การเสียบกิ่งให้มะม่วงออกดอกนอกฤดู

การชักนำให้มะม่วงออกดอกนอกฤดูโดยการเสียบกิ่ง (Induction of Off-season Flowering in Mango by Grafting)

มะม่วงเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศ  ปัจจุบันมีการส่งผลมะม่วงสดออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศทั้งในทวีปเอเชียและยุโรปคิดเป็นมูลค่าปีละหลายสิบล้านบาท ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น  ในการปลูกมะม่วงเพื่อการค้านั้นเกษตรกรมักประสบกับปัญหาต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากผลผลิตในฤดูกาลปกติ (ช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม) มีปริมาณมากและออกสู่ตลาดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน  จึงทำให้จำหน่ายได้ในราคาต่ำ แนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ การผลิตมะม่วงให้สามารถเก็บเกี่ยวนอกฤดูกาล  ในปัจจุบันทำได้หลายวิธีเช่น การใช้สารพาโคลบิวทราโซล (พีรเดช, 2533) การปลูกมะม่วงพันธุ์ทะวายซึ่งเป็นพันธุ์ที่ออกดอกมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี (อนุชา และคณะ, 2534)  นอกจากสองวิธีการดังกล่าวแล้วยังมีการผลิตมะม่วงนอกฤดูกาลที่น่าสนใจอีกวิธีการหนึ่งคือการชักนำให้มะม่วงออกดอกนอกฤดูโดยการเสียบกิ่ง  ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในต่างประเทศ (Kulkarni, 1986, 1988) โดยอาศัยหลักการดังนี้คือ นำยอดพันธุ์มะม่วงในฤดูกาลปกติมาเสียบกับยอดมะม่วงพันธุ์ทะวายก่อนที่มะม่วงพันธุ์ทะวายจะออกดอกประมาณ 1 เดือน  เมื่อยอดมะม่วงพันธุ์ทะวายออกดอกนอกฤดูก็จะชักนำให้ยอดพันธุ์มะม่วงในฤดูออกดอกตาม

การชักนำการออกดอกโดยการเสียบกิ่ง

การชักนำการออกดอกโดยการเสียบกิ่งได้มีการศึกษากันมานานแล้ว สมบูรณ์ (2536) ได้กล่าวถึงการทดลองของ Hammer ในปี ค.ศ.1942 ได้ใช้ต้นกระชับ (Xanthium strumrium) ซึ่งเป็นพืชวันสั้น 2 ต้น  นำมาต่อกิ่งกันโดยให้กิ่งหนึ่งได้รับแสงช่วงวันสั้นในขณะที่อีกกิ่งหนึ่งได้รับแสงช่วงวันยาว  หลังจากนั้นระยะหนึ่งพืชทั้ง 2 ต้นสามารถออกดอกได้ แต่ถ้าให้พืชทั้ง 2 ต้นที่ต่อกิ่งกันได้รับช่วงวันยาวทั้งหมดพืชจะไม่ออกดอก  สำหรับมะม่วงนั้น สนั่นและฉลองชัย (2521) ได้ทำการติดตาและต่อกิ่งมะม่วงพันธุ์ต่างประเทศจำนวน 24 พันธุ์ บนกิ่งมะม่วงแก้วที่ให้ผลผลิตมาแล้วอายุ 7 ปี พบว่าต้นมะม่วงแก้วสามารถชักนำให้ยอดพันธุ์ต่างประเทศออกดอกได้ถึง 18 พันธุ์ ในทำนองเดียวกัน ฉลองชัย (2529) ได้ใช้วิธีย่นระยะเวลาในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์คือ นำยอดมะม่วงพันธุ์ลูกผสมที่มีอายุได้ไม่ถึง 1 ปี จำนวน 50 กิ่งมาเสียบบนกิ่งมะม่วงแก้วที่ให้ผลผลิตแล้วทำการเสียบกิ่งในเดือนพฤศจิกายน  เมื่อต้นตอมะม่วงแก้วออกดอกในเดือนมกราคม ยอดพันธุ์ลูกผสมที่นำมาเสียบออกดอกตามได้ถึง 38 กิ่ง ส่วนการชักนำให้มะม่วงออกดอกนอกฤดู  โดยการเสียบกิ่งนั้นในต่างประเทศได้มีการศึกษาโดยใช้มะม่วงทะวายพันธุ์ Royal Special เป็นต้นตอ นำยอดพันธุ์ในฤดูกาลปกติพันธุ์ Alphonso, Dashehari และพันธุ์ Totapari มาเสียบบนกิ่งของพันธุ์ Royal Special ภายหลังจากนั้นระยะหนึ่งพบว่าเมื่อยอดพันธุ์ Royal Special ออกดอก ยอดพันธุ์ในฤดูที่นำมาเสียบก็จะออกดอกตาม (Kulkarni, 1986)  สำหรับในประเทศไทยนั้นได้มีการศึกษาโดยนำยอดพันธุ์มะม่วงที่ออกดอกในฤดูพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ พันธุ์เขียวเสวย ทองดำ หนองแซง ฟ้าลั่น มันค่อม และน้ำดอกไม้ (ปกติออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม)  มาเสียบกับมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ซึ่งเป็นพันธุ์ทะวาย (ปกติออกดอกนอกฤดูมากในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม) ทำการเสียบยอดในช่วงต้นเดือนมีนาคม  ภายหลังจากการเสียบกิ่งได้ประมาณ 30-45 วัน  พบว่าเมื่อยอดพันธุ์โชคอนันต์ออกดอก ยอดพันธุ์ที่นำมาเสียบทุกพันธุ์ก็จะออกดอกและติดผลนอกฤดูตาม  พันธุ์ที่ติดผลและสามารถเก็บเกี่ยวได้ดีคือ พันธุ์ฟ้าลั่น เฉลี่ย 1 ผลต่อช่อ ส่วนพันธุ์อื่น ๆ มีการติดผลได้เช่นกัน แต่ปริมาณผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ค่อนข้างต่ำ (เกียรติก้อง, 2535; สายชล,2536)

ข้อจำกัดและแนวทางพิจารณาการชักนำให้มะม่วงออกนอกฤดูโดยการเสียบกิ่ง

จากการศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิจัย 2 เรื่องดังกล่าวข้างต้น ได้พบข้อจำกัดและแนวทางพัฒนาในหลายด้านสรุปได้ดังนี้

1.  การเลือกต้นพันธุ์ที่ใช้ชักนำการออกดอก จะต้องเป็นพันธุ์ทะวายเท่านั้น พันธุ์ที่ชักนำได้ผลดีในขณะนี้คือ พันธุ์โชคอนันต์ ส่วนพันธุ์อื่น ๆ เช่น พันธุ์พิมเสนมันทะวายก็สามารถชักนำการออกดอกได้เช่นกัน (ปรีดา, 2537 ข้อมูลยังไม่ได้ตีพิมพ์)

2.  ช่วงเวลาในการเสียบกิ่ง ควรทำการเสียบกิ่งก่อนที่มะม่วงพันธุ์ทะวายจะออกดอกประมาณ 1 เดือน ดังนั้นจึงต้องการทราบถึงนิสัยการออกดอกของมะม่วงพันธุ์ทะวายก่อน ตัวอย่างเช่น พันธุ์โชคอนันต์ในช่วงก่อนการออกดอกนอกฤดูจะมีการแทงช่อใบก่อน เมื่อใบอ่อนเริ่มแก่(ช้เวลา 20-30 วัน) จะแทงช่อดอกตามเสมอ (พาวิน,2535) การเสียบกิ่งจึงควรทำเมื่อมะม่วงโชคอนันต์เริ่มมีการแทงช่อใบ (ปกติประมาณเดือนมีนาคม)

3.  การเลือกพันธุ์ดี ควรเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการและจำหน่ายราคาสูง เช่น พันธุ์เขียวเสวย ฟ้าลั่น หนองแซง และน้ำดอกไม้ เป็นต้น  สำหรับลักษณะยอดพันธุ์ที่จะนำมาเสียบควรเป็นยอดที่สมบูรณ์ไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไป  และที่สำคัญควรเป็นตายอด (Terminal bud) ความยาวของยอดประมาณ 3 นิ้ว

4.  ตำแหน่งการเสียบ ควรทำการเสียบที่ปลายยอด  จากการสังเกตพบว่ายอดที่เสียบบริเวณปลายยอดมีการแทงช่อดอกได้ดีกว่าการเสียบในตำแหน่งอื่น ๆ นอกจากนี้การเสียบตรงปลายยอดจะได้จำนวนกิ่งต่อต้นมากด้วย

5.  จำนวนยอดต่อต้น ปริมาณยอดที่จะเสียบต่อต้นจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นพันธุ์ทะวาย

6.  วิธีการเสียบ ใช้วิธีการเสียบข้างแบบวีเนีย (Side veneer grafting)

พาวิน  มะโนชัย

สาขาไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้