กุ้งกุลาดำ:โรคเสี้ยนดำในกุ้งกุลาดำ

จิรศักดิ์  ตั้งตรงไพโรจน์และคณะ

หน่วยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะสัตวแพทย์ศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำคือ “โรคกุ้ง” โรคกุ้งจะเกิดขึ้นได้ในทุกระยะหรือขนาดของกุ้ง เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ กันเป็นต้นว่า สภาพแวดล้อม เช่น ความเค็ม อุณหภูมิ ความเป็นกรด-ด่าง มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีก๊าซอ๊ออกซิเจนในน้ำต่ำ ก๊าซแอมโมเนียสูง รวมถึงการเกิดโรคเนื่องจากเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อไวรัส บัคเตรี พยาธิทั้งภายนอกและภายใน เชื้อราและการขาดสารอาหารบางชนิด การวินิจฉัยสาเหตุต่าง ๆ ของโรคนั้นจำเป็นจะต้องกระทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขและป้องกัน มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียอย่างมาก

พบกุ้งกุลาดำเป็นโรคเสี้ยนดำ

ปัจจุบันนี้ ในช่วงฤดูฝน ผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ต้องประสบกับปัญหาที่มีกุ้งขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งแสดงอาการมีจุดดำขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างที่ใต้เปลือกและมีลักษณะเป็นก้านหรือเสี้ยนต่อกับจุดดำนี้แทงทะลุเข้าไปในกล้ามเนื้อกุ้ง บางรายอยู่เฉพาะที่ผิวหนัง กุ้งที่มีลักษณะอาการของโรคดังกล่าวนี้ เมื่อนำไปต้มให้สุกจะพบว่าส่วนของเสี้ยนจะมีสีดำ ค่อนข้างเหนียว บางเสี้ยนมีลักษณะตรง บางเสี้ยนมีแขนง จากลักษณะอาการดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า “โรคเสี้ยนดำในกุ้งกุลาดำ”

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับตัวอย่างกุ้งที่แสดงอาการดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๑ และได้ทำการศึกษาหาสาเหตุของโรค จากอาการดังกล่าวที่ปรากฎในกุ้งนั้นสามารถวินิจฉัยในขั้นต้นว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า เกิดจากพยาธิ พวกสาหร่าย หรือพวกแพลงตอนของสัตว์บางชนิด

จากการวินิจฉัยทางการแพทย์อย่างละเอียด เพื่อดูลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อรวมทั้งการแยกเชื้อต่าง ๆ ทำให้สามารถบ่งชี้ถึงสาเหตุบางประการของโรคได้ อย่างไรก็ตามโรคนี้อาจเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ จึงจำเป็นต้องศึกษาและวิจัยต่อไปอย่างเร่งด่วนด้วยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมต่อไป

อาการของโรค

อาการภายนอกที่เห็นได้ชัดด้วยตาเปล่าคือ มีจุดดำขนาดต่าง ๆ ใต้เปลือกกุ้ง โดยเฉพาะตรงบริเวณรอยต่อระหว่างปล้อง และบางรายพบที่บริเวณใต้แพนหางใกล้กับบริเวณทวารหนัก เมื่อเปิดเปลือกกุ้งออกจะพบเป็นก้านหรือเสี้ยนขนาดเล็กใหญ่สั้นยาวต่าง ๆ กันมีสีน้ำตาลอ่อนๆ ติดกับจุดดำนั้น ก้านหรือเสี้ยนนี้บางรายจะติดอยู่ที่ชั้นผิวหนังกุ้ง แต่ส่วนใหญ่จะแทงผ่านเข้าไปในกล้ามเนื้อกุ้ง บางรายแทงทะลุต่อกับอีกข้างหนึ่ง กุ้งที่มีอาการดังกล่าวนี้เมื่อต้มสุกจะพบว่าก้านหรือเสี้ยนนี้มีสีดำ

กุ้งป่วยเหล่านี้ไม่พบอาการผิดปกติให้เห็นด้วยตาเปล่าที่อวัยวะอื่น ๆกล่าวคือ กุ้งมีขนาดปกติ สีปกติ เปลือกใสเหมือนกุ้งปกติ แต่จากลักษณะอาการดังกล่าวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในรายที่เสี้ยนแทงเข้าไปในระหว่างกล้ามเนื้อกุ้งนั้น น่าจะก่อให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะส่งผลให้กุ้งมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ

การให้อาหารแบบหว่านทั่วบ่อกุ้งที่ป่วยเหล่านี้ก็สามารถกินอาหารเหมือนกับกุ้งปกติ จึงทำให้ไม่เห็นความแตกต่างในเรื่องขนาดของกุ้ง

สาเหตุการเกิดโรคเสี้ยนดำ

จากลักษณะอาการของโรคที่เกิดขึ้น รวมทั้งการศึกษาทางจุลพยาธิและจุลชีววิทยา พบว่าเชื้อวิบริโอวัลนิฟิคัส เป็นสาเหตุในขั้นต้นนี้ พอจะสัณนิษฐานได้ว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะความเค็ม ทำให้กุ้งเกิดสภาวะเครียดและอ่อนแอ ทำให้เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวซึ่งมีอยู่แล้วในน้ำสามารถเข้าไปทำอันตรายต่อกุ้ง โดยจะเข้าไปจากภายนอกตรงบริเวณรอยต่อระหว่างปล้องและเป็นเฉพาะแห่ง และอาจจะเข้าทำอันตรายระหว่างที่กุ้งลอกคราบก็ได้

เชื้อบัคเตรีดังกล่าวนี้มีเอ็นไซม์ชนิดคอลลาจิเนส ซึ่งสามารถย่อยโปรตีนพวกคอลลาเจนซึ่งมีอยู่ในตัวกุ้ง ทำให้เห็นลักษณะเป็นเสี้ยนฝังในกล้ามเนื้อกุ้ง เชื้อดังกล่าวนี้ชอบสภาวะสภาพแวดล้อมที่มีความเค็มต่ำคือความเค็มตั้งแต่ ๕-๒๐ ส่วนในพัน และเติบโตดีที่ความเค็ม ๑๐-๒๐ ส่วนในพัน อุณหภูมิสูงกว่า ๒๕ องศาเซลเซียส และเชื้อจะเจริญดีที่ ๓๗ องศาเซลเซียส

แนวทางการป้องกันโรคเสี้ยนดำ

๑.  เนื่องจากโรคนี้เกิดในช่วงฤดูฝน ซึ่งความเค็มของน้ำเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางแห่งมีความเค็มลดลงเกือบเท่าน้ำจืด และในบริเวณที่ตรวจพบโรคนี้จะมีความเค็มต่ำกว่า ๒๐ ส่วนในพัน จึงควรมีระบบการจัดการส่งน้ำเค็มเข้าบ่อกุ้งอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ

๒.  ทำการตรวจสอบคุณภาพอื่น ๆ ของน้ำด้วย เป็นต้นว่า ความเป็นกรด-ด่างของน้ำและดิน ปริมาณก๊าซแอมโมเนียและปริมาณก๊าซอ๊อกซิเจนในน้ำ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพแวดล้อมคงที่จะทำให้กุ้งมีสุขภาพแข็งแรง

๓. ทำการตรวจสอบปริมาณและชนิดของเชื้อบัคเตรีในน้ำที่เลี้ยงกุ้งรวมทั้งการทดสอบความไวของเชื้อต่อยาชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ยาฆ่าเชื้อใส่ลงในบ่อ

สำหรับตัวเชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส ไวต่อยาหลายชนิด ดังนั้นเมื่อพบการผิดปกติเกิดขึ้นใหม่ ๆ ควรรีบให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งรายละเอียดการใช้ยาควรปรึกษากับสัตวแพทย์

ในส่วนของตัวกุ้ง โดยปกติแล้วจุดสีดำที่เปลือกนั้นเกิดจากหลายสาเหตุเป็นต้นว่า เกิดจากมีคราบสิ่งสกปรกติดอยู่หรือเกิดจากพวกเชื้อบัคเตรีที่ทำลายไคติน เข้าทำอันตรายกุ้ง หรือเกิดจากการขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามินซี ฉะนั้น ควรแยกให้ออกว่าเป็นจุดดำเนื่องจากสาเหตุใด พอจะกล่าวได้ว่า ถ้าเป็นจุดดำแล้วมีลักษณะเป็นเสี้ยนแทงทะลุเข้ากล้ามเนื้อกุ้งน่าจะเกิดจากเชื้อวิบริโอวัลนิฟิคัส

แนวทางแก้ไขเมื่อกุ้งเป็นโรคเสี้ยนดำ

ในช่วงสภาวะความเค็มเปลี่ยนแปลงและต่ำกว่า ๒๐ ส่วนในพัน ถ้าพบอาการของโรค ซึ่งการเกิดโรคอาจส่อว่าเป็นแบบชนิดเรื้อรัง ควรรีบส่งกุ้งไปตรวจยังห้องปฏิบัติการ หรือให้กินยาปฏิชีวนะให้ครบขนาดและควรจะทิ้งระยะเวลาไว้อย่างน้อย ๒ อาทิตย์ก่อนขาย เพื่อให้กุ้งขับยาปฏิชีวนะออกจากร่างกายให้หมดก่อน

การกระตุ้นให้กุ้งลอกคราบจะช่วยลดจำนวนจุดดำลงได้ ในกรณีที่จุดดำนั้นยังไม่ฝังลงไปในกล้ามเนื้อ เพราะจากการตรวจกุ้งที่ป่วย ส่วนของจุดดำจะติดอยู่ใต้เปลือก ฉะนั้นเมื่อคราบหลุดออกจุดดำก็จะหลุดไปด้วย การกระตุ้นให้กุ้งลอกคราบนั้นอาจจะใช้วิธีต่าง ๆ เป็นต้นว่า กักน้ำในบ่อไว้ ๒-๓ วันแล้วเปลี่ยนน้ำใหม่เข้าบ่อหรือการใช้สารเคมีบางอย่างเป็นต้นว่ากากชา หรือการใส่สารอาหารบางอย่างลงในอาหาร เช่น พวกไขมันบางชนิด

สรุป

จากการศึกษาที่ผ่านมาพอจะกล่าวได้ว่า เชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส น่าจะทำให้เกิดโรคเสี้ยนดำในกุ้งกุลาดำ ในช่วงสภาวะความเค็มของน้ำต่ำและอุณหภูมิสูงในช่วงฤดูฝน และเชื้อดังกล่าวนี้มีความไวต่อยาปฏิชีวนะชนิดต่าง ๆ ซึ่งควรหมั่นตรวจอาการของโรค เมื่อพบจะได้ทำการแก้ไขได้ทันเวลา

สำหรับในแง่ของการบริโภคนั้น เนื่องจากเชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัสจะถูกทำลายโดยความร้อน จึงควรบริโภคกุ้งสุก และเนื่องจากการแยกกุ้งเป็นโรคออกจากกุ้งปกติทำได้ง่ายจึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออก