การเพาะเห็ดฟาง เพิ่มรายได้ให้ชาวนา

การเพาะเห็ดฟาง เพิ่มรายได้ให้ชาวนา

อมรรัตน์  ผู้พัฒน์

เห็ดฟางเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยในเมืองไทยมานาน  ทั้งนี้เพราะดอกเห็ดฟางมีรสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหารสูง  สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายประเภททั้งอาหารจืดและอาหารคาว  ยิ่งเทศกาลกินเจด้วยแล้วเห็ดเป็นอาหารที่วิเศษทีเดียว และที่สำคัญที่สุดคือ เห็ดฟางเพาะได้ง่าย  ใช้เวลาเพียง 7-10 วัน ก็เกิดดอกให้เก็บไปเป็นอาหารหรือนำไปจำหน่ายได้  ดอกเห็ดฟางที่ขายในท้องตลาดทั่วไปจะเห็นได้ว่ามีราคาสูงพอควร  และบางครั้งเกิดการปล่อยข่าวลือว่าเห็ดฟางอยู่ในสภาพที่ล้นตลาดทำให้มีราคาถูกหรือราคาตกต่ำเหมือนผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ จนไม่น่าเพาะ  แต่สภาพความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เนื่องจากเห็ดฟ่างยังมีช่องว่างในด้านต่าง ๆ ทีมีปัจจัยควรส่งเสริมให้มีการเพาะได้อีกมาก เช่น ต้นทุนการผลิต(ค่าเชื้อเห็ด)ต่ำ และเป็นเห็ดที่เพาะง่าย จึงเหมาะสำหรับเกษตรกรที่จะยึดเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพรองหลังจากฤดูการทำงาน  เพราะเห็ดฟางจะช่วยก่อให้เกิดรายได้เสริมแก่ครัวเรือนเกษตรกรบ้างพอควร

เห็ดฟางมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า VoIvariella volvaceae(Singer)หรือชื่อสามัญเรียกว่า Paddy mushroom หรือ Staw mushroom ลักษณะของเห็ดฟางจะมีหมวกดอก(cap)เป็นสีขาวหรือเทาค่อนข้างดำคล้ายร่ม  ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-10 เซนติเมตร  ที่หัวของหมวกดอกจะเรียบและมีสีค่อนข้างเข้มบริเวณกลางหมวกแต่สีจะค่อย ๆ จางลงเมื่อถึงริมขอบหมวก ครีบดอก(gill) มีสีขาวจัดเรียงอยู่ใต้หมวกดอกเป็นรัศมีรอบก้านดอก ก้านดอก(Stalle) มีก้านดอกสีขาวสูงประมาณ 6-8 เซนติเมตร เป็นส่วนชูหมวกดอก (ก้านดอกเห็ดฟางไม่มีวงแหวนโดยรอบเช่นเห็ดอื่นบางชนิด) ปลอกหุ้ม(volva) เมื่อดอกเห็ดฟางยังเล็กหรือก่อนดอกบานจะมีปลอกหุ้มไว้ทั้งดอก เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่หมวกดอกจะดันปลอกหุ้มดอกออกมา

การเจริญเติบโตของเห็ดฟางแบ่งเป็น 6 ขั้นดังนี้ คือ

1.  จุดเริ่มแรกของการเกิดดอก(Pinhead Stage) ระยะนี้จะเกิดหลังจากโรยเชื้อเห็ดแล้ว  ในวันที่ 4-6 เส้นใยเห็ดจะมารวมตัวกันเป็นจุดขาว ๆ เล็ก ๆ ในสภาพอุณหภูมิ 28-32 องศาเซลเซียส โดยปกติ

2.  ระยะดอกเห็ดรูปกระดุมเล็ก (Tiny button stage) คือ ระยะสืบต่อจากระยะแรกประมาณ 15-30 ชั่วโมง เป็นระยะที่ดอกเห็ดเจริญเติบโตขึ้นจากระยะแรกอย่างรวดเร็ว  และมีรูปของดอกเห็ดเป็นลักษณะกลมยกตัวขึ้นจากวัสดุที่ใช้เพาะ  หากทำการผ่าข้างในจะยังไม่เห็นการแยกเป็นหมวกดอกเห็ดได้ชัดนัก  เพียงแต่มีรูปเค้าโครงของก้าน โดยสังเกตจากที่มีช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างปลอกหุ้มและก้านเกิดขึ้น

3.  ระยะรูปกระดุม (Button stage) คือ ระยะที่ดอกเห็ดมีการขยายตัวทางด้านความกว้างของดอกอย่างเต็มที่  ส่วนมากแล้วดอกเห็ดจะมีลักษณะกลมหรือวงรีเรียวมีฐานที่โตกว่าส่วนปลาย  หากทำการผ่าดูภายในจะเห็นมีการแบ่งตัวเป็นก้าน เป็นดอกและกลีบดอกอย่างชัดเจน  แต่ส่วนของหมวกและก้านดอกยังเล็กอยู่ ระยะนี้ต่อเนื่องจากระยะที่ 2 ประมาณ 12-20 ชั่วโมง

4.  ระยะรูปไข่(Egg Stage) เป็นระยะที่ดอกเห็ดเริ่มมีการเจริญเติบโตทางความยาวของก้านดอกและความกว้างของหมวกดอกด้านของเปลือกหุ้มจะยืดไปตามความยาวของก้าน  ทำให้ปลอกหุ้มดอกบางลงและเรียวยาวขึ้นคล้ายรูปไข่  เป็นระยะที่ต่อเนื่องจากระยะที่ 3  ส่วนจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสภาพของอุณหภูมิ กล่าวคือ หากอุณหภูมิสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส จะใช้ระยะเวลาเพียง 8-12 ชั่วโมงเท่านั้น  แต่หากอุณหภูมิต่ำกว่านั้น  การเจริญของดอกเห็ดในขั้นตอนนี้ก็จะช้าลงเป็นลำดับระยะนี้ส่วนมากผู้เพาะปลูกมักจะทำการเก็บเกี่ยว เพราะเป็นระยะที่ให้น้ำหนักสูงสุดและเป็นลักษณะที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานมากที่สุด รวมทั้งเป็นขนาดที่โรงงานกระป๋องต้องการอีกด้วย

5.  ระยะปริดอก(Elongation stage) เป็นระยะต่อเนื่องจากระยะที่ 4 เพียง 2-6 ชั่วโมงเท่านั้น  ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับสภาพอุณหภูมิเช่นเดียวกับระยะที่ 4 ระยะนี้เป็นการเจริญเติบโตของก้านและหมวกดอกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนบนสุดของปลอกหุ้มดอกแตกออกและเป็นการแตกแบบไม่เป็นระเบียบ ส่วนสีของผิวหมวกดอกเมื่อสัมผัสกับบรรยากาศก็จะทำให้มีสีคล้ำขึ้น แต่ก้านดอกและครีบภายในใต้หมวกดอกจะเป็นสีขาวระยะนี้เห็ดจะมีรสหวานและส่วนก้านจะมีความเหนียวพอสมควรคล้ายกับเห็ดโคน  ในขณะที่สปอร์เริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ และระยะนี้มีความหอมอันเป็นความหอมเฉพาะตัวของเห็ดฟาง  ดังนั้น ผู้ที่รู้จักรับประทานเห็ดฟางดีจึงนิยมรับประทานในระยะนี้มากกว่าระยะอื่น  แต่เห็ดในระยะนี้ก็เป็นระยะที่ยากแก่การเก็บรักษาให้สดคงรูปอยู่ได้นาน ๆ ยกเว้นจะทำการลวกและเก็บไว้ในตู้เย็นชั้นแช่แข็งเท่านั้น

6.  ระยะแก่เต็มที่ (Mature stage) คือ ระยะที่ส่วนของก้านดอกและหมวกมีการขยายตัวเจริญเต็มที่  ส่วนครีบของดอกเห็ดจะสร้างสปอร์และปล่อยให้ตกลงหรือปลิวไปตามกระแสลม สีของครีบจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นสีน้ำตาลคล้ำก้านดอกเห็ดจะเหนียว หมวกจะอ่อนนุ่ม แตกหักและหลุดง่าย มีระยะห่างจากระยะที่ 5 เพียง 2-4 ชั่วโมงเท่านั้น  ซึ่งระยะนี้ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากนัก ยกเว้นเพื่อใช้ทำซอส  หรือกะปิเท่านั้น

เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการเพาะเห็ดฟางเป็นรายได้เสริม วารสาร ธ.ก.ส. จึงของแนะนำเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. ท่านหนึ่งที่ทำกิจการด้านนี้ คือคุณทวี  เศรษฐี  ปัจจุบัน อายุ 46 ปี เกษตรกรท่านนี้จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ 4 ต.น้ำตาล อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี คุณทวี สมัครเข้าเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มาตั้งแต่ปี 2530 และได้รับบริการสินเชื่อเป็นเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 30,000 บาท ต่อมาในปี 2532 ได้ศึกษาแนวทางประกอบอาชีพการเกษตรใหม่คือ การเพาะเห็ดฟาง คุณทวีกล่าวว่า เดิมเคยริเริ่มทำการเพาะเห็ดหูหนูและเห็ดนางฟ้า แต่ได้ผลไม่คุ้มค่ากับการลงทุนจึงต้องเลิกทำ แต่ด้วยความพยายามและความมีมานะเป็นทุนเดิม  คุณทวีจึงเริ่มเพาะเห็ดฟางตามที่ได้เห็นตัวอย่างจากเกษตรกรในจังหวัดนครนายกที่ยึดอาชีพเพาะเห็ดฟางแล้วได้ผลผลิตดีมีกำไร  คุณทวีเมื่อได้เห็นความสำเร็จของเกษตรกรในจังหวัดนครนายก  จึงเกิดความสนใจอย่างมากที่จะเลียนแบบ  ประกอบกับเป็นโอกาสดีของคุณทวีที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรคือเกษตรตำบลให้การสนับสนุนด้วย  ดังนั้นคุณทวีจึงเริ่มศึกษาและเพาะเห็ดฟางขายแต่นั้นมา  ในช่วงแรก ๆ นั้นคุณทวีลงทุนสร้างห้องสำหรับเพาะเห็ดฟางขนาด 1-75×2 เมตร จำนวน 2 ห้อง โดยลงทุนประมาณ 7,000 บาท  และใช้ปูนซิเมนต์ก่อเป็นเตาต้มน้ำ  สำหรับหม้อน้ำใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร  จำนวน 2 ใบ เมื่อต้มน้ำก็จะได้ไอน้ำส่งผ่านท่อเข้าไปฆ่าเชื้อและปรับอุณหภูมิ  แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนห้องลักษณะนี้เป็นทั้งหมด 18 ห้อง คือ สร้างใหม่ในรูปแบบง่าย ๆ อีก 16 ห้อง มีขนาด 2×3 เมตร  ซึ่งลงทุนไม่มากนัก  โดยสร้างเป็นโครงโรงเรือนแล้วคลุมด้วยผ้ายาง  ซึ่งทำให้กิจการเพาะเห็ดฟางก้าวหน้าเป็นที่พอใจของคุณทวีมาก

การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนของคุณทวี  ซึ่งทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนนี้  มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอย่างเหมาะสม  ทั้งนี้เพื่อให้เส้นใยและการเกิดดอกเป็นไปตามปกติ  แต่อย่างไรก็ตาม  ก็ต้องอาศัยความเอาใจใส่ของผู้เพาะเลี้ยงอยู่มาก  ตามที่คุณทวีกล่าวกับเราว่า ที่ผลผลิตได้ดีถึงวันละ 90-120 กก.  ก็เพราะดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากคุณทวีจะเพาะเห็ดฟางเพื่อขายแล้วคุณทวียังได้แสดงบทบาทเป็นพ่อค้าคนกลางคอยรับซื้อผลผลิตเห็ดฟางจากเพื่อนบ้านแล้วนำไปส่งตลาดด้วยตัวเองอีกด้วยและในขณะเดียวกัน  ก็จะจัดหาพันธุ์เห็ดฟางมาขายให้แก่บรรดาเพื่อนเกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟางด้วยกัน ราคาเห็ดที่เพาะได้จะขายได้ในราว กก.ละ 35-40 บาท  นับว่าเป็นรายได้ที่ดีทีเดียว การลงทุนก็มีเพียงแค่เชื้อเห็ดฟางที่ราคาถุงละประมาณ 2 บาท โดยใช้ห้องละ 70 ถุง ต่ออาหารเสริม 1 ถุง ซึ่งราคาประมาณ 30 บาท และใช้ไส้ฝ้ายหรือนุ่นปูรองพื้นชั้นไม้สำหรับเพาะเห็ด 12 กระสอบ (ราคากระสอบละ 38 บาท) ต่อ 1 ห้อง  ส่วนฟางข้าวนั้นก็ได้จากการทำนานั่นเอง  ส่วนวิธีการผลิตนั้น  คุณทวีก็เล่าให้ฟังว่า

ขั้นแรก ใช้ฟางข้าว ผสมไส้ฝ้าย หรือไส้นุ่น(อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ผสมกันก็ได้) เป็นวัสดุสำหรับเพาะ  โดยนำไปแช่ให้อิ่มน้ำประมาณ 1 วัน  แล้วย่ำให้แหลก แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 คืน

ขั้นที่สอง นำวัสดุที่ได้จากขั้นแรกมาสับให้แตกแล้วใส่ปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรคหรือเชื้อเห็ดอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการให้ขึ้น  โดยทิ้งไว้ประมาณ 2 คืน

ขั้นที่สาม เอารำข้าวละเอียดผสมกับวัสดุที่ได้ในขั้นที่สองแล้วคลุกให้เข้ากัน

ขั้นที่สี่ นำวัสดุที่เตรียมเรียบร้อยจากขั้นที่สามไปวางไว้บนชั้นเพาะเห็ดให้หนาประมาณ 2 นิ้ว แล้วทิ้งไว้ 2 คืน จึงอบไอน้ำโดยใช้อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส(ที่อุณหภูมินี้เชื้อเห็ดชนิดอื่นจะตายแน่นอน  แต่ถ้าหากว่าอุณหภูมิไม่ถึง 70 องศาเซลเซียส จะมีเชื้อราเกิดได้) การอบไอน้ำใช้ระยะเวลาประมาณ ½ -1 ชม.

ขั้นที่ห้า หลังจากเตรียมแหล่งอาหารเรียบร้อยแล้วให้เอาเชื้อเห็ดคลุกกับอาหารเสริมในอัตราส่วนเชื้อเห็ด 70 ถุง ใช้อาหารเสริม 1 ถุง แล้วทำการโรยให้ทั่วบนวัสดุเพาะที่เตรียมไว้บนชั้น  หลังจากนั้นภายใน 10 วัน ก็สามารถเก็บเห็ดขายได้  การเพาะเห็ดฟางไม่ต้องมีการรดน้ำอีกแล้ว  เพราะต้องมีการควบคุมความชื้นให้พอเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเห็ด  แต่หากว่าระหว่างนั้น ผู้เพาะพบว่าชั้นเห็ดแห้งมากไม่มีความชื้นเลยก็สามารถรดน้ำให้เกิดความชื้นได้  เมื่อเก็บเห็ดครั้งแรกเสร็จแล้วจะเก็บครั้งที่สองได้ภายใน 3-4 วัน นั่นคือเห็ดแต่ละรุ่นจะเก็บได้ 2 ครั้ง(แต่ต้องฉีดน้ำให้เห็ดก่อน) ช่วงระยะเวลาเก็บเห็ดของคุณทวีคือ บ่าย 3 โมงเย็นและเวลาเที่ยงคืน  จากนั้นจะนำไปส่งขายในตลาด จ.อ่างทอง และ จ.ลพบุรี

วิธีการเพาะเห็ดฟางบนชั้นของคุณทวีนี้  คุณทวีเล่าว่า 1 ห้องผลิตมีชั้นประมาณ 8-16 ชั้น  ต้นทุนการผลิตเห็ดฟางทั้งหมดประมาณ 3,354 บาท/ห้องใหญ่/รุ่น และ 2,800 บาท/ห้องเล็ก/รุ่น  ในระยะเวลาที่ผ่านมาคุณทวีเคยผลิตเห็ดฟางได้ถึงวันละ 130 กก.  ซึ่งตลอดฤดูกาลผลิตทำรายได้ให้คุณทวีสามารถเพาะเห็ดในช่วงว่างจากการทำนาได้ถึง 2 รุ่น  และหากเก็บวัสดุเพาะไว้เพื่อทำการผลิตตลอดปี ก็จะสามารถทำได้

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการเพาะเห็ดเป็นการเพิ่มรายได้เสริมให้แก่ชาวนาได้อย่างมากทีเดียว  การเพาะเห็ดฟางก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนมากมาย การลงทุนก็ไม่สูงเกิน ประกอบกับตลาดก็ไม่มีความเสี่ยงมาก ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากจะขอแนะนำให้พี่น้องชาวนาที่ว่างเว้นจากการทำนา นำเอาฟางข้าวที่เหลือมาเป็นวัตถุดิบเพาะเห็ดฟางเพื่อเพิ่มรายได้กันจะดีกว่า ประกอบกับระยะเวลาช่วงดังกล่าวนี้  ก็เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดฟางเป็นอย่างดี  เพราะเป็นช่วงที่ดอกเห็ดจะมีมากกว่าช่วงอื่น  นอกจากความเหมาะสมที่จะเพาะเห็ดฟางในช่วงนี้แล้ว ผู้เพาะเห็ดฟางอาจเก็บฟางข้าวไว้เพาะในรุ่นต่อ ๆ ไปได้อีกด้วย  นอกจากฟางข้าวแล้วคุณทวีได้แนะเคล็ดลับเพิ่มเติมว่า “ถ้าหากไม่มีฟางข้าวก็ให้ใช้ผักตบชวาหรือใบกล้วยหรือไส้นุ่นหรือฝ่ายหรือใบถั่วเขียวแทนก็ได้”

ท้ายสุดคุณทวีได้กล่าวเสริมอีกว่า “การเพาะเห็ดฟางยังมีอนาคตทีสดใส เกษตรกรอย่ารอช้าลังเลใจอยู่เลย หารายได้เพิ่มพูนด้วยการเพาะเห็ดฟางที่ทำง่ายราคาดีกันเถอะ”

ข้อคิดเห็นจากผู้เขียน

จากการที่ผู้เขียนได้พบเห็นมา ชาวบ้านแถบนี้ทำการอบเชื้อเห็ดโดยใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำแบบ 2 ถัง (200 ลิตร) แต่เตายังไม่ได้รับการพัฒนา  จึงทำให้มีการสูญเสียความร้อนมากและทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ และเกษตรกรบางคนยังลดต้นทุนการผลิตโดยใช้ยางรถยนต์มาเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิง  ซึ่งเป็นอันตรายแต่ก็ยังคงปฏิบัติอยู่ตลอดมา  ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการเผาในที่ซึ่งมีบริเวณกว้างขวางก็ตาม  แต่การเผายางรถยนต์นั้นจะเกิดอันตรายได้ง่ายมาก  โดยเฉพาะถ้าทำการเผาไหม้ในเตาที่ไม่มิดชิดเพียงพอ เพราะอาจเกิดการระเบิดของสารประกอบ stearic a ซึ่งระเบิดได้ในอุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส และ CO (ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์) SO2 (ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์) รวมทั้งเขม่าควันที่เป็นอันตรายอย่างมากต่อเกษตรกรผู้นำมาใช้อีกด้วย  จึงควรมีการสอดส่องดูแลในเรื่องนี้  โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่  เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายดังกล่าว  หากจำเป็นต้องใช้ยางรถยนต์เพื่อเป็นเชื้อเพลิง  ควรจัดสร้างเตาเผาให้มิดชิดเพื่อหลีกเลี่ยงเขม่าและควันที่จะมีอันตรายต่อตนเองด้วย