การให้น้ำพืชแบบอัตโนมัติประหยัดได้ปริมาณและคุณภาพสูง

การให้น้ำแต่ละแบบมีความเหมาะสมที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทพืชที่ท่านปลูก ลักษณะการปลูกและสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น ปริมาณแหล่งน้ำที่มีเงินทุน ตลอดจนความตั้งใจในการผลิตพืชว่าต้องการปริมาณและคุณภาพเพียงใด

เรื่องของการให้น้ำพืชแบบอัตโนมัติที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้นั้นเป็นเรื่องของการว่าตามประสบการณ์ร่วมกับหลักการบางส่วน ขอออกตัวและขออภัยต่อท่านผู้เชี่ยวชาญตลอดจนผู้รู้ในเรื่องนี้ว่า เนื้อหาของบทความนี้อาจจะขัดความรู้สึกของท่านบ้าง เพราะพยายามเขียนให้ชาวสวนเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้เป็นสำคัญ

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเบื้องต้นของการเจริญเติบโตของพืชว่า พืชจะเจริญเติบโตและออกดอกให้ผลผลิตได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบคือ

1.  แสงที่มีความเข้มพอเหมาะเป็นแหล่งพลังงาน

2.  อุณหภูมิที่พอดีกับพืชนั้น

3.  ธาตุอาหารที่จำเป็น

4.  น้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและพอดีทั้งในดินและในอากาศ

5.  อากาศเพื่อการหายใจและแหล่งธาตุอาหาร

6.  ดินซึ่งเป็นที่ยึดเกาะของระบบรากและแหล่งธาตุอาหารต่างๆ

พืชแต่ละชนิดต้องการปัจจัยทั้งหกประการในลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพืชชนิดนั้นๆ

สำหรับดินเป็นเสมือนกับที่ยึดเกาะที่กินที่อยู่ของพืช แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน เช่น ผัก แตง มะเขือเทศ อันเป็นพืชที่มีราคาสูง คุ้มกับระบบการปลูกโดยไม่ใช้ดินที่เรียกว่าไฮโดรโฟนิค แต่การปลูกพืชสำคัญทั่วไปพวกธัญพืชไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ หลายชนิดยังต้องอาศัยการปลูกในดินเป็นสำคัญ

ระบบรากพืชที่หยั่งลงสู่ดินทำหน้าที่เป็นเสาเข็มให้กับต้นไม่ให้โค่นล้มให้สามารถยืนตระหง่านแผ่กิ่งก้านสาขารับลม แสงแดดได้อย่างทั่วถึง รากดูดน้ำและปุ๋ยขึ้นไป ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง ปรุงเป็นอาหารเลี้ยงส่วนต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโตและออกดอกออกผลต่อไป

การดูดปุ๋ยของพืชเข้าสู่ระบบรากเพื่อนำไปปรุงที่ใบของพืชนั้นต้องมีน้ำเป็นตัวละลายปุ๋ยให้เจือจางและอยู่ในรูปที่รากพืชดูดไปใช้ได้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

น้ำจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสภาพปัจจุบันจะพบปัญหาเรื่องความแล้ง จนมีคำว่าแล้งซ้ำซาก ในการปลูกพืชเกษตรกรจึงจำเป็นต้องพัฒนาแหล่งน้ำและใช้น้ำที่มีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดหรือใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด

นักวิชาการฝรั่งเคยคิดเอาไว้อย่างละเอียดว่า ชีวิตมนุษย์เราในปัจจุบันที่ดำรงชีพอยู่นี้ต้องเกี่ยวข้องกับน้ำอย่างนึกไม่ถึง ไม่เพียงแต่การใช้น้ำโดยตรง เช่น การอุปโภค บริโภคเท่านั้น แต่สิ่งของแวดล้อมรอบตัว อาหารการกิน ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำมาเป็นองค์ประกอบในการผลิตทั้งสิ้น มีตัวเลขที่มีการคิดคำนวณการใช้น้ำต่อผลิตภัณฑ์ 1 หน่วย ดังนี้

เนื้อ 1 กก.ของการเลี้ยงวัว ต้องใช้น้ำ 41,500 ลิตร

ไก่ 1.5 กก. ต้องใช้น้ำในการเลี้ยง 10,900 ลิตร

ส้มติดเปลือก(orange) 1 กก.ใช้น้ำ 500 ลิตร

การผลิตอลูมิเนียม 1 ตันใช้น้ำ 1,340,000 ลิตร

หนังสือพิมพ์ 1 ฉบับ ใช้น้ำ 50 ลิตร

เบียร์ 1 ขวด ใช้น้ำ 4 ลิตร

การใช้น้ำของมวลมนุษย์แต่ละช่วงทศวรรษ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวจนปัจจุบันจึงไม่มีน้ำพอเพียงที่ให้ใช้เพิ่มขึ้นได้ดังอดีตอีกแล้ว

เราจะให้น้ำพืชอย่างไรจึงจะคุ้มค่ามากที่สุด

เมื่อปี 2525 จำได้ว่าบริษัท เนต้าฟิม โดย มร.ลาร์ดีน ฝรั่งสูงอายุ จากอิสราเอลพยายามเข้ามาเผยแพร่ระบบน้ำหยดในเมืองไทย ทั้งออกงานแสดงระบบน้ำในงานต่างๆ และการแนะนำโดยตรง ดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จน้อยมาก เพราะสมัยนั้นปัญหาแรงงาน ปัญหาน้ำขาดแคลนยังไม่ใช่ปัญหาวิกฤตของชาวสวน แต่มีชาวสวนก้าวหน้าบางรายได้เริ่มคิดต้นระบบของตัวเอง เช่น ระบบน้ำหยด ของคุณดำ น้ำหยด (ก่อนปี 2525 และพัฒนามาเป็นระบบน้ำเหวี่ยง น้ำดันในเวลาต่อมา

ยุคของน้ำเหวี่ยงหรือน้ำดันที่ใช้ในสวนทุเรียนจากการริเริ่มพัฒนาโดยคุณดำ น้ำหยดในระยะนั้น จนปัจจุบันเทคโนโลยีระบบน้ำได้พัฒนาไปไกลสู่ระดับสากล มีชุดอุปกรณ์จากต่างประเทศที่นำเข้ามาโดยบริษัทคนไทยและบริษัทข้ามชาติ รวมทั้งบริษัทข้ามชาติที่มาเปิดสาขาในประเทศไทยโดยตรง

ราคาของระบบน้ำทั้งหัวหยดหรือหัวเหวี่ยงหรือหัวพ่นรวมไปถึงท่อพีอีแบบต่างๆ ราคาถูกลงกว่าแต่ก่อนมาก เนื่องจากมีการนำเข้าจากต่างประเทศครั้งละมากๆ พร้อมทั้งอัตราภาษีนำเข้าที่ถูกลง ทำให้ราคาต่อหน่วยโดยรวมได้ถูกลงไปด้วย

ระบบการให้น้ำปัจจุบันได้พัฒนาไปถึงขั้นการจ่ายปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำ โดยปุ๋ยที่จ่ายไปพร้อมกับระบบน้ำนี้จะเป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำดี ไม่มีตะกอนเกาะท่อ หรืออุดตันที่หัว ซึ่งเป็นปุ๋ยสำหรับระบบน้ำโดยเฉพาะ

การให้น้ำพืชให้คุ้มค่าที่สุดจึงต้องพัฒนาสู่ระบบดังกล่าวนี้ แม้จะเป็นการลงทุนสูงในระยะแรก แต่จะประหยัดน้ำ ประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลาพืชโตให้ผลผลิตและคุณภาพที่ดีกว่า

ระบบการให้น้ำในสวนที่นิยม

ระบบการให้น้ำที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น แบบหยด(Drip) แบบเหวี่ยงด้วยหัวขนาดเล็ก (micro sprinkler) แบบพ่นฝอย (spray)การให้น้ำแบบท่อฝนเทียม

การให้น้ำแต่ละแบบมีความเหมาะสมที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทพืชที่ท่านปลูก ลักษณะการปลูก และสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น ปริมาณแหล่งน้ำที่มี เงินลงทุน ตลอดจนความตั้งใจในการผลิตพืชว่าต้องการปริมาณและคุณภาพเพียงใด

การให้น้ำแบบหยด (drip irrigation หรือ trickle irrigation) ต้นกำเนิดคือประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำทั้งปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากน้ำในประเทศอิสราเอลมีความเค็มของเกลืออยู่สูงมาก

ระบบน้ำหยดเป็นระบบที่ต้องการแรงดันต่ำ จึงประหยัดพลังงานกว่า และเป็นระบบที่ประหยัดน้ำหรือใช้น้ำน้อยที่สุด แต่เนื่องจากรูที่น้ำออกมีขนาดเล็กมาก จึงมักจะอุดตันได้ง่าย การติดตั้งระบบนี้จึงต้องคำนึงไว้อย่างสำคัญคือ ต้องมีเครื่องหรือระบบการกรองที่ดีพอ

ระบบนี้ไม่ต้องการแรงดันน้ำสูงจึงประหยัดไฟฟ้ากว่า (ใช้ปั๊มขนาดเล็กกว่า) จุดหยดของน้ำต้องสัมพันธ์กับรัศมีรากพืชที่ปลูก

การให้น้ำแบบเหวี่ยงหรือดันแบบเก่า ซึ่งใช้น้ำมากที่นิยมกันในเขตภาคใต้หรือตะวันออกนั้น ไม่จำเป็นต้องมีระบบการกรอง เพราะหัวที่น้ำออกนั้นมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งก็ดีไปอีกแบบในกรณีที่แหล่งปลูกพืชนั้นๆ ยังมีแหล่งน้ำเหลือเฟือ แต่กรณีที่น้ำมีจำกัด มีสภาพความแห้งแล้งเข้ามาเยือนมากขึ้น ก็จำเป็นต้องปรับมาเป็นแบบสมัยใหม่โดยลงทุนเพิ่มอีกบางส่วน

ความละเอียดของการกรองของตัวกรองสำหรับระบบน้ำแบบต่างๆ นั้น ถ้าเป็นเครื่องกรองของระบบหยดต้องใช้เครื่องกรองที่ละเอียดมากขึ้นดังกล่าวแล้ว โดยขนาดของตัวกรองควรจะอยู่ที่ระดับ 20-30 เมช(mesh)ในทางปฏิบัติจึงมีผู้ติดตั้งระบบน้ำบางรายที่ติดตั้งให้กับสวนขนาดใหญ่ จะใช้ระบบกรองทราย เช่น ของซี.พี.ที่สวนผึ้ง สวนทุเรียน สวนสักจัดสรรต่างๆ ซึ่งการใช้เครื่องกรองแบบถอดล้างธรรมดาก็ได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่ละเอียดดังกล่าวแล้ว และหากเป็นสวนขนาดใหญ่ก็ต้องติดตั้งตัวกรองหลายตัว เพื่อให้แรงดันน้ำที่ส่งไปตามท่อไม่ลดลงมากจนเกินไปเพราะการติดตัวกรองจะทำให้แรงดันน้ำในท่อลดลงระดับหนึ่งด้วย

ระบบน้ำหยดรัศมีน้ำจะกว้างเพียงใด

ความกว้างของรัศมีน้ำและความลึกของน้ำที่หยดลงนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของดิน ดินทรายซึ่งมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำรัศมีน้ำจะกว้างเพียง 20 ซม. ขณะที่ดินทรายน้ำจะซึมลงไปลึกกว่าดินเหนียว ถ้าจะให้แน่นอน สำหรับสิ่งเหล่านี้เมื่อชาวสวนได้ติดตั้งระบบน้ำแล้ว ต้องตรวจสอบด้วยตัวเองอีกที

ด้วยเหตุผลที่ดินทรายมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ น้ำจะซึมลงลึกในเวลาที่รวดเร็ว รัศมีการเปียกของน้ำ ถ้าให้แบบหยดจะแคบกว่าการแก้จุดนี้ ชาวสวนสามารถแก้ได้โดยการเพิ่มอินทรีย์วัตถุลงไปในดินประเภทนี้ให้มากขึ้น และต้องให้น้ำถี่ขึ้น กรณีพืชต้นใหญ่ขึ้นก็จำเป็นต้องขยายจุดหยดให้มากกว่า 1 หัว ก็สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

สรุปข้อดีของระบบน้ำหยด

1.  เป็นระบบที่ประหยัดน้ำกว่าระบบอื่น

2.  สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมันน้อยกว่าระบบอื่น

3.  พืชได้รับน้ำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

4.  ใช้ในสภาพดินทรายค่อนข้างจะได้เปรียบ(แต่ไม่ได้หมายความว่าดินประเภทอื่นใช้ไม่ดี)

ข้อเสียเปรียบของระบบหยด

1.  ต้องให้เวลานานกว่า

2.  ต้องมีระบบกรองที่ดีเพื่อป้องกันการอุดตัน

3.  ละเอียดอ่อนและดูแลระบบยากกว่า เพราะอาจจะอุดตันได้ง่าย ถ้าระบบกรองไม่ดีพอ

เรื่องราวของระบบน้ำที่เล่าสู่กันฟังนี้ ขอเรียนอีกครั้งว่า ผู้เขียนไม่ใช่วิศวชลประทานหรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้จึงต้องกราบขออภัยผู้รู้อีกครั้ง แต่จะพยายามเขียนเล่าเพื่อไปสู่แนวทางที่จะให้เพื่อนชาวสวนปฏิบัติได้และเข้าใจพื้นฐานพอสมควร เรื่องระบบน้ำนี้คงจะร่ายยาวหลายตอนจบ ท่านพี่น้องชาวสวนมีผังสวน ชนิดพืชที่ปลูกประเภทดิน และอยากจะวางระบบน้ำ ลองส่งมาปรึกษากันได้ คนเขียนจะวานให้ผู้ชำนาญการเขาจัดการให้เท่าที่จะทำได้

มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า หากจะปั๊มน้ำขึ้นใส่โอ่งหรือถังไว้สูงๆ(บนเนิน) แล้วปล่อยน้ำลงมาตามท่อเข้าสู่ระบบหยดจะได้ไหม โดยหลักการก็น่าจะใช้ได้ อยู่ที่ว่าแรงดันน้ำมากพอจะไปหยดได้กี่ตัน เคยเห็นที่ไร่องุ่นของบริษัทบุญรอดที่ปากช่อง เขาก็ใช้วิธีปั๊มน้ำขึ้นใส่แทงค์ไว้บนลูกเนินแล้วปล่อยน้ำเข้าระบบท่อหยดอะโกรดริปของเขาก็ใช้ได้ แต่หากมาคิดอีกทีกับการปั๊มน้ำ โดยใช้ปั๊มเล็ก ๆ เข้าระบบหยดโดยตรงอาจจะประหยัดกว่าที่จะปั๊มขึ้นไปเก็บไว้สูง ๆ เพราะต้องเปลืองพลังงานมากกว่า ปั๊มก็ต้องแรงกว่า

ความผิดพลาดในการติดตั้งระบบน้ำสวนขนาดเล็กๆ จะไม่สูญเสียมาก แต่หากเป็นสวนขนาดใหญ่หลายร้อยไร่ การออกแบบที่ไม่เหมาะสมในทุกๆ ส่วน โดยเฉพาะการวางท่อจะสิ้นเปลือง บางทีอาจจะเปลืองไปโดยใช่เหตุ คิดเป็นเงินหลายๆล้านบาทก็ได้ ที่ช้ำใจก็คือไปจ้างคนทำระบบน้ำที่ไม่เข้าใจทำ ออกแบบวางผังให้แล้วไม่ได้ตามที่คิด ต้องรื้อใหม่จะทำให้เสียความรู้สึกมากๆ เสียเงินไม่ว่า แต่เจ็บใจอีกต่างหาก

เรื่องของระบบน้ำเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คนเข้าใจระบบน้ำแต่ไม่เข้าใจพืช ก็ไม่ทำให้ระบบการปลูกพืชของเราได้ดีสมดังตั้งใจ ดังนั้นระบบการให้น้ำหากติดตั้งใช้งานได้ดีแล้ว ท่านเจ้าของสวนต้องเข้าใจควบคุมวิธีการให้ ให้เท่าไรจึงจะพอดีตรงนี้คือเรื่องสำคัญ ปริมาณการให้น้ำพืชขณะนี้กรมชลประทานได้ทำการสำรวจศึกษาไว้แล้วหลายๆพืช ส่วนใหญ่จะเป็นพืชไร่ พืชสวนมีน้อยมาก คงจะได้เล่าสู่กันฟังต่อไป

ตอนหน้าจะได้เล่าสู่กันฟังถึงประเภทของอุปกรณ์ และประเภทน้ำหยดต่างๆ และตัวอย่างที่มีการใช้ในพืชต่างๆ ของบ้านเราในขณะนี้ ก่อนจะไปสู่ระบบน้ำแบบอื่นๆและการติดตั้ง ผู้เขียนจะพยายามให้ท่านทำได้ด้วยตัวเอง นี่คือความตั้งใจ

ขอขอบคุณ หจก.อรุณดริพ, บริษัท เออริเทค จำกัด คุณสุวิทย์  ไตรโชค ที่กรุณาให้คำแนะนำต่างๆ (หนังสือประกอบการเขียน The Water Elficient Garden)