การเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทย

ที่มา:ศาสตราจารย์ระพี สาคริก

ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เป็นแหล่งกำเนิดธรรมชาติของกล้วยไม้ป่าที่กว้างขวางแหล่งหนึ่งของโลก เฉพาะประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ซึ่งอยู่ในเขตร้อนของภูมิภาคนี้ ตามเอกสารซึ่งเป็นผลจากการสำรวจในอดีต ก็ได้ปรากฏแล้วว่ามีกล้วยไม้อยู่ในป่าตามธรรมชาติ ไม่ตํ่ากว่า 1,000 ชนิด ทั้งประเภทที่พบขึ้นอยู่บนต้นไม้ บนพื้นผิวของหินภูเขา และบนพื้นดิน

สิ่งที่กล่าวมาแล้ว ได้สะท้อนข้อมูลทำให้สามารถเข้าใจว่า สภาพแวดล้อมธรรมชาติของประเทศไทยและประเทศ ต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันนั้น เอื้ออำนวย ให้แก่การเจริญงอกงามของกล้วยไม้เป็นอย่างมาก นอกจากดังได้กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า ภายในช่วง ระยะความผิดเพี้ยนของสภาพแวดล้อมทั่ว ๆ ไปนั้น แหล่งซึ่งมีสภาพฝนฟ้าอากาศที่เรียกกันว่าเขตร้อนมีกล้วยไม้ป่ามากชนิดกว่าในส่วนที่เป็นเขตอบอุ่นและเขตหนาว

ประวัติความเป็นมา

หากเราจะมองย้อนหลังกลับไปสู่อดีต ชาวบ้านในชนบทของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแหล่งที่เคยมีกล้วยไม้ป่าอุดมสมบูรณ์ ได้รู้จักนำกล้วยไม้ป่ามาเลี้ยงกันเป็นเวลาช้านานพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังเป็นการปลูกด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ กล่าวคือ นำกล้วยไม้มาปลูกไว้กับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้ๆ บ้านพักอาศัย ดังจะพบเห็นได้จากบ้านเก่า ๆ ในจังหวัดภาคเหนือของประเทศ นอกจากนั้น ประเพณีฟ้อนรำในช่วงฤดูร้อนของจังหวัดภาคเหนือ ก็ได้มีการใช้ดอกกล้วยไม้ป่า ซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่น ชนิดที่ออกดอกในฤดูนั้นๆ เช่นเอื้องผึ้ง เอื้องคำ ดอกสีเหลืองสด ประดับเรือนผมสตรีฟ้อนรำด้วย ต่อมาในระยะหลังปี พ.ศ.2500 มาแล้ว เราได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงกล้วยไม้กันอย่างจริงจัง ในฤดูฝน ก็ได้มีการนำเอาดอกกล้วยไม้ฟ้ามุ่ย สีม่วงอมสีฟ้า ประดับเรือนผมสาว ฟ้อนรำในฤดูฝนอีก

การเลี้ยงกล้วยไม้ด้วยวิธีการที่เน้น “การปลูกเลี้ยงกันอย่างจริงจัง” ได้เริ่มต้นขึ้นราง ๆ ในขณะที่กรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุยังไม่ถึง 100 ปี โดยมีผู้สนใจกล้วยไม้ชาวตะวันตกคนหนึ่ง เข้ามาทำงานธุรกิจอยู่ในประเทศไทย เห็นว่าสภาพแวดล้อมธรรมชาติของประเทศ มีความเหมาะสมแก่การเลี้ยง กล้วยไม้มาก จึงได้สร้างเรือนกล้วยไม้อย่างง่าย ๆ ขึ้น นำเอากล้วยไม้ป่าจากเขตร้อนของอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกล้วยไม้แหล่งใหญ่อีกแหล่งหนึ่งของโลก มีกล้วยไม้ซึ่งแตกต่างไปจากแหล่งเอเชียและแปซิฟิคเข้ามาเลี้ยง เช่น กล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ ในสกุลแคทลียา ออนซิเดี้ยม ซอมเบอร์เคีย และสกุลใกล้เคียงกับแคทลียาเป็นต้น โดยนำเอารูปแบบของการเลี้ยงเป็นงานอดิเรกมาถือปฎิบัติ

ในระยะนั้นเอง ก็มีเจ้านายในระดับสูงบางพระองค์ ตามด้วยบรรดาข้าราชการที่ใกล้ชิด ซึ่งกลุ่มผู้มีเงินในยุคนั้น ยังจำกัดอยู่ในวงแคบมากได้ให้ความสนใจเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรก ภายในกลุ่มก็เป็นบุคคลผู้ค่อนข้างสูงอายุ และมีเงินเพื่อการซื้อหากล้วยไม้มาบำรุงความสุขทางใจ เป็นการส่วนตัว ในมุมกลับการจำกัดกลุ่มไว้ด้วยบรรยากาศดังกล่าว ก็ได้สร้างค่านิยมที่สะท้อนผลทำให้เห็นว่าการเลี้ยงกล้วยไม้ เป็นสิ่งที่จำกัดตัวเองอยู่ในวงแคบและในวงของคนผู้สูงอายุและรํ่ารวย

ได้มีการส่งกล้วยไม้พันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยง อนึ่งเราต้องยอมรับว่า ในสมัยนั้น ค่านิยมในการยกย่องของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกลุ่มผู้มีเงินมีอำนาจมีมากเป็นพิเศษ ส่วนกล้วยไม้ชนิดที่มีกำเนิดในป่าของ ประเทศไทยเอง ก็จะเน้นหนักการแสวงหาและยกย่องพันธุ์ที่หายาก กับมีราคาแพง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ.2475 แล้ว สภาวการณ์การเลี้ยงกล้วยไม้ในสังคมไทย ก็ยังตกอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก แต่ผลงานที่เกี่ยวกับการผสมพันธุ์กล้วยไม้ในต่างประเทศ ได้เริ่มส่งอิทธิพลกระตุ้นให้คนไทยผู้เกี่ยวข้องกับกล้วยไม้ สนใจในกล้วยไม้ลูกผสมมากขึ้น จึงได้มีการส่งกล้วยไม้ลูกผสมมาจากประเทศในทวีปยุโรปบางประเทศ จากสวน พฤกษศาสตร์หลวงที่นครสิงคโปร์ และจากสวนพฤกษศาสตร์ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย เข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย

แม้ว่า ระยะหลังจากนั้นประมาณไม่กี่ปี กลุ่มคนรุ่นนั้น ได้มีการจัดตั้งสมาคมขึ้น แต่ประเด็นสำคัญก็คือฐานของทัศนคติและแนวความคิดได้ถูกปูไว้ด้วยรูปแบบเก่า ๆ เช่นเดียวกันกับทัศนคติและแนวความคิดทางด้านการศึกษา ทั่ว ๆ ไป อันเป็นพื้นฐานของบุคคลในวงการกล้วยไม้ด้วย กิจการกล้วยไม้ของไทยจึงได้ถูกจำกัดไว้ด้วยปัจจัยดังกล่าว ไม่อาจขยายตัวและเจริญก้าวหน้าได้ เพราะถูกจำกัดไว้ด้วยฐานความคิดที่แคบ และมองปัญหาต่าง ๆ อย่างเข้าข้างตนเอง ในมุมกลับนับเป็นสิ่งน่าประหลาดที่ในระยะนั้นคนไทย ทั่ว ๆ ไปแทบจะไม่ได้เคยเห็นดอกกล้วยไม้ จึงไม่ทราบว่ากล้วยไม้คือต้นไม้อะไร ทั้ง ๆ ที่ป่าเมืองไทยเองก็มีพันธุ์กล้วยไม้อยู่มากมาย

การเริ่มงานพัฒนากล้วยไม้อย่างมีแผนงานและโครงสร้าง

การพัฒนาการเลี้ยงกล้วยไม้อย่างจริงจัง ได้เริ่มขึ้นประมาณปี พ.ค.2495 จากลักษณะงานที่มีพื้นฐานแบบอิสระในรูปอาสาสมัคร การเริ่มจากพื้นฐานดังกล่าว จำเป็นต้องมีแนวคิดและวิธีการซึ่งเดินสวนทางกันกับทัศนคติและค่านิยมของสังคมไทยที่มีต่อกล้วยไม้ในยุคนั้น อันเป็นเหตุสำคัญขั้นพื้นฐานเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้วยไม้ถูกจำกัดอยู่แต่เพียงภายในกลุ่มบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ

ได้มีการวิจัยนับตั้งแต่การรวบรวมพันธุ์ ศึกษาพันธุ์ และคัดพันธุ์ผสมพันธุ์เพื่อการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้ ตลอดจนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคนิคในการปลูกปฎิบัติในระดับพื้นฐานขึ้นภายในสวนหลังบ้านส่วนตัวที่เลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรก

ต่อมาในปี พ.ศ.2497 จึงได้มีการเริ่มเปิดชั้นสอนและให้การฝึกอบรมการเลี้ยงกล้วยไม้แก่ประชาชนและนักศึกษาผู้สนใจในระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ พร้อมทั้งได้มีการสนับสนุนให้รวมกลุ่มผู้สนใจจากชั้นอบรม เพื่อการร่วมมือกันพัฒนาตนเองอย่างอิสระ และจัดตั้งเป็นชมรมกล้วยไม้ขึ้น ในปี พ.ศ.2498 ซึ่งต่อมาได้สถาปนาเป็นสมาคมกล้วยไม้ เมื่อปี พ.ศ.2500

ในปีที่ก่อตั้งสมาคมนั้นเอง ได้มีการนำเอาความรู้เรื่อง กล้วยไม้ รวมทั้งได้มีการแทรกแซงเอาแนวคิดในการพัฒนาวงการกล้วยไม้ไว้ภายในสาระความรู้ ออกเผยแพร่ทางรายการโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียงเป็นประจำ และมีการผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ด้วย เป็นผลทำให้วงการกล้วยไม้ของประเทศไทยขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ผลจากการส่งเสริมเผยแพร่ภายใต้แผนซึ่งได้กล่าวมาแล้ว ยังมีผลต่อไปถึงการจัดตั้งสมาคมและสโมสรเกี่ยวกับกล้วยไม้ขึ้นในภาคและจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศด้วย

ในปี พ.ศ.2501 ได้มีการเปิดการสอนวิชาการกล้วยไม้ ขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก เพื่อการผลิตนักวิชาการและพัฒนางานวิจัยกล้วยไม้ของประเทศ ในอีกประเด็นหนึ่งของการเริ่มต้นนี้ นับได้ว่า เป็นก้าวแรกของการที่ราชการไทยได้เข้ามามีส่วนยอมรับว่ากล้วยไม้จะไม่เป็นพืชที่ไร้สาระหรือเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับเศรษฐี หรือคนแก่เพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการเลี้ยงกล้วยไม้ในระยะนั้น ได้ส่งผลกระทบทำให้ประเทศไทยสั่งกล้วยไม้ลูกผสมจากต่างประเทศ เช่นจากฮาวายและสิงคโปร์มากยิ่งขึ้น จนกระทั่งต่อมาอีกระยะหนึ่ง รัฐบาลไต้เก็บภาษีการนำกล้วยไม้และพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เข้าประเทศ จึงทำให้ผู้ที่ได้รับความรู้ไปจากการส่งเสริมหันกลับมารวบรวมพันธุ์ ผสมและเพาะพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์ในประเทศ ทั้งที่เป็นพ่อแม่พันธุ์จากป่าและจากลูกผสมที่ได้สั่งเข้ามาแล้วในอดีต

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 เป็นต้นมา วงการกล้วยไม้ของไทยก็ได้เริ่มแผนในการขยายข่ายงานออกไปประสานกัน กับวงการกล้วยไม้สากล และยังได้สะท้อนเอาประสบการณ์กลับเข้ามาภายในประเทศ เพื่อการพัฒนาระบบและวิธีการ จัดการต่าง ๆ ภายในสังคมกล้วยไม้ เพื่อยกระดับมาตรฐานวงการกล้วยไม้ภายในประเทศให้ทัดเทียมและสามารถประสานกันได้เหมาะสมและคล่องตัวยิ่งขึ้น

เพียงชั่วระยะเวลาประมาณ 20 ปีของการเจริญเติบโต และขยายตัวอย่างรวดเร็วของวงการกล้วยไม้ของไทย  บนโครงสร้างที่ได้วางไว้อย่างกว้างและมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ได้ทำให้ประเทศไทยสามารถนำเอางานประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 9 มาจัดในประเทศไทยได้ ในปี พ.ศ.2521 เป็นการเจริญเติบโตซึ่งรวดเร็วกว่าสภาวการณ์เจริญเติบโตของสังคมไทย อันเป็นพื้นฐานรองรับวงการกล้วยไม้ วงการกล้วยไม้ไทย จึงได้รับผลสะท้อนดังกล่าว เนื่องจากบุคคล ในวงการกล้วยไม้จำนวนไม่น้อย เข้าไม่ถึงโครงสร้างการ พัฒนาวงการกล้วยไม้ที่ได้วางไว้ จึงขาดความเข้าใจและสนใจต่อการร่วมกันรับผิดชอบเพื่อรักษาและพัฒนาโครงสร้างให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยดี และปัญหาดังกล่าวนี้เอง ที่เป็นข้อจำกัดอย่างสำคัญส่วนหนึ่ง ทำให้การขยายตัวและการพัฒนาไม่อาจก้าวต่อไปได้ หากมองในมุมของการศึกษาพื้นฐาน ก็ได้เห็นภาพสะท้อนอย่างชัดเจนได้ว่า ปัญหาวงการกล้วยไม้ก็อยู่บนฐานเดียวกันกับปัญหาในการพัฒนาเรื่องอื่น ๆ

เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ที่จะต้องให้ความสนใจ และความรับผิดชอบต่อปัญหาการศึกษาของชาติอย่างปฏิเสธไม่ได้ มิฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าในกระบวนการพัฒนาเรื่องใดก็ตาม วิถีทางของการพัฒนาจะมาชนกำแพงอันเป็นสิ่งจำกัดดังกล่าว แล้วก็สะท้อนกลับไปสู่ความเสื่อมโทรมลงสู่ทางเก่า

กล้วยไม้ชนิดที่เลี้ยงกันในประเทศไทย

เรากล่าวกว้างๆได้ว่า เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ในมุมกลับก็กล่าวได้เช่นเดียวกันว่า การเลี้ยงกล้วยไม้ที่สอดคล้องกันกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ก็คือการเลี้ยงกล้วยไม้ประเภทซึ่งเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเมืองร้อน อนึ่ง ธรรมชาติของกล้วยไม้ทั่ว ๆ ไป ก็ขึ้นหนาแน่นอยู่ในเขตร้อนมากกว่าเขตอื่นอยู่แล้ว โอกาสดีในการเลี้ยงกล้วยไม้ของคนไทย ในทรรศนะที่เกี่ยวข้องกับความเหมาะสมต่อสภาพฝนฟ้าอากาศจึงมีมาก

ชนิดของกล้วยไม้ที่ปรากฎอยู่ในวงการกล้วยไม้ของไทยนั้น อาจจำแนกออกไปได้โดยอาศัยแหล่งกำเนิดพื้นฐานเป็นหลัก เป็นสองประเภทคือ

ประการแรกได้แก่ สกุลต่าง ที่มีแหล่งกำเนิดธรรมชาติ อยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เช่นสกุลหวาย (Dendrobium) สกุลฟาแลนน๊อพซิส (Phalaenopsis) และสกุลต่าง ๆ ภายในกลุ่มแวนด้า เช่น สกุลแวนด้า แอสโคเซ็นตรั้ม, หรือที่เรียกกันว่า สกุลเข็ม, สกุลแอริดีส หรือจำพวกเอื้องกุหลาบ, สกุลรินโคสไตลีส หรือสกุลช้าง, สกุลแวนด๊อพซิส หรือฉัตรทัน, สกุลอะแรคนิส หรือ กล้วยไม้แมลงปอ, สกุล เรแนนเธอร่า หรือกล้วยไม้แมลงปอแดง เป็นต้น (Vanda, Ascocentrum, Aerides, Rhynchostylis, Vandopsis, Arachnis, Renanthera)

อีกประเภทหนึ่ง ได้แก่กล้วยไม้ที่มีแหล่งกำเนิดในภูมิภาคลาตินอเมริกา อันเป็นเขตร้อน ซึ่งได้นำมาปลูกแพร่หลายอยู่ในประเทศไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ สกุลแคทลียา และสกุลใกล้เคียงทั้งหลาย นอกจากนั้นที่ได้ ปรากฎให้เห็นชัดเจนอีกสกุลหนึ่งได้แก่ สกุลออนซีเดี้ยม (Cattleya, Oncidium)

แนวทางในการเลี้ยงกล้วยไม้

ในบรรดากล้วยไม้เมืองร้อนทั้งหลายซึ่งสามารถเจริญงอกงามได้ดีในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติของภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย และภายใต้ประสบการณ์ของคนไทยนั้น ได้ทำให้เกิดแนวทางการเลี้ยงกล้วยไม้แตกต่างกันไปตามสภาวะแวดล้อมส่วนตัวของแต่ละคน อาจเป็นสภาวะแวดล้อม ในครอบครัว ทั้งในทางเศรษฐกิจ การงานอาชีพ และพื้นฐานการศึกษา รวมไปถึงผลกระทบจากสังคมภายนอกด้วย

บางคนอาจสนใจเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรก เพื่อการพักผ่อนจิตใจ พัฒนาบรรยากาศภายในบ้านให้มีความเป็นบ้านที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แม้ใช้เป็นต้นไม้ดอกสำหรับปลูกลงแปลงเพื่อประดับในบริเวณบ้าน เนื่องจากมีกล้วยไม้บางจำพวกที่สามารถปลูกกลางแจ้งได้ดีในสภาพแวดล้อมธรรมชาติของประเทศเรา เช่น แวนด้าโจคิม กล้วยไม้ลูกผสม ในสกุลอะแรคนิส เช่นแม๊กกีวี่ บางชนิดอาจใส่กระถางตั้งโต๊ะเตี้ย ๆ มีการบังร่มเงาให้เล็กน้อยในช่วงแดดจัดมาก ๆ เช่นแวนด้าลูกผสมประเภทใบร่อง รวมถึงลูกผสมข้ามสกุลด้วย ซึ่งในประเภทหลังนี้ ถ้าหากเป็นทำเลซึ่งมีภูมิอากาศสมํ่าเสมอ เช่นในบริเวณที่มีกระแสลมและความชื้นธรรมชาติ ถ่ายเทสะดวกตลอดเวลา และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมค่อนข้างสม่ำเสมอ ก็อาจไม่ต้องทำร่มเงาเสริมเลยก็ได้ กล้วยไม้ลูกผสมในสกุลหวายบางชนิด ก็อาจใช้วิธีปลูกเลี้ยงแบบดังกล่าวนี้ได้เช่นกัน การเลี้ยงกล้วยไม้ในสภาพดังกล่าวนี้ เราจะได้พบเห็นอย่างกว้างขวางในวงการกล้วยไม้ที่มลรัฐฮาวาย และในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีทำเล ใกล้ฝั่งทะเล ลมธรรมชาติหมุนเวียนถ่ายเทสมํ่าเสมอ ทำให้กล้วยไม้สามารถ ยืนได้ด้วยตัวเองท่ามกลางแสงแดดจัด และแสงแดดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต จึงปรากฏว่ามีความเจริญแข็งแรง สมบูรณ์ และให้ดอกดีมาก

การเลี้ยงกล้วยไม้ด้วยรูปแบบดังกล่าว ถ้าหากเป็นงานอดิเรกในบ้าน ก็นับได้ว่าเหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาอยู่กับกล้วยไม้ไม่มากนัก สามารถใช้ผู้ช่วยซึ่งไม่มีความรู้สูงช่วยดูแลได้ นอกจากนั้น ยังเป็นรูปแบบซึ่งใช้ผลิตดอก นอกจากประดับบ้านสวยงามแล้ว ก็อาจนำมาจัดในบ้านในเรือน หรือให้เป็นของขวัญได้อีก วิธีการเช่นนี้ใช้กันมากในวงการปลูกกล้วยไม้ตัดดอก ในประเทศร้อนทั้งหลาย

ผู้เลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกซึ่งมีเวลาและมีความ สนใจที่ละเอียด ลึกซึ้งลงไปอีกระดับหนึ่ง อาจนำไปสู่การเลี้ยงกล้วยไม้ประเภทที่มีความละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น มีลักษณะที่แปลกและน่าตื่นเต้น เช่นแวนด้า ใบแบน แคทลียา ฟาแลนน๊อพซิส หวายชนิดต่าง ๆ และอาจมีทั้งประเภทกล้วยไม้ป่าธรรมชาติ และลูกผสม ซึ่งก็มีทั้งผสมระหว่างชนิดต่าง ๆ ในสกุลเดียวกันและ ลูกผสมข้ามสกุล ซึ่งมีรูปแบบและสีสันแปลกกันออกไปอย่างกว้างขวาง อุปนิสัยในการเลี้ยงง่าย ให้ดอกง่าย ก็แตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตาม เรือนเลี้ยงกล้วยไม้ประเภทต่าง ๆ ดัง กล่าวมาแล้วนี้ หากเปรียบเทียบกันกับการเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศที่มีอากาศหนาวและปรวนแปรมาก ๆ เราก็ยังใช้ต้นทุนและการบำรุงรักษาที่ถูกกว่ากันมาก

การเลี้ยงกล้วยไม้เป็นการค้า เป็นสิ่งที่พัฒนาความเจริญของการเลี้ยงกล้วยไม้ทั่ว ๆไป แต่มิใช่เป็นสิ่งที่นำหน้า เพราะโดยหลักการแล้ว ถ้าหากวงการกล้วยไม้ทั่วๆไปอยู่ไม่ได้ การค้าขายหรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจก็อยู่ไม่ได้ กล้วยไม้เป็นพืชที่ใช้เป็นอาหารใจ ฐานของวงการกล้วยไม้จึงอยู่ที่จิตใจคน การเลี้ยงกล้วยไม้ทั่วๆไป อยู่บนฐานของการพัฒนาจริยธรรมเป็นหลัก ส่วนการค้าถือได้ว่าเป็นสิ่งตอบสนองความต้องการในด้านวัตถุด้านเดียว แต่ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องรู้ถึงฐานอันแท้จริง และให้ความสำคัญแก่ฐานนั้นด้วยความรับผิดชอบอย่างสำคัญ กิจกรรมประเภทที่ส่งผลหลักต่อการพัฒนาจริยธรรมในสังคมนี้ ถ้าหากนโยบาย และวิธีปฎิบัติถูกนำไปเน้นทางด้านเศรษฐกิจเป็นฐานหลักแล้ว กิจกรรมนั้นก็จะมุ่งไปบนวิถีทางซึ่งทำลายตัวเอง ด้วย ตัวของมันเองในที่สุด

วงการกล้วยไม้ของไทย จะมุ่งวิถีในการพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง หรือมุ่งไปสู่ความวิบัติ ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานคือ จิตมนุษย์ผู้มี ส่วนสัมพันธุ์เกี่ยวข้องทั้งหลาย สามารถรู้ซึ้งและเข้าถึงคุณค่าอ้นแท้จริงของชีวิตกล้วยไม้ และสามารถ ใช้สิ่งดังกล่าวนี้เป็นฐานการพัฒนาได้เพียงใด หรือไม่

การทำสวนกล้วยไม้ตัดดอกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในสังคมไทย ได้เริ่มต้นเมื่อประมาณปี พ.ค.2509 ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มส่งดอกกล้วยไม้อันเป็นผลิตผลจากสวนไปสู่ตลาดบางประเทศในยุโรปตะวันตก รูปแบบการผลิด กล้วยไม้ตัดดอก มีลักษณะแตกต่างไปจากการเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกมากพอสมควร เพราะชาวสวนถือหลักซึ่งเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เป็นพื้นฐานในการพิจารณาประเด็นปัญหาต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบของการผลิตไปจนถึง การตลาด แทนการเน้นตัวแกนนำที่ความเพลิดเพลินและจริยธรรมในด้านผู้เลี้ยงอย่างนักสมัครเล่น

ในระยะแรก ๆ ของการพัฒนา เราได้ส่งดอกกล้วยไม้ไปสู่ตลาดเยอรมันตะวันตก ฮอลแลนด์ อิตาลี และกลุ่มประเทศหนาวเหนือ ต่อมาในระยะหลัง ๆ นี้ จึงได้มีการขยายตลาดไปสู่ประเทศญี่ปุ่น จนถึงแคนาดา และบางส่วนของ สหรัฐอเมริกา

ในช่วงระยะประมาณ 5 ปีแรกของการพัฒนาการ ผลิตกล้วยไม้ตัดดอกของไทยนั้น เราได้ใช้หวายลูกผสม ซึ่งมีชื่อจดทะเบียนไว้กับสากลเป็นทางการว่า “หวาย ปอมปาดัวร์” ซึ่งพ่อแม่พันธุ์มีแหล่งกำเนิดในตอนเหนือของประเทศ ออสเตรเลีย แต่ได้ถูกนำไปผสมพันธุ์ในประเทศฝรั่งเศส และถูกคนรุ่นก่อน ๆ สั่งเข้ามาเลี้ยงเป็นงานอดิเรกในประเทศไทย การพัฒนาวงการกล้วยไม้ใทยได้ส่งผลกระทบทำให้กล้วยไม้ลูกผสมชนิดนี้ ได้ถูกหมุนเข้ามาสู่วงการกล้วยไม้ ตัดดอกเป็นปฐมฤกษ์โดยบังเอิญ ซึ่งต่อมาวงการกล้วยไม้ได้เรียกชื่อเพี้ยนไปจากชื่อจริงว่า “มาดาม”

หลังจากนั้น วิชาการทางด้านพันธุศาสตร์ ได้เข้ามามีบทบาทรองรับการพัฒนาพันธ์กล้วยไม้ตัดดอกอย่างมีแผนรองรับ ได้มีการพัฒนาบุคลากรในสาขาพันธุศาสตร์ และงานวิจัยที่เกี่ยวกับการผสมพันธุ์กล้วยไม้ซึ่งมุ่งเน้นไปสู่ ประโยชน์ในด้านการใช้ตัดดอก และได้มีการพัฒนาความหลากหลายด้วยรูปแบบของพันธุ์ไม้ตัดดอก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเปีดการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศให้กว้างออกไปอีก

ปัจจุบันนี้ บรรยากาศของราชการที่เคยหันหลังทัศนคติให้แก่กล้วยไม้ ได้ค่อย ๆ หันกลับเข้ามาเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น แต่ยังเน้นหนักอยู่เพียงส่วนผิวของการพัฒนา คือเน้นนโยบายเพียงการค้าขายเป็นสำคัญ แม้แต่กิจกรรมอาเซียนซึ่งเป็นทางการนั้น ส่วนที่เป็นทางการจริง ๆ โดยมีอาเซียนเป็นเงื่อนไขนั้น ก็เน้นธุรกิจการค้ากล้วยไม้อย่างเด่นชัด

ปัจจุบันนี้ มูลค่าการส่งสินค้าดอกกล้วยไม้ออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ จากไม่มีอะไรเลยเมื่อปี พ.ศ.2516 มาถึง กว่า 500 ล้านบาทในขณะนี้ แม้จะมีการลดการเพิ่มบ้าง ในระยะหลังๆ แต่ก็ถือว่าเป็นการทรงตัว การจะขยายพลัง และขอบเขตออกไปอีกได้นั้น ขึ้นอยู่กับปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย ที่รองรับกระบวนการผลิตกล้วยไม้เป็นสำคัญ ส่วนปัญหาในวงการกล้วยไม้เอง เป็นส่วนปลีกย่อยกว่า

อย่างไรก็ตาม การใช้ดอกกล้วยไม้ในประเทศก็ได้ขยายตัวกว้างขวางมาแล้วเช่นกัน หวายปอมปาดัวร์ซึ่งเคยเป็นพันธุ์ไม้ชั้นนำในการผลิตและส่งออก ได้หมุนเวียนลงมาถึงคนเดินถนน ในประเพณีไทยต่าง ๆ แม้แต่เข้าวัดวาอาราม ความหลากหลายของพันธุ์ใหม่ ๆ จากการพัฒนาโดยชาวสวนเอง ได้เกิดขึ้นมาแทนที่และออกสู่ตลาดต่างประเทศ เป็นตัวตายตัวแทน บนหลักสัจธรรม ซึ่งถ้าหากใครมองแต่เพียงสิ่งใกล้ตัว คือแถวข้างๆ ถนนก็จะได้เห็นภาพผลการพัฒนาเพียงซีกเดียว ซึ่งไม่ใช่ภาพแท้จริงอย่างรวม ๆ

หลักในการเลี้ยงกล้วยไม้ทั่วไป

ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า บรรยากาศธรรมชาติของประเทศไทยนั้น เอื้ออำนวยให้สามารถเลี้ยงกล้วยไม้ได้ง่าย ด้วยต้นทุนตํ่า แม้เพียงแรงงานซึ่งว่างอยู่ในครอบครัวแต่ละครอบครัวก็สามารถกระทำได้ในสวนขนาดย่อม ๆ และยังสามารถสร้างบรรยากาศที่เป็นหลักให้แก่การยึดถือทางจิตใจได้อย่างดี

ฤดูกาลในการปลูกกล้วยไม้

นับได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง ปกติโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ฤดูที่เรียกได้ว่าเป็นฤดูปลูก จะเริ่มต้นประมาณเดือน มีนาคม เมษายน ไปสิ้นสุดเอาประมาณเดือนกันยายน ในช่วงระยะต้นๆ ของฤดูกาลดังกล่าว ถ้าหากเราทำการปลูก การตัดแยกขยายพันธุ์ หรือเปลี่ยนเครื่องปลูก เปลี่ยนภาชนะปลูก ตามสภาพซึ่งควรกระทำ จะพบได้ว่าหลังจากการปลูกใหม่ไม่นาน รากกล้วยไม้จะเจริญออกมาสู่เครื่องปลูกและต้นกล้วยไม้จะตั้งตัวรวดเร็ว

การปลูกล่าช้าเพียงใด ก็ยิ่งลดเวลาในการเจริญและตั้งตัวของกล้วยไม้ให้สั้นลง เนื่องจากหลังเดือนกันยายนไปแล้ว ฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลงเด่นชัด ช่วงแสงต่อวันก็จะสั้นลงมาก การเจริญเติบโตเริ่มอ่อนกำลังลงเป็นลำดับ ถ้าหาก เป็นกล้วยไม้พันธืซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ก็อาจหยุดพักการเจริญเติบโตของส่วนต่าง ๆ นับตั้งแต่รากไปจนถึงส่วนยอดอ่อนเอาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกุลหวาย ซึ่งมีวงจรของการเจริญงอกงามและออกดอกสอดคล้องกันกับวงจรของฤดูกาลอย่างชัดเจน นอกจากนั้นแล้ว โดยหลักทั่ว ๆไป กล้วยไม้ป่ามีนิสัยไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมธรรมชาติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลมากกว่ากล้วยไม้ลูกผสมซึ่งปรับตัวเข้ามาสู่ความเหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงดูในบ้านหรือในสวนมากยิ่งขึ้น

เรือนเลี้ยงกล้วยไม้ ในสภาพแวดล้อมของเมืองร้อน เช่นประเทศไทยนี้ ซึ่งเหมาะสมแก่การเลี้ยงกล้วยไม้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ที่เหมาะสมกับอากาศร้อน ชุ่มชื้น และ มีแสงแดดมากก็มีอยู่มากมายหลายรูปแบบ ผู้สนใจเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทยจึงไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการสร้างและบำรุงรักษาเรือนกล้วยไม้แบบเรือนกระจกซึ่งมีราคาแพงมาก และเป็นส่วนการลงทุนที่สูงมากส่วนหนึ่งในกระบวนการเลี้ยงกล้วยไม้

การพิจารณาประเด็นของเรือนกล้วยไม้ในสภาวะแวดล้อมเช่นนี้ เราอาจคิดได้สองทิศทางร่วมกันคือ แสวงหาพันธุ์กล้วยไม้ที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ดีโดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงเรือนประการหนึ่ง หรือในมุมกลับ แสวงหาทำเลธรรมชาติสำหรับปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ที่มีกระแสลม แสงแดด และสภาพแวดล้อมอื่นๆ เหมาะสมโดยไม่ต้องสร้างเรือนกล้วยไม้ หรือถ้าจะต้องสร้างเสริมเพื่อหวังผลดียิ่งขึ้น ก็ไม่ต้องลงทุนมากนัก หากพิจารณาทั้งสองทิศทาง โดยรอบคอบแล้ว ยังคงจำเป็นต้องสร้างเรือนกล้วยไม้ ก็จะ สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการสร้างเรือนได้มากพอสมควร

ในอดีต สมัยที่ป่าไม่ในประเทศยังสมบูรณ์พอสมควร ไม้แปรรูปยังมีราคาไม่สูงนัก เราได้ใช้ไม้ระแนงเป็นวัสดุ ตีหลังคา และฝาเรือนกล้วยไม้ถ้าหากมีความจำเป็น การตีระแนงหลังคา วางทิศทางของไม้ระแนงยาวไปตามทิศเหนือ ทิศใต้ เพื่อว่าเงาไม้ระแนงและแสงแดดที่ผ่านร่องระหว่างไม้ระแนงเข้าไปสู่กล้วยไม้จะเคลื่อนตัวช้า ๆ สืบเนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์อันเป็นแหล่งแสงแดด ทำให้ทุกส่วนของผิวใบกล้วยไม่ได้รับแสงแดดทั่วถึง แต่สลับเวลากัน อันเป็นการระบายความร้อนซึ่งอาจสะสมอยู่ที่ใบ

ช่องระหว่างไม้ระแนง ไม่ควรตีเว้นระยะถี่นัก เพราะกล้วยไม้ต้องการแสงแดดเช่นเดียวกันกับพืชสีเขียวทั่วไป เพื่อการเจริญแข็งแรง สมบูรณ์ ต้านทานโรคได้ดี และให้ดอกตามความเหมาะสม แต่การที่จะโยกย้ายต้นกล้วยไม้ซึ่งเคยอยู่ในเรือนค่อนข้างร่ม ให้ได้รับแสงแดดจัดยิ่งขึ้นนั้น ต้องค่อยทำค่อยไป เพื่อให้โอกาสกล้วยไม้ได้มีเวลาปรับตัวเอง มิฉะนั้นแล้วอาจทำให้ผิวใบไหม้หรือสุกได้ง่าย

ในระยะหลัง ๆ นี้ ป่าไม้อันเป็นแหล่งกำเนิดของไม้แปรรูปมีปัญหามากขึ้น ประกอบกับอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุเพื่อทดแทนไม้ ได้เจริญก้าวหน้า จึงมีการผลิตตาข่ายไนล่อน ซึ่งเรามักเรียกกันว่า “ซาแรน” เพื่อใช้มุงหลังคา บังร่มให้แก่ต้นไม้นับตั้งแต่กล้วยไม้ต้นไม้อื่นๆ ในสวนตาข่ายไนลอนนี้ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ดีกว่าไม้ปรกติ เพราะทนได้ร่วม 10 ปี นอกจากนั้น ยังมีนํ้าหนักเบา ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายในการสร้างโครงรองรับลงไป ได้มาก นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถเลือกใช้ชนิดที่มีช่องห่างของตาข่ายขนาดต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสมด้วย อนึ่ง วัสดุนี้หากฤดูกาลใดไม่จำเป็นต้องใช้ ก็สามารถม้วนเก็บได้

ในประเทศไทย นอกจากสวนกล้วยไม้ ยังมีสวนไม้ผล สวนผักที่ต้องการความละเอียดประณีต และงานอื่นๆ ซึ่งสามารถใช้วัสดุดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาก็คือ รัฐยังไม่ยอมที่จะตีคุณสมบัติว่าเป็นวัสดุเพื่อส่งเสริมการผลิตการเกษตร แต่ยังคงตีเป็นพลาสติก ทำให้อากรขาเข้าสูงมาก ชาวสวนยังคงใช้ไม้แปรรูปราคาแพงกันอยู่ อันเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้มีการตัดไม้ทำลายป่า

การปลูกกล้วยไม้ หรือสร้างโรงเรือนกล้วยไม้ไว้ใกล้บ้าน อาคารสิ่งก่อสร้าง หรือต้นไม้ใหญ่ที่บังร่มเงา กล้วยไม้จากแสงแดดธรรมชาติ เป็นสิ่งควรงดเว้น เพราะกล้วยไม้เป็นต้นไม้ที่ต้องการแสงแดดตลอดทั้งวัน เช่นเดียว กับพืชสีเขียวทั่วๆไป การที่มีสิ่งก่อสร้างหรือต้นไม้บังร่ม ทำให้จำนวนชั่วโมงที่ได้รับแสงต่อวันของกล้วยไม้ลดลง จะทำให้เกิดการอ่อนแอ ขาดความต้านทานโรคภัยทั้งหลาย และให้ดอกลดน้อยลง หรือไม่ให้เลยก็ได้

บางคนอาจสงสัยว่า ต้นกล้วยไม้ที่อยู่ตามต้นไม่ในป่านั้น ก็มีร่มเงาจากต้นไม้ ประเด็นนี้ มีคำอธิบายในรายละเอียดต่อไปอีกว่า ต้นไม้ที่มีกล้วยไม้ขึ้นอยู่ตามธรรมชาตินั้น มีสภาพที่ไม่ร่ม แต่มีกิ่งก้านสาขาที่โปร่งและแสงแดดลงได้อย่างเต็มที่ ยิ่งในฤดูผลัดใบด้วยแล้ว ต้นไม้พี่เลี้ยงจะทิ้งใบเกือบหมด ปล่อยให้กล้วยไม้ที่อยู่ตามกิ่งก้านสาขาตากแดดเต็มที่ แต่นั่นเป็นกล้วยไม้ป่าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ หากเป็นกล้วยไม้เลี้ยงตามบ้าน เราคงไม่ทารุณถึงขนาดนั้น และกล้วยไม้ลูกผสมที่เลี้ยงตามบ้านก็ไม่สามารถทนทานสภาวะเช่นนั้นได้ดีด้วย

อนึ่ง มีผู้สนใจกล้วยไม้สมัครเล่นบางราย นิยมปลูกกล้วยไม้ไว้ตามต้นไม้ในบริเวณบ้าน เพื่อความสวยงามแบบธรรมชาติ ในประเด็นนี้ ขอแนะนำว่าควรเลือกต้นไม้ที่ไม่มีใบหนาทึบประการหนึ่ง กิ่งก้านสาขากระจายและโปร่งเพื่อให้แสงแดดส่องลงได้สมํ่าเสมอพอสมควร ผิวต้นไม้ไม่ควร เลี่ยนหรือเป็นมัน แต่ควรมีลักษณะที่รากจะสามารถเกาะยืดได้ดีพอสมควรและอุ้มความชื้นไว้ที่ผิวได้พอเหมาะด้วย หากเป็นต้นไม้ที่มีพุ่มใบค่อนข้างทึบ อาจแก้ปัญหาด้วยการนำกล้วยไม่ไปเกาะในระดับค่อนข้างตํ่า เพื่อให้ได้รับแสงแดดเช้า และบ่าย ซึ่งส่องเฉียงเข้ามาได้มาก

อนึ่งต้องไม่ลืมว่า ฤดูปลูกเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่ง ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น หากปลูกผิดฤดูไปมากจนทำให้กล้วยไม้ไม่อาจรอดชีวิตอยู่ได้ในปีต่อไป แล้วด่วนเข้าใจเอาเองว่า กล้วยไม้ชนิดนั้นเลี้ยงไม่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ เป็นอยู่ ก็เป็นความเข้าใจผิดอย่างน่าเสียดายที่สุด การปลูกต้นกล้วยไม้กับต้นไม้ ควรหากิ่งซึ่งอยู่ในลักษณะเอนมากกว่ากิ่งที่ตั้งตรงขึ้นไป และยิ่งนำต้นกล้วยไม่ไปแปะติดกับกิ่ง โดยการให้ยอดกล้วยไม้แนบชิดกับกิ่งด้วยแล้ว น้ำฝนตามธรรมชาติที่ไหลลงมาตามกิ่งอาจทำให้ยอดกล้วยไม้นั้นเน่าได้ในที่สุด ควรสังเกตระบบรากของกล้วยไม้ที่ประสานกันเป็นแผ่น และนำแผ่นของระบบรากนี้แนบติดกับผิวกิ่งต้นไม้ แล้วมัดให้แน่นด้วยเชือกที่มีความทนทานสูง รากควรจะเกาะยึดกิ่งของต้นไม้ก่อนที่เชือกนั้นจะขาดหรือผุเปื่อย ไม่จำเป็นต้องนำเอาวัสดุซับความชื้นใด ๆ เช่นกาบมะพร้าวไปมัดหุ้มกล้วยไม้ เพราะนอกจากไม่ช่วยอะไรแล้ว หากรากเกาะกาบมะพร้าวแทนเกาะกิ่งไม้ เมื่อเชือกเปื่อยและขาดทั้งกล้วยไม้และกาบมะพร้าวก็จะกอดกันหลุดตกลงมาสู่ พื้นดินในที่สุด

กล้วยไม้ป่า มีความเหมาะสมต่อการปลูกด้วยวิธีเกาะติดกับต้นไม้ ได้ดีกว่ากล้วยไม้ลูกผสม เพราะเหตุว่าพื้นฐานความต้องการและความเหมาะสมต่อสภาพดังกล่าวของกล้วยไม้ป่ามีสูงกว่ากล้วยไม้ลูกผสม กล้วยไม้จำพวก เอื้องกุหลาบ และชนิดต่าง ๆ ในสกุลช้าง เป็นกล้วยไม้กลุ่มหนึ่งซึ่งปลูกเกาะกับต้นไม้ได้ดีมากในสภาพแวดล้อมภายในบริเวณบ้านอยู่อาศัย กล้วยไม้เขาแกะ เป็นชนิดหนึ่งในสกุล เดียวกันกับช้าง แต่ช่อดอกตั้ง ดอกสีขาว ปลายกลีบและปากมีสีม่วงอมสีฟ้าคราม หากต้นมีขนาดใหญ่หรือมีกอโตพอสมควรสามารถให้ดอกได้หลายช่อ กล้วยไม้ชนิดนี้เลี้ยงง่าย เกาะตามกิ่งไม่ได้ดีมาก โดยการนำไปเกาะไว้ตามกิ่งที่อยู่ในลักษณะทอดกิ่ง และปลูกกล้วยไม้ให้ยอดตั้งขึ้นมาจากกิ่งไม้ มัดรากให้แน่นติดกับกิ่ง ชอบสภาพค่อนข้างแห้งมากกว่าชื้นหรือเปียกแฉะ

การดูแลรักษากล้วยไม้ไนสภาพทั่ว ๆ ไป

ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่เป็นเขตร้อนเช่นประเทศไทย นํ้าฝนธรรมชาติถือได้ว่าเป็นนํ้าที่มีคุณภาพดีที่สุด บ้านที่เลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกหลายบ้าน มีโอ่งเก็บนํ้าฝนไว้สำหรับใช้รดกล้วยไม้ ยิ่งเป็นลูกกล้วยไม้เล็ก ๆ ด้วยแล้ว หากได้มีความประณีตในเรื่องคุณภาพของนํ้า จะทำให้กล้วยไม้สมบูรณ์และเติบโตเร็ว

สำหรับนํ้าประปานั้นโดยทั้ว ๆไป นับว่าพอใช้ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีและทำเลพื้นที่ซึ่งเป็นที่มาของแหล่งนํ้านั้น หากนํ้าประปามาจากนํ้าบาดาล บ่อบาดาลใหม่ ๆ อาจ มีเกลือธรรมชาติ ซึ่งมีผลทำให้คุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมี ของนํ้า แปรสภาวะและคุณสมบัติไปจนเป็นปัญหาแก่การเจริญเติบโตของกล้วยไม้ได้ หากเห็นกล้วยไม้แสดงอาการผิดปกติ ควรนำนํ้าไปตรวจสอบคุณภาพ และถ้าพบว่าเกิดความไม่เหมาะสม หากไม่รุนแรงมากนักก็มีทางแก้ไขปรับปรุงได้ เช่นการใส่กรด หรือใส่ด่างลงไปช่วยปรุงแต่งความเป็นกรดของนํ้าได้ โดยใส่นํ้าลงในโอ่งพักนํ้าเสียก่อน บางกรณีแม้แต่ไขนํ้าใส่โอ่งทิ้งไว้ 3 หรือ 4 วัน ก็แก้ปัญหาได้เล็กน้อย ในสวนปลูกกล้วยไม้ตัดดอกที่ทำเป็นอุตสาหกรรมจำนวนมาก ใช้นํ้าจากคลองชลประทาน ชาวสวนใช้ถังพักนํ้า และภายในถังก็มีระบบกรองนํ้าอย่างง่าย ๆ เช่น ใส่กรวดขนาดต่าง ๆ และถ่านไม้ขนาดต่าง ๆ ไว้เป็นชั้น ๆ เพื่อให้นํ้าไหลผ่าน

ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติและวิธีการเลี้ยงกล้วยไม้ของเมืองไทยนั้น เป็นที่ยอมรับถันว่า การให้นํ้าที่ถือเป็นหลักนั้น กระทำในตอนเช้าของวันเป็นประจำ โดยรดนํ้าให้เครื่องปลูกซับไว้จนชุ่มทั้วถึงกัน วันใด หรือวันใกล้เคียงที่มีฝนตก หากสภาพในบริเวณยังชุ่มชื้นอยู่ ก็อาจผ่อนหรืองดการให้นํ้า แต่ในช่วงฤดูแล้งจัด หากเครื่องปลูกและบริเวณโดยรอบแห้งแล้งมาก ก็อาจให้นํ้าเสริมในช่วงบ่าย ๆ มากหรือเย็นคํ่าได้อีก ผู้เลี้ยงกล้วยไม่จึงควรใช้การสังเกตและศิลปของแต่ละคน การรดนํ้าจนแฉะประกอบกับสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาคํ่าคืน ไม่อาจทำให้นํ้าระเหยไปได้เร็วพอสมควร จะทำให้กล้วยไม้เน่าได้ง่าย

การให้ปุ๋ยแก่กล้วยไม้ กระทำได้เป็นครั้งคราว โดยปกติ เท่าที่ได้ถือปฎิบัติกันมาแล้ว กระทำประมาณสัปดาห์ละครั้ง โดยการละลายปุ๋ยลงในนํ้าที่ใช้รดกล้วยไม้ในช่วงเช้าของวัน ปุ๋ยการค้า ชื่ออะไรก็ใช้ใด้ ถ้าหากเป็นปุ๋ยที่มี อัตราส่วนและจำนวนธาตุอาหารหลักครบ คือ มีไนโตรเจน ฟอสเฟตและปอแตชและอาจมีเกลือแร่เสริมอื่นๆอีก ถ้าหากเป็นลูกกล้วยไม้ขนาดเล็ก อาจให้ปุ๋ยซึ่งมีอัตราส่วนธาตุไนโตรเจนสูงกว่าอีกสองธาตุเล็กน้อย แต่การให้ปุ๋ยที่เน้นธาตุไนโตรเจนมาก จะทำให้ต้นไม้อ่อนแอในด้านของโครงสร้าง ทำให้มีแรงต้านทานโรคตํ่า แต่ใบจะมีสีเขียวสดใสมากผิดปกติ

ผู้ปลูกกล้วยไม้ควรจะใช้ความรัก ความสนใจ แล ศิลปในตัวเอง เพื่อการปรับปรุงอัตราส่วนระหว่างแสงแดด นํ้า และปุ๋ย ให้สอดคล้องกัน เพื่อการหวังผลดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ หากใครคนใดสนใจถึงขั้นผสมกล้วยไม้เพื่อหวัง พันธุ์ใหม่ ๆ แปลก ๆ ตามจินตนาการของแต่ละคน ก็กระทำได้ เพราะในปัจจุบันนี้ความรู้ในเรื่องการผสมกล้วยไม้ ไม่ใช่สิ่งที่ปิดบังหวงแหนกันเช่นในสมัยก่อน แม้การเพาะเมล็ดกล้วยไม้ก็เช่นกัน ใครที่มีกล้วยไม้ไม่มากนัก การตั้งห้องปฎิบัติการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ด้วยตนเอง เป็นการลงทุนสูง หากทำงานไม่กี่วันต่อปีก็คงไม่คุ้มค่า แต่ก็มีผู้ที่รับจ้างเพาะเมล็ดโดยคิดค่าบริการถูกมาก เนื่องจากวงการกล้วยไม้ของไทยได้เจริญพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นกระบวนการ มีการจัดการที่ประสานกันเองมาตลอด

แนวความคิดในการส่งเสริมเรื่องกล้วยไม้ของประเทศไทย

การส่งเสริมการเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทยนั้น ได้เริ่มอย่างจริงจัง โดยมีแนวคิดพื้นฐาน มีนโยบาย และมีการจัดโครงสร้างให้สอดคล้องกับแนวคิดอย่างจริงจัง และมีการพัฒนาทางวิชาการ ตลอดจนการใช้สิ่งที่เป็นทรัพยากร ธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์ได้นั้น ได้เริ่มต้นมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2495 แต่ประเทศไทยก็ได้ก้าวขึ้นมาถึงระดับที่สามารถรับเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมกล้วยไม้โลกได้ในปี พ.ศ.2521 และสามารถผลิตกล้วยไม้การค้า ป้อนสู่ตลาดในชีวิตประจำวัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเป็นลํ่าเป็นสัน ในปริมาณที่เหมาะสมตามเหตุและผล ในปัจจุบันนี้จึงใคร่จะขอนำเอาแนวความคิดอันถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้เกิดแผนงานในรูปแบบที่สะท้อนผลดังกล่าวมากล่าวไว้เพื่อเป็นการศึกษาแก่งานพัฒนาในสิ่งอื่น ๆ ด้วย

งานวิจัยและส่งเสริมเรื่องกล้วยไม้ที่มีแผนงานในรูปแบบ ซึ่งเรียกได้ว่า จากพื้นฐานสังคม หรือจากประชาชนทั่วไป โดยที่ทางการในขณะนั้น มองในมุมตรงข้ามว่าเป็นสิ่งไร้สาระ จนได้ก้าวเข้ามาทำให้ทางการยอมรับและเกี่ยวข้องมากขึ้นในปัจจุบันนี้ ได้ทำให้วงการกล้วยไม้มีความมั่นคง ลึกซึ้งพอสมควรเท่าที่สภาวการณ์ทั่ว ๆ ไปในสังคมไทย อันถือเป็นพื้นฐานใหญ่รองรับวงการกล้วยไม้ด้วย จะอำนวยให้ใด้

หากมองย้อนหลังกลับไปสู่อดีต งานส่งเสริมและพัฒนากล้วยไม้ของเมืองไทย มีแนวคิดที่ทำให้เกิดรูปแบบของการพัฒนา ซึ่งไม่เหมือนงานส่งเสริมและพัฒนาพืชผลอื่นๆ คือ

ประเด็นแรกเป็นงานที่ได้จับจุดเริ่มต้นที่ประชาชนทั่วไป มีความหลากหลายด้วยรูปแบบของชีวิตและแนวความคิดบนฐานของสังคมไทย แต่กล้วยไม้ก็ยังคงเป็นพืชซึ่งสะท้อนภาพที่เน้นอยู่กับคนในเมือง ที่มีระดับการศึกษา และฐานะสูงกว่าชาวนา ในสภาวะความยากจนจริง ๆ แต่จุดเริ่มงานก็มิได้อยู่ในรั้วของราชการหรือนำเอารั้วราชการมาเป็นฐานของงาน

ประเด็นที่สอง แนวคิดในการพัฒนากล้วยไม้ มิได้ใช้กล้วยไม้ หรือวิชาการเกี่ยวกับกล้วยไม้เป็นแกนนำ หากใช้หลักปรัชญาที่เน้นการจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษน์ เป็นแกนนำ แสวงหารูปแบบที่สนับสนุนความเป็นตัวของตัวเองที่ประชาชน แล้วจึงได้นำความรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้ใส่ลงไปภายในโครงสร้างและส่วนที่เป็นเครื่องมือกระทำการ

อย่างไรก็ตามพื้นฐานการศึกษาอันก่อให้เกิดปัญหา ต่างๆขึ้นในสังคมไทยในยุคหลังๆ นี้นั้น วงการกล้วยไม้ ก็มีส่วนได้รับด้วยเช่นกัน เพราะวงการกล้วยไม้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ภายในวงการกล้วยไม่ได้สะท้อนบทเรียนทางด้านการศึกษาให้อย่างกว้างขวาง แม้ว่าจะเริ่มจากฐานซึ่งมีแนวคิดมุ่งสู่ความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อพัฒนาตนเอง แต่สิ่งที่ปรากฎให้เห็นด้วยภาพสะท้อน ก็ยังไม่ทำให้สามารถวินิจฉัยได้ว่ามีผลลงถึงพื้นฐานอันแท้จริง ยิ่งกว่านั้นยังสะท้อนต่อไปถึงปัญหาการศึกษาของไทยโดยทั่วๆไปอีกว่า หากยังคงอยู่ในสภาวการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าจะพัฒนาในเรื่องใด ๆ ก็ตามก็คงจะประสบกับปัญหารูปแบบเดียวกัน ยิ่งเป็นโครงการที่เกิดจากด้านบนลงมา ซึ่งเราจะได้พบเห็นกันอยู่ทั่ว ๆ ไปด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อาจกล่าวได้ว่าหากพิจารณาในระยะยาว น่าจะมุ่งไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

กล้วยไม้เป็นต้นไม้ดอกที่ให้ดอกสวยงาม ให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ หากได้สัมผัสนานวันยิ่งขึ้น และสัมผัสด้วยความมีสติ รู้ตนเอง ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาจิตใจ ให้มุ่งสู่ความซึ้งในด้านศีลธรรมได้ เช่นเดียวกันกับสิ่ง ธรรมชาติอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพการณ์เดียวกัน ใครรู้คุณค่าอันแท้จริงของสิ่งเหล่านี้ได้ลึกซึ้งเพียงใด ย่อมได้รับสิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตได้เพียงนั้น

ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่นอกกายแต่ละคน ความมีคุณค่าอันแท้จริงของสิ่งนั้น ๆ จะสามารถเห็นได้ก็ด้วยตนเองเท่านั้น การหวังพึ่งผู้อื่นมาช่วยชี้หรือมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นก็โทษผู้อื่น เป็นสิ่งทำลายคุณค่าตนเอง