ขนุน:พืชพื้นเมือง ไม้มงคลเอนกประสงค์

ขนุน จัดเป็นไม้ผลเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มาเลเซียและในเขตที่มีฝนตกค่อนข้างมาก ความชื้นสูง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-25 เมตร ในบ้านเราขนุนจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกกันหลายสายพันธุ์ เช่น ขนุนละมุด ขนุนหนัง ขนุนจำปาดะ เป็นต้น

นับแต่โบราณคนไทยจะปลูกขนุนไว้ท้ายบ้าน ด้วยความเชื่อที่ว่า การปลูกขนุนจะทำให้มีคนมาคอยอุดหนุนจุนเจือครอบครัว นอกเหนือจากชื่อที่เป็นสิริมงคลแล้ว ขนุนยังถือเป็นไม้เอนกประสงค์ที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้นอีกชนิดหนึ่ง  โดยแก่นรากและใบ-ใช้รักษาอาการต่าง ๆ เช่น แก้ท้องเสีย ลดไข้ ยาง-ใช้รักษาแผลเรื้อรังมีหนอง ขับพยาธิ หรือนำไปผสมกับยางไม้อื่นใช้ดักนก ผลอ่อน-มีรสฝาด สมาน รักษาอาการท้องเสีย ผลสุก-บำรุงกำลัง ช่วยระบายอ่อน ๆ เมล็ด-ช่วยขับน้ำนม บำรุงร่างกาย เนื้อไม้และขี้เลื่อย-นำมาต้มกับน้ำใช้ย้อมผ้า หรือทำเครื่องเรือน

ส่วนที่นำมาใช้ประกอบอาหาร

ชาวเหนือและชาวอีสาน มักนำใบอ่อน ยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักทั้งแบบสดและลวกน้ำร้อน แต่ที่นิยมมากก็คือจะนำลูกขนุนที่อ่อนมาปรุงเป็นแกง หรือทำซุบบักมี่ หรือไม่ก็นำไปต้มจิ้มน้ำพริก

ลักษณะใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากกิ่งแบบสลับ รูปร่างยาวรี ผิวใบเป็นมันสีเขียวเข้ม จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงหล่นเมื่อแก่

ลักษณะดอก ดอกออกเป็นช่อ ดอกตัวผู้แยกจากดอกตัวเมีย โดยดอกตัวผู้มักออกตามปลายกิ่งอ่อนทั้งสองข้าง มีกลีบชั้นนอก 2 อันยาวรีเหมือนกาบดอก มีเกสรตัวผู้ 1 อัน ส่วนดอกตัวเมียจะออกตามลำต้นและกิ่งแก่ ยอดเกสรเป็นหนามแหลม มีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้แต่มีจำนวนดอกน้อยกว่า

ลักษณะผล ขนาดของผลแตกต่างตามพันธุ์ใน 1 ผล มีหลายเมล็ด เปลือกมีหนามสั้น ๆ ไม่แหลมคมเมื่อผลอ่อนผิว เปลือกและหนามมีสีเขียวอ่อนแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลเมื่อผลแก่ ส่วนสีเนื้อก็ขึ้นอยู่กับพันธุ์เช่นกัน เช่น สีเหลืองอ่อน เหลืองแก่และสีดอกจำปา

วงศ์ Moraceae

ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus heterophyllus Lamk

ชื่อพื้นเมือง ขนุน(ทั่วไป) บักมี่(อีสาน) ยะนู(ของจันทบุรี) นอกอ(มลายู-ปัตตานี) หมากกลาง(ชานแม่ฮ่องสอน)

ส่วนขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด

ฤดูกาล ปลูกได้ตลอดปี ต้องการแสงอย่างน้อย ครึ่งวัน

คุณค่าสารอาหาร

คุณค่าสารอาหารของผลขนุนอ่อน ในส่วนที่กินได้ 100 กรัมประกอบด้วย

สารอาหาร              ปริมาณ/หน่วย

พลังงาน                         22 กิโลแคลอรี่

น้ำ                                  88.4 กรัม

คาร์โบไฮเดรต                 1.7 กรัม

โปรตีน                            1.6 กรัม

ไขมัน                              1.0 กรัม

เยื่อใยอาหาร                  6.7 กรัม

เถ้า                                 0.7 กรัม

แคลเซียม                       8 มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส                      3 มิลลิกรัม

เหล็ก                              0.5 มิลลิกรัม

วิตามินเอ                        1 หน่วยสากล(IU)

วิตามินบี 1                     0.49 มิลลิกรัม

วิตามินบี 2                     0.05 มิลลกรัม

วิตามินซี                         15 มิลลิกรัม

ไนอะซิน                          0 มิลลิกรัม

ที่มา: กองโภชนาการ กรมอนามัย 2535

วิธีการปลูก

1.  เพาะเมล็ดของผลแก่ลงในกระถางหรือถุงเพาะชำขนาด 5×8 ซม. รดน้ำทุกวันจนงอกให้แตกใบจริง สัก 3-4 ใบ

2.  นำลงไปปลูกในหลุม โดยขุดหลุมกว้างและลึก 30 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก

3.  ใช้ดินกลบทับปุ๋ยเล็กน้อยก่อนปลูก แล้วกลบดินรอบโคนต้น หาเศษหญ้าแห้งหรือฟางปิดหนาประมาณ 2 ซม.

เอกสารอ้างอิง: ไม้เอนกประสงค์กินได้ สภาวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการสาขา เกษตรศาสตร์และชีววิทยา เฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง 2540: ผักพื้นบ้าน ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2538