่ยนวิธีดำเนินงานแปลงเพาะเป็นรูปแบบไม้ขัดขอบแปลงส่วนหนึ่ง และขัดขอบแปลงแบบเดิมอีกส่วนหนึ่ง  จนถึงปี พ.ศ. 2510  อดีตหัวหน้าแผนกวนวัฒนวิจัยและรองอธิบดีกรมป่าไม้ (อ.สมเพิ่ม  กิตตินันท์)  เป็นผู้หางบประมาณให้ดำเนินการทำแปลงเพาะกล้าไม้สักให้เข้ารูปมาตรฐานสากล ตั้งเป้ากำหนดกำลังผลิตกล้าไม้สักให้ได้ 3 ล้านกล้า  แจกจ่ายไปทั่วภาคเหนือ  โดยหาเนื้อที่บริเวณสองฝั่งลำน้ำแม่หวด อ.งาว จ.ลำปาง  ริมถนนพหลโยธินสายลำปาง-งาว-พะเยา หลัก กม.ที่ 69 ในบริเวณป่าสาธิตแม่งาว แปลงแม่หวด ได้เนื้อที่ 205 ไร่ เป็นค่อนข้างราบ ได้กำหนดผังเป็น 2-3 รอบ หมุนเวียน (Cycles) ผลิตกล้าแต่ละปีจนสามารถผลิตกล้าได้เต็มตามเป้าหมาย

ข้อดีข้อเสียของแปลงเพาะแบบมาตรฐาน

ข้อดี

1.  จัดเข้ารูปแบบแปลงเพาะสากล

2.  ลดขยายและเพิ่มปริมาณการผลิตกล้าได้ตามต้องการ

3.  ใช้เครื่องจักรกลเข้าปฏิบัติงานสะดวกรวดเร็ว

4.  ศึกษาปัญหา เก็บข้อมูล และจัดรูปแบบพัฒนาขึ้นง่าย คิดประดิษฐ์เครื่องมือเฉพาะงานเป็นเอกเทศ

5.  ประหยัดเมล็ดมากกว่า

ข้อเสีย

1.  การปฏิบัติงานซ้ำที่เดิมบ่อยครั้ง สภาพดินค่อย ๆเสื่อมลง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงดิน

2.  โอกาสสูญเสียหน้าดินจากการกัดชะของน้ำ ลม ติดรากกล้าไม้ และวัชพืชได้มาก

3.  วัชพืชแพร่ขยายได้ง่ายกว่าการกำหนดรูปแบบและวางผังแปลงเพาะมาตรฐาน

รูปแบบของแปลงเพาะมาตรฐานกำหนดเป็นแปลง จำนวนถี่แปลงขึ้นอยู่กับพื้นที่และปริมาณกล้าที่ผลิตแต่ละปี มากน้อยเท่าใด  ถ้าพื้นที่ 1 รำสก 5 บล็อค ผลิตกล้าได้ 500,000 กล้า ถ้าต้องการกล้า 1 ล้านกล้า ปีนั้นก็ต้องเตรียมพื้นที่ 2 แปลง  จากแปลงแยกย่อยออกเป็น บล็อค จะแบ่งเป็นกี่บล็อคขึ้นอยู่กับท่อเมน หัวฉีดน้ำ แรงเหวี่ยงน้ำ และแรงอัดน้ำของปั๊ม จะเป็นแบบตายตัว หรือแบบเคลื่อนย้ายได้ก็ได้  จากบล็อค  แยกย่อยออกเป็นแปลงเพาะเมล็ดขนาดกว้าง 1.20 ม. x 100 ม. (หรือยาวกว่าเป็นจำนวนเต็ม) ช่องว่างระหว่างแปลง 30-50 ซม. (นิยมใช้ 30 ซม.) ความกว้างแปลง 1.20 ม. เท่ากับมาตรฐานความกว้างล้อหลังรถแทรคเตอร์

การกำหนดพื้นที่ทำแปลงเพาะ (Area Preparation)

ผู้ปฏิบัติงานด้านนี้ทราบดีว่าพื้นที่สภาพดิน น้ำ แรงงาน และการคมนาคม เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการปฏิบัติงานแปลงเพาะ  อาจจะกล่าวได้ว่า “ดินดีเท่ากับลดค่าของการลงทุนได้ครึ่งหนึ่ง” ฉะนั้นจึงต้องเลือกพื้นที่กว้างขวาง ราบหรือค่อนข้างราบมีความเหมาะสมดังกล่าวแล้วข้างต้น ไม้สักเป็นพันธุ์ไม้ต้องการแสงแดด (Interelant Specy) จึงไม่ชอบอยู่ใต้ร่มไม้ใด ๆ และไม่ชอบที่ลุ่มน้ำขัง พื้นที่ที่เลือกหากได้ผืนเดียวหรือหลายผืนก็ได้ เพราะการปฏิบัติงานจะต้องแบ่งย่อยออกเป็นรอบหมุนเวียน 2-3 รอบหมุนเวียน  เพื่อความรอบคอบในการผลิตกล้าไม้ให้ได้ตามเป้าหมาย แต่ละปีน่าจะต้องเลือกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 แหล่งห่างกันพอประมาณ  เพราะรองรับปริมาณน้ำฝนที่แตกต่างกัน

การเตรียมดิน (Soil preparation)

ขั้นบุกเบิกพื้นที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหนัก เช่น แทรคเตอร์สายพาน (Track Tractor) เมื่อพื้นที่ค่อยสะอาดขึ้นคือปราศจากตอไม้และหิน แทรคเตอร์ล้อยาง (Wheel Type Tractor) คืออุปกรณ์สำคัญที่จะต้องไถพลิกดิน  การไถดินครั้งแรกเรียกว่า “ไถดะ หรือไถบุกเบิก” (First ploughing) ด้วยผานบุกเบิก (ผาน3) ให้ลึกได้ดินมากพอประมาณ เดือนมีนาคม-เมษายนตากดินไว้ระยะหนึ่ง(อย่างน้อย 15 วัน)  เพื่อฆ่าวัชพืช (Biological control of weeds) ไถครั้งที่ 2 เรียกว่า “ไถแปร” (Second ploughing) ใช้ผาน 7 ขึ้นไป  ฉากรอยเดิมเพื่อฆ่าวัชพืชและย่อยดิน  หากสภาพดินยังไม่เหมาะสมก็อาจต้องไถเป็นครั้งที่ 3 สังเกตว่าดินยังไม่สู้จะราบเรียบ  ควรใช้อุปกรณ์เฉพาะงานปรับพื้นที่จนราบเรียบ (เครื่องปรับหน้าดิน) จนพร้อมที่จะทำงานในขั้นต่อไป

การเตรียมหลักหมายแปลง (Bed Marking)

การเตรียมหลักไม้ไผ่ผ่าซีก(ไม้ซี่รั้ว) เสี้ยมแหลมยาว 1 ½ ฟุต  ให้ได้จำนวนที่มากพอใช้เชือกไนล่อนหมายด้วยฟางพลาสติกสีเจาะผูกขนาดกว้างแปลง 1.50 ม. ช่องว่าง 30 ซม. ยาวเท่าที่ต้นงานหัวท้ายเชือกดึงได้ตึง เริ่มที่หัวและท้ายแปลงเป็น Base line ปักไม้หลักตามขนาดแปลงและช่องว่างตามที่หมายได้ว  แล้วปักซอยทุกระยะความยาวแปลงเพาะ 5 เมตร ก็จะได้แนวแปลงที่เล็กตรงจนเต็มพื้นที่ Block

อุปกรณ์และแรงงานหมายแนวแปลงเพาะ

1.  หลักไม้ไผ่ซี่รั้วเสี้ยมแหลม ขนาด 1 ½ ฟุต ประมาณ 500-1,000 หลัก

2.  เชือกที่ไม้ยืดหดง่าย ยาวประมาณ 20-30 เมตร เจาะหมายมัด 1.20 ม. และ 30 ซม.ด้วยฟางพลาสติกสี

3.  คนงานดึงหัวท้าย 2 คน ปักขนหลักอีก 3 คน

การยกแปลงเพาะ

ดังกล่าวแล้วข้างต้น ความยาวแปลงเพาะต้องเป็นจำนวนเต็ม เพื่อสะดวกต่อการคำนวณเนื้อที่ และควรยาวให้มากเพื่อสะดวก ประหยัดการปฏิบัติงานของแทรคเตอร์ คนงานจะใช้จอบยกแปลงเพาะตามแนวหลักที่หมายไว้ เป็นแนวตรงและสูงพอ แปลงเพาะที่ยกสูงจะได้เหง้าสักที่ตรงงามกว่า จนได้แปลงเพาะขนาด 1.20 ม. ยาว 100 ม. (หรือมากกว่า) สูงประมาณ 30 ซม. จนครบเต็มเนื้อที่บล็อคทุกบล็อค การยกแปลงเพาะแบบเร่งรีบ อาจใช้แทรคเตอร์ยกแปลง (Beds Former) ก่อน แล้วจึงใช้แรงงานปรับแต่งอีกครั้งก็ได้ แต่ก็ไม่ตรงสวยงามเหมือนใช้แรงงาน

การบดอัดหน้าแปลงเพาะ (Beds Rolling)

ใช้แทรคเตอร์พ่วงลูกกลิ้งติดไฮโดรลิคสามขาหลังเป็นลูกกลิ้งเฉพาะปรับหนักเบาได้ด้วยน้ำ  แล่นคร่อมแปลงเพาะเพื่อปรับหน้าแปลงให้ราบเรียบสม่ำเสมอตลอดแปลงแรงอัดล้อหลังรถแทรคเตอร์จะบดอัดขอบแปลงเพาะจนแน่นเหลือกว้างหน้าแปลงเพียง 1 เมตร

การทำร่องหว่านเมล็ด

กรณียังไม่มีเครื่องหยอดเมล็ด ใช้แทรคเตอร์พ่วงเครื่องทำร่อง (Groope Apparatus) 6 ร่อง (เป็นหลักกลมแหลมหมุนตามแกน 6 วงล้อ) ใช้ไฮโดรลิคสามขาหลังบดอัดลง หากน้ำหนักยังไม่พอหรือร่องตื้นปรับได้  โดยใช้กระสอบใส่ทราย ความลึกร่องหว่านเมล็ดประมาณ 2-3 นิ้ว พนักงานขับแทรคเตอร์ชำนาญงานจะได้ร่องที่ตรงไปตามส่วนกลางของแปลงเพาะ

หว่านเมล็ดห่างกัน 12 ซม. เว้นขอบแปลง 2 ข้าง ๆ ละ 20 ซม.

การหว่านเมล็ด

ส่วนใหญ่งานหว่านเมล็ดสักเป็นงานละเอียดจึงใช้แรงงานหญิงหว่านโรยเมล็ดตลอดแนวยาวแปลง  โดยเข้าเดินตามร่องแปลงเพาะ  หว่านเมล็ดข้างละหรือคนละ 3 ร่อง (2 คนต่อ 1 แปลง) ปริมาณเมล็ดที่จะหว่านหนาแน่นมากน้อยขึ้นอยู่กับ เปอร์เซ็นต์ดี และเสีย และจากผลการตรวจสอบอัตราการเริ่มงอกเมล็ด ในแต่ละปี หากเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ดีอัตราการงอกสูงก็จะหว่านน้อยลงเพียง 2-3 เมล็ด หากเปอร์เซ็นต์ต่ำก็อาจหว่านโรยลงร่อง 3-4 เมล็ด (รายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อการเก็บรักษาเมล็ด สาเหตุที่หว่านเมล็ดให้หนาไว้ ดังรายละเอียดเพิ่มเติมการบำรุงรักษาแปลงเพาะ ขั้นตอนที่ 3)

การกลบเมล็ด (Mulching)

วัตถุที่จะใช้กลบเมล็ดพิจารณาเลือกหาวัตถุใกล้เคียง ง่ายกับการขนส่ง และจัดหาไว้ล่วงหน้า มีหลักเกณฑ์พิจารณาดังนี้:-

1.  เป็นวัตถุมีน้ำหนักกลบคลุมเมล็ดได้ดี

2.  ปลอดเมล็ดวัชพืช

3.  สลายตัวง่ายกลายเป็นปุ๋ยเพิ่มความซุยดินและบำรุงดิน

4.  คงคลุมความชื้น ความร้อน และถ่ายเทอากาศได้ดี

5. เมื่อเมล็ดงอกใต้ดินดันโผล่ขึ้นได้ง่าย

6.  ไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีทำลายดินและกล้าไม้

เหตุผลที่กลบเมล็ด

1.  คลุมอบเมล็ด ป้องกันลม ป้องกันฝนชะตกข้างแปลง

2.  รับความร้อน คลุมความชื้นทำให้เมล็ดงอกดี  และสม่ำเสมอกันมากขึ้น

3.  เพิ่มปุ๋ยให้ดินร่วนซุยมากขึ้น

4.  ถอนวัชพืชง่ายขึ้น

การบำรุงรักษาแปลงเพาะขั้นตอนที่ 1

หากเพาะเมล็ดในช่วงฤดูที่เหมาะสม (Promissing Period) เร่งความงอกได้ดีฝนและความชื้นอำนวย เมล็ดจะเริ่มงอกหลังเพาะ 15-20 วัน (Lab tested. พ.ศ. 2514 ศูนย์ ฯลำปาง) ฉะนั้น 10 วันหลังเพาะ ประเด็นสำคัญที่สุดจะต้องกำจัดวัชพืชให้สะอาดที่สุดรอรองรับเปอร์เซ็นต์การงอกเมล็ดให้มากที่สุด ระยะนี้กล้าไม้ต้องการความชื้นมาก ควรดูแลรักษาอย่างพิถีพิถันที่สุด

การบำรุงรักษาขั้นตอนที่ 2

หลังจากเพาะ 15 วัน  เมล็ดจะงอกและดันโผล่ขึ้นพ้นผิวดินในลักษณะของถั่วงอกเป็นระยะที่กล้าไม้อ่อนแอที่สุด  นอกจากจะต้องรับการดูแลเอาใจใส่ทั้งความชื้นและความสะอาดแปลง  แปลงเพาะที่กว้างขวางจะต้องติดตามถอนวัชพืชให้ทันและเร่งด่วนถือเป็นกรณีสำคัญยิ่ง  แปลงเพาะที่งอกดีแต่การบำรุงรักษาล่าช้าผิดขั้นตอน  นับเป็นความผิดพลาดที่ช่วยไม่ได้ “วัชพืชเป็นส่วนหนึ่งที่ให้เปอร์เซ็นต์กล้าไม้ต่อหน่วยเนื้อที่น้อยลง”

การบำรุงรักษาแปลงเพาะขั้นตอนที่ 3

หลังจากเพาะ 2-3 เดือน กล้าไม้เริ่มงอกเป็นแนวตามแนวหว่าน  ความชื้นแปลงและการกำจัดวัชพืชยังเป็นปัญหาสำคัญยิ่ง ยิ่งกล้าไม้โตขึ้นจนมีใบเลี้ยง 1-4 คู่ กล้าไม้จะดูเขียวขจีเป็นแนวตามร่องหว่านงดงาม แม้ว่ากรรมวิธีปฏิบัติในการเร่งความงอกเมล็ดจะเหมือนกัน  แต่เปอร์เซ็นต์การงอกเมล็ดเร็วช้า ก็ยังแตกต่างกันอย่างเป็นได้ชัด  กล้าไม้ที่งอกก่อนเมื่อมีใบ 3-4 คู่ เริ่มบดบังกล้าเล็กกว่า ขั้นตอนนี้เริ่มมีงาน เด็ดใบ (Leaves Prunning)  ครึ่งใบหรือเต็มใบ  ช่วยกล้าเล็กให้โตทันกล้าใหญ่  เริ่ม่พิจารณาการจัดระยะด้วยการถอนสาง (Thinning for Spacing) จัดระยะรักษากล้าที่งอกสม่ำเสมอกันให้โตแบบสม่ำเสมอกัน ก็จะได้กล้าไม้ที่ไม่เบียดบังกันและโตอย่างสม่ำเสมอกัน กล้าไม้ที่ถอนออกทิ้ง  อยู่ในดุลยพินิจที่จะพิจารณาตามขั้นตอนของการทดลองย้ายชำกล้าไม้

การบำรุงรักษาแปลงเพาะขั้นตอนที่ 4

ขั้นตอนนี้กล้าไม้มีใบใหญ่กว้างเริ่มคลุมวัชพืช ทำให้ลดงานถอนวัชพืชน้อยลง งานตัดใบยังคงดำเนินการต่อเนื่อง เมื่อสังเกตสีเขียว ถ้ากล้าไม้หย่อมใดมีสีเหลืองจะแกร็นไม่โต  ควรเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจนช่วยถึงเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน กล้าไม้ก็จะโตถึงขนาด  ควรเริ่มงานตัดยอดบังคับขนาด (Top pruning) และแต่งใบข้างแปลง (Vertical pruning) ขั้นตอนนี้แปลงเพาะจะดูสม่ำเสมองดงามยิ่งขึ้น

การบำรุงรักษาแปลงเพาะขั้นตอนที่ 5

ตลอดฤดูหนาวย่างเข้าฤดูแล้ง กล้าไม้จะเริ่มมีใบเหลือง ค่อย ๆ แห้งตกหล่นโคนต้นและระหว่างแปลง งานขั้นตอนนี้น้อย แต่ต้องระมัดระวังไฟ ทั้งรอบนอกและรอบใน  เพราะไฟอาจลามมาจากด้านนอก และบางครั้งไฟเกิดจากข้างในเพราะผู้กลั่นแกล้งหรือรู้เท่าไม่ถึง จุดเพื่อล่าสัตว์ เช่น นก หรือกระต่ายป่าที่หลบจากป่าด้านนอกเข้าอาศัยแปลงเพาะ  กล้าไม้ที่ถูกไฟไหม้จะชิงงอกก่อนกลายเป็นกล้าอ่อนที่ไม่นิยมใช้ปลูกสวนป่า

การถอนตัดแต่งและเก็บเหง้าสัก

เมื่อกล้าไม้มีอายุประมาณ 8-12 เดือน หลังจากผลัดใบหมด เปลือกโคนต้นเป็นสีน้ำตาล เป็นระยะที่กล้าไม้เก็บสะสมอาหารไว้ที่เหง้ารอฤดูการเติบโตในฤดูฝนต่อไป ในทางป่าไม้ถือว่าหากถอนกล้าแต่งเป็นเหง้าสักจะได้เหง้าสักที่มีคุณภาพดีที่สุด  การถอนตัดแต่งสักเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม  ขณะนั้นเป็นฤดูแล้งดินแข็งมาก การถอนด้วยแรงคนจึงยากและได้น้อยต่อวัน  ควรคิดประดิษฐ์เครื่องมือประกอบแทรคเตอร์ เรียกว่า “เครื่องถอนกล้า” (Plant Lifter) จะช่วยการถอนกล้าได้เร็วขึ้น  ขนาดมาตรฐานเหง้าสัก 1.5 – 2.5 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนต้น (Collar root) ความยาวประมาณ 20 ซม. ตัดแต่งรากฝอยออกหมด เหลือส่วนของลำต้น (ขุดดูเป็นสีเขียว) ประมาณ 1-2 ซม. ประมาณตา 2 คู่ เหลือส่วนรากหรืเหง้า (ขุดดูเป็นสีขาว) 13 ซม. แยกคัดขนาดมัดด้วยดอกหรือยางเป็นจำนวนเต็ม 50 หรือ 100 เหง้าในแน่น

โรงเก็บเหง้าสัก  ควรสร้างให้ใหญ่กว้างขวางเก็บเหง้าสักได้มากเป็นจำนวนแสน ๆ ถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่อบคลุมเพิ่มความร้อน

หลุมกว้าง 1.5-2 เมตร ยาวประมาณ 5 เมตร เรียงเหง้าสักตั้งขึ้นเป็นชั้น ๆ สลับด้วยการกลบด้วยทรายแห้งสนิททุกชั้น หลุมเก็บเหง้าแห้งสนิทปราศจากความชื้นที่ทำให้เกิดโรครา  ท่อถ่ายเทอากาศและตรวจอุณหภูมิ ควรทำไว้บ่อละ 2-3 ท่อ หากอุณหภูมิในหลุมสูงผิดปกตกจะต้องขุดขึ้นตากลมและกลับลงใส่หลุมใหม่ทุกครั้ง เก็บรอผู้ขอมารับไปปลูกในฤดูปลูกต่อไป

การถอนตัดแต่งเหง้าสด

แม้ว่าการถอนเหง้าเก็บ  จะได้เหง้าคุณภาพดี  ขจัดปัญหาในทางปฏิบัติสำเร็จแล้วก็ตาม  บางครั้งงานแปลงเพาะยังประมาทได้ได้  จะต้องคงแหลือการถอนตัดแต่งเหง้าสดไว้ส่วนหนึ่ง จะด้วยปัญหาที่พบจากการเพาะล่าช้า หรือฝนไม่อำนวยทำให้ขนาดกล้าไม้บนแปลงเพาะยังต่ำกว่าขนาดพอดีหรือกล้าไม้มีขนาดลดหลั่นกันมากขึ้นจนจัดระยะกล้าไม้ไม่ได้  เห็นควรรอฝนต้นฤดูปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม ปีต่อไปจึงจำเป็นต้องถอนเหง้าสด และจะถอนเมื่อผู้ขอนัดถอน การปลูกด้วยเหง้าสด  เมื่อผู้ปลูกชำนาญ ปลูกถูกต้องตามฤดูก็จะได้ผลใกล้เคียง 100% เช่นกัน แรงงานจะถอนตัดแต่งง่ายและประหยัดกว่า เก็บไว้ในร่มถึงส่งปลูกไม่เกิน 7 วัน หากล่าช้าจะแห้งหรือให้ความชื้นตาจะงอกเสียก่อน

รายละเอียดและข้อมูลที่ควรทราบเพิ่มเติม

1.  แหล่งเมล็ดพันธุ์ที่ดี เก็บได้จาก

1.1  ป่าธรรมชาติที่จัดการเพื่อการเก็บเมล็ด

1.2  ส่วนป่าที่จัดการเป็นแหล่งเก็บเมล็ด

1.3  สวนผลิตเมล็ด

1.4  สวนรวมแม่พันธุ์

2.  ลักษณะภายในเมล็ดสักผ่าซีก เพื่อตรวจสอบจุดงอก

3.  ปริมาณเมล็ดเก็บได้จากแหล่งเมล็ด

3.1  ป่าธรรมชาติ 50%

3.2  แหล่งเก็บเมล็ด 50%

4.  การคำนวณปริมาณเมล็ดที่จะต้องจัดเก็บ

อัตราการหว่านเมล็ดสัก 1 ถัง (20 ลิตร) ต่อความยาวแปลงเพาะ = 33 ม.

เนื้อที่แปลงเพาะทั้งหมด = 36,000 ม.2

จำนวนเมล็ดที่จะใช้หว่านตามร่องหว่าน = 36,000/33 =  1,090.9 ถัง

เนื้อที่แปลงเพาะต่อไร่ = 1,068 ม.2/ไร่

เนื้อที่แปลงเพาะที่ต้องเตรียมเป็นไร = 36,000/1,068 = 33.7 ไร่

5.  ข้อมูลจากการร่อนแยกคัดเมล็ด (Grading by sieving)

A ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 1.3 ซม.

B  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 1-1.3 ซม.

C  ขนาดเส้นผาศูนย์กลางเล็กกว่า 1 ซม.

  • ข้อมูลเก็บปี พ.ศ. 2518

ปริมาณ                   น้ำหนัก กก.     จำนวนเมล็ด(%)        จำนวนต่อถัง

1 ถัง(20 ลิตร)                5.6                   18.6                             8,146

1 ถัง(20 ลิตร)                6.4                   29.57                          12,950

1 ถัง(20 ลิตร)                6.92                 51.83                           22,700

ค่าเฉลี่ยเมล็ดต่อถัง         6.3                      –                                14,598

ฉะนั้นจำนวนเมล็ดขนาดใหญ่ (A+B) ใช้หว่านเป็นร่อง = 1,090.9 ถัง

มีเมล็ดขนาดเล็ก (C) = 1,090.9 x 51.83/18.17 = 1,179.79 ถัง

ฉะนั้น เมล็ดที่จะต้องเก็บ = 1,090.9 + 1,179.79 =2,270.69 ถัง

ค่าเฉลี่ยกล้าไม้โตถึงขนาดต่อตารางเมตร(ขนาดใหญ่ A+B)=25 กล้า

ยกแปลงเพาะได้ 36,000 ตารางเมตร จะผลิตกล้าไม้ได้ = 36,000x 25 = 900,000 กล้า

หมายเหตุ เมล็ดสักขนาดใหญ่ A+B ใช้หว่านแบบร่อง (Strips) เมล็ดเล็ก C หว่ายแบบกระจาย (Broadscasting) แต่จากผลการทดสอบความงอกเมล็ดงอก 52% (ปี พ.ศ. 2518) เมล็ดเล็ก (C) จะงอกเพียง ¾ ของเมล็ดใหญ่ (A+B) หว่าน 1 ถัง ต่อความยาวแปลง 25 ตารางเมตร

ฉะนั้น เมื่อเอาเมล็ดเล็ก C เพาะจะได้กล้า = 900,000 x ¾ = 675,000 กล้า

สรุปจำนวนเมล็ดที่ต้องจัดเก็บ 2,270.69 ถัง (หรือ 2,271 ถัง) จะผลิตกล้าได้ = 900,000 + 675,000 = 1,575,000 กล้า

ในปีพ.ศ. 2514 ได้ผลการทดสอบความงอกเมล็ดสูงสุดถึง 59% แต่จากการปฏิบัติงานภาคสนามได้เพียง 25-30 % เท่านั้น  จะให้เปอร์เซ็นต์การงอกเมล็ดสูงขึ้นได้กล้าไม้ถึงขนาดมากขึ้น  เมื่อลดปริมาณแปลงเพาะลง  ขึ้นอยู่กับเทคนิคของการปฏิบัติ  ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การหว่าน การกลบเมล็ด และการกำจัดวัชพืช

6.  การตรวจสอบความสามารถงอกของเมล็ด(Viability checking) และการตรวจสอบหลังจากเก็บเมล็ดไว้ค้างปี 1 ปี

ความสามารถงอกเมล็ดใหม่ในปี พ.ศ. 2518

ขนาดเมล็ด     เมล็ดดี% 1 จุดงอก        2 จุดงอก        3 จุดงอก        4 จุดงอก

A                 82                    48                    23                    7                      4

B                 76                    48                    21                    6                      1

C                 74                    40                    17                    8                      9

เฉลี่ย          77.33             45.33             20.33               7                      4.67

เก็บค้างไว้ 1 ปี ผ่าตรวจสอบในปี พ.ศ. 2519

ขนาดเมล็ด     เมล็ดดี% 1 จุดงอด        2 จุดงอก        3 จุดงอก        4 จุดงอก

A                     70                    40                    19                    5                      2

B                     60                    40                    16                    4                      –

C                     49                    38                      7                      4                      –

เฉลี่ย              59.97             40.67              14                   4.33                 67

เฉลี่ยลด         17.66               4.66                 6.33                 2.67                 4

เมล็ดสักมีตั้งแต่ 1-5 ซีก (Chambers) แต่โอกาสที่มีเมล็ดดีทั้ง 5 ซีกมีเปอร์เซ็นต์พบเป็นจุดทศนิยม ฉะนั้น เมล็ดสัก 1 เมล็ดมีโอกาสงอก 1-4 กล้าได้ตามตัวเลขแต่ในภาคสนาม  ต้องการโอกาสให้เมล็ดงอกเพียง 2 กล้า ต่อ 1 เมล็ด จากข้อมูลปี พ.ศ.2518 เมล็ดใหม่มีความสามารถงอกมากที่สุดถึง 77.33 % เมื่อเก็บสำรองเมล็ดในกระสอบถ่ายเทอากาศได้ในโรงเก็บเมล็ด  ความสามารถงอกเมล็ดลดลงเหลือ 59.97% หรือลดลง 17.66% ไม่มากนัก  ปัจจุบันป่าธรรมชาติถูกทำลายลง คาดได้ว่าอัตราความสามารถงอกเมล็ดย่อมน้อยลงตามไปด้วย

7.  การจัดการแหล่งเมล็ด การเก็บทำความสะอาดและขนส่ง

เมล็ดสักดกปีเว้นปี จึงควรสำรองเมล็ดไว้ในปีที่มีเมล็ดดกมาก  แก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการจัดโยนเก็บเมล็ดในแหล่งที่ไกลกันและจัดเก็บเผื่อให้มากแหล่งเมล็ดจนแน่ชัดว่าได้ปริมาณเมล็ดแน่นอนมากเกินพอ เก็บเมล็ดเมื่อร่วงลงดินและแก่จัด  แม่ไม้ทรงดีมีอายุแก่เพียงพอ (Maturity) กากหุ้มเมล็ด(Caryx) บดออกง่ายเมื่อตากแดดจนกรอบด้วยเท้าหรือตำ เมล็ดอ่อนจะแกะกาบหุ้มเมล็ดไม่หมดและผิวขนหรือเปลือกนอกมีสีดำ ผลใหญ่ไม่เกลี้ยง เมื่อเก็บบรรจุกระสอบจะมีเสียงกรอบเมื่อเคาะทุบดู 1 กระสอบมัดปากแน่นบรรจุได้ 7 ถัง (กระสอบข้าวสาร) เก็บได้ในโรงเก็บเมล็ดรอฤดูเพาะต่อไป

8.  การเร่งความงอกและเหตุที่ต้องเร่งความงอก (Pretreatment and reasons)

หลักการเร่งความงอกเมล็ด กระทำได้หลายวิธี  และมีผู้ทดลองแล้วมากมายหลายแบบ  แต่ต้องหาแบบที่มีมาตรฐานสะดวกประหยัดต่อการปฏิบัติงานภาคสนามในปี พ.ศ.2512 จึงมีการทดลองแช่เมล็ดสักสลับตากแดด 72 ชม.  ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ไม่มีผลแตกต่างกันทางด้านสถิติ  การเพาะเมล็ดสักในปัจจุบันก็ยังใช้วิธีแช่น้ำ 3 คืน  แล้วตากไว้บนลานดินจนใกล้งอกแล้วจึงหว่าน ก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ

เหตุผลที่ต้องเร่งความงอกเมล็ด

8.1  เพื่อให้เมล็ดงอกเร็วและงอกมาก

8.2  ได้การงอกที่สม่ำเสมอกัน

8.3  ได้กล้าไม้ที่โตสม่ำเสมอไล่เลี่ยกัน

8.4  งอกพ้นและคลุมวัชพืชได้เร็วกว่า

8.5  จัดการให้ได้กล้าโตสม่ำเสมอกันง่ายกว่าและโตทันใช้เครื่องจักรกลถอนกล้าได้

9.  ข้อมูลเกี่ยวกับดินและการบำรุงดิน

ดินแปลงเพาะส่งพิสูจน์ที่สถานีพัฒนาที่ดินลำปางเพื่อหาข้อแตกต่างระหว่างดินจากป่าธรรมชาติที่มีไม้สักกับดินที่เคยใช้ทำแปลงเพาะแล้ว 2 แหล่ง ในปี พ.ศ. 2510 ได้ผลดังนี้

จะเห็นว่าดินแปลงเพาะลำปางมี P และ K สูง  เนื่องจากเคยใส่ปุ๋ย (Tuniphos) มาก่อน  และ P และ K เป็นธาตุที่สลายตัวช้า

เปรียบเทียบประสิทธิภาพของส่วนผสมดินเพื่อเพิ่มปุ๋ยกลบเมล็ดของหน่วยงานกรมป่าไม้ (ใช้มูลต่างดาว) และหน่วยงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ใช้ถ่านหิน) ข้อมูลปี 2510

รายการ pH     OM(%)            P (ppm)             K (ppm)

ดินป่าธรรมชาติ                                      6.06     1.8282             3.375               157.5

ดินแปลงเพาะลำปาง                              5.91     1.8642             22.15               163

ดินแปลงเพาะแพร่                                  6.11     1.3188             7.15                 84

รายการ OM(%)                 P (ppm)                K (ppm)

มูลค้างคาว                                            5.431                           สูงที่สุด                4,800

ถ่านหิน                                                  5.431                           สูงจนวัดไม่ได้         75

ฉะนั้น ดินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องบำรุงและจัดรูปงานแปลงเพาะให้มีการบำรุงดินอย่างต่อเนื่องทุกปี  ข้อสังเกตที่พอทราบได้ง่าย การเพาะกล้าไม้บนดินใหม่  ต้นกล้าจะสูงชะลูดมากกว่าความโต หากเพาะกล้าไม้บนดินเก่าต้นจะสั้นลง ปล้องสั้น ตาถี่ขึ้น แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

10.  ฤดุที่เหมาะสมในการเพาะเมล็ดสัก (Promissing Periods of Sowing)

ปริมาณน้ำฝนรายเดือนที่แตกต่างกันทุกปีมีผลทำให้ผลการทดลองนี้เปลี่ยนแปลงไปได้  แต่ผลได้จากการทดลองนี้ (ปี พ.ศ.2512) ก็ยังพอเป็นแนวทางปฏิบัติ เพราะค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนทั้งปียังใกล้เคียง 1,800 มม.

A         เพาะ 30 ต.ค. 12

B         เพาะ 14 มิย. 12

C         เพาะ 29 มิย. 12

D         เพาะ  14  มิย.  12

E          เพาะ  29  มิย.  12

F          เพาะ  14  กค.  12

G         เพาะ  29  ตค.  12

H         เพาะ  13  สค.  12

11.  ข้อมูลแสดงเปอร์เซ็นต์การงอกเมล็ดสักต่างขนาดกัน  เมล็ดที่ใหญ่กว่าย่อมงอกได้ดีกว่า

A       เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.3 ซม.

B         เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-13 ซม.

C         เส้นผ่าศูนย์กลาง  1  ซม.

12.  ข้อสังเกตการย้ายชำกล้าไม้สัก

ในปี พ.ศ. 2514 ได้ทำแปลงเพาะโดยคัดเลือกสภาพดินอย่างพิถีพิถัน ผลิตอุปกรณ์เพื่อทดลองย้ายชำกล้าไม้สักขนาดแตกต่างกัน ตั้งแต่ 1. เริ่มงอก 2. มีใบเลี้ยง 1 คู่ 3. มีใบเลี้ยง 2 คู่ 4. มีใบเลี้ยง 3 คู่ และ 5. มีใบเลี้ยง 4 คู่  ย้ายชำในแปลงชำแหล่งเดียวกัน กรรมวิธีปฏิบัติแบบเดียวกัน ยกเว้นกล้าที่มีใบ 3-4 คู่ พอตัดแต่งเป็นเหง้าเล็ก ๆ ได้ ปรากฎผล กล้าสักเมื่อโตถึงฤดูถอนแต่งเหง้าจะคดงอ  เป็นง่าม เสียกว่า 70% ได้ผลโดยสรุป หากต้องการย้ายชำกล้าไม้สักควรย้ายชำเมื่อมีใบ 4 คู่  ตัดแต่งเป็นเหง้าสักเล็ก ๆ รากแก้วหรือเหง้าที่แตกออกใหม่จะดูเชื่อมตรงเป็นเหง้าที่ดีได้เมื่อถึงฤดูถอนแต่งเหง้าปีต่อไป

13.  ข้อสังเกตการผ่าแบ่งเหง้าขนาดใหญ่ปลูก

ในปี พ.ศ. 2515 สังเกตว่ากล้าสักเมื่อถอนตัดแต่งเป็นเหง้าแต่มีขนาดใหญ่เกินกว่า 2.5 ซม. น่าจะผ่า 2-4 ซีก ใช้สีทาแล้วปลูกสวนป่าแก้ปัญหาเหง้าสักไม่พอและขาดแคลนปรากฎผลได้ใกล้เคียง 60-70% เท่านั้น ที่งอกแตกตาและลักษณะการแตกยอดไม่พุ่งตรงเท่าที่ควร

14.  เครื่องจักรกลเฉพาะงานแต่ละขั้นตอน (Nursery Mechanigations)

14.1  แทรคเตอร์ตีนตะขาบ ดี 4-6 เฉพาะงานบุกเบิก

14.2  การไถเตรียมดินใช้แทรคเตอร์ล้อยาง

14.3  ผาน 3 และผาน 7 ขึ้นไปเพื่อไถบุกเบิกและพรวนดิน

14.4  เครื่องปรับหน้าดินให้ราบเรียบ

14.5  เครื่องยกแปลง

14.6  เครื่องหว่านเมล็ด หรือ

14.7  ลูกกลิ้งปรับระดับ หรือ

14.8  เครื่องทำร่องหว่านเมล็ด

14.9  เครื่องกลบเมล็ด

14.10 เครื่องช่วยถอนกล้า