ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดหาพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ

คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดหาพ่อ-แม่พันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ จาก Dr. Roger W. doyle ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาของโครงการพัฒนาประมงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ เพื่อเป็นข้อคิดพิจารณาถือเป็นหลักการเกี่ยวกับการจัดหาพ่อ-แม่พันธุ์ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนอกเหนือจากในหัวข้อแนวทางคัดเลือกพันธุ์และปรับปรุงพันธุกรรมสัตว์น้ำที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงข้างต้น หลักการต่างๆ ที่ Dr. Roger W. Doyle ให้ไว้มีดังนี้

1. เลือกสัตว์น้ำที่มีคุณสมบัติดี

มีปัญหาอยู่ว่าการที่จะหาพันธุ์สัตว์น้ำที่ดีเลิศมาใช้ในการผสมพันธุ์นั้นทำอย่างไร เท่าที่ได้ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน เมื่อจะทำการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ผู้เพาะพันธุ์ปลาก็จะหาพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีลักษณะดีที่สุด ใหญ่ที่สุด เท่าที่จะหาได้มาทำการเพาะพันธุ์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ทำการเพาะพันธุ์นั้น จะได้พันธุ์สัตว์น้ำที่เจริญเติบโตเร็วอย่างที่ต้องการ เพราะว่าก่อนที่พวกเขาจะได้เก็บเอาสัตว์น้ำที่จะมาทำพันธุ์นั้น พวกเขาได้จับเอาสัตว์น้ำที่เลี้ยงไปขายหลายครั้งหลายหนแล้ว ดังนั้น แม่กุ้งที่จับเอามาทำพันธุ์นั้นแม้ว่าจะเป็นแม่กุ้งขนาดโตขณะนั้น แต่กุ้งที่มีขนาดโตเร็วกว่านั้นได้ถูกจับออกไปขายก่อนแล้ว ตามความเป็นจริงจึงไม่ได้พันธุ์กุ้งที่โตเร็วอย่างที่ต้องการ จึงเป็นที่กล่าวขานกันทั่วๆ ไปว่าพันธุ์กุ้งเล็กลง และโตช้าลงกว่าที่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งพฤติการณ์แบบนี้เป็นการคัดเลือกพันธุ์ที่เจริญเติบโตช้าโดยไม่ได้ตั้งใจ และก็เช่นเดียวกับการคัดเลือกพันธุ์ปลานิลและตะเพียนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ข้อเสนอแนะข้อแรก ในการคัดเลือกปลาไว้ทำพ่อ-แม่พันธุ์นั้น ควรทำการคัดเลือกปลาที่เลี้ยงก่อนที่จะนำไปขาย คือคัดเอาแต่ลูกปลาขนาดใหญ่หรือวัยรุ่นที่โตเร็วก่อนที่จะถึงขนาดที่จะส่งขาย หรือส่งตลาด แล้วนำเอาไปเลี้ยงในบ่อที่เตรียมไว้เป็นพิเศษ จนกระทั่งปลาโตขนาดทำพันธุ์ได้ หรือเลือกเอาปลาขนาดทำพันธุ์ได้มาทำการตัดครีบส่วนใดส่วนหนึ่งให้ลึกพอที่จะไม่งอกขึ้นทันและพอสังเกตเห็นง่าย แล้วปล่อยลงบ่อธรรมดาไป ในทั้งสองกรณีนี้ ผู้เพาะเลี้ยงปลาจะได้ไม่ขายปลาที่มีเครื่องหมายหรือปลาที่เตรียมสำหรับทำพันธุ์ โดยที่ผู้เพาะเลี้ยงปลาก็จะมีแต่พ่อ-แม่พันธุ์ไว้ทำการเพาะพันธุ์ได้เมื่อต้องการ

2. หลีกเลี่ยงในการผสมเลือดชิด

เมื่อมีการผสมพันธุ์กันระหว่างสายพันธุ์ที่ใกล้ชิด ความสมบูรณ์และอัตราการรอดของลูกหลายรุ่นต่อไปก็จะลดลงเช่นเดียวกับคนเรา ได้มีการประมาณไว้ว่า หากมีการสืบพันธุ์ระหว่างพี่-น้องท้องเดียวกันแล้ว ความสมบูรณ์และอัตราการรอดจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดถึง 20% และถ้ามีการผสมพันธุ์ ระหว่างเครือญาติใกล้กันแล้วก็จะมีผลเกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน แต่ช้ากว่าหรือประมาณ 4 ชั้นอายุ (generation) ความเสื่อมของสายพันธุ์ที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต การผสมพันธุ์ การต่อต้านเชื้อโรคจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อพ่อ-แม่พันธุ์ได้จำนวนลงในขีดจำกัดจำนวนหนึ่งแล้ว โอกาสที่จะมีการผสมพันธุ์ระหว่างวงศ์ญาติกันก็มีมากน้อยตามโอกาส แม่ในฟาร์มเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ ถ้าหากมีพ่อ-แม่พันธุ์เพียง 1 ชุด หรือ 2 ชุด แม่ปลาที่ดีที่จะใช้ทำพันธุ์ก็จะลดปริมาณลง และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็ได้แก่ พวกปลาตะเพียน ปลาไนที่มีลูกดก การผสมเลือดชิดปรากฎชัดเมื่อพ่อ-แม่พันธุ์ถูกใช้แล้วใช้อีกเป็นเวลาหลายปี พวกลูกหลานเกิดมาก็ย่อมมีโอกาสผสมพันธุ์กับรุ่นพ่อ-แม่พันธุ์ด้วย

ข้อเสนอแนะที่สอง ให้เริ่มจากใช้พ่อ-แม่พันธุ์อย่างน้อยเพศละ 30 ตัว เพื่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ เช่น ใช้อัตราตัวผู้ 3 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว จำนวน 30 ชุด หรือตัวผู้ 3 ตัว ตัวเมีย 2 ตัว จำนวน 15 ชุด ในกรณีของปลาไน เพื่อใช้ผสมพันธุ์ตลอดฤดู ทั้งนี้ไม่จำเป็นจะต้องทำให้เสร็จในครั้งเดียว

ข้อเสนอแนะที่สาม ใช้พ่อ-แม่พันธุ์มาจากหลายๆ แหล่ง หลายชุดเพื่อมาผสมพันธุ์และวางไข่ เพื่อกันไม่ให้มีพี่-น้อง และญาติใกล้ชิดผสมกันเอง

ข้อเสนอแนะที่สี่ เก็บแยกพ่อ-แม่พันธุ์หลายพันธุไว้ต่างหาก เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อ-แม่ และลูกหลานของมันเอง

วิธีที่ดีที่สุดที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะข้อ 1, 3 และ 4 ก็คือ แยกบ่อเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ และแยกเอาลูกขนาดโตที่ได้มาจากการผสมพันธุ์แต่ละครั้งลงบ่ออีกต่างหาก ก่อนที่ลูกปลาเหล่านี้จะถึงขนาดผสมพันธุ์หรือขนาดโตเต็มที่ แล้วอย่าได้เอาปลาที่ผสมพันธุ์แล้วปล่อยคืนลงบ่อพ่อ-แม่พันธุ์เดิมอีกเป็นอันขาด

3. นำเอาสายพันธุ์ที่มีคุณภาพเยี่ยมมาทำพันธุ์

อาจมีผู้เลี้ยงปลาคนหนึ่งคนใดนำเอาสายพันธุ์ที่ดีที่สุดมาทำพันธุ์อยู่แล้ว ถ้าหากพันธุ์ปลาของเขามีอัตราการรอดสูงและโตเร็วซึ่งเขาได้ใช้ทำพันธุ์มาแล้วหลายปี หากเขาได้มีการจัดการเลี้ยงพ่อ-แม่ พันธุ์ที่ดีและถูกต้องแล้ว พันธุ์ปลาของเขาจะมีการเจริญเติบโตเร็ว และมีความต้านทานต่อโรคดีเสียยิ่งกว่าพันธุ์ปลาตามธรรมชาติที่หามาได้จากแม่น้ำและหนองบึงเสียอีก ปกติพันธุ์ปลาที่หาได้จากธรรมชาตินั้นจะไม่ถูกคัดเลือกมาใช้ทำพันธุ์ในภารเพาะเลี้ยง ในทางปฏิบัติโดยทั่วไปแล้ว พันธุ์ปลาที่ให้ผลผลิตสูง และมีคุณสมบัติต้านทานโรคได้ดีนั้นควรจะมาจากสายพันธุ์ที่ได้มาจากการคัดเลือกตามหลักวิชาการเท่านั้น ผู้เลี้ยงปลาควรนำสายพันธุ์ที่ดีเด่นมาทำพันธุ์ในฟาร์มของตัวได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าดีจริงเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่าสายพันธุ์ที่ดีนั้นจะพัฒนามาจากจุดประสงส์ต่างๆ กัน เช่น เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุดในการเลี้ยงแบบพัฒนา เพื่อเลี้ยงในนาและการเลี้ยงแบบที่ไม่ต้องเอาใจใส่มากนัก

ข้อเสนอแนะที่ห้า นำเอาสายพันธุ์ปลาที่ดีที่สุดที่จะหาได้จากฟาร์มเอกชนและสถานที่ราชการมาทำพันธุ์ โดยไม่นำเอาพันธุ์ใหม่จากธรรมชาติเข้ามาใช้ในงานนี้โดยเด็ดขาด

ข้อเสนอแนะที่หก อย่าใช้แม่พันธุ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งนี้เป็นการช่วยไม่ให้เกิดการผสมเลือด และเป็นการช่วยให้พันธุ์ปลาที่เลี้ยงไว้ทำพันธุ์ได้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมในฟาร์มดีขึ้น

การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแหล่งน้ำและพื้นที่เขตชลประทาน

เนื่องจากจำนวนประชากรในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันมีประมาณ 18,552,107 คน (ปี 2529) ดังนั้น ถ้าจะกำหนดเป้าหมายให้ประชาชนบริโภคสัตว์น้ำคนละ 10 กก./ปี จะต้องผลิตสัตว์น้ำให้ได้ปีละ 185,521.07 ตัน/ปี ส่วนผลผลิตสัตว์น้ำที่ผลิตได้ในภูมิภาคนี้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีประมาณ 24,908.24 ตัน และจากการเพาะเลี้ยง 5,291.86 ตัน (ปี 2528) รวมทั้งสิ้นประมาณ 30,200 ตัน เมื่อหักยอดปริมาณสัตว์น้ำที่ผลิตได้ออกจากยอดปริมาณสัตว์น้ำที่ต้องการบริโภคแล้ว คงยังขาดจำนวนอยู่ถึง 155,320 ตัน/ปี แต่คิดว่าปริมาณสัตว์น้ำที่ขาดจริงๆ คงมียอดต่ำกว่านี้ เพราะได้สังเกตพบว่าได้มีพ่อค้าคนกลางรวบรวมสัตว์น้ำที่ผลิตได้จากฟาร์มในจังหวัดภาคกลาง และจากท่าขึ้นปลาหลายแห่ง เช่น ที่ลาดกระบัง กทม. มีปลาตะเพียนขาว สวาย จีน ยี่สกเทศ บรรจุเข่งหรือถุงพลาสติกแช่น้ำแข็ง ส่วนปลาช่อนและปลาดุก ลำเลียงด้วยถังสังกะสีใส่น้ำเล็กน้อย แล้วใข้รถยนต์ขนาด 3-6 ตัน บรรทุกสินค้าสัตว์น้ำดังกล่าวไปจำหน่ายตามเอเยนส์ของตลาดสดในแทบทุกจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับปริมาณสัตว์น้ำดังกล่าว ไม่มีตัวเลขข้อมูล ดังนั้น ในอนาคตกรมประมงควรเพิ่มหัวข้อในการสำรวจในทางสถิติเกี่ยวกับผลผลิตของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในภาคกลางที่จำหน่ายจ่ายแจกไปยังจังหวัดต่างๆ ของประเทศเข้าไว้ด้วย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป

ได้ศึกษาสาเหตุจูงใจที่ทำให้พ่อค้าคนกลางรวบรวมสินค้าสัตว์น้ำจากฟาร์มต่างๆ หรือท่าขึ้นปลาในภาคกลางไปจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าการประกอบธุรกิจด้านนี้ มีกำไรดี สัตว์น้ำชนิดต่างๆ ที่ขนส่งลำเลียงจากภาคกลางขึ้นไปจำหน่าย มีกำไรที่ยังไม่ได้หักต้นทุนการการขนส่งประมาณ 1-2 เท่าตัว ซึ่งขอยกตัวอย่างมาเพื่อทราบดังนี้

ชนิดปลา ราคาซื้อจากฟาร์มหรือท่าขึ้นปลา กก./บาท ราคาจำหน่ายปลีก กก./บาท
1.ปลานิล 8-12 25-30
2.ปลาสวาย 10-12 20-25
3.ปลาตะเพียนขาว 15-18 25-30
4.ปลาจีน 10-12 20-25
5.ปลาดุกอุย 35-40 55-60

 

หมายเหตุ เมื่อเปรียบเทียบราคาจำหน่ายปลีกของสินค้าสัตว์น้ำแต่ละชนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับตลาดที่กรุงเทพฯ แล้ว ปรากฎว่ามีราคาแพงกว่ากิโลกรัมละประมาณ 5-10 บาท

เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสัตว์น้ำบริโภคในภูมิภาคนี้ โดยมิต้องจนส่งลำเลียงสัตว์น้ำจากภาคกลางขึ้นไปจำหน่าย ซึ่งในภาพรวมของรัฐบาล ถ้าทำได้จะลดค่าใช้จ่ายในด้านค่าเชื้อเพลิงและรถยนต์บรรทุกที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ นอกจากนี้ก็จะทำให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น ลดปัญหาการว่างงาน ตลอดจนการเคลื่อนย้ายอพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ

จากการศึกษาและพิจารณาแล้วคิดว่ามีทางเป็นไปได้ที่จะผลิตสัตว์น้ำขึ้นได้เพียงพอตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้มากขึ้นจากพื้นที่และแหล่งน้ำที่เหมาะสม ดังนี้

(1) เพิ่มการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มากขึ้น การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในภูมิภาคนี้ โดยได้ปฎิบัติการเกี่ยวกับการปล่อยปลาชนิดที่เหมาะสม การกำจัดสิ่งรก ขุดลอก สร้างทำนบและฝายน้ำล้น ตลอดจนการวางกฎเกณฑ์ในด้านอนุรักน์ ซึ่งทำให้ผลผลิตของสัตว์น้ำในแหล่งน้ำที่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มขึ้นมาในระดับหนึ่ง และหากประสงค์จะให้ได้ผลผลิตมากขึ้นไปอก ก็อาจทำได้โดยพิจารณาเลือกพื้นที่แหล่งน้ำบางส่วน จัดตั้งกลุ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขึ้นตามความเหมาะสม เพื่อทำการเลี้ยงปลาในกระชังหรือในคอกสำหรับชนิดของปลาที่จะเลี้ยง การสร้างกระชังและคอกที่ใช้เลี้ยงปลาก็ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น

(2) การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตชลประทาน เช่น โครงการชลประทานลำปาว จังหวดกาฬสินธุ์ โครงการน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ซึ่งกรมชลประทานได้รายงานให้ทราบว่ามีปริมาณน้ำเหลือยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่ถึง 50% อนึ่ง จากโครงการชลประทานทั้งหมดที่มีพื้นที่ 4.2 ล้านไร่ และจากรายงานของโครงการเร่งรัดพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์นำในเขตชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2531 มีพื้นที่ 1.6 ล้านไร่ ที่มีศักยภาพในการผลิตทางการประมง ซึ่งในการนี้กรมประมงได้รับอนุมัติงบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 28.42 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกล และส่งเสริมวิชาการ 10.42 ล้านบาท และปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรกู้ในวงเงิน 17 ล้านบาท โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

-เร่งรัดพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

-เพิ่มพูนรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและเพิ่มปริมาณอาหารโปรตีนแก่ราษฎร ในระดับท้องถิ่น

-เพื่อใช้น้ำของโครงการชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการนี้ได้กำหนดเป้าหมายไว้กว้างๆ ว่า เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอาชีพหลัก มีระยะเวลาดำเนินการรวม 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2527-2536 สำหรับแผนปฎิบัติการโดยละเอียดได้ระบุไว้ในโครงการฯ ที่อ้างถึงในเบื้องต้น

(3) การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของการพลังงานแห่งชาติ ปัจจุบัน มีพื้นที่ส่งน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามากกว่า 200 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่โครงการประมาณ 1 ล้านไร่ถ้าใช้พื้นที่เพียง 5-10% ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็จะมีพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตสัตว์น้ำได้ 50,000- 100,000 ไร่

(4) การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคู่กับโครงการอื่นๆ

-โครงการพระราชดำริน้ำพระทัยจากในหลวง (โครงการอีสานเขียว) มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การปรับปรุงป่าไม้ แหล่งน้ำ และคุณสมบัติของดิน โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาชนบท การชลประทาน การเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน โครงการดังกล่าวย่อมมีผลเกื้อกูลต่อการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแหล่งน้ำใหม่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมา จากโครงการนี้ เช่น โครงการพัฒนาแม่น้ำมูล แม่น้ำชี โดยการสร้างเขื่อนหรือฝาย ตลอดจนโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำโขง เป็นต้น

-โครงการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตทางเกษตรออกไปสู่ชนบท โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากโครงการดังกล่าวนี้จะมีผลพลอยได้จากวัสดุเศษเหลือ ซึ่งสามารถจะนำมาใช้เป็นอาหารปลาหรือปุ๋ยพืชได้ เช่น โรงงานทำแป้งมันสำปะหลัง โรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศ โรงงานกลั่นสุรา ฯลฯ

-โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น โคนม โคเนื้อ สุกร ไก่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากโครงการดังกล่าวจะมีมูลของสัตว์ เศษเหลือจากโรงฆ่าสัตว์เพิ่มปริมาณมากขึ้น อันจะเป็นปัจจัยที่ สำคัญในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

-โครงการผลิตพันธุ์ปลาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Fish Seed Production Centre in NorthEast Thailand) โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศเนเธอร์แลนด์ผ่านสำนักงาน โครงการ แม่น้ำโขง ซึ่งกรมประมงจะได้ตั้งสถานประมงน้ำจืดขึ้นที่จังหวัดยโสธร ระหว่างปี 2532-2534 เพื่อผลิตพันธุ์ปลาขึ้นปีละ 120 ล้านตัว พันธุ์ปลาดังกล่าวจะได้นำไปใช้ในการส่งเสริมและปล่อยในแหล่งน้ำตามความเหมาะสมในภูมิภาคนี้

-ใครงการพัฒนาประมงในแหล่งนํ้าธรรมชาติขนาดเล็กและขนาดใหญ่โดยกู้เงิน (OECF) ระยะยาวจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะทำการปรับปรุงหนองหาร จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ประมาณ 84,475 ไร่

-โครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) ซึ่งมีการปรับปรุงและก่อสร้างแหล่งน้ำในหมู่บ้าน เพื่อใช้บริโภคและอุปโภคปีละจำนวนนับพันแห่ง แหล่งน้ำที่ได้สร้างขึ้นสามารถใช้เป็นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้ตามความเหมาะสม